ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ถ้าดินดี ชีวิตดี แน่นอน


ดินคือหัวใจสำคัญในการปลูกพืช ถ้าดินดีพืชที่ปลูกก็จะเจริญงอกงาม คนปลูกก็จะมีชีวิตชีวามีความสุข

จากความสำเร็จในการจัดการความรู้เรื่องดินตามโครงการฟ้าสู่ดิน ของครูบาสุทธินันท์  ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีปรามาจารย์ด้านดินอย่างท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แสวง   รวยสูงเนิน จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษา ทำให้พี่น้องเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมแบบประณีต 1 ไร่ ในโครงการมีชีวิตชีวา มีความกระชุ่มกระชวย มีกำลังใจในการที่จะปลูกพืช เพราะหลังจากที่ได้มีการจัดการความรู้เรื่องดินแล้วทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นปลูกอะไรลงไปก็ได้กิน แถมโรคแมลงก็ไม่ค่อยมารบกวน ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องรอความหวังลมๆ แล้งๆ อีกต่อไปแล้ว นี่แหละครับจึงเป็นที่มาของคำว่า "ถ้าดินดี ชีวิตดี แน่นอน"

เมื่อวานผมได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่สรวงธร   จากกลุ่ม wearehappy ที่มาติดต่อเกี่ยวกับหนังสือเรื่องการจัดการความรู้ที่ สคส. และก็ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการความรู้พอหอมปากหอมคอ จากนั้นพอพี่เขารู้ว่าผมจบเกษตรมาเลยได้โอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องดิน พี่เขาเล่าให้ฟังว่า เมื่อเดือนที่แล้วได้แนะนำหลานชายที่ยังไม่มีงานทำ ให้ไปปลูกไม้ผล และพวกพืชผักที่ต่างจังหวัด (ซึ่งปัจจุบันพ่อแม่ก็เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว) แล้วหลานชายก็ตอบกับพี่เขาว่า มันปลูกไม่ได้หรอกเพราะดินมันไม่ดี ปลูกได้ก็ไม่โต สุดท้ายมันก็ตาย พี่เขาก็ไม่รู้จะแนะนำหลานชายอย่างไรดี เพราะตนเองก็ไม่มีความรู้เช่นกัน สุดท้ายเนื่องจากเวลามีจำกัดก็เลยให้แต่เบอร์โทรเอาใว้เพื่อจะได้ติดต่อกันอีกครังหนึ่ง

จากคำบอกเล่าของพี่สรวงธร จึงทำให้ผมต้องย้อนคิดทบทวนและย้อนถามตนเอง นี่หรือครับลูกเกษตรกรไทย หลังจากที่เคยทำไร่ทำนาตามบรรพบุรุษแล้วพอมาเรียนหนังสือ เรียนจบหางานทำไม่ได้แล้วไม่สามารถหวนกลับไปปลูกพืชผัก และไม้ผลได้ ตามรอยของบรรพบุรุษนั่นแสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจในเรื่องของดิน แม้กระทั่งบรรพบุรุษเองก็ตามทำการเพาะปลูกมาตลอดชั่วอายุไขก็ไม่เข้าใจเช่นกันว่าพืชต้องการอะไร และจะปรับปรุงดินให้เหมาะกับพืชได้อย่างไร จึงไม่สามารถถ่ายทอดให้ลูกหลานได้

ครับจากคำบอกเล่าดังปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ผมนึกถึงพี่น้องเกษตรกรทั่วๆไป ที่ทำหน้าที่การผลิตตามๆ กันมาโดยไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ของความต้องการของพืชที่ปลูก  จึงเกิดคำถามในใจว่าแล้วเราจะช่วยพี่น้องเกษตรกรเหล่านั้นได้อย่างไร คงเป็นโจทย์ให้พี่น้องช่วยกันคิดต่อนะครับ

นั่นเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ นะครับ ทีนี้เรามาดูในส่วนของฝันที่เป็นจริงกันบ้างนะครับ จากความสำเร็จของโครงการฟ้าสู่ดินในการปรับปรุงบำรุงดินว่าเขาทำกันอย่างไรต่อนะครับ

โครงการฟ้าสู่ดินจะเน้นในเรื่องของการทำอย่างไรที่จะให้ดินมีชีวิต นั่นก็หมายความว่าดินมีระบบการหมุนเวียนธาตุอาหารในดินได้ดี และจากตัวอย่างความสำเร็จของคุณองอาจ  กาบินทอง หนึ่งในสมาชิกของโครงการฯ ได้เล่าให้ฟังว่าในการที่จะทำให้ดินดีได้นั้นประการแรกเราต้องเข้าใจหลักของการปรับปรุงเรื่องดินก่อน แล้วค่อยลงมือปฏิบัติ จากนั้นจึงได้นำเอาพวกเศษใบไม้แห้งมาทำปุ๋ยหมัก และผสมกับปุ๋ยคอก บางส่วนนำไปคลุมหน้าดิน

นอกจากนั้นได้ปลูกพวกพืชตระกูลถั่ว เช่นถั่วลิสง ถั่วเขียว งา หมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ เราจะไม่ปล่อยให้ที่ดินว่างเปล่า และสุดท้ายก็จะทำให้ดินดีขึ้นตามลำดับ

หลังจากฤดูกาลทำนาจะทำการไถกลบตอซัง แล้วจะหว่านพวกพืชตระกูลถั่วคลุมหน้าดินเอาไว้ ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพึ่งปุ๋ยเคมีอีกต่อไปแล้ว ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้มากทีเดียว

นอกจากการบำรุงด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแล้วยังมีการผลิตน้ำหมักชนิดต่างๆ ในการบำรุงให้กับต้นพืชอีกด้วย

จากแนวทางดังกล่าวทำให้เราเห็นว่ากระบวนการคิด และการจัดการความรู้ในสิ่งที่เป็นอาชีพของตนเอง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะอยู่รอดได้ในอาชีพของตนโดยไม่ต้องพึ่งพาจากภายนอก สุดท้ายเราก็จะสามารถยืนหยัดได้ในอาชีพของตน

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

5 มกราคม 2550

 

หมายเลขบันทึก: 71071เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2007 17:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • ดินหนึ่งในธาตุทั้งสี่ ที่เกี่ยวพันกับชีวิต ดินจึงคือชีวิต ดินสร้างชีวิตให้มีการผลิตพืชพันธ์ ธัญญาหาร เห็นด้วยครับว่าดินดีชีวิตดีแน่นอน
  • เชื่อในแม่พระธรณีของไทยครับ
  • รูปหายไปครับผม
  • ดินดีคือดินที่แม่ยายให้ครับ(ครูบาบอก)
  • ดินดีคือดินที่ไม่ตะคอกครับ(อ.ประสงค์)
  • จริงๆแล้วดินดี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ครับ  

สวัสดีครับท่านอาจารย์อุทัย

  • ขอบพระคุณพี่อุทัยเป็นอย่างสูงที่ให้ความช่วยเหลือและมีมิตรไมตรีกับผมเป็นอย่างดีเสมอมา
  • สัมภาระที่ฝากไว้ ผมจะขออนุญาตไปรับคืนด้วยตนเองครับ เพราะผมตั้งใจว่าอย่างไรก็จะต้องกลับไปร่วมเรียนรู้กับพี่ที่ม.อุบลฯอย่างแน่นอนครับ ในช่วงนี้ผมขอเดินเข้าสู่ถนนแห่งธรรมสักระยะครับ
  • ในโอกาสนี้ หากผมเคยล่วงเกินพี่อุทัยไม่ว่าจะเป็นทางกายกรรมก็ดี มโนกรรม หรือวจีกรรม ผมก็กราบขออโหสิกรรมมา ณ ที่นี่ด้วยนะครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ดินมีชีวิตก็เหมือนคนมีชีวิต ทำหน้าที่ของดินได้อย่างที่ควรจะเป็น ดินไม่เคยเลว เพราะดินไม่เคยทำร้ายใคร และดินเองก็ไม่เดือดร้อนเพราะถูกทำร้าย มีแต่ดินช่วยท่านได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มแข็งของ "ระบบดิน" ดินมีแต่เข้มแข็ง อ่อนแอ หรือหมดแรง คนสับสนมากระหว่าง ดินมีชีวิต กับ ชีวิตในดิน ครับ เกือบจะเป็นคนละเรื่องกันเลยครับ การนำเสนอจึงต้องระวังนิดหนึ่ง คนอื่นสับสน ก็ทำให้เราสับสน นี่เป็นปรัชญาหนึ่งของการจัดการความรู้ครับ
  • ขอบคุณมากครับสำหรับทุกๆ ท่านที่เข้ามาทักทาย ให้กำลังใจ พร้อมข้อเสนอแนะดีๆ ครับ

ด้วยความจริงใจครับ

ถึง อาจารย์ปภังกร

ยังคิดถึง ยังเป็นเพื่อน และพี่ที่ดีตลอดไปครับ

ขอบคุณมากครับ

พี่อุทัย

ดินดี กับดินราคาดี บางแห่งอาจจะแตกต่างกัน

ดินหนึ่ง ปลูกพืชผักงอกงามดี

ดินหนึ่ง ปลูกตึกดี

การปรับปรุงดินจึงแตกต่างกัน บางเรื่องต้องทำให้ดินร่วนซุย บางเรื่องต้องการบดอัดแน่นดิน เรื่องของดินจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับดิน

ดินที่แพงที่สุดในโลก คือ ดินที่เอามาปั้นพระสมเด็จ แพงกว่าเพชรเสียอีก แถมยังหายากอีกต่างหาก คำจำกัดความของดินดี ต้องบอกก่อนว่าจะอธิบายในกรณีของการทำอะไร

ขอบคุณมากครับท่านครูบาสุทธินันท์

ด้วยความเคารพ

อุทัย

เพิ่มเติมครับ

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับแนวทางนี้ เพียงแต่เกษตรกรต้องรู้ด้วยว่าดินของตนเองนั้นคือดินประเภทใหนเช่น ดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนทราย เป็นดินดาน หรือเป็นดินลูกรัง และตัวของเกษตรกรเองจะปลูกพืชอะไร ต้องทราบพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นๆด้วย ว่าชอบดินประเภทใหน ชนิดใด

เพื่อเป็นการลดค่าแรงงาน ค่าใช่จ่าย และเวลาที่ต้องสูญเสียไปกับการแกล้งดิน แล้วจึงทำการแกล้งดินให้เหมาะสมกับพืชนั้นๆ อีกอย่างครับต้องไม่ลืมเรื่องน้ำด้วยนะครับ เพราะเป็นองค์ประกอบอีกตัวหนึ่งที่สำคัญมากทีเดียวเลยครับ ยกตัวอย่าง เช่นแกล้งดินจนเหมาะแก่การปลูกปาล์มแล้ว แต่ถ้าบริเวณนั้น ขาดน้ำ เช่นฝนตกน้อย น้ำใต้ดินไม่มี ฤดูแล้งยาวนานติดต่อกันเกิน 2 เดือน รับรองได้เลยว่าดินที่ว่าดีนั้นก็คงไม่เหมาะแก่การปลูกปาล์มเช่นกัน ฟัง คิด วิเคราะห์ อย่าเพิ่งเชื่อเสียทีเดียว หาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ด้วย บางครั้งตัวเกษตรการเอง พอรับทราบข้อมูลอะไรมาแล้วก็เชื่อเลย โดยขาดการวิเคราะห์ที่ดี เพราะบางครั้งแนวทางใด แนวทางหนึ่งนั้นอาจไม่เหมาะ กับดิน และต้นทุนของเกษตรกร ปลูกพืชด้วยใจ จะปลูกอะไรก็ได้

ด้วยความปราถนาดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท