วันสุดท้ายของการอบรมผู้จัดกิจกรรมค่ายเบาหวาน รุ่นที่ ๕


ส่วนดีๆ ที่ช่วยกันคิดมีหลายเรื่อง

วันนี้เป็นวันที่ ๔ ของการอบรมในโครงการฯ เราปรับกำหนดการแตกต่างจากรุ่นก่อนๆ เดิมช่วงเช้าจะเป็นการบรรยายเรื่องการประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โดย รศ.นพ.วิชัย เอกพลากร แต่อาจารย์วิชัยติดสอนนักศึกษาแพทย์ช่วงเช้า จึงขอมาบรรยายในภาคบ่ายแทน

๐๘.๓๐-๐๙.๓๐ น. เริ่มกิจกรรมเช้านี้ด้วยการทำแบบทดสอบ Pre-test เรื่องการประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน แจกผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของตนเอง หลังจากนั้นดิฉันให้ผู้เข้าอบรมประเมินตนเองโดยใช้ Diabetes Risk Score ของอาจารย์วิชัย พบคนที่มีความเสี่ยงปานกลาง-สูง-สูงมาก กลุ่มละ ๑-๒ คน ต่อจากนั้นจึงทบทวนวิธีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดเส้นรอบเอว ผู้เข้าอบรม ๒ หนุ่ม มาแสดงวิธีวัดความยาวเส้นรอบเอวด้วย ดิฉันนำเสนอแนวทางการจัดการตนเอง พร้อมตัวอย่างวิธีการ self-monitoring เช่น Food diary, Physical activity log ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการจัดการตนเอง

 

 

 รอบเอวนี้ไม่เกิน ๓๖ นิ้ว

 

หลังจากนั้นกลุ่มย่อยต่างๆ หารือกัน เตรียมนำเสนอแผนการจัดค่าย และพัก รับประทานอาหารว่าง ก่อนจะเริ่มนำเสนอผลงานกลุ่ม เราขอให้ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันก่อน เพื่อจะได้ write ลง CD แจกทุกคนได้ทัน ผู้เข้าอบรมหลายคนฝากกล้องให้ช่วยถ่ายภาพนี้ไว้ด้วย จึงเป็นการถ่ายภาพหมู่ที่ใช้เวลามาก แต่ทุกคนก็ยังยิ้มได้ตลอด 

 

 หน้าตาแบบนี้แหละรุ่น ๕ มีทั้งหมด ๕๓ คน

๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ น. เป็นการนำเสนอแนวทางจัดค่าย ของแต่ละกลุ่ม ได้ ๔ กลุ่ม อีก ๒ กลุ่มนำเสนอตอน ๑๒.๕๐-๑๓.๓๐ น. มีดิฉัน คุณธัญญา หิมะทองคำ และคุณสมทรง พลชาติ เป็นผู้ให้ความเห็นเช่นเคย ทั้ง ๖ กลุ่มจะจัดค่ายแบบพักแรม ส่วนใหญ่เป็นแบบ ๓ วัน ๒ คืน ส่วนดีๆ ที่ช่วยกันคิดมีหลายเรื่อง ได้แก่
- เป้าหมายการจัดค่ายส่วนหนึ่งเพื่อต้องการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างบุคลากรกับชาวค่าย (ผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง)
- การใช้ resources ที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ เช่น แพทย์แผนไทย ครู ลูกเสือชาวบ้าน 
- การแสวงหาความร่วมมือกับท้องถิ่น (อบต. อบจ. คหบดี)
- จัดกิจกรรมโดยคำนึงถึงวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
- การใช้ good model ในกิจกรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
- การให้รางวัลผู้ที่มีผลน้ำตาลในเลือดดี
- การประเมินผลทั้งในระหว่างที่อยู่ในค่ายและภายหลังจบค่ายไปแล้ว
เป็นต้น

๑๓.๓๐ น.กว่าเล็กน้อย อาจารย์วิชัยบรรยายที่มาที่ไปของเครื่องมือ Diabetes Risk Score พร้อมข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับความชุกของเบาหวานและกลุ่มเสี่ยงที่มี IFG, IGT ตอบคำถาม ผู้เข้าอบรมมีคำถามที่น่าสนใจ เช่น Program ระบบข้อมูลผู้ป่วย แบบประเมินความเสี่ยงที่ใช้กันอยู่ บางจังหวัดคนละอำเภอใช้คนละแบบก็มี กลุ่มผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยเบาหวานเสียอีก ทำไมไม่มีการทำเครือข่าย เป็นต้น ดูจากคำถามก็รู้ว่าผู้เข้าอบรมสนใจเรียนรู้และคิดถึงงานที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ กว่าจะตอบคำถาม ทำ Post-test และเฉลยคำตอบเสร็จ ก็ได้เวลา ๑๕ น.พอดี

สุดท้ายคือ AAR เราให้ผู้เข้าอบรมเขียนความเห็นความรู้สึกลงในกระดาษที่ด้านหนึ่งเป็น BAR สุ่มหยิบและเชิญเจ้าของมาบอกให้ฟัง ๓-๔ คน ทุกคนมีสิ่งที่ได้รับเกินความคาดหมาย เช่น ความรู้ที่ทันสมัย การได้ตรวจเลือดตนเองทำให้ระมัดระวังตัว การบริการต่างๆ ส่วนที่ได้น้อยและอยากได้เพิ่มคือเรื่องของการตรวจเท้า

สิ่งที่จะกลับไปทำต่อ มีทั้งการจัดค่าย และการนำความรู้ไปใช้ในคลินิกเบาหวาน นพ.นรงฤทธิ์ เกษมทรัพย์ จาก รพ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ถูกเชิญมา AAR เป็นคนสุดท้าย ได้เล่าว่ามีหลายเรื่องที่ตอนเรียนแพทย์ไม่มีสอน เช่น การตรวจเท้า บางเรื่องก็ไม่ได้สนใจ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย เวลาผู้ป่วยถามก็ตอบได้เพียงหลักการ จึงตั้งใจที่จะมาอบรมครั้งนี้ มองว่าการอบรมเป็นเหมือน train the trainer ตนเองจะกลับไปสอนพยาบาลและทีมงานที่ รพ.ต่อ พยาบาลหลายคนฟังแล้วบอกว่าอยากตามไปทำงานด้วยจัง ไม่รู้ว่าอยากตามไปเรียนหรือตามไปเพราะเหตุผลอื่น

ผู้เข้าอบรมหลายคนสอบถามเรื่องทำเนียบผู้เข้าอบรม เพราะอยากติดต่อกันเป็นเครือข่ายต่อไป ทีมงานรู้ใจเตรียมการไว้และบันทึกลง CD ที่แจกให้เรียบร้อย

ปิดการอบรม ๑๕.๓๐ น.

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 72160เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้นำความรู้สรุปส่งผู้อำนวยการได้ร่วมเข้าค่ายเบาหวานครั้งที่ 2 กับโรงพยาบาลแพร่ เมื่อวันที่ 20-21 ม.ค. 50นำความรู้เล่าสู่กันฟังกับทีมงานโรคไม่ติดต่อโรงพยาบาลสูงเม่นนำความรู้ไปแลกเปลี่ยนที่ได้ให้เครือข่ายงานโรคไม่ติดต่อ จังหวัดแพร่เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 50เพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และบริบทของจังหวัดแพร่พร้อมทั้งนำนวัตกรรมกล่องข้าวเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน เผยแพร่ทั้งบุคลากรเครือข่ายตลอดจนประชาชนที่สนใจเพื่อเป็นทางเลือกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ขอขอบพระคุณความรู้ที่ได้

      มีความสนใจวิธีการออกกำลังกายโดยใช้ยางยืดของคุณสุพจน์มาก ต้องการอยากจะทราบรายละเอียดถึงวิธีการ ประโยชน์ และข้อจำกัดในการใช้วิธีการออกกำลังกายด้วยวิธีนี้เป็นอย่างไร  

 จะเป็นพระคุณอย่างมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท