ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

วิธีการเชิงระบบในการออกแบบการเรียนการสอน


บทความวิชาการโดย ดร.รสสุคนธ์ มกรมณี

ในการดำเนินภารกิจการสอน ครูจะต้องมีการวางแผนจัดการเรียนรู้และตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นข้อมูลในเตรียมเนื้อหาบทเรียนและวิธีการสอนที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์คือการที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดระบบการเรียนการสอนคือกระบวนการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สอนว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และถ้าหากมีปัญหาหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด การเรียนการสอนจึงมีการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง  เป้าหมายหลักของการจัดระบบการเรียนการสอนมี 2 ประการคือ 

  • เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยใช้วิธีการต่างๆ ในการเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
  • เพื่อออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่เป็นระบบในการออกแบบ การวางแผน การนำไปใช้ และการประเมินกระบวนการทั้งหมดของระบบการสอนนั้น 

ระบบการเรียนการสอนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนมาร่วมกันทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ  อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบพื้นฐานของระบบการเรียนการสอนซึ่งขาดไม่ได้มี 4 ประการ (กิดานันท์ มลิทอง, 2540) คือ

  • ผู้เรียน ต้องมีการพิจารณาลักษณะของผู้เรียนเพื่อการออกแบบกิจกรรมหรือโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
  • วัตถุประสงค์ ต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์ว่า ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใดบ้างในการสอนนั้น
  • วิธีการและกิจกรรม ต้องมีการกำหนดวิธีการและกิจกรรมในการเรียนรู้ว่าควรมีอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้
  • การประเมิน  ต้องมีการกำหนดวิธีการประเมินเพื่อตัดสินว่าการเรียนรู้นั้นประสบผลตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่

เมื่อการออกแบบระบบการเรียนการสอน (instructional system design) เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการว่าเป็นการพัฒนาการเรียนการสอน รูปแบบสำหรับการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design model) ที่เป็นพื้นฐานทั่วไปคือ ADDIE ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของขั้นตอนในการออกแบบ คือ A-analyze การวิเคราะห์ความจำเป็นหรือปัญหาอุปสรรค ตัดสินใจว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไร D-design การกำหนดว่าจะเรียนรู้อย่างไร ระบุกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เลือกวิธีการและสื่อ   D-develop  การสร้างและผลิตเครื่องมือต่างๆ  ตรวจสอบและปรับปรุง   I-implement การนำแผนหรือโครงการไปปฏิบัติ   E-evaluate   การพิจารณาความเหมาะสมของการเรียนการสอน ประเมินทุกอย่างที่ผ่านมา ปรับปรุงเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป (Braxton, Bronico, & Looms, 2000; Malachowski, 2002)   อย่างไรก็ตาม มีนักการศึกษาหลายท่าน คิดรูปแบบ/แบบจำลองระบบการสอนขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อให้สามารถเลือกใช้เป็นแนวปฏิบัติในการออกแบบการเรียนการสอน การจัดเรียนการสอน หรือการแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ใช้  รูปแบบที่มีการอ้างถึงอย่างแพร่หลาย มีดังนี้คือ

Klausmeir (1971) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 7 องค์ประกอบ คือ 1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน 2) เตรียมความพร้อมของนักเรียน 3) จัดเนื้อหาวิชา วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ 4) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน 5) ดำเนินการสอน 6) วัดสัมฤทธิ์ผลของนักเรียน และ 7) การจัดและประเมินผลการเรียนการสอน

Gerlach & Ely (1980)  ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอน 10 ขั้นตอน ซึ่งได้รับการอ้างถึงในวงการศึกษาไทยอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย 1) การกำหนดวัตถุประสงค์ โดยควรจะเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะหรือวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติและผู้สอนสามารถวัดหรือสังเกตได้ 2) การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ 3) การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียนก่อนการเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม 4) การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ การสอนแบบเตรียมเนื้อหาความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยสมบูรณ์ทั้งหมด และการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  5) การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน เหมาะสมกับวิธีสอน 6) การกำหนดเวลาเรียน 7) การจัดสถานที่เรียน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขนาด คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ สามารถสอนได้ครั้งละ 50-300 คน ห้องเรียนขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย และห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามลำพังแบบรายบุคคล  8) การเลือกสรรทรัพยากรหรือสื่อการสอน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 5 ประเภท คือ สื่อบุคคลและของจริง สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องฉาย  สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวัสดุที่ใช้แสดงต่างๆ  9) การประเมินผลพฤติกรรมของผู้เรียนที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับสื่อการสอน  และ 10) การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับเพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานตั้งแต่ต้นมานั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้างในระบบ หรือมีปัญหาประการใดบ้าง สำหรับเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบ    การสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Brown, Lewis & Harcleroad (1985) ออกแบบวิธีที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน โดยการพิจารณาถึงแนวทางและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อที่ผู้สอนจะได้สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ  ความสามารถและความสนใจของผู้เรียน โดยแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ คือ 1) เป้าหมาย 2) วัตถุประสงค์และเนื้อหา 3) สภาพการณ์ และ 4) ผลลัพธ์

Knirk & Gustafson (1986) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการสอนให้มี 3 ส่วน    โดยแต่ละส่วนมีองค์ประกอบย่อยที่ดำเนินงานสัมพันธ์กัน  คือ   1) การกำหนดปัญหา  ประกอบด้วย  เป้าหมายการเรียนการสอน ระบุปัญหา ระดับทักษะแรกเริ่มของผู้เรียน - การจัดระบบ 2) การ     ออกแบบ ประกอบด้วย พัฒนาวัตถุประสงค์ กำหนดกลยุทธ์ - กำหนดสื่อ และ 3) การพัฒนา ประกอบด้วย เลือกวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนา วิเคราะห์ผลลัพธ์ ทบทวนอุปกรณ์เครื่องมือ -นำไปใช้

Hannafin & Peck (1988)  ออกแบบวิธีระบบที่มีองค์ประกอบในการดำเนินงาน 3 ระยะคือ 1) การหาความจำเป็น 2) การออกแบบ และ 3) การพัฒนาและนำไปใช้ ทั้งนี้ทุกระยะ    จะต้องมีการประเมินและปรับปรุง

Tripp & Bichelmeyer (1990) เสนอรูปแบบที่เรียกว่าการสร้างต้นแบบฉับพลัน (rapid prototyping) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้น คือ 1) การหาความจำเป็น วิเคราะห์เนื้อหา และกำหนดวัตถุประสงค์ 2) การสร้างต้นแบบหรือการออกแบบ 3) การนำต้นแบบไปใช้หรือการทำวิจัย และ 4) การวางระบบและดูแลรักษาระบบ  สำหรับรูปแบบนี้เหมาะสำหรับนักออกแบบการเรียนการสอนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เดิมมากจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   แม้จะมีคำว่าฉับพลันในชื่อของรูปแบบ  แต่การดำเนินงานตามรูปแบบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะเป็นรูปแบบขั้นสูงที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือนักออกแบบที่ต้องทำวิจัย

Gagné, Briggs, & Wager (1992). เสนอรูปแบบสำหรับออกแบบการเรียนการสอนที่เรียกชื่อว่า Gagné & Briggs model ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการศึกษาไทยมานานกว่า 30 ปี (Gagné & Briggs, 1974) รูปแบบนี้จะใช้หลังจากมีการจัดประเภทของผลลัพธ์การเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ สำหรับการจัดระบบสภาพการณ์การเรียนการสอนของแต่ละผลลัพธ์  การเรียนรู้ ซึ่งมีการดำเนินงาน 9 ขั้นคือ 1) สร้างความสนใจ 2) ฟื้นฟูข้อมูลที่มีอยู่เดิม 3) บอก     วัตถุประสงค์แก่ผู้เรียน 4) นำเสนอวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสิ่งเร้า 5) แนะแนวทางการเรียนรู้ 6) ให้ผู้เรียนแสดงความสามารถ 7) ให้ข้อมูลย้อนกลับ 8) ประเมินการปฏิบัติของผู้เรียน และ 9) เพิ่มความคงทนในการเรียนรู้

Kemp, Morrison, & Ross (1994) นำเสนอวิธีระบบในจัดการเรียนการสอนที่ Kemp (1985) ได้ออกแบบไว้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ 9 ขั้นตอนคือ 1) กำหนดหัวข้อที่จะสอน และเขียนวัตถุประสงค์ทั่วไป 2) ศึกษาคุณลักษณะของผู้เรียน 3) ระบุจุดมุ่งหมายของการสอนในเชิงพฤติกรรม 4) กำหนดเนื้อหาวิชาที่สนับสนุนวัตถุประสงค์แต่ละข้อ 5) ทดสอบเพื่อวัดความรู้    ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะทำการสอน 6) เลือกกิจกรรมและแหล่งวิชาการสำหรับการเรียนการสอนเพื่อจะนำเนื้อหาวิชาไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่วางไว้ 7) ประสานงานในเรื่องต่างๆ เช่น การเงิน บุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ และดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดไว้ 8) ประเมินผลการเรียนของผู้เรียนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด และ 9) พิจารณาดูว่าควรจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงแผนการเรียนการสอนให้ดีขึ้นอย่างไร

Glasser (1998)  ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 5 ขั้นตอนคือ 1) จุดประสงค์ของการสอน 2) การประเมินสถานะของผู้เรียน 3) การจัดกระบวนการเรียนการสอน 4). การประเมินผลการเรียนการสอน และ 5) ข้อมูลย้อนกลับไปยังแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา

Dick, Carey, & Carey (2001) เสนอรูปแบบสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่รู้จักกันในชื่อว่า Dick & Carey model มี 10 ขั้นตอนคือ 1) ระบุเป้าหมายของการเรียนการสอน  2) วิเคราะห์การเรียนการสอน  3) ระบุพฤติกรรมพื้นฐานของผู้เรียน  4) เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 5) พัฒนาแบบการทดสอบอิงเกณฑ์ 6) พัฒนากลยุทธ์ในการเรียนการสอน 7) พัฒนาและเลือกสื่อการเรียนการสอน  8) พัฒนาและดำเนินการประเมินผลระหว่างการเรียนการสอน      9) พัฒนาและประเมินหลังการเรียนการสอน และ 10) ทบทวนการจัดการเรียนการสอน โดย       ขั้นตอนนี้จะกระทำเป็นระยะๆ ในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา

ทิศนา แขมมณี (2545) เสนอรูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบที่ผู้ออกแบบต้องพิจารณาตามลำดับขั้น 5 ส่วน คือ 1) หลักสูตร ปัญหาความต้องการของผู้เรียน    ผู้สอน 2) เนื้อหา มโนทัศน์ วัตถุประสงค์ 3) ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการสอน 4) กิจกรรมการเรียนการสอนและสื่อ  และ 5) การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน    ทั้งนี้ ตั้งแต่ส่วนที่ 2 เป็นต้นมา    จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านต่างๆ อาทิ  ผู้เรียน  ผู้สอน  ผู้บริหารโรงเรียน  สถานที่  สื่อ  งบประมาณ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ปกครอง ฯลฯ   นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอรูปแบบการสอน CIPPA ในการจัดทำแผนการเรียนรู้ด้วย ซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ  C-construction  การสร้างความรู้ของผู้เรียน  I-interaction กิจกรรมที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์  P-physical participation การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย  P-process learning การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ  และ A-application การนำความรู้ที่ได้เรียนไปประยุกต์ใช้

จากการศึกษารายละเอียดของรูปแบบการออกแบบระบบการเรียนการสอนของนักวิชาการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว  ผู้เขียนสามารถสังเคราะห์องค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนที่มีการดำเนินงานสัมพันธ์กันเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ดังนี้คือ 1) ความจำเป็นหรือความต้องการในการจัดการเรียนการสอน  2) ผู้เรียน  3) สภาพแวดล้อม  4) ผู้สอน 5) จุดมุ่งหมาย 6) วิธีการสอน 7) เนื้อหา 8) แผนการจัดการเรียนการสอน 9) เวลาเรียน 10) วิธีการเรียนหรือกิจกรรมการเรียน 11) ทรัพยากรในการเรียนการสอน 12) การควบคุม ตรวจสอบและประเมินผล  และ 13) ข้อมูลย้อนกลับ

เอกสารอ้างอิง

กิดานันท์ มลิทอง. (2540). เทคโนโลยีทางการศึกษาร่วมสมัย. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ทิศนา แขมมณี. (2545).  รูปแบบการเรียนการสอน: ทางเลือกที่หลากหลาย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Braxton, S., Bronico, K., & Looms, T. (2000). The ADDIE model. Available HTTP: http//www.seas.gwu.edu/sbraxton/ISD/general_phases.html

Brown, J. W., Lewis, R. B., & Harcleroad, F. F. (1985). AV instruction: Technology, media and methods (6th ed.). New York: McGraw-Hill.Gagné, R. M., & Briggs, L. J. (1974). Principles of instructional design. New York: Holt, Rinehart and Winston

Gagné, R. M., Briggs, L. J., & Wager, W. W. (1992). Principles of instructional design (4th ed.).  Fort Worth, TX: Harcourt, Brace Jovanovich College Publishers.

Gerlach, V. S., & Ely, D. P. (1980). Teaching & media: A systematic approach (2nd ed.). Englewood Cliffs, NJ: Prentice Hall.

Glasser, W. (1998). Choice theory in the classroom (Rev. ed.). New York: Harper Perennial.

Hannafin, M. J., & Peck, K. L. (1988). The design, development, and evaluation of instruction software. New York: Macmillan.

Kemp, J. E. (1985). The instructional design process. New York: Harper & Row.

Kemp, J. E., Morrison ,G. R., Ross, S. M. (1994). Designing effective instruction. New York: Macmillan.

Klausmeir, H. J. (1971). Learning and human ability: Educational psychology (4th ed.). New York: Harper & Row.

Knirk, F. G., & Gustafson, K. L. (1986). Instructional technology: a systematic approach to education. New York: Holt, Rinehart and Winston.

Malachowski, M. J. (2002). ADDIE based five-step method towards instructional design. Available HTTP: http//fog.ccs.ca.us/~mmalacho/OnLine/ADDIE.htm

Tripp, S. D., & Bichelmeyer, B. (1990). Rapid prototyping: An alternative instructional design strategy. Educational Technology, Research and Development, 38 (1), 31-44.

หมายเลขบันทึก: 73277เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2007 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียน  คุณป้าเจี๊ยบ
          ดิฉันได้อ่านบทความวิชาการของป้าเจ๊ยบแล้วให้ข้อคิดและความรู้มากมาย
          ดิฉันจะนำไปปฏิบัติตาม
          ขอบคุณค่ะ
         

                  พิศมัย  พานโฮม  ครูชำนาญการพิเศษ
            โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เรียน คุณป้าเจี๊ยบ

ผมได้อ่านข้อเขียนดีๆของป้าเจ๊ยบแล้วให้ข้อคิดที่ดีกับผู้สอนเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับผู้สอนโดยตรง ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อเขียนของป้ามากครับ ผมอยากให้คนที่จะไปเป็นครูตระหนักและเห็นความสำคัญของการออกแบบการเรียนการสอน

ขอบคุณมากครับแล้วผมจะติดตามข้อเขียนดีของป้าเจี๊ยบ

นับถือ

อ้วน

ขออนุญาตินำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ด้วยนะคะ

ขอบคุณคะ

kieratikan

เรียน คุณป้าเจี๊ยบ

กระผมได้อ่านบทความของคุณป้าแล้วครับ ทำให้เข้าใจระบบการออกแบบการสอนมากขึ้นครับ ขอบคุณมากครับ

นับถืออย่างสูง

แซม

โอ เนื้อหาดีจัง

แต่ว่าเป็นป้าเร็วจัง

ขอบคุณครับอาจารย์ ได้ความรู้ขื้นอีกแล้ว

วิทยา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท