ยกเลิก ‘มหาวิทยาลัยระดับโลก’


 

บทความ Report calls for end of ‘world-class’ university model  อ้างถึงรายงาน “Down with the World-class University: How our business models damage universal higher education” ของ HEPI (Higher Education Policy Institute) แห่งสหราชอาณาจักร   ด้วยเหตุผลว่า โมเดลส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ   มหาวิทยาลัยควรเน้นความร่วมมือกันมากกว่า     

ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง

เขาเรียกรายงานนี้ว่า Debate paper   เขียนโดย Edward Venning 

ผมชอบบทนำของ Professor Frances Corner ที่กล่าวว่า A university education equips students with a toolbox richer than just jobready skills.   การเรียนในมหาวิทยาลัยต้องได้ประโยชน์มากกว่าการมีอาชีพ    ผมขอเสนอให้ผู้บริหารอุดมศึกษาไทยเข้าไปอ่านบทนำสั้นๆ นี้   จะเห็นประเด็นที่ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบันต้องทำงานอย่างไร   และเป็นการทำงานที่ต้องทำร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นอย่างไร

ผมสรุปว่า มหาวิทยาลัยต้องหนุนให้ศิษย์พัฒนาทักษะหรือสมรรถนะสองด้านใส่ตัวในเวลาเดียวกัน หรือในกระบวนการเดียวกัน  คือสมรรถนะวิชาการ กับ “จรณทักษะ” (soft skills)     

การพัฒนาทักษะสองด้านไปพร้อมๆ กัน ต้องออกไปทำนอกรั้วมหาวิทยาลัย ในชีวิตจริง   โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์  ในกระบวนการที่เรียกว่า พันธกิจมหาวิทยาลัยกับสังคม    ที่จะทำได้ดี มีประโยชน์แท้จริงต้องทำร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาอื่นด้วย    การร่วมมือ จึงสำคัญหรือเป็นประโยชน์กว่าการแข่งขัน   

รายงานนี้เสนอการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักร   จากโมเดลเดิม สู่การค้นหาแนวทางใหม่ที่มีหลายโมเดล   ที่สถาบันอุดมศึกษาต้องจับกลุ่มรวมตัวกันทำงานเพื่อสร้างโมเดลใหม่ขึ้น ให้สนองความต้องการของสังคม   ความเป็นเลิศ  เป้าหมายหลัก ของอุดมศึกษาต้องไม่หลงวนเวียนอยู่กับแนวทางเดิม    เพื่อค้นหาแนวทางใหม่ มหาวิทยาลัยต้องทำงานแบบเน้นร่วมมือกัน   ไม่ใช่เน้นแข่งขันกัน โดยตกเป็นเหยื่อของการจัดอันดับ   

ไทยเราคิดอย่างไร กับ ๑๙๒ สถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่   เรามีการจัดกลุ่มอุดมศึกษาแล้ว   เราเปิดช่องให้ความยืดหยุ่นให้อุดมศึกษาแต่ละแบบมีการพัฒนาวัฒนธรรมความเป็นเลิศที่จำเพาะต่อแต่ละกลุ่มแล้วหรือยัง   

จากบทนำของบทความ ผมได้เข้าใจว่า สภาพหนึ่งของยุคสังคมความรู้ (knowledge society) คือการแข่งขันกันระหว่างนวัตกรรมกับการศึกษา    และในสภาพปัจจุบัน นวัตกรรมแข่งชนะ   ซึ่งจะนำสู่ความไม่เท่าเทียม และปัญหาสังคม    หากการศึกษาชนะ ก็จะนำสู่การจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ   ประเทศไทยเรานวัตกรรมแข่งชนะมานับร้อยปี   แต่เป็นนวัตกรรมจากต่างประเทศ   

อ่านเอกสารต้นฉบับจบ    ผมสรุปกับตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนระบบอุดมศึกษาของอังกฤษ    แต่ก็มีหลักการหลายอย่างที่เรานำมาคิดต่อ สำหรับใช้ปรับระบบอุดมศึกษาไทยได้   

เรื่องใหญ่ที่น่าจะตรงกันสำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ   คือเป้าหมายผู้เข้าเรียนอุดมศึกษาต้องขยายเป็นคนกลุ่มทำงานด้วย    เขาไม่เอ่ยถึงคำ engagement แต่ในเชิงสาระเขาเน้นความร่วมมือกับทุก sector  รวมทั้งความร่วมมือระหว่างสถาบัน   

อีกประเด็นที่น่าจะตรงกันทั่วโลก คือ ต้องมีการพัฒนาเป้าหมาย และวิธีการใหม่ๆ ในการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษา   เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม   ไม่ยึดมั่นอยู่กับรูปแบบเดิมๆ   

คืออุดมศึกษาต้องสร้างนวัตกรรมในหลากหลายด้าน    รวมทั้งในด้านอุดมศึกษา  

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 719570เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2024 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2024 15:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท