ชีวิตที่พอพียง  4632. อยู่และตายอย่างสง่างาม


 

วันที่ ๒ – ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ผมไปเข้าคอร์ส Living and Dying with Dignity  มี Victoria Subirana เป็นครูสอน   เป็นคอร์สพักค้างคืน ที่บ้านกานนิสา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี   ขับรถไปจากบ้านผมเพียง ๓๐ นาที   

 ผมถาม bing ซึ่งเป็น Generative AI ด้วยคำถาม “กรุณา สรุปประเด็นสำคัญของคอร์ส Living and Dying with Dignity ที่ Victoria Subirana สอน”   ได้คำตอบดังนี้ “ขออธิบายเป็นภาษาไทยนะคะ คอร์ส Living and Dying with Dignity ที่ Victoria Subirana สอนเป็นคอร์สที่เน้นการเตรียมตัวในการเผชิญความตาย โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเผชิญความตาย และการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการตาย โดยเน้นการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การฝึกโยคะ การฝึกสมาธิ การฝึกการหายใจ และการฝึกการเชื่อมต่อกับตัวเอง โดยเน้นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเผชิญความตาย และการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการตาย โดยเน้นการใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การฝึกโยคะ การฝึกสมาธิ การฝึกการหายใจ และการฝึกการเชื่อมต่อกับตัวเอง โดยเน้นการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเผชิญความตาย และเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเน้นการเชื่อมต่อกับตัวเองและการเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเผชิญความตายได้อย่างมีความสุขและมีความสง่างาม หวังว่าจะช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ดีและเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเผชิญความตายได้ดียิ่งขึ้นค่ะ”   

แถมยังให้เอกสารอ้างอิง ไปยังเว็บไซต์ของสถาบันวัชรสิทธา ที่คุณมุทิตา เชื้อชั่งเล่าประสบการณ์ในคอร์สที่ (๑)   

 วันแรก เป็นกระบวนการปลดปล่อยความทุกข์ซ่อนเร้น    ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า healing meditation   โดยจับคู่ผลัดกันมอบแม่ให้เพื่อนเอาไปเลี้ยงดู   โดยครูวิกตอเรียกับผู้ช่วยคือคุณแขร่วมกันพาผู้มอบแม่ (ปลดปล่อยพิษร้ายในใจ) เพ่งสมาธิอยู่กับตัวเอง   แล้วให้พูดความในใจออกมา      

วันที่สอง (๓ ธ.ค.) ตอนเช้า ทำความรู้จัก emotional body    สามกลุ่มอารมณ์คือ โลภ โกรธ หลง    ตอนบ่ายเล่นละครเรื่องคนได้รับอุบัติเหตุรถยนต์ เมื่อถึงโรงพยาบาล    หมอบอกว่า จะมีชีวิตได้แค่ ๒ - ๓ ชั่วโมง    และแนะนำให้พากลับไปตายที่บ้าน   เกิดการถกเถียงระหว่างญาติกับหมอ   ได้อภิปรายความซับซ้อนของประเด็นร่วมกัน   

ตอนเย็นทำโจทย์ ขั้นตอนการตาย อันเป็นการแตกสลายของการรับรู้ และขั้นตอนการแตกสลายธาตุทั้ง ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม)  การตายทางการแพทย์    ตามด้วยการแตกสลายภายใน    ทั้งหมดนี้ตามศาสตร์ทิเบต   จนถึงทุ่มครึ่ง จึงไปรับประทานอาหารเย็น 

วันที่สาม (๔ ธ.ค.) เริ่ม ๗ น. ด้วยการฝึกสมาธิสมมติว่าตาย เรียกว่า โยคะนิทรา    ต้นตำรับจากสวามีสัตยานันทะสรัสวตี   มีเขียนไว้ในหนังสือ The Tibetan Book of the Death (คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต) เขียนโดย Ramon Pratts    แปลกมากที่ผมจินตนาการภาพที่เขาบอกไม่ได้เลย               

ทั้งวัน ทำความเข้าใจช่วงใกล้ตาย และหลังตาย     ระยะเวลาหลังตายแต่ดวงวิญญาณยังอยู่ในร่างเรียกว่า ช่วงเปลี่ยนผ่าน (intermediate state)    โดยทำความเข้าใจผ่านการปฏิบัติ    เป็นการออกแบบ experiential learning ที่แยบยลและลี้ลับ  เพราะเราจะไม่มีโอกาสได้มีประสบการณ์นั้นก่อนเกิดขึ้นกับตัวเราจริงๆ    ตอนบ่าย ให้เขียนเรียงความ เรื่อง “ฉันกำลังตาย”   หลักการคือลอกเอกสารของครูช่วงบรรยาย intermediate state ที่มีการแตกสลายของธาตุ ดิน น้ำ  ไฟ  ลม และการตายทางการแพทย์ตามลำดับ  เชื่อมโยงกับกรรมเก่าของตัวเรา

ตอนค่ำ ฝึกทำสมาธิแสงเทียน (เพ่งกสิณ)   ปิดไฟมืดและเงียบสนิท   จุดเทียนดวงเดียวกลางวง   ทุกคนทำจิตว่าง จ้องเปลวเทียนไม่กระพริบตา จนแสบตา น้ำตาไหลก็หลับตา   หากเห็นอะไรก็ตามสิ่งนั้นจนหายไปก็จ้องเปลวเทียนใหม่    เวลา ๑๕ นาที    หลายคนเห็นแสง สี รูปร่างต่างๆ   แต่ผมไม่เห็นอะไรเลย    แต่รู้สึกจิตว่างดี   เสียอย่างเดียวแสบตา   

วันที่สี่ (๕ ธ.ค. )   ให้เวลาเขียนเรียงความถึง ๑๐ น.    ใครเขียนเสร็จให้เอาไปอ่านให้ครู  คุณแข หรือคุณลุยซ่า คนใดคนหนึ่งตามที่กำหนด   ครูบอกว่า เป็นคอร์สแรกที่ไม่มีคนส่งงานเลย    แต่ก็รู้ว่าคุณไอซ์ (ซึ่งนอนห้องเดียวกันกับผม) เขียนเสร็จแล้ว   จึงให้อ่านให้เพื่อนๆ ฟัง   เป็นเรียงความที่สะท้อนเบื้องลึกของความอึดอัดขัดข้องกับคนรอบข้างได้ดีมาก   

ตามด้วยการระบุผู้ช่วยจัดการศพ ๓ คน ใส่ซองไว้    เขียนสมุดเบาใจ สำหรับให้แพทย์ที่ดูแลตอนใกล้ตายได้รู้ว่าเราต้องการการปฏิบัติรักษาแบบไหน    เขียนจดหมายระบุการทำศพที่ตนต้องการ    แล้วเขียนจดหมายถึงคนที่เรารัก กี่คนก็ได้ 

ตอนค่ำ ฝึกทำกิจกรรม โฟวา (Phowa Practice) เป็นการทำสมาธิกลุ่มให้แก่ตนเอง ผู้ใกล้ตาย  หรือหลังตายภายใน ๔๙ วัน ที่ดวงวิญญาณยังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (ยังไม่ไปรวมกับพลังหนึ่งเดียวของธรรมชาติ)   ทุกวันอังคารเวลา ๒ ทุ่ม ครูจัดกิจกรรมนี้ ออนไลน์ เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง แก่สมาชิกที่สมัครเข้ามา (ฟรี)    คืนนี้อุทิศแก่ผู้ที่ตายในวันนี้ ๒ คน คือ นพ. กฤตไท ธนสมบัติกุล เสียชีวิตวันนี้ ในวัย ๒๙ ปี จากมะเร็งปอด   เจ้าของเพจ สู้ดิวะ   กับคุณ Carlos ที่สเปน   ครูกล่าวนำสมาธิตามด้วยการเชิญพลังสูงสุดมาร่วมเป็นพลังให้ผู้ตายอุทิศความตายเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่น    สร้างจินตภาพว่าเทพรับรู้ และมีการหลอมรวมกับเทพหรือธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่   

ผมเกิดความคิดว่า กิจกรรมนี้ ควรอยู่ในสติระลึกรู้ของมนุษย์ตลอดเวลา    ผมเองเรียกสิ่งนี้ว่าพลังจักรวาล    และพลังนี้ได้ช่วยให้ผมมีผลงานดีๆ ในชีวิต    ในลักษณะของการทำเพื่อส่วนรวม โดยที่บางครั้งตนเองต้องเจ็บปวด   

วันที่ห้า วันสุดท้าย (๖ ธ.ค. ๖๖)    เริ่ม ๑๐ น.  โดยคนที่ยังไม่ได้อ่านเรียงความกับครูหรือผู้ช่วย มีเวลาตังแต่ ๘ - ๑๐ น.    นอกจากได้เรียนเทคนิคต่างๆ ด้านสติภาวนา  สมาธิภาวนา  และขั้นตอนการตายตามคติวัชรญาณแล้ว    ผมยังได้เรียนรู้ธรรมชาติของมนุษย์ด้านในที่มีปมต่างๆ ซ่อนอยู่ลึกบ้างตื้นบ้าง   ปลดปล่อยง่ายบ้างยากบ้าง   

ประมาณ ๑๑ - ๑๓ น.  ฝึกเล่นละคร ทำหน้าที่ผู้ประสานกระบวนการตาย   ที่ต้องศึกษาเรื่องคาใจระหว่างญาติๆ กับผู้ใกล้ตาย    และเลือกญาติให้เข้าไปขอขมาและให้อภัยกับผู้ใกล้ตายให้เหมาะแก่ช่วงของการตาย    เช่นช่วงธาตุดินกำลังแตกสลาย ให้ญาติที่เคยหมางใจเรื่องสมบัติเข้าไปเคลียร์ใจ   

ช่วงธาตุลมกำลังแตกสลาย (มีอาการหิวอากาศ  หรือหายใจหอบ) ห้ามแตะต้องตัว    ให้เคาะที่กระหม่อม  และกล่าวคำชักจูงให้มีสติ  ให้เห็นแสงสว่างเคลื่อนไปมาระหว่างหัวใจกับกระหม่อม   เพื่อให้ดวงวิญญาณคุ้นกับทางออกจากร่างคือที่กระหม่อม   

ตามด้วยการเขียนบันทึกสิ่งที่จะทำ ๑๒ อย่างใน ๑๒ เดือน   ระบุวันที่ด้วย    และ ๗ สิ่งที่จะทำให้คนใกล้ชิด ๑ คน   โดยทำต่อเนื่องกันทุกวัน เป็นเวลา ๗ วัน     

บ่ายเป็นรายการสะท้อนคิด   ที่ให้พลังมาก   มีการสารภาพความจริงเรื่องความกลัวหรือลังเลที่จะมาเข้าคอร์สนี้หลายคน    ที่เมื่อเข้าครบ ๕ วันก็รู้ว่า ที่วิตกกังวลมาล่วงหน้านั้น   ไม่เป็นเรื่องที่เกิดจริงเลย   กิจกรรมช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้น 

ข้อสะท้อนคิดของผม   

ผมเกิดข้อคิดเรื่องกระบวนทัศน์ต่อคำว่า “ตายดี” ที่คนทั่วไปคิดว่าลูกหลาน หมอพยาบาล และผู้ที่รักผู้ใกล้ตายต้องช่วยกันยื้อชีวิตเต็มที่    แต่ในความเชื่อแบบทิเบต หรือแบบวัชรญาณ “ตายดี” หมายถึงตายอย่างมีสติ    ผ่านขั้นตอนการตายอย่างเป็นธรรมชาติ (ตามทฤษฎีของเขา) จนวิญญาณของผู้ตายกลับไปรวมกับพลังหนึ่งเดียวของธรรมชาติ    หรือที่เราเรียกว่า “พุทธะ”   ถือเป็นการส่งกลับดวงวิญญาณที่แยกมาอยู่กับร่างชั่วคราว

การที่คนเราจะ “ตายดี” ต้องสั่งสม “กรรมดี” คือประพฤติตัวดี ซึ่งจะเป็น “ประสบการณ์ดี” (experiential learning)  ที่สะท้อนคิดสู่การลดละโทสะ (๓๓)  โลภะ (๔๐) และโมหะ (๗)    สั่งสมไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต   เมื่อถึงวันตาย การเดินทางออกจากร่างทางกระหม่อมไปรวมตัวกับ “พุทธะ” หรือ “พลังจักรวาล” ก็จะราบรื่น แม้จะเจ็บปวดรวดร้าว 

ผมจึงสะท้อนคิดต่อว่า หลักสูตรนี้เป็นกุศโลบาย  เอาความตาย (Dying) มาเปลี่ยนขาด (transform) การดำรงอยู่ (Living) ให้ดำรงอยู่อย่างมีความสง่างาม (Dignity) คือค่อยๆ ลดละโกรธโลภหลงลงไปเรื่อยๆ    ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์    โดยมีสติภาวนาและสมาธิภาวนาเป็นตัวช่วย   โดยผมขอเพิ่มเติมเครื่องมือใคร่ครวญสะท้อนคิด หรือ โยนิโสมนสิการภาวนา  ต่อกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต และหน้าที่การงาน   

 ข้อสะท้อนคิดที่สาม ตายอย่างสง่างาม เป็นผลของอยู่อย่างสง่างาม   สองอย่างนี้ไม่แยกกัน   ช่วยส่งเสริมเกื้อกูลกัน   ใครอยากตายอย่างสง่างาม ก็ต้องเตรียมตัวตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยตนเอง   ด้วยความประพฤติและการฝึกจิตของตนเอง           

ดังนั้น จะเห็นว่า Generative AI bing  เข้าใจหลักสูตรนี้ในระดับผิวเผินเท่านั้น    และที่สำคัญ ที่ผมสะท้อนคิดความเข้าใจหรือการตีความของผม   ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนของคนอื่น  ไม่มีถูกไม่มีผิด 

ผู้จัดการโครงการจัดให้มี Line Group ของผู้เข้าร่วมในครั้งนี้ และยังสื่อสารแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่อเนื่องเรื่อยมา    ช่วยให้ผมได้เข้าใจว่า มีเพื่อนร่วมโลกบางคนที่มีบาดแผลในใจลึกและเรื้อรัง เยียวยายากยิ่ง 

วิจารณ์ พานิช

๗ ธ.ค. ๖๖    ห้อง ๔๐๐๘  โรงแรมเดอะเซส  บางแสน ชลบุรี    เพิ่มเติม ๑ ม.ค. ๖๗ ที่บ้าน    

 

หมายเลขบันทึก: 716960เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2024 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2024 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท