Reflection, Reflection, Reflection


 

วันที่ ๕ - ๖ กันยายน ๒๕๖๗ ผมร่วมไปกับคณะของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน(BCL) และโรงเรียนเพลินพัฒนา  ไปเยี่ยมชมการดำเนินการหลักสูตร ปริญญาตรีเพื่อพัฒนาเกษตรกรแนวใหม่ของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ BCL 

ค่อยๆ ปะติดปะต่อข้อมูล และทำความเข้าใจ จากหลากหลายแหล่ง   จึงมาเข้าใจแจ่มแจ้งเมื่อกลับมาถึงบ้านตอนดึกคืนวันที่ ๖  ว่าพลังของการเรียนรู้ของนักศึกษาในหลักสูตรนี้คือ “การปฏิบัติแล้วสะท้อนคิด”    ที่นักศึกษาเรียนโดยการปฏิบัติตอนกลางวัน   แล้วมาร่วมกันสะท้อนคิดตอนหลังอาหารเย็นทุกวัน   

เราจึงเห็นนักศึกษาที่ ๒ ที่มีความคิดเป็นผู้ใหญ่   รู้จักตัวเอง  เล่าเรื่องราวของตนเองอย่างเปิดอกและมั่นใจ    ที่ผมตีความว่า เขาเกิด transformative learning  จากการปฏิบัติแล้วสะท้อนคิด   จนในที่สุดเข้าตระหนักว่าความคิดหรือความเชื่อเดิมไม่ถูกต้อง     จึงเปลี่ยนตนเองสู่กระบวนทัศน์ใหม่

เหล่าอาจารย์ทั้งหลายบอกว่า นักศึกษาในหลักสูตรปกติ ที่เรียนในห้องเรียนตามที่อาจารย์สอนเป็นหลัก จะไม่สามารถพูดในที่ประชุมได้คล่องและมั่นใจตนเองเช่นนี้   

เมื่อคุยกันสองคน  อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งสารภาพว่า ท่านไม่รู้จักกระบวนการ reflection    เพิ่งมารู้จักจากหลักสูตรนี้    และเห็นว่า มีพลังต่อการเรียนรู้จริงๆ   

ตอนบ่ายวันที่ ๖ ทีมครูโรงเรียนเพลินพัฒนาจัดวง fish bowl ให้อาจารย์และสมาชิกของ BCL สังเกตการสะท้อนคิดของวงนักศึกษา    สลับกับ ให้นักศึกษาสังเกตวงสะท้อนคิดของอาจารย์และสมาชิก BCL   ช่วยให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น   นักศึกษาสะท้อนภายหลังว่า ซึ้งใจที่ผู้ใหญ่มีความปรารถนาดีต่อพวกตนถึงเพียงนี้    ตนจะจดจำนำไปปฏิบัติตนเพื่อสังคมในทำนองเดียวกัน   

วงเรียนรู้ด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันในหมู่นักศึกษา ทั้งรุ่นพี่และรุนน้องที่ทำทุกเย็นหลังอาหารเย็น มีพลังมาก    และทุกวันพุธ ทีมงานของ BCL จะเข้าร่วมสะท้อนคิดด้วย   มาช่วยตั้งคำถามให้คิดในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น    ทีมงานของ BCL เป็นอาสาสมัคร  เป็นนักธุรกิจใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ    เจียดเงินและเวลามาร่วมกันทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ คือการให้แก่สังคม ผ่านหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต นวัตกรรมการเกษตรและการจัดการ  ทีมงานเอาจริงเอาจังมาก ถึงขนาดไปเยี่ยมหอ และแนะนำสั่งสอนให้ดูแลที่นอนให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย    ในลักษณะ “รักและห่วงใยเหมือนลูก”   

เท่ากับทีม Fa (facilitator) จากโรงเรียนเพลินพัฒนาไป แนะนำให้ทีม มอ. รู้จักวง reflection แบบก้าวหน้า    ที่ช่วยให้ได้รับรู้ความคิดลึกๆ ของกันและกัน ที่ในโอกาสทั่วไปไม่สามารถแชร์ออกมาได้   

ทั้งหมดนั้น ผมเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยเอื้อให้ทางคณะทรัพยากรธรรมชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง    และน่าจะนำเอาแนวทาง “พัฒนามิติความเป็นมนุษย์” ไปใช้ในหลักสูตรอื่นๆ ด้วย

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๗

                 

หมายเลขบันทึก: 719565เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2024 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2024 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท