ชีวิตที่พอเพียง  4822. ตายดี


 

บทความใน The 101 เรื่อง การตายดีต้องมีนโยบายด้วยหรือ โดย นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ น่าอ่านมาก    อ่านได้ที่ (๑)   จะเห็นว่าการตายเป็นเรื่องซับซ้อน   ยิ่งเอาเข้าไปคิดร่วมกับการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างที่คุณหมอสมศักดิ์เขียน  ยิ่งซับซ้อน 

ผมติดใจเรื่องสำคัญที่สุดคือ นิยามของคำว่า “ตายดี”   ที่ผมเคยไปเข้าหลักสูตร Living and Dying with Dignity ของคุณ Victoria Subirana   ที่ผมสรุปว่าคนเราต้องรู้จักเอาความตายมาเตือนสติให้ดำรงชีวิตในปัจจุบันอย่างสง่างาม    คือไม่มองเฉพาะจุดที่ความตายหรือใกล้ตาย    แต่มองความงดงามของชีวิตทั้งชีวิต   

ดังนั้นหากรู้จักใช้    “ตายดี” จะเป็นตัวช่วยให้เรามี “ชีวิตดี” 

เมื่อถึงตอนตายจริงๆ “ตายดี” มีนิยามอย่างไร   

ผมคิดว่า ต้องตั้งคำถามว่า “ดีต่อใคร”    และตอบเองว่า ต้องไม่แค่ดีต่อผู้ตายเท่านั้น  ต้องดีต่อผู้ดูแลรอบข้างด้วย   และดีต่อสังคมด้วย คือไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายต่อสังคมมากโดยไม่จำเป็น   

จะ “ตายดี” ได้   ต้องเข้าใจธรรมชาติของชีวิต   ว่าเป็นการเดินทางสู่จุดสุดท้ายคือความตาย    แต่ผมเชื่อว่า ความตายยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตมนุษย์   เพราะคนเรามีชีวิตหลังความตายอยู่ในความทรงจำของผู้คนและสังคมหลากหลายแบบ  รวมทั้งคนจำนวนมากยังเชื่อในชีวิตของตนเองหลังความตาย    เป็นเรื่องวิญญาณไปขึ้นสวรรค์ลงนรก ตามความเชื่อโบราณ   ความเชื่อแบบนี้แหละที่ทำให้  “ตายดี” เป็นเรื่องซับซ้อนในชีวิตจริง   

สำหรับผม “ตายดี” หมายถึง ตายอย่างสงบไม่ทุกข์ทรมานเกินไป  ไม่ก่อความเดือดร้อนให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่   หรือช่วยให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มีชีวิตต่อไปอย่างมั่นคงและมีความสุข   หากเป็นไปได้ก็ทิ้งมรดกบางอย่างไว้ให้สังคมได้ใช้ประโยชน์            

ตายดี ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าตลอดชีวิต 

วิจารณ์ พานิช 

๑ ก.ย. ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 719566เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2024 16:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2024 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท