ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ลองตรองดูใหม่


เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ ม.ค. ดิฉัน และครูเจี๊ยบ - ชุตินาถ ได้มีโอกาสไปที่พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ แห่งที่ ๑ ที่กระทรวงพาณิชย์เดิม เพื่อไปรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการถาวร เรื่อง “จากสุวรรณภูมิ ถึงสยามประเทศ สู่ประเทศไทย” ที่จะจัดให้มีขึ้นภายในสิ้นปีพ.ศ.นี้

เจ้าหน้าที่ของสถาบันสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) ได้แนะนำแนวคิดให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้บริหารโรงเรียน และ ครูผู้สอนในวิชาสังคมศึกษา ทั้งสิ้นประมาณ ๓๐ ท่าน ได้ทราบรายละเอียดของนิทรรศการที่จะจัดให้มีขึ้นนั้นก็เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าชมเห็นข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า

ดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมินี้ มีการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของผู้คนจากคนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม มานับร้อยๆชั่วอายุคนแล้ว และได้พยายามนำเสนอการปรับตัว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ จากหมู่บ้านมาสู่เมือง จากเมืองมาสู่รัฐ นับเนื่องจากอดีต ถึงปัจจุบัน

ในเรื่องของความคิดความเชื่อก็มีการผสมผสานกันของความเขื่อดั้งเดิมในเรื่องผี พราหมณ์ และพุทธศาสนา ที่มีหลักฐานเก่าแก่ลงไปจนถึงยุคทวารวดี

จากนั้นก็มาถึงสมัยอยุธยา ดินแดนต้นกำเนิดของสยามประเทศ ที่เริ่มเกิดขึ้นจากการรวมเอาความหลากหลายของกลุ่มเมืองทวารวดีเอาไว้ด้วยกัน แล้วจึงมาถึงยุคทองของรัฐอาณาจักรที่กล้าเปิดรับชาวต่างชาติต่างภาษาเข้ามาอย่างหลากหลาย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คือคลื่นโลกาภิวัตน์ที่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่อยุธยาก็ยังสามารถธำรงไว้ซึ่งความโดดเด่นทางวัฒนธรรมของตนได้ ทั้งในแง่ของศิลปกรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ผูกพันอยู่กับสายน้ำอย่างแยกกันไม่ขาด จนดินแดนแห่งนี้กลายเป็นจุดนัดพบของอารยธรรมโลก จนถึงกาลเวลาที่ต้องล่มสลาย

สยามในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คือชีวิตที่สืบต่อมาจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ผู้คนส่วนมากเป็นชาวบ้านในชนบท เมื่อเมืองเริ่มเกิดขึ้น วิถีชีวิตก็ค่อยๆเปลี่ยนตาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา กรุงเทพฯเริ่มได้รับผลกระทบจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตกอีกระลอกใหญ่ แรงกระทบจากภายนอกที่เกิดขึ้นระลอกแล้วระลอกเล่า ส่งผลให้วัฒนธรรมไทยอ่อนแอลง เกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเมืองหลวง และวัฒนธรรมชนบท / วัฒนธรรมภายใน และภายนอกประเทศอย่างรุนแรง

ความผสมผสานที่ก่อให้เกิดพลัง ยังเกิดขึ้นได้อีกไหมในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน คนไทยจะอยู่ท่ามกลางความหลากหลายที่จะทวีขึ้นในอนาคตได้อย่างไร

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อปูพื้นความเข้าใจ ในการลำดับเรื่องราวความเป็นมาของประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงที่เป็นอยู่ นับเป็นการเปิดมุมมองให้กับทางเลือกใหม่ ที่ผู้เข้าชมจะได้ตั้งคำถามต่อความคิดและความเชื่อที่มีมาแต่เดิม ด้วยจุดยืนใหม่ที่ไม่มี “พวกฉัน” ไม่มี “พวกเขา” มีแต่ “พวกเราทั้งหลาย” ที่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลเท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 75318เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2007 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูใหม่ครับ

ผมเคยใส่ชื่อโรงเรียนเพลินพัฒนา  ลงในสารานุกรมเสรี  วิกิพีเดีย    

ครูใหม่สามารถเข้าไปเขียนต่อ  เกี่ยวกับ โรงเรียนเพลินพัฒนาได้โดย

เข้าไปหน้าหลักที่   http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81

จากนั้นเข้าไปพิมพ์คำว่า  "การจัดการความรู้"  ในช่องค้นหาด้านซ้ายมือ เล็กๆ

แล้วเลื่อนไปล่างๆ   หาชื่อคำว่า  โรงเรียนเพลินพัฒนา   คลิกเข้าไป    แล้วจะพบหน้าต่างว่างๆ  เพราะยังไม่มีใครใส่ข้อมูลอะไรลงไป   

 

ผมเชื่อว่าเมื่อไหร่ประเทศไทยมองตัวเองเป็นประเทศของ "พวกเราทั้งหลาย" ปัญหาต่างๆ ของความ "แตกต่าง" คงมีโอกาสคลี่คลายลงได้ครับ

ผมมีรากเง้าเป็น "พวกอื่นๆ" ไม่ใช่ "ไทยแท้" อย่างที่ "ราษฎรอาวุโส" ให้คำจำกัดความไว้ (แต่ตอนนี้ท่านปฎิเสธคำพูดตามวิธีการ "พริ้ว" อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เลื่องลือว่า "ไม่เคยพูด ไม่เคย คำเดียวก็ไม่เคย")

พวกอื่นๆ อย่างผมต่างรอคอยเวลาที่จะได้เป็นคนไทยเหมือนกัน ไม่ใช่อย่าง "ผู้อยู่อาศัยที่มาพึ่งพิง" แต่อย่าง "เจ้าของ" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท