ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ครูคือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้


บทความทางวิชาการโดย ดร.รสสุคนธ์ มกรมณี

     หนึ่งปีก่อนการประกาศเริ่มต้นยุคสารสนเทศ (information age) อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2533 ผู้เขียนเสนอบทความเรื่อง ครูคือใครในยุคสารนิเทศ (รสสุคนธ์ มกรมณี, 2532) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการใช้คำว่าสารสนเทศ เพื่อให้มุมมองว่าครูควรเตรียมตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเปลี่ยนรูปแบบของกระบวนการเรียนการสอนจากการสอนแบบผู้ส่งสารไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ซึ่งมีบทบาทหลัก 4 ประการคือเป็นผู้วางแผน ผู้จัดการ ที่ปรึกษา และบุคคลตัวอย่างในการดำเนินงานจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียน และอีกสิบปีต่อมาได้เสนอบทความเรื่อง ครูกับทศวรรษของยุคสารสนเทศ (รสสุคนธ์ มกรมณี, 2543) เพื่อยืนยันแนวคิดที่เคยเสนอไว้ เพราะสภาพความเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก ปรากฏให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการจัดการศึกษา เกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือให้ความรู้อย่างมากมาย อาทิ การศึกษาทางไกลผ่านระบบอินเตอร์เนต คอมพิวเตอร์ช่วยสอน การเรียนรู้แบบ e-learning ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนในฐานะนักเทคโนโลยีการศึกษาก็มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานต่างๆ จนเริ่มมองเห็นว่าเครื่องจักรกลสามารถแสดงบทบาทการสอนแทนครูได้ และความจำเป็นที่ต้องมีครูลดน้อยลงไป หากครูทั้งหลายยังแสดงบทบาทของตนเป็นเพียงเป็นผู้บรรยายหรือทำการสอนด้วยวิธีการบรรยายเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาความรู้เท่านั้น

     อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยประกาศเป็นปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทยใน พ.ศ. 2538 เพื่อสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายที่เป็นรูปธรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับชาติ มีการเสนอประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ความสำเร็จของยุคสารสนเทศอยู่ที่ความสามารถในการสร้างคนให้เป็นคนที่มีจิตวิญญาณแห่งการยกย่องนับถือผู้อื่นและรักผู้อื่น (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี, 2538)  และเป็นประเด็นที่ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง  การพัฒนาคนให้เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และจะทำได้ต้องใช้ฝีมือของมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่เครื่องจักรกล ครูคือผู้มีบทบาทสำคัญต่อภารกิจนี้ และต้องทำการสอนหรือให้การศึกษาอบรมในลักษณะที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีพัฒนาการทั้งทางสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ อย่างเต็มศักยภาพและเป็นองค์รวม

    นักการศึกษา อาทิ อมรวิชช์ นาครทรรพ (2539) และ พนม พงษ์ไพบูลย์ (2543) สนับสนุนประเด็นที่ว่าครูควรมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน โดยแสดงความคิดเห็นซึ่งสรุปได้ว่า ในโลกยุคใหม่ การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนของครูจึงควรสอดคล้องกับแนวการปฏิรูปการศึกษา โดยผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก และลักษณะการสอนจะต้องมีความหลากหลาย สอนให้นักเรียนรู้จักคิด คิดเป็น ทำเป็น มีวิจารณญาณของตนเอง โดยครูจะต้องคอยให้คำชี้แนะ บทบาทของครูในอนาคตคือ การสอนวิธีหาความรู้ในโลกแห่งความรู้อันมากมายที่ไม่อาจสอนได้หมด

     นอกจากนั้น Ward (1994) ซึ่งให้ความสำคัญต่อการสอนวิธีเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน (learning to learn) ได้กล่าวว่า ครูจะต้องเป็นผู้อำนวยการความสะดวกในการเรียนรู้ (learning facilitator) มีความรู้ความเข้าใจในระบบพื้นฐานทางกายภาพที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ใช้วิธีการสอนที่หลากหลายซึ่งมีความเหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคล  รู้จักจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้มีลักษณะจูงใจ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากพื้นฐานเดิม และสามารถกำหนดเป้าหมายของตนเองได้  ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจะต้องคำนึงถึงความสนใจ ความต้องการ และแรงจูงใจ ที่จะทำให้ผู้เรียนพัฒนาเต็มศักยภาพ รู้จักคิด วิเคราะห์ มีส่วนร่วม และรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง

     ยิ่งไปกว่านั้น สภาพปัญหาคุณภาพการศึกษาที่เกิดขึ้น จนจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา  เป็นเพราะการศึกษาของประเทศเราเน้นที่การถ่ายทอดเนื้อหาในห้องเรียน และการท่องจำจากตำราเป็นส่วนใหญ่ ผู้เรียนขาดประสบการณ์และการศึกษาจากความเป็นจริงรอบตัวทั้งใกล้และไกล การเรียนไม่ได้เน้นวิธีคิด จึงขาดวิจารณญาณว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง (ประเวศ วะสี, 2539)       ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการสอนของครู ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ แต่ประพฤติตนเป็นผู้บอกหรือถ่ายทอดเนื้อหาความรู้  ทั้งๆ ที่การสอนหมายถึง การจัดสภาพการณ์ จัดสถานการณ์หรือจัดกิจกรรม อันเป็นการวางแผนการที่จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนดำเนินไปด้วยความสะดวก รวมทั้งการจัดการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีพิธีรีตอง (Good, 1975, หน้า 588)  รวมทั้ง ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์การเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เกิดความงอกงามในด้านกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนความสามารถด้านอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิต (สุพิน บุญชูวงศ์, 2544) ดังนั้น การเรียกร้องให้ครูเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้สอนไปเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือผู้จัดการเรียนรู้ จึงเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นถึงประเด็นที่ควรเป็นจุดเน้นในพฤติกรรมการสอนของครู โดยใช้คำว่าการจัดการเรียนรู้แทนคำว่าการสอน ซึ่งเป็นการย้ำเตือนครูให้ตระหนักถึงความหมายของการสอนที่หลงลืมกันไป 

อาภรณ์ ใจเที่ยง (2540) กล่าวถึงลักษณะการสอนที่ดี 13 ประการ ประกอบด้วย การสอนที่มีการเตรียมการสอนมาอย่างดี ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาทุกด้าน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนสอดคล้องวัตถุประสงค์   ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม   ตรงตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร    มุ่งให้ผู้เรียนนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เร้าความสนใจผู้เรียน มีบรรยากาศส่งเสริมการเรียนรู้ ใช้หลักจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เหมาะสม  บรรยากาศเป็นประชาธิปไตย  มีกระบวนการที่ดี ใช้หลักการวัดผลและประเมินผลการเรียน และผู้สอนมีความเป็นครู  ทั้งนี้ หากคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์  การสอนในยุคนี้ (ศักดิ์สิทธิ์ พันธ์เขียว, 2542) ควรมีการจัดสภาพการณ์ที่ให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพทางคอมพิวเตอร์ มีการใช้สื่อประสมและสื่อการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถศึกษาค้นคว้าทางวิชาการได้ทุกหนทุกแห่ง ทุกสถานที่ ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน หรือในโรงเรียน มีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ได้เรียนรู้จากการทดลอง การฝึกการสังเกต การวิเคราะห์ วิจัย การบันทึก การเสนอผลงาน การอภิปราย การซักถามและการฟัง มีการแสวงหาความรู้ ค้นหาคำตอบจากแหล่งวิชาการต่างๆ ด้วยตนเอง   จนกระทั่งมีความรู้อย่างแท้จริง  สิ่งที่กล่าวมานี้ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การสอนที่ดีจะต้องเน้นกระบวนการจัดการเรียนรู้

     ชนาธิป พรกุล. (2543) สนับสนุนว่า ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้เช่นกัน  โดยกล่าวถึงบทบาทของครูว่า การจัดการเรียนการสอนที่ครูเคยเป็นศูนย์กลางจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  ครูต้องหาทางให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เอง รู้วิธีเรียน และรักที่จะเรียนรู้ ครูจะต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก  โดยรับบทบาทใหม่ดังนี้ 1)       ผู้จัดระบบการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่การศึกษาหลักสูตร ตลอดจนวางแผนการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เลือก ผลิตและใช้สื่อการเรียนการสอนวัดผลและประเมินผล และรวมไปถึงการจัดระเบียบวินัยในชั้นเรียน 2)       ผู้จัดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ด้านกายภาพ ได้แก่ การจัดชั้นเรียน วัสดุอุปกรณ์ แสงสว่าง ระบบเสียงให้นักเรียนรู้สึกสบายและอยากเรียน ส่วนด้านจิตวิทยา   ได้แก่ การจัดชั้นเรียนให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน กล้าคิด กล้าทำ ให้โอกาสผู้เรียนได้ประสบความสำเร็จทุกคน 3)     ผู้ชี้นำหรือแนะแนวทาง เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้โดยการสังเกต การสำรวจ การทดลอง ซึ่งเป็นวิธีการให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  4)       ผู้สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน เพื่อพร้อมที่จะเข้าใจ ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เพื่อให้ผู้ได้เรียนรู้ได้อย่างราบรื่น 5)      ผู้เสริมแรง เพื่อให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่ครูต้องการ และเป็นการย้ำให้ผู้เรียนมั่นใจในการกระทำของตนเอง จะได้พัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น โดยเลือกโอกาสในการเสริมแรงให้เหมาะสม 6)      ผู้ถามคำถาม  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนคิด และใช้คำถามเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสติปัญญาของผู้เรียน 7)      ผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับ เมื่อผู้เรียนลงมือปฏิบัติย่อมต้องการทราบผลการกระทำของตน

    ดังนั้นเพื่อให้ผู้เรียนมีกำลังใจ ครูจะต้องมีวิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ดังนั้น แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีความเหมาะสมในการนำมาประกอบการออกแบบนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ คือการกำหนดบทบาทให้ครูมีฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้  ทำหน้าที่วางแผนจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้คิด ลงมือปฏิบัติจริง แสวงหาความรู้และค้นพบคำตอบด้วยตนเองให้มากที่สุด 

เอกสารอ้างอิง

ชนาธิป พรกุล. (2543). แคท์ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ชวรงค์  ลัมป์ปัทมปาณี. (2538, 1 มกราคม). ปีแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศไทย 2538: ผลกระทบต่อชีวิตและสังคมไทยในปีใหม่. ไทยรัฐ. หน้า 25.

ประเวศ วะสี. (2539). ยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ: การปฏิรูปการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา. เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน. 30 กรกฎาคม1 สิงหาคม จัดโดยสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ. (อัดสำเนา)

พนม พงษ์ไพบูลย์. (2543). บันทึกปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. วารสารข้าราชการครู, 20 (6), 6.

รสสุคนธ์ มกรมณี. (2532). ครูคือใครในยุคสารนิเทศ. วารสารครุศาสตร์สุนันทา พวงชมพูปริทัศน์, 42-45.

-------------. (2543). ครูกับทศวรรษของยุคสารสนเทศ. ครุปริทัศน์, 3(1), 90-93.   

ศักดิ์สิทธิ์ พันธ์เขียว. (2542). บทบาทของครูกับการเรียนการสอนในยุคโลกาภิวัตน์. วารสารวิชาการ, 2 (9), 57-59.

สุพิน บุญชูวงศ์. (2544). หลักการสอน. กรุงเทพฯ : ฝ่ายเอกสารตำราสถาบันราชภัฏสวนดุสิต.

อมรวิชช์ นาครทรรพ. (2539). ความฝันของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ตะวันออกจำกัด (มหาชน).

อาภรณ์ ใจเที่ยง. (2540). หลักการสอน. กรุงเทพฯ: โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์.

Good, C. V. (1975). Dictionanany of education (3rd ed.). New York: McGraw-Hill.

Ward, C., & Daley, J. (1993). Learning to learn: Strategies for accelerating learning and boosting performance. Christchurch, New Zealand: Authors.

หมายเลขบันทึก: 73275เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2007 15:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

อ่านบันทึกต่อเนื่องกัน 3 ชิ้นนี้แล้ว เกิดความปิติยินดีว่า คุณครูของเราในอนาคตคงจะมีความสุขขึ้น เห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น จนนำไปสู่การทำให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้และชีวิตรอบๆตัวมากกว่านักเรียนในปัจจุบันนะคะ

อยากเห็นเด็กไทยรักการเรียนรู้แบบเอากรอบที่"ต้องท่องจำให้ทำข้อสอบได้ เรียนเพื่อสอบ เรียนเพื่อให้วิ่งไปข้างหน้าจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้พ่อแม่สบายใจว่าลูกจะมีอนาคต" ออกไปเสีย เปลี่ยนเป็นการเรียนเพื่อสิ่งที่ต้องการรู้ ให้อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างมีความสุข พัฒนาศักยภาพที่เด็กๆมีหลากหลายแตกต่างกันให้ได้ใช้ประโยชน์ สอนให้เขารักที่จะอยู่ร่วมกับสังคมรอบๆตัวของเขา ทำให้สิ่งที่มีรอบๆตัวดีขึ้น ไม่เอาแต่วิ่งไปข้างหน้าเพื่อจะให้ไปได้ไกลๆสูงๆกว่าคนอื่นๆรอบตัว เมืองไทย สังคมไทยคงจะสุขสงบ และก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงด้วยตัวของเราเองได้ดีกว่าที่กำลังเป็นอยู่นะคะ

ขอบคุณคุณป้าเจี๊ยบในสิ่งที่ทำมาแล้วและกำลังทำอยู่เป็นอย่างยิ่งค่ะ และเป็นกำลังใจให้ทำต่อไปนะคะ

P
สวัสดีค่ะอาจารย์ สนใจเรื่องในบันทึกของอาจารย์ค่ะ อาจารย์พอยกตัวอย่างโรงเรียนที่สอนอย่างนี้ไหมคะ

จะพยายามสร้างนวัตกรรมในการสอนแทนการบรรยายหน้าห้องเรียนให้มากขึ้น จะสอนให้เด็กคิดเป็นเข้าใจหลักการทำงานแทนการบรรยายและสามารถนำความรู้ที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้

จะสู้เพื่อเด็กไทย และเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านที่กำลังสร้างพลเมืองที่ดี

กราบสวัสดีค่ะ ดร.โรส

เห็นด้วยกับผู้เขียนค่ะ และเชื่อว่าครูและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ก็กำลังใช้ความพยายามเต็มที่ ที่จะเป็น "ครูที่มีฐานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ทำหน้าที่วางแผนจัดกิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้คิด ลงมือปฏิบติจริง แสวงหาความรู้และค้นพบคำตอบด้วยตนเองได้มากที่สุด" เช่นกัน

และต่างก็พยายามเต็มที่อีกเช่นกัน ที่จะปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม โดยสอดแทรกไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละวิชา เพราะปัจจุบันนี้สังคมไทยต้องการเห็นภาพการพัฒนาเยาวชนไทยไปสู่การเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีความสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติ ปัญญา มีความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับ ผู้อื่นได้ อย่างมีความสุข

ขอเป็นกำลังใจกับผู้ที่ทำหน้าที่ครูทุก ๆ ท่านค่ะ

กราบสวัสดีค่ะ ดร.โรส

หนูพยายามเข้าระบบแล้วนะคะแต่ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไรไม่สามารถเข้าได้ ได้อ่านบทความเรื่อง "ครูคือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้" แล้วค่ะ ขณะนี้โรงเรียนที่หนูสอนอยู่ท่านเจ้าของโรงเรียนได้มีแนวคิดแบบนี้มานานแล้ว และกำลังพยายามให้พวกเรานำเทคโนโลยี่ต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะเทคโนโลยี่สารสนเทศ ท่านบอกว่าในอนาคตข้างหน้าผู้สอนและผู้เรียนอาจจะไม่ต้องพบกันบ่อย ๆ หากผู้เรียนไม่ได้เข้าชั้นเรียนก็สามารถติดตามบทเรียน ติดตามงานหรือส่งงานได้โดยอาศัยเทคโนโลยี่สารสนเทศ ซึ่งจะประหยัดเวลาและประหยัดการเดินทางได้มากกว่าค่ะ

พวกเรากำลังพยายามอยู่ค่ะ ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ยากและแปลกใหม่สำหรับครูรุ่นเก่าอย่างพวกเรา ขอให้กำลังใจตัวเองและคุณครูทุก ๆ ท่านค่ะ ขอบคุณค่ะ

eti5301 อุไรรักษ์ เปลี่ยนสุวรรณ ห้อง 4 ค่ะ

สวัสดีค่ะ dr.rose

          เห็นด้วยกับบทความนี้ค่ะ  แต่อยากจะแย้งว่าการที่นำ "นวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาในการศึกษา  ก็ต้องทำใจยอมรับอีกนิดหนึ่งนะค่ะ  ว่าครูของเราบางท่านไม่มีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยี  ซึ่งส่วนมากในปัจจุบันการทำนวัตกรรมใหม่ๆ ก็มักจะนิยมใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม  เพราะเราที่เป็นครูผู้สอนทั้งหลายก็พอจะรู้ ๆ กันอยู่แล้วนะค่ะ ว่าเด็กสมัยนี้เขามีความผูกพันธ์กับคอมพิวเตอร์มากแค่ไหน  และการใช้คอมพิวเตอร์นี้แหละค่ะ ที่คิดว่าน่าจะดึงดูดความสนใจในการที่จะกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้  บางทีถ้าเทคโนโลยีมันเร็วเกินไป แต่คนของเราไปไม่ทันมันก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากต่อการปรับตัวของครูผู้สอนนะค่ะ การจัดการเรียนรู้ก็เช่นกันน่ะค่ะ  ตอนนี้เราเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนี่แหละค่ะ ครูบางคนก็ยังไม่เข้าใจหลักจริง  ๆ เพราะบางคนก็เน้นมากไปจนเหมือนปล่อยให้เด็กปฏิบัติอยู่ฝ่ายเดียว  มันก็เลยไม่ค่อยประสบความสำเร็จกับการปฏิบัติการสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นนะค่ะ ก่อนที่ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ต้องเข้าใจหลักการก่อนค่ะ  ถ้าทำได้เหมือนบทความของ dr.rose จริงๆ  วางการการศึกษาไทยต้องรุ่งแน่ ๆ เลยค่ะ และบัณฑิตของเราในอนาคตก็จะคิดเป็น ทำเป็น กล้าแสดงศักยภาพของตนเองออกมา

       ขอเป็นกำลังใจให้ครูผู้สอนทุกท่านน่ะค่ะ  "ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเราหรอกนะคะ....สู้ ๆ ๆๆค่ะ" 

ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นว่า ในยุคที่การศึกษาเปลี่ยนแปลงจากสอนที่มีลักษณะเป็นการถ่ายทอดความรู้จากครูสู่นักเรียน มาเป็นการเสริมสร้างความรู้โดยมีผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered) นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่ครูอย่างมาก ดังนั้น ทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ถึงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  จึงจะก้าวไปในทิศทางเดียวกันได้ กล่าวคือผู้บริหารสถานศึกษาก็จะต้องวางแนวทางหรือนโยบายเพื่อชักนำให้ผู้สอนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบทบาทให้กลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ในขณะครูเองก็จะต้องพัฒนาตนเองให้เข้ากับกฎกติกาที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ไม่ตกยุค และยังสามารถทำหน้าที่เป็นผู้สอนในสถานศึกษายุคปัจจุบันได้ ไม่ใช่ว่าเคยสอนอะไรมา 20-30 ปี แล้วก็จะยังคงสอนอยู่แบบนั้น และใช้เทคนิค ตลอดจนวิธีการชักนำความรู้ในรูปแบบเดิมๆ ต่อไป ก็จะกลายเป็นไดโนเสาร์ของการศึกษาไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ การบูรณาการทางการศึกษาจะต้องเกิดขึ้นทั้งระบบในเวลาเดียวกัน คือสร้างครูรุ่นใหม่ให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามปรับทัศนคติและเทคนิกการสอนของครูเก่าที่เป็นครูส่วนใหญ่ของประเทศให้เปลี่ยนไปจากเดิมด้วย  อีกทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งโดยมากเคยเป็นครูมาก่อน ก็ยังต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติด้วยเช่นกัน

ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่มีขอบเขตกว้างขวางเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และต้องใช้เวลานานหลายปี แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเริ่มดำเนินการกันตั้งแต่บัดนี้ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า ระยะทางหมื่นลี้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยก้าวแรกเสมอ

สวัสดีค่ะ อ.โรส ขอโทษที่ติดต่อช้าไปหน่อย กว่าหนูจะเข้าบล็อกได้ก็ งง อยู่พอสมควรหนูขอเวลาอ่านบทความนี้ก่อนนะค่ะ ยังไม่มีเวลา ที่โรงเรียนหนู เป็นสนามสอบธรรมศึกษาค่ะ รู้สึกว่าชีวิตกำลังยุ่งเชียว หนูอยู่ฝ่ายธุรการ (บริหารทั่วไปค่ะ) แล้วหนู่จะคุยด้วยใหม่นะคะ วันนี้ สวัสดีค่ะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

จากบทความที่ได้อ่านมานั้น ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student centered) และยังใช้เทคโนโยเข้ามาอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอีก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้ที่ทำหน้าที่ครูอย่างมากและในทางตรงกันข้ามก็ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงการเรียนของนักเรียนเป็นอย่างมาก การที่ผู้สอนจะทำการเปลี่ยนทัศนะคติของนักเรียนให้นักเรียนรู้จักคิดเอง ทดลองทำเองฝึกปฏิบัติด้วยตนเองนั้นค่อนข้างที่จะทำยากเพราะนักเรียนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังความรู้โดยที่ครูเป็นผู้ที่ป้อนความรู้ให้ตลอด นักเรียนเลยไม่เกิดกระบวนการคิดเท่าที่ควรจะเป็น สิ่งที่บทความนำเสนอมาเป็นสิ่งที่ดีและน่าสนใจที่จะนำไปใช้ในการเรียนการสอนทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นดิฉันเห็นว่าก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเราต้องควรที่จะศึกษาว่าในทางปฏิบัตินั้นความเป็นไปได้มีแค่ไหน บุคลากรของเรามีความพร้อมแค่ไหน ตัวของผู้สอนความพร้อมมีอยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าตัวของนักเรียนนั้นขีดความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากันจะสามารถนำไปใช้ได้ขนาดไหน จะนำไปใช้ในทางที่ดีหรือใช้ในทางที่ไม่ดี อันนี้เราก็ต้องมีการสอนคุณธรรมจริยธรรมควบคู่กันไปด้วยเพื่อที่จะทำให้การนำเทคโนโลยีเกิดประโยชน์มากกว่าที่จะเกิดโทษ และการเปลี่ยนแปลงที่จะให้ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางความที่จะต้องค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่เข้าด้วยกันจนเด็กเริ่มซึมซับสิ่งใหม่ ๆ ได้ เพราะความเป็นจริงที่นักวิชาการบางคนอาจไม่เคยได้รู้มาก่อนเลยว่าจริง ๆ แล้วเด็กไทยของเราส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการเรียนอย่างไร ทุกอย่างที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมัมย่อมมีทั้งลบและบวก ถ้าเราจะเลือกให้มันไปในทางบวกมากกว่ามางลบเราก็ควรที่จะต้องมองมาที่สภาพของความเป็นจริงด้วยจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย

ผมได้ศึกษาจากบทความและคัดลอกข้อความบางตอนไป ทำวิจัย การสอน โดยเฉพาะ อ.สุพิน บุญชูวงศ์ ขอบคุณอีกครั้งครับผม

เข้า ศึกษาเพื่อหา บรรณานุกรม สุพิน บุญชูวงศ์ ขอบคุณครับ

อาจารย์ครับ ผม อรรถพล ครับ เป็นนักศึกษาใน Class ของอาจารย์ครับ มาช้าแต่ว่าชัวร์ครับ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท