เก็บตกวิทยากร (77) ชวนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทบทวนตัวเองผ่านกระบวนการหัวใจ 4 ห้อง


เน้นให้นักศึกษาได้ทำการทบทวนตัวเองอย่างจริงจังอีกสักรอบ เป็นการทบทวนก่อนพาตัวเองออกไปสู่การฝึกสอนอย่างเต็มตัว มิใช่ไปเพื่อสังเกตการสอนเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการทบทวนอดีตและปัจจุบันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นการทบทวนโดยการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเองเป็นสำคัญ

เป็นอีกครั้ง (วันที่  13  มีนาคม 2566) ที่ผมได้รับเกียรติจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  เพื่อเป็นวิทยากรจัดการเรียนรู้ในหัวข้อ “สร้างจิตสำนึก ระลึกรากเหง้า เข้าใจรัก(ษ์)ถิ่นนิยม” ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมในราว 40 คน

 

เมื่อพิจารณาจากหัวข้อข้างต้น  ผมไม่ลังเลที่จะใช้กระบวนการชวนนักศึกษา “ทบทวนตัวเอง” ผ่านกระบวนการหัวใจ 4 ห้อง (คำถามเพื่อทบทวนตัวเอง)  เสียก่อน - เป็นการ “ทบทวนอดีต” เมื่อครั้งที่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งตัดสินใจสมัครเข้าสู่โครงการและผูกโยงมายังการ “ทบทวนปัจจุบัน” ว่าหมุดหมายที่ปักธงไว้ยังคงแน่นหนา – ตกผลึก – หยั่งลึก  หรือเริ่มคลอนแคลนไปแล้ว

 

 

ผมตัดสินใจเลือกที่จะป้อนคำถามกลับไปยังนักศึกษา จำนวน 4 คำถามผ่านกระบวนการหัวใจ 4 ห้อง เพราะยังไม่อยากเร่งรีบมุ่งเป้าไปยังเรื่อง “จิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น” ให้เร็วจนเกินไปนัก  โดยมองว่า การทบทวนผ่านกระบวนการเช่นนี้เป็นเสมือนการ “ปูพรม”  เข้าสู่ประเด็นหลักอยู่ดีนั่นเอง

 

--------------------------------------------------------

หัวใจห้องที่ 1 : คำถามข้อที่ 1 “ทำไมสมัครเข้าโครงการ “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” และถ้าไม่สมัคร จะเรียน หรือจะประกอบอาชีพอะไร”

--------------------------------------------------------

 

สถิติที่พบถี่มากสามอันดับแรกเรียงตามลำดับ คือ 

  • อยากได้ทุนการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระของพ่อแม่
  • อยากทำงานใกล้บ้าน/บ้านเกิด 
  • เป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ

 

 

นอกจากนั้น ประกอบด้วยประเด็นต่างๆ อาทิเช่น

  • เข้าใจว่าเหมือนครูคืนถิ่น 
  • อยากมีอนาคตที่ดี
  • สมัครตามใจคนในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า
  • สมัครตามคำชักชวนของเพื่อน

 

กรณีคำถามที่ว่า ถ้าไม่สมัครเข้าสู่โครงการนี้จะเรียนต่อในสาขาใด พบว่า  นักศึกษาสนใจที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในสาขาต่างๆ เป็นต้นว่า  พยาบาล  แพทย์ ทหารหญิง วิศวกร ครูประถม ครูคณิตศาสตร์ และที่พบถี่ครั้งก็คือแม้จะไม่ได้สมัครเข้าโครงการนี้ก็ยังความสนใจที่จะศึกษาต่อ  ประหนึ่งเชื่อและศรัทธาว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับชีวิตของตนเองและครอบครัวได้  

 

ขณะที่ส่วนหนึ่งอยากเป็น “ล่าม” หรือ “มัคคุเทศก์” รวมถึงการเป็นครูสอนภาษา  โดยใช้ภาษาจีน เป็นภาษาหลัก

 

 

นอกจากนั้นก็เป็นกลุ่มที่จะประกอบอาชีพค้าขายส่วนตัว ซึ่งมีทั้งที่ค้าขายช่วยครอบครัวและเก็บเงินเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการเรียนต่อ  รวมถึงการมุ่งเป้าไปเรียนสายอาชีพ เพื่อจะได้เรียนจบไวๆ แล้วรีบกลับมาช่วยครอบครัว

 

ขณะที่บางคนก็ตั้งใจจะไปเรียนวิทยาลัยพลศึกษา แต่ขัดใจผู้ปกครองไม่ได้ จึงจำต้องสมัครเข้าสู่โครงการนี้

และที่ฟังแล้ว ทำเอาผมสะท้อนสะเทือนใจมากเป็นพิเศษก็คือ “อาจไม่ได้เรียนต่อ”  รวมถึง “อะไรก็ได้ ขอให้มีโอกาสได้เรียนต่อ”

 

 

--------------------------------------------------------

หัวใจห้องที่ 2 : คำถามข้อที่ 2 “ครูรัก(ษ์)ถิ่น คืออะไร”

--------------------------------------------------------

 

ผมมีความจำเป็นต้องทักถามประเด็นนี้  เพราะอยากรู้ว่าเมื่อครั้งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พวกเขามีมุมมองหรือทัศนคติต่อโครงการครูรักษ์ถิ่นอย่างไรบ้าง  แต่ผมเน้นว่าให้ทบทวนกลับไปยังอดีต ไม่ใช่ใช้มุมมอง หรือต้นทุนในปัจจุบันตอบคำถามนี้

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงย้ำหนักแน่นว่าต้องทบทวนเรื่องนี้บนต้นทุนของอดีต 

 

สำหรับประเด็นนี้คำตอบเกือบทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประเด็นที่พบความถี่มากที่สุด ประกอบด้วย  ครูรักษ์ถิ่น คือ โอกาสของการสร้างชีวิตและครอบครัว  ครูรักษ์ถิ่น คือ เป็นครูที่จะต้องกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ครูรักษ์ถิ่น คือ ทุนการศึกษาเรียนฟรี กินอยู่ฟรี จบแล้วบรรจุเป็นครู  

หรือแม้แต่ที่พบ แม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็น่าสนใจ กล่าวคือ ครูรักษ์ถิ่น คือโครงการพัฒนาประเทศชาติ  และเข้าใจว่าครูรักษ์ถิ่น คือโครงการเดียวกับครูคืนถิ่น

 

--------------------------------------------------------

หัวใจห้องที่ 3 : คำถามข้อที่ 3 “วันนี้ นักศึกษา ยังอยากเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น อยู่ไหม”

--------------------------------------------------------

 

คำถามในหัวใจห้องที่ 3 แตกต่างจากสองคำถามแรก  เพราะเป็นคำถามที่ชวนให้นักศึกษาทบทวนตัวตนในปัจจุบัน ว่ารู้สึกอย่างไร รักและมุ่งมั่นอยู่ไหม หรือค้นพบเส้นทางสายใหม่ของตนเองแล้ว

 

โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นคำถามที่สำคัญ  ยิ่งเป็นช่วงที่นักศึกษากำลังเตรียมตัวออกสู่การเป็นครูฝึกสอน  การทบทวนตัวเองในประเด็นนี้จึงยิ่งสำคัญ  เพราะเป็นเรื่องของทัศนคติที่อาจบ่งชี้ถึงจิตวิญญาณของความเป็นครู หรือว่าที่ครูอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

 

 

เป็นที่น่ายินดีว่าเกือบทั้งหมดยังคงยืนยันหนักแน่นว่า “ยังอยากเป็นครูรักษ์ถิ่น”  โดยมีเหตุผลประกอบทั้งเหมือนและต่างกัน เช่น

 

  • อยากเป็น เพราะ มันเป็นความมั่นคงของชีวิต
  • อยากเป็น เพราะ จะได้เป็นผู้ให้โอกาสคืนกลับสู่สังคม  ตอบแทนสังคมที่ให้ทุนมาศึกษาเล่าเรียน
  • อยากเป็น เพราะ ปลายทางมีนักเรียนและชุมชนรออยู่  (ความหวังของสังคม)
  • อยากเป็น เพราะ จะได้กลับไปอยู่ใกล้ๆ กับครอบครัว
  • อยากเป็น เพราะ ความภาคภูมิใจของพ่อและแม่
  • อยากเป็น เพราะ เป็นเจตนารมณ์ของครอบครัว

 

หรือแม้แต่ ยังอยากเป็นครูรักษ์ถิ่น เพราะเดินทางมาไกลแล้ว ไม่สามารถหันหลังกลับไปเริ่มต้นใหม่กับเรื่องใหม่ๆ ได้อีก

เช่นเดียวกับการยังรู้สึกอยากเป็นครูรักษ์ถิ่น แต่ก็ยังอดเสียดายความฝันที่แท้จริงของตนเองไม่ได้ 

นี่เป็นข้อมูลเล็กๆ ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการดังกล่าวที่เน้นให้นักศึกษาได้ทำการทบทวนตัวเองอย่างจริงจังอีกสักรอบ เป็นการทบทวนก่อนพาตัวเองออกไปสู่การฝึกสอนอย่างเต็มตัว  มิใช่ไปเพื่อสังเกตการสอนเหมือนที่ผ่านมา  รวมถึงเป็นการทบทวนอดีตและปัจจุบันอย่างเป็นเหตุเป็นผล เป็นการทบทวนโดยการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเองเป็นสำคัญ

ส่วนประเด็นหัวใจห้องที่ 4 (คำถามข้อที่ 4) เป็นคำถามว่าด้วยเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของความเป็นครูรักษ์ถิ่น  ไว้ผมจะมาเล่าในบันทึกถัดไป นะครับ

 

 

เขียน อังคารที่  21  มีนาคม  2566
มหาสารคาม / มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 712026เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2023 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2023 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เมื่อเสาร์ที่แล้ว น้องโครงการนี้รุ่นที่เราทำกัน มาเรียนป.โท ม.เกษตรฯแล้ว

ครับ ดร. ขจิต ฝอยทอง

เด็กๆ เก่งกันทุกรุ่น คุณภาพกันทุกคนเลยครับ

สำคัญคือ แนวคิดโครงการครูรักษ์ถิ่นดีมากๆ ครับ เป็นโมเดลที่น่าสนใจมากๆ ครับ

ขอบคุณ อาจารย์แผ่นดินที่รับ “เทียบเชิญ” จากโครงการเกี่ยวกับครู ครู ที่ผมเกือบจะทำมันตลอดชีวิตของการทำงาน มีประเด็นใดต้องเชิญอาจารย์แผ่นดินโดยสม่ำและเสมอ ;)…

ยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn แม้แต่ละครั้งจะมีวีรกรรมให้ผมจดจำจากอาจารย์โดยตรงก็เถอะ 555

แต่ยอมรับครับ โครงการผลิตครูรักษ์ถิ่นของที่นี่ เยี่ยมยุทธ จริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท