หลงป่า...ได้อะไร


ประสบการณ์หลงป่า ไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์ แต่มันเป็นหนึ่งประสบการณ์ตรง ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของความไม่ประมาท ได้สยบความอหังการ์ของตนเอง ได้เห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อน ตลอดจนสิ่งเล็กสิ่งน้อย ที่แต่ก่อนเราเคยมองข้าม ได้รู้จักจิตใจของผู้คนและลึกลงไปถึงตนเอง รวมไปถึงคุณค่าของการมีชีวิต และเข้าใจว่าแม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมมาสักเท่าไหร่ก็จะมีบางอย่างให้เราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ เราไม่รู้จักเราไม่คุ้นเคยและเต็มไปด้วยความเสี่ยงได้เสมอ

เคยหลงป่าไหม?
คนที่เคยหลงป่ามาบ้าง ย่อมรู้ถึงรสชาติของชีวิตบางอย่างที่ประสบการณ์ทั่วไปหาไม่ได้ 
ความยากลำบาก ความหวาดกลัว ความกล้าหาญ และ ภาวะบีบคั้น ทึ่ทำให้เราต้องเค้น ศักยภาพสูงสุดที่จะเอาชีวิตรอดท่ามกลางความเสี่ยงภยันตรายคลุกเคล้าระคนกัน


ในบทที่สองของหนังสืออาจารย์เสกสรรค์ประเสริฐกุล จากหนังสือ “วิหารที่ว่างเปล่า”กระตุ้นเร้่าให้ผมกระตุกคิด ถึงห้วงเวลาเหล่านั้น


หลงป่าครั้งแรกน่าจะราวปี 2536 หรือ 37 ในการรอนแรมกับรุ่นพี่รุ่นน้องสาขาภูมิศาสตร์ มช. ลัดเลาะตามสันเขาสลับกับลำห้วย 4 คืน 5 วัน บริเวณผืนป่าดอยเชียงดาว-ดอยผ้าห่มปก เชียงใหม่


เหตุการณ์แรก เป็นวันสุดท้ายที่เรากะว่าเดินป่าอีกไม่กี่กิโลก็จะถึงจุดหมายนัดพบในชุมชนที่ราบข้างล่าง  พวกเราจึงใช้เสบียง น้ำ และสิ่งของอื่นๆ ให้หมด เพื่อที่จะให้เบาแรง เวลาเดินวันสุดท้ายนี้จะได้ไม่ต้องแบกของหนัก 
แต่แล้วเหตุการณ์กลับผิดคาด ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพลบค่ำ ก็ทราบข่าวจากท้ายขบวนว่ามีเพื่อนเราคนหนึ่งหลงทางและพลัดตกหุบเหว ไม่รู้เป็นตายร้ายดีประการใด


ทีมปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไร สรุปคือ แบ่งคนเป็นสองทีม หนึ่งคือทีมที่ย้อนกลับไปค้นหาผู้ที่พลัดหลง และอีกหนึ่งทีมคือผู้ที่เฝ้ารออยู่ที่นั่น คอยเคลื่อนขบวนด้วยกัน “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  ก็จะขอรอจนกว่าจะพบเพื่อนที่พลัดตกเขาหลงทางหายไป ว่าจะอยู่หรือจะรอดหรือจะต้องช่วยเหลือกันต่อไป 
จากบ่ายแก่ๆจนถึงเย็นจนถึงค่ำ และย่ำรุ่งของอีกวัน พวกเรายี่สิบกว่าชีวิตตั้งแคมป์รอบนสันเขา ต่างแบ่งปันกันในเสบียงเท่าที่มีอยู่ไม่ว่าน้ำ อาหารแห้ง แสงไฟจากกระบอกไฟฉายที่ถ่านใกล้หมด และที่สำคัญคือขวัญและกำลังใจ รอจนกระทั่งเฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่มารับร่างที่หายใจรวยรินของเพื่อนเราบินลับตาไป เราจึงเดินทางมุ่งหน้าสู่หมู่บ้านด้านล่างได้แม้จะคลาดเคลื่อนไปจากวันและเวลาที่กำหนดไว้หนึ่งวัน  


จำได้ว่าเหตุการณ์คณะนักศึกษาหลงป่าในวันนั้นเป็นข่าวออกในหน้าทีวี เป็นที่ฮือฮาอยู่เหมือนกัน


เหตุการณ์หลงป่าอีกครั้งของผมเกิดขึ้นจากนั้นไม่นาน ราวปี 2539 ที่ไปเที่ยวกับเพื่อนสนิทซึ่งเป็นนายตำรวจ สองคนเราเดินเท้าตามเส้นทางเดินป่าในเขาใหญ่ ด้วยความชะล่าใจว่าเป็นเส้นทางที่ทางอุทยานประกาศให้เดินป่าได้ไม่ไกล และมีแผนที่ทำมือ ที่ทางอุทยานพิมพ์แจกเอาไว้หยาบๆ จึงไม่ได้นำสัมภาระหรืออุปกรณ์ยังชีพอะไรเข้าไป


เราคิดว่าระยะทางแค่ไม่กี่กิโล ซึ่งเป็นพื้นที่ราบอย่างนี้ เดินไม่เกินสองชั่วโมง ก็น่าจะถึงที่หมายได้ 
แต่สภาพป่าหน้าฝน เต็มไปด้วยความรกชัฏ สัญลักษณ์ป้ายบอกทางต่างๆก็เลือนหายไปเรื่อยๆ จากบ่ายจนฟ้าเริ่มมืด จึงรู้ได้ว่าไม่มีทางให้เสี่ยงไปต่ออีกแล้ว สัญลักษณ์บอกทางหายไปหมดแล้ว ครั้นจะเดินย้อนกลับณจุดที่ตั้งต้นไม้ก็ไม่มีทางทันก่อนตะวันลับฟ้า


ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงมีดที่ระลึกแบบมีดคว้านเล่มเล็กๆเล่มเดียวที่ผมติดตัวมา ไม่มีน้ำ อาหาร ไม่มีไฟฉาย สัญญาณโทรศัพท์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ


ตั้งแต่บ่ายที่ได้เผชิญกับทากดูดเลือดนับสิบนับร้อยที่ทยอยไต่ตาม พอพลบค่ำ สำเสียงสรรพสัตว์ก็ยิ่งชัดร้องระงมขึ้นมากขึ้น ถี่ขึ้นและใกล้ขึ้น คืนอันมืดมิดที่ได้ยินเสียงสรรพสัตว์ร้องบ่งบอกว่าถ้ามีช้างป่า เสือ หมีหรือแม้แต่งูพิษเลื้อยเข้ามาตรงจุดที่เราหันหลังชนกันบนเนินหญ้าในคืนนี้ เราก็อาจจะไม่มีลมหายใจรอดถึงก่อนเช้า


มิพักต้องพูดถึงความกังวลใจในการได้เห็นรอยเท้าสัตว์ขนาดใหญ่ริมธารน้ำ รวมถึงรอยกรงเล็บที่อยู่ตามต้นไม้ตลอดรายทางที่เราก้าวย่างกันเข้ามา 


ในขณะที่อาการโรคหอบหืดของเพื่อน ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงดึกที่อากาศในป่าชื้นและหนาวเย็นลงล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเพราะถ้าหนักก็ถึงขั้นหายใจไม่ออกเอาได้ 


ฝืนไปต่อก็มีแต่เสี่ยงตาย ถ้าจะตายก็ขอให้ตายอย่างมีสติ อดทนและกล้าหาญอยู่ตรงนี้
สองคนกับเพื่อน ผลัดกันหลับ ผลัดกันตื่นเป็นยามซึ่งกันและกันไว้เพราะไม่รู้ว่าจะมีฝันร้ายอะไรเข้ามาจู่โจมหากเกิดเหตุจะได้ปลุกกันขึ้นมารับมือทัน 


หลงทางอยู่หนึ่งคืน  พอเช้ารุ่งขึ้น เราจึงตามเสียงของรถยนต์เดินออกไปยังที่ตั้งของป้อมยามเจ้าหน้าที่อุทยานได้


………………………………………….


ประสบการณ์หลงป่า ไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าอภิรมย์ แต่มันเป็นหนึ่งประสบการณ์ตรง ที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของความไม่ประมาท ได้สยบความอหังการ์ของตนเอง ได้เห็นคุณค่าของความเป็นเพื่อน ตลอดจนสิ่งเล็กสิ่งน้อย ที่แต่ก่อนเราเคยมองข้าม  ได้รู้จักจิตใจของผู้คนและลึกลงไปถึงตนเอง รวมไปถึงคุณค่าของการมีชีวิต และเข้าใจว่าแม้ว่าเราจะเตรียมพร้อมมาสักเท่าไหร่ก็จะมีบางอย่างให้เราไปอยู่ในสถานการณ์ที่ เราไม่รู้จักเราไม่คุ้นเคยและเต็มไปด้วยความเสี่ยงได้เสมอ


ประเด็นจึงไม่ใช่การหลีกหนีความเสี่ยง แต่หากเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อว่าความเสี่ยงภยันอันตรายอาจจะมาถึงเราได้เสมอ


และมันเป็นกระบวนการหนึ่งซึ่งทำให้เรายกระดับไปสู่ความเข้าใจในชีวิตและตัวตนอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่หาไม่ได้จากการอบรม Life-coach หรือสถาบันการศึกษาไหนๆ


อาจจะยาวนิดสำหรับข้อเขียนนี้ แต่ส่วนตัวอยากให้เป็นบันทึกการเดินทางเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์เตือนใจแก่ตนเอง หรือต่อคนที่สนใจ ต้องขอขอบคุณหนังสือพ็อคเก็ทบุ๊คเล่มที่ว่าเอาไว้ ที่ช่วยให้ผมได้ฉุกคิดและอยู่กับตนเองในวันหยุดนี้ เพื่อทบทวนเรื่องราวย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงกระบวนการกว่าจะมาเป็นตัวตนในวันนี้ของผมในวันนี้ได้อย่างดีเดียว  รวมไปถึงทิศทางชีวิตในวันหน้าที่น่าจะเชื่อมโยงกับผู้คนและสรรพสิ่งต่างๆต่อไป ไม่มากก็น้อย


ชีวิตไม่ว่าจะถึงพร้อมแค่ไหน ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยงในทุกวารวัน และถ้าเราเข้าใจมันมากพอ เราอาจจะค่อยๆค้นพบว่า ในความเสี่ยง ความหวาดหวั่นถึงความไม่มั่นคงเหล่านั้น ในอีกด้าน มันก็เป็นทางเดินสู่ความรู้สึกถึงคุณค่าและความมหัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน 

หมายเลขบันทึก: 719563เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2024 11:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2024 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท