ดาบซามูไรเล่มแรกของฉัน


เวลาฝึกแล้วก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของใจอยู่ตลอดเวลา ในการพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทำให้ได้ดี แล้วก็จะเห็นความหงุดหงิด เห็นความเป็นเหตุ เป็นผล ของกายและใจ และเห็นความไม่เที่ยง

 

My First Sword

 ภาพดาบเล่มแรกของฉัน Gifu no Fushichoo (The Phoenix of Gifu) ถ่ายที่บ้านในคืนวันที่ฉันได้รับมอบดาบจากเซนเซ

 เป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว นับจากวันที่เซนเซเรียกฉันให้เข้าไปนั่งคุกเข่าตรงพื้นไม้ข้างหน้าหลังจากจบการเรียนดาบซามูไร (Battou Jutsu) แล้วท่านก็หันไปข้าง ๆ เพื่อหยิบดาบเล่มนี้มามอบให้ด้วยท่าที่เป็นทางการมาก

นั่นก็คือ หยิบสองมือ แนวนอน ตรงกลางดาบ แล้วยกขึ้นสูงเหนือศีรษะเล็กน้อย เหมือนจะเป็นการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ในอดีต แล้วก็ยื่นออกมาให้ฉัน

ฉันจำได้ว่าตาโตมาก เพราะเซนเซไม่เคยบอกอะไรล่วงหน้า นี่เป็นการเรียนการสอนแบบเซนชนิดหนึ่ง คือฝึกสติให้พร้อมรับสถานการณ์ในปัจจุบันทันท่วงทีเสมอ

ฉันรับดาบเล่มแรกในชีวิตมาด้วยความเป็นทางการเหมือนกัน พยายามเลียนแบบท่าเซนเซ เพราะฉันก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกันว่าเขาต้องทำกันยังไง ใช้สัญชาตญาณและความเคารพเอา

หลังจากนั้น เซนเซก็มอบถุงผ้าไหมสีน้ำเงินเข้ม พร้อมปักชื่อฉันสีเหลืองด้านบนอย่างเรียบร้อยมาให้ เป็นถุงใส่ดาบ

คนญี่ปุ่นนี่ต้องยกให้เขาเรื่องหนึ่ง คือ ความประณีต เซนเซสอนให้ดูว่าต้องทำยังไงถึงจะรัดด้านบนให้แนบสนิท ดูรัดกุมแบบโบราณ ขลังดี ไม่ต้องใส่ถุงหนังสำหรับใส่ไม้ไดรฟ์กอล์ฟเหมือนฝรั่งที่เขาเรียนวิชาคล้าย ๆ อย่างนี้บางทีเขาทำกัน

หลังจากนั้น เซนเซสอนเรื่องการดูแลดาบ เรื่องการชโลมน้ำมัน ฯลฯ

เซนเซถามว่า มีอะไรสงสัยอยากถามอีกไหม ฉันเลยถามว่าดาบนี้ทำที่ไหน เพราะก่อนหน้านั้น เซนเซวัดความสูงตัวฉัน และวัดความยาวแขนไปนานแล้ว และให้ลองเหวี่ยงแขนกับดาบต่าง ๆ ดู

ขนาดที่เหมาะที่สุด จะต้องยาวให้เรี่ยพื้นพอดีในจังหวะฟันลง แต่ต้องไม่ถึงพื้น ดาบซามูไรจะยาวกว่าดาบอื่น ๆ มากจากที่ฉันสังเกตดู วงการฟันจะกว้างมาก จึงฝึกยาก เพราะจะต้องอาศัยความแม่นยำเป๊ะ ๆ ไม่งั้นมันไม่ได้ผล นั่นก็คือ ฟันลงพื้น หรือไม่ก็ฟันไม่ถึง 

เรียกว่าเหมือนวัดตัวสำหรับไม้เท้ากายสิทธิ์ของแฮรี่ พ้อตเต้อร์ ยังไงยังงั้นทีเดียว

คืนนั้น (วันที่ฉันถ่ายรูปรูปนี้) ฉันตื่นเต้นมาก เพราะพอเซนเซบอกว่าดาบสั่งตีจากเมือง Gifu จากญี่ปุ่น ฉันก็เลยไปค้นเวบดู เห็นเขามีชื่อเสียงเรื่องหาดทรายด้วย ฉันเลยหยิบฝักดาบขึ้นมาศึกษาดู พบว่าเขาได้มีการนำจุดเด่นของเมืองมาตกแต่งอย่างละเอียดด้วย

อย่างที่บอก คนญี่ปุ่นให้ความสนใจรายละเอียดปลีกย่อยของธรรมชาติมาก มันเป็นส่วนหนึ่งของเซนที่สำคัญเลยล่ะ ฉันว่านะ

ฉันเลยตั้งชื่อดาบของฉันว่า Gifu no Fushichoo หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Phoenix of Gifu

ทั้งนี้เนื่องจากฉันวัดเอาจากความรู้สึกของฉันตอนที่ได้รับดาบ มีความรู้สึกว่ามันเติมพลังที่หายไปขึ้นมาใหม่ ฉันเลยตั้งชื่อเอาฤกษ์ เอาชัย ให้มันเป็นเหมือนสิ่งเติมพลังเมื่อฉันเหนื่อยล้า หรือ ท้อถอย แล้วหยิบมันมาฝึก เพราะนกชนิดนี้มันจะฟื้นขึ้นมาใหม่จากกองขี้เถ้าได้ ในเทพนิยายน่ะนะ

วันนั้นฉันเขียนในบล๊อกภาษาอังกฤษอันเก่าแก่ของฉันว่า Phoenix of Gifu, Welcome Home.

ตอนนั้นฉันรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ

ฉันเข้าใจแล้วล่ะว่าทำไมซามูไรโบราณเขาถึงผูกพันกับดาบของเขานัก ขนาดเซนเซมาขอจะเอาไปซ่อมให้ฉัน (เพราะฉันทำพัง!!) ฉันยังรู้สึกห่วงหาอาวรณ์มันจะแย่เลย

เวลาเครียด ๆ หรือเหนื่อยล้าอยากเปลี่ยนอิริยาบถ  บางทีหลังจากออกกำลังกายวิ่ง ๆ เดิน ๆ โยคะ ที่บ้านแล้ว ฉันก็มักคาดดาบลงไปฝึกเล่นคนเดียว  หรือไม่ก็ยามพักผ่อนก็อาจจะทำความสะอาด ลงน้ำมันบ้าง เพลิดเพลินดี และฝึกการเจริญสติไปด้วยในตัว

การฝึกดาบคนเดียวในสวนเป็นการฝึกดูอารมณ์ตัวเองได้อย่างดี  นอกเหนือจะเป็นการออกกำลังกาย เพราะจากการฟันแต่ละครั้ง แต่ละท่า เราจะรู้เองว่าทำได้ดีหรือยังจากเสียงการฟัน  คล้าย ๆ กับการไดรฟ์กอล์ฟนั่นแหละ  แต่ว่านี่ไม่มีลูกกอล์ฟให้วัดผล 

เวลาฝึกแล้วก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของใจอยู่ตลอดเวลา ในการพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทำให้ได้ดี  แล้วก็จะเห็นความหงุดหงิด  เห็นความเป็นเหตุ เป็นผล ของกายและใจ  และเห็นความไม่เที่ยง

ถ้าใครเคยไปฝึกการเจริญสติวิปัสสนามาแล้ว จะรู้สึกว่า การออกกำลังทุกชนิด แม้นทำคนเดียว ก็สามารถเป็นการฝึกสติปัฏฐานทั้ง ๔ ฐานได้อย่างดี  นี่คงจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ในนักดาบอันเลื่องชื่อทั้งหลายของญี่ปุ่นในสมัยโตกุกาว่า ภายหลังต่างเขียนคัมภีร์ดาบอันว่าด้วยกาฝึกใจเพื่อการเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นมากันทั้งนั้น  ก็เพราะทุก ๆ วันเขาได้ฝึกการเจริญสติผ่านการฝึกดาบของเขาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ตลอดทั้งวันนั่นเอง

วันหลังถ้ามีโอกาส ฉันอาจจะมาขยายเรื่องการฝึกอีกสักเล็กน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับใจ

วันนี้ ขอจบเรื่องดาบเล่มแรกเพียงแค่นี้ก่อน

Nikko Bridge

ภาพสะพานที่นิกโก้ ประเทศญี่ปุ่น โชกุนโตกุกาว่า อิเอยาสุเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า  "...จงอย่ากล่าวว่าที่ใดสวย ถ้ายังไม่เคยเห็นนิกโก้..."  ที่นำภาพนี้มาฝาก  เพราะตอนเซนเซดาบที่ฉันเรียนด้วยที่เมืองไทยนี้พาไปทัวร์ญี่ปุ่นกลางปี ท่านก็พาไปนิกโก้ดวย  เพราะมีประวัติศาสตร์ซามูไร ๆ ให้เรียนรู้เยอะ  เห็นรูปนี้แล้วเลยคิดถึงเซนเซ และพาลนึกถึงบรรดาปรมาจารย์ดาบอันเลื่องชื่อเมื่อ ๔๐๐ ปีที่แล้วที่เป็นต้นตอเจ้าสำนักของฉันด้วยว่า ท่านก็อาจจะเคยมาทำสมาธิอยู่แถว ๆ โขดหินใด โขดหินหนึ่งแถวนี้

หมายเลขบันทึก: 71459เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2007 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
"เวลาฝึกแล้วก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของใจอยู่ตลอดเวลา ในการพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทำให้ได้ดี แล้วก็จะเห็นความหงุดหงิด เห็นความเป็นเหตุ เป็นผล ของกายและใจ และเห็นความไม่เที่ยง" อ่านแล้วเห็นภาพ การฝึกสมาธิ มากเลยคะ ทุกวิชา ทุกรูปแบบ ล้วนนำไปสู่ความเข้าใจตนเอง และความสงบสุขในใจ ดีคะ ออกค้นหา

แหะ ๆ ขอบพระคุณค่ะ คุณดอกแก้ว ตัวเองยังเป็นระดับอ่อนหัดอยู่มาก ๆ เลยค่ะ นี่ดีแล้วที่เป็นการฝึกอยู่กับตัวเอง ขืนยังเป็นสมัยที่เขายังรบพุ่งกันจริง ๆ สมัยญี่ปุ่นยุคโบราณนั้น คงจะโดนฟันขาดครึ่งท่อนตายไปตั้งแต่แรก ๆ เพราะความใจร้อนของตัวเองแล้วเป็นแน่แท้ค่ะ

ขอบพระคุณค่ะที่แวะมาทักทายให้ความเห็น

สวัสดีค่ะ,

ณัชร

มาทักทายตอบแทนครับ ดีใจที่กลับมาเมืองไทยแล้ครับ ขอต้อนรับสู่เมืองไทย ขอบคุณที่ไปทักทาย รออ่านเรื่องใหม่ๆอยู่นะครับ สรุปว่า ขจิต เป็นเครื่องมือใช่ไหมครับ ยิ้ม ยิ้ม ขอนำเข้าแพลนเน็ตนะครับ

หนูณัชร

อาจารย์ว่า ท่าที่หนูเอาดาบชี้ฟ้านั้น

เรียกว่าอะไรนะ...?

สวัสดีค่ะ คุณขจิต และอาจารย์, 

ขอบพระคุณมากค่ะที่กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ ขอโทษทีค่ะยุ่ง ๆ อยู่เลยแวบเข้ามาตอบช้าไปนิดหนึ่ง

แหะ ๆ คุณขจิตมีการแซวกลับด้วย ใครจะไปทราบล่ะคะ เพิ่งกลับจากเมืองนอก เห็นคำว่าขจิตตัวเบ้อเริ่มอยู่หน้าเวบ นึกว่าศัพท์บัญญัติใหม่ ฮิ ๆ

อาจารย์มีปุจฉามาอย่างนี้  หนูก็ต้องมีวิสัชนา จัดตอบให้เป็นพิเศษเลยค่ะ  เพราะนี่แหละค่ะ คิดว่าน่าจะเป็นท่ามูซาชิฝึก เพราะดาบที่ใช้นั้นเอาไว้ฝึกท่านี้โดยเฉพาะ ใหญ่มาก  เดี๋ยวจะไปเขียนแยกเป็นบล๊อกต่างหากก็แล้วกันนะคะ

สวัสดีค่ะ,

 ณัชร

เรียนที่ไหนหรอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท