ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์  ๕. พลังของความไม่สมบูรณ์แบบ


 

บันทึกชุด ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ นี้ ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ Hidden Potential : The Science of Achieving Greater Things   นำสู่การตีความหนังสือออกเป็นบันทึกชุดนี้    แต่เป็นการตีความที่ต่างจากบันทึกชุดก่อนๆ คือ ผมได้เสริมข้อคิดเห็นของตนเอง จากความรู้เดิมที่มีและจากความรู้ที่ขอให้ปัญญาประดิษฐ์หลายสำนักช่วยค้นและให้ข้อสรุปด้วย     

ตอนที่ ๕ เสนอข้อตีความจากบทที่ ๓  The Imperfectionists  : Finding the Sweet Spot between Flawed and Flawless 

เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองโกเบและโอซากาของญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘  ที่เมืองโกเบบ้านเรือนพังไปกว่า สองแสนหลัง    แต่อาคารที่สถาปนิก Tadao Ando ออกแบบ ๓๕ หลัง ไม่มีริ้วรอยเลยแม้แต่น้อย 

ท่านผู้นี้สร้างตัวเป็นสถาปนิกระดับโลกโดยไม่เคยเรียนที่สถาบันใดเลย    เรียนเองจากการยืมหนังสือของเพื่อนมาอ่าน แล้วปฏิบัติ    ที่ผมตีความว่า ความยิ่งใหญ่ของท่านมาจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ (experiential learning)    และ Adam Grant ผู้เขียนหนังสือ Hidden Potential บอกว่า    ความยิ่งใหญ่ในการออกแบบอาคารของท่าน มาจากการรู้จักยอมไม่สมบูรณ์แบบในบางด้าน   เพื่อธำรงจุดเด่นที่ต้องการ   

มองจากผลงานแต่ละชิ้นของเขา ดูเสมือนว่า ทาดาโอะ อันโดะ เป็น perfectionist    แต่ Adam Grant กลับชี้ว่า เขาจงใจเป็น imperfectionist ในบางด้าน   เพื่อความยิ่งใหญ่ในด้านที่เขาต้องการ   โดยวงการนักออกแบบมองว่า ท่านเน้น form มากกว่า function    ทำให้ผลงานออกแบบของท่าน เป็นเสมือน “บทกวีทางจักษุสัมผัส” (visual haiku)    อ่านเรื่องราวประวัติและภาพผลงานของท่านได้ที่ (๑)     

ผลงานยอดเยี่ยมเกิดจากผู้สร้างสรรค์รู้ว่าจะยอมไม่สมบูรณ์แบบที่จุดใดหรือประเด็นใด    และไม่สมบูรณ์แบบในระดับที่ดีเพียงพอ    เพื่อธำรงความสมบูรณ์แบบ หรือความแปลกใหม่ที่เด่นชัดในจุดหรือประเด็นที่ต้องการ   

 สิ่งที่นักเรียนเกรด เอ มักเข้าใจผิด 

นักเรียนเกรด เอ มักถูกกดดันให้มีจริตสมบูรณ์แบบ (perfectionist) โดยไม่รู้ตัว    จะทำอะไรก็ต้องได้คะแนนเต็ม หรือไม่มีตำหนิที่ใดเลย    วิธีคิดแบบนี้เป็นการคิดแนวเส้นตรง (linear)   และอยู่ในโลกสมมติ

โลกแห่งความเป็นจริงมีความไม่ชัดเจน แปรปรวน เปลี่ยนแปลง อยู่เป็นปกติ    การพยายามสร้างผลงานไร้ที่ติจึงเป็นเรื่องที่ยากหรือเป็นไปไม่ได้    และก่อผลร้าย ๓ ประการคือ 

  1. มัวสนใจรายละเอียดที่ไม่จำเป็น    ทำให้ต้องเสียสมองเสียเวลาโดยใช่เหตุ
  2. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย    ทำให้หลงพัฒนาทักษะแคบๆ ที่ตนรู้อยู้แล้ว   ไม่หาทางพัฒนาทักษะใหม่ๆ   
  3. โกรธตนเอง หรือเสียใจเมื่อทำผิดพลาด   ทำให้ไม่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด 

จริตสมบูรณ์แบบ จึงเป็นเสมือน “ยาทำแคระ”   เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตทางปัญญาและความสร้างสรรค์   ไม่เอื้อต่อการปลุกพลังซ่อนเร้นภายในตัวเรา     

ผมขอให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่า    ในชีวิตจริง ความสมบูรณ์แบบ ๑๐๐% ไม่มี    ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นมายา  

คุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบ

ญี่ปุ่นมีศิลปะแนว wabi sabi ที่ให้คุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบ หรือมีตำหนิ  มีความเสื่อมถอยไปตามกาลเวลา     ตามหลักศาสนาพุทธแบบเซน   การออกแบบชิ้นงานสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงมากของ ทาดาโอะ อันโดะ คือคอนกรีตเปลือย   ที่มีรอยของผิวคอนกรีตที่ไม่เรียบ   ออกมาใหม่ๆ มีคนตำหนิมาก ว่าคล้ายเป็นงานที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อย    เวลานี้ยอมรับกันว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะ   

วะบิ ซะบิ เป็นรูปแบบหนึ่งของทักษะเชิงลักษณะนิสัย    ที่ช่วยให้เรากล้าลองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย   หรือสิ่งที่สังคมไม่รู้จัก ไม่เห็นคุณค่า    ซึ่งเป็นมิติหนึ่งของความสร้างสรรค์    คือไม่ตกหลุมความสมบูรณ์แบบที่มีอยู่เดิม    กล้าสร้างสรรค์ชิ้นงานใหม่ ที่แหวกแนวไปจากความเคยชินเดิมๆ    วะบิ ซะบิ จึงเป็นเครื่องมือปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์       

ค้นหาความไม่สมบูรณ์แบบที่เหมาะสม

ลักษณะอย่างหนึ่งของจริตสมบูรณ์แบบ (perfectionism) คือ    ไม่กล้าฝึกเรื่องสำคัญที่ตนทำไม่ได้ดี    เลี่ยงไปฝึกตอนที่ไม่สำคัญแต่ตนทำได้ดี   นี่คือจิตวิทยาที่ซ่อนเร้นในมนุษย์นักสมบูรณ์แบบ    คนที่ต้องการพัฒนาทักษะเชิงลักษณะนิสัยของตนจึงต้องหาทางลบจริตสมบูรณ์แบบของตนเองออกไป 

Adam Grant เล่าเรื่องการฝึกกีฬากระโดดน้ำของตน   ที่จริตสมบูรณ์แบบทำให้ตนไม่กล้าฝึกท่ายากๆ    มัวลังเลอยู่บนกระดานกระโดดนานถึง ๔๕ นาที         

การคิดย้อนอดีตหรือคิดไปในอนาคต ที่เรียกว่า mental time travel เป็นวิธีคิดที่เอื้อให้จริตสมบูรณ์แบบออกมากระทำการ    ส่งผลให้จิตไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่คิดไปถึงตอนทำไม่ได้ดีในอดีต หรือคิดกังวลไปในอนาคต เกรงผลจะออกมาไม่ดี     คำแนะนำคือ ให้มุ่งทำกิจกรรมในปัจจุบันโดยมีเป้าหมายว่าจะปรับปรุงตรงไหนที่ถือว่าเป็นจุดสำคัญในเรื่องนั้น    โดยทำได้ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยก็พอใจ    และมุ่งฝึกฝนต่อไปอีก   

คำว่า “ทำให้ดีที่สุด” (do your best) แสลงต่อการดำรงจริตสมบูรณ์แบบ   แก้โดยเน้นฝึกจุดที่สำคัญที่สุด ใช้คำว่า “ทำให้ดีขึ้น” (do it better)    จะเป็นจิตวิทยาที่ส่งเสริมให้เอาชนะจริตสมบูรณ์แบบ    

ล้มแล้วลุก 

หนังสือ Hidden Potential เล่าเรื่องการแสดงเพลงประกอบท่าเต้นบนเวทีที่นครชิคาโก เมื่อปี ๒๕๔๕ ของผู้กำกับการแสดงที่มีชื่อเสียง  ที่ผู้กำกับตั้งใจออกแบบเพลงและท่าเต้นที่แปลกใหม่    แต่การแสดงล้มเหลวไม่เป็นท่า    โดนนักวิจารณ์การแสดงตำหนิอย่างเสียหาย

ผู้กำกับการแสดงไม่ท้อ  ชวนลูกชายศึกษาข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ชมและนักวิจารณ์   เพื่อหาจุดสำคัญที่ต้องปรับปรุง    โดยใช้หลักการว่า หากมีคนวิจารณ์ตรงกัน ๒ คน ถือว่าเป็นจุดสำคัญสำหรับดำเนินการปรับปรุง   เมื่อนำออกแสดงอีก ได้รับคำวิจารณ์ที่เป็นคำชมเป็นส่วนใหญ่   

สะท้อนความมีทักษะเชิงลักษณะนิสัยของผู้กำกับการแสดง    ที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของจริตสมบูรณ์แบบ        

ผลผลิตที่น่าพอใจ

ไม่ว่าทำอะไร ผลผลิตที่มุ่งหมายคือ “ผลผลิตที่เป็นเลิศ” (excellence)  ไม่ใช่ “ผลผลิตที่ไร้ตำหนิ” (flawless)    คือสวมวิญญาณของ “นักปฏิบัตินิยม” (pragmatist)   หลุดจากบ่วงของ “จริตสมบูรณ์แบบ” (perfectionist)   

ในทางปฏิบัติ เขาแนะนำให้หากัลยาณมิตรจำนวนหนึ่งช่วยตรวจสอบผลงานฉบับร่าง    แล้วให้คะแนนในสเกล ๐ - ๑๐ พร้อมทั้งบอกจุดที่ควรปรับปรุง   หากได้คะแนน ๘ ถือว่าใช้ได้   คะแนน ๗ บอกว่าต้องปรับปรุง ปล่อยออกไปไม่ได้    คะแนน ๙ ถือว่าบรรลุเป้าหมายอย่างน่าปลื้มใจ   โปรดสังเกตว่า สำหรับผู้สวมวิญญาณ growth mindset  คะแนน ๑๐ หรือผลงานสมบูรณ์แบบ ไม่มี    เพราะจะต้องมีช่องไว้สำหรับการพัฒนาและเติบโตเสมอ

จุดอ่อนของผู้มีจริตสมบูรณ์แบบ

ผลงานวิจัยจำนวนมากบอกว่า ผู้มีจริตสมบูรณ์แบบมักตกเป็นเหยื่อของการตัดสินโดยผู้อื่นได้ง่าย    เมื่อการตัดสินนั้นไม่ตรงกับที่ตนต้องการ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำสู่ความหดหู่ใจ (depression)  ความกังวลใจ (anxiety)  และหมดพลังใจ (burn out) 

ผลงานวิจัยด้านแรงจูงใจ (motivation) ๑๐๕ ชิ้น  ในคนกว่า ๗ หมื่น บอกว่า    คนที่ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายภายนอก อันได้แก่ ชื่อเสียง การแต่งกาย  มีสุขภาวะต่ำกว่าคนที่ให้ความสำคัญต่อเป้าหมายภายใน อันได้แก่การเรียนรู้และพัฒนา การมีเครือข่าย   บอกเราว่าหากเราใช้การประเมินจากภายนอกเป็นเครื่องบอกฐานะหรือความเด่นของเรา เป็นอันตราย   การประเมินจากภายนอกจะเป็นประโยชน์ ก็ต่อเมื่อเราใช้เป็นเครื่องมือหนุนการเรียนรู้และพัฒนาของเรา    โปรดสังเกตนะครับ ว่าวงการการศึกษาไทยใช้การประเมินภายนอกเออะไรเป็นหลัก     

ทำให้ผมหวนนึกถึงสภาพที่นักเรียนนักศึกษาไทยในปัจจุบันเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นอย่างชัดเจน    และตั้งคำถามว่า มีสาเหตุลึกๆ มาจากระบบการศึกษาที่เน้นการประเมินจากภายนอก  เน้นเป้าหมายดูดีในสายตาคนอื่น   อ่อนแอด้านความเป็นตัวของตัวเอง หรือเปล่า   

บทบาทของการศึกษาในการป้องกันจริตสมบูรณ์แบบ

จริตสมบูรณ์แบบเป็นปัญหาด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ของตัวบุคคล   นำสู่ความวิตกกังวล ความเครียด และกลัวล้มเหลว    การศึกษาที่ดีจะช่วยป้องกันปัญหานี้ โดยช่วยหนุนให้ผู้เรียนสร้างกระบวนทัศน์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเรียนรู้และความสำเร็จให้แก่ตนเอง   

แนวทางจัดการศึกษาเพื่อลดจริตสมบูรณ์แบบ

  • ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจจริตสมบูรณ์แบบ  และอันตรายของจริตสมบูรณ์แบบ
  • ส่งเสริมความเป็นเลิศ  ไม่ใช่ความสมบูรณ์แบบหรือไร้ตำหนิ   สร้างบรรยากาศที่ไม่กลัวความล้มเหลว
  • ส่งเสริมกระบวนทัศน์พัฒนา (growth mindset)   ที่มุ่งปรับปรุงตนเอง ผ่านความมุ่งมั่นมานะพยายาม
  • สร้างบรรยากาศปลอดภัย ที่ผู้เรียนกล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้าลองอย่างไม่กลัวผิด  เป็นบรรยากาศที่ยอมรับว่าทุกคนมีจุดอ่อน และปรับปรุงได้   
  • นิยาม “ความสำเร็จ” ใหม่  จากคะแนนและการเปรียบเทียบกับผู้อื่น   เป็นเน้นที่ความพยายาม และความก้าวหน้าของตนเอง
  • ส่งเสริมการเรียนรู้จากความล้มเหลว   นำมาสะท้อนคิดร่วมกันว่าเรื่องราวเหตุการณ์นั้นให้ความรู้อะไรบ้าง
  • สร้างความสัมพันธ์เชิงสนับสนุน หรือความสัมพันธ์เชิงบวก ระหว่างครูกับนักเรียน   ครูให้กำลังใจ (positive reinforcement)  และให้การป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ (constructive feedback) แก่นักเรียน     
  • ส่งเสริมให้นักเรียนทำโครงการระยะยาว และได้รับคำแนะนำป้อนกลับเป็นระยะๆ   เพื่อให้นักเรียนมีประสบการณ์ความภาคภูมิใจจากความพยายาม และความก้าวหน้าของตน
  • ปรับหลักสูตร  ใส่เรื่องความฉลาดทางอารมณ์  กระบวนทัศน์พัฒนา และคุณค่าของการเรียนรู้จากความผิดพลาดหรือล้มเหลว
  • การพัฒนาครู  ทำความเข้าใจแนวโน้มของจริตสมบูรณ์แบบ    อันตราย  และวิธีป้องกัน
  • ระบบช่วยเหลือนักเรียน   ที่ได้รับผลร้ายจากจริตสมบูรณ์แบบ    ให้ออกจากกระบวนทัศน์นี้
  • เชื่อมโยงกับพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน  เพื่อทำความเข้าใจผลร้ายของจริตสมบูรณ์แบบ    และการสร้างระบบนิเวศที่บ้าน ที่ไม่หลงเน้นความสมบูรณ์แบบ   แต่เน้นการเรียนรู้และพัฒนาของตัวเด็ก 

น่าจะมีงานวิจัย ติดตามผลว่า เมื่อโรงเรียนไทยดำเนินการตามข้อแนะนำนี้   อัตราการเกิดความเครียด ความหดหู่ และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ลดลงหรือไม่   สุขภาวะของนักเรียนดีขึ้นหรือไม่       

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ส.ค. ๖๗

ระหว่างเป็นโควิด 

 

หมายเลขบันทึก: 719556เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2024 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2024 14:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท