ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

แนวคิดของเกษตรกรรมแบบประณีต


เกษตรกรรมแบบประณีต เน้นการปลูกที่ต้องการกิน เหลือกินแจก เหลือแจกแลกเปลี่ยน และให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการดิน น้ำ แสง พืชและสัตว์ และแรงงานเป็นหลัก

การทำเกษตรกรรมแบบประณีต (Intensive Agriculture) เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ จากระบบการผลิตแบบเชิงเดี่ยวจำนวนมากๆ และลงทุนมากๆ มาเป็นแบบผสมผสาน กล่าวคือการผลิตในระบบนี้จะเน้นการปลูกทุกอย่างที่อยากจะกิน แล้วกินทุกอย่างที่ตนเองปลูก เหลือกินแจกจ่ายเครือญาติ และเหลือจากแจกจ่ายจึงนำไปแลกเปลี่ยน (ขาย) เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนปัจจัยอื่นๆ ต่อไป

เน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ในระบบการทำเกษตรกรรมแบบประณีต เกษตรกรจะเน้นการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้จะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการจัดการเรื่อง ดิน น้ำ ชนิดพืชที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง แสง และการจัดการเรื่องแรงงาน เน้นการจัดการความรู้ที่ตนเองสะสมมาตลอดชั่วอายุ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายแล้วจึงนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง เช่น ปุ๋ยจะเน้นการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักใช้เอง จะไม่ซื้อปุ๋ยเคมี สารกำจัดแมลงศัตรูพืชก็เช่นเดียวกันจะทำการผลิตโดยหมักสารชีวภาพต่างๆ ใช้เองจะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เมื่อทำแล้วได้ผลก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อหาทางออก และแนวปฏิบัติร่วมกันกับสมาชิกเครือข่าย แสดงให้เห็นว่าการใช้ปัญญานำการพัฒนาเพื่อมุ่งแก้ปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง

เน้นการผลิตแบบอินทรีย์ เกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้นอกจากจะพึ่งพาตนเองได้แล้วยังเป็นการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีเลย เมื่อได้จัดการปรับปรุงบำรุงดินที่ดีแล้วพืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี ปัญหาเรื่องโรคแมลงก็น้อย หรือหากมีเกษตรกรก็จะใช้วิธีการจัดการโดยวิธีชีวภาพ ซึ่งจะใช้น้ำหมักชนิดต่างๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น น้ำหมักกำจัดเชื้อรา เพลี้ย และแมลงต่างๆ หรือแม้กระทั่งฮอร์โมนก็เช่นกัน และพวกจุลินทรีย์ที่ใช้ในการปรับปรุงดินอีกด้วย ดังนั้นเกษตรกรที่ผลิตในระบบนี้ก็จะได้บริโภคพืชผักที่ปลอดจากสารเคมี จึงส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี และแข็งแรง

เพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ในระบบการผลิตที่มีกิจกรรมหลากหลายทั้งพืช และสัตว์ ก็จะทำให้เกื้อกูลซึ่งกันและกันในระบบ พืชเป็นอาหารสัตว์ มูลสัตว์นำไปเป็นธาตุอาหารพืช เป็นต้น นับว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งผู้ผลิตที่หลากหลายหมุนเวียนตลอดทั้งปี สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้ ครอบครัวมีความสุข อันจะส่งผลถึงความเอื้ออาทรที่มีต่อญาติพี่น้อง และคนในสังคมด้วย

เหมือนกับการผลิตในอดีต เมื่อมาถึงจุดนี้หลายคนที่อยู่ในแวดวงการผลิตที่ยาวนานอาจจะนึกย้อนตาม แล้วมีความเห็นว่า ในระบบการผลิตแบบนี้เป็นการผลิตที่เหมือนกับการผลิตของบรรพบุรุษเราในอดีต เมื่อประมาณ 50 ปี ที่แล้วที่เป็นการผลิตแบบพึ่งพาตนเอง มีการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สังคมมีความเอื้อเฟื้อและเอื้ออาทรต่อกัน สุดท้ายมาล่มสลายตอนระบบทุนนิยมเข้ามาแทรกแซงระบบการผลิต จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตดังที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ และบัดนี้คงเป็นบทพิสูจน์แล้วว่าการผลิตแบบทุนนิยมไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ครอบครัวแยกกันอยู่ ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินกันอย่างถ้วนหน้า เพราะนั่นมันไม่ใช่บริบทของเรา

เห็นไหมครับเกษตรสมัยใหม่ในระบบทุนนิยมมันได้เข้ามาทำลายระบบการพึ่งพาตนเองของพี่น้องเกษตรกรไทย ดังนั้นการดำรงชีวิตของท่านก็อย่าได้ผูกติดกับเทคโนโลยีในระบบทุนนิยมมากนะครับ เดี๋ยวจะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

ขอบคุณมากครับ

อุทัย อันพิมพ์

2 มกราคม 2549

หมายเลขบันทึก: 70591เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ที่จริง

ยังไงก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดการความรู้นะครับ

ลองตั้งโจทย์วิจัยแล้วจะมีความชัดเจนมากขึ้นครับ

KM กับ เกษตรกรรมแบบประณีต

โจทย์จะว่าอย่างไรครับ??????

 ดีใจที่ อ.อุทัย เขียนเรื่องนี้

ที่คนสนใจมากก็คือ

1. วิธีการอะไรที่จะนำไปสู่การสร้างระบบเกษตรประณีตให้เกิดขึ้นในวิถีชุมชน

2. วิธีที่จะแทรกเกผาตรประณีตเข้าไปในระบบใหญ่ของภาคเกษตร

3. รูปแบบการดำเนินการ

4.กรณีตัวอย่าง กรณีศึกษา

5. เงื่อนไขและทิศทางของนโยบายส่งเสริมส่วนต่างๆ

6. เกษตรประณีตอยู่ตรงจุดไหนของเศรษฐกิจพอเพียง

7. วิธีที่จะอธิบายให้คนเข้าใจง่ายและเห็นความสำคัญ

8. จุดเด่น/จุดด้อย ของเกษตรประณีต

9. เกษตรประณีตที่เราจะช่วยกันทำ วางแผนในใจไว้แล้วใช่ไหม

10. ตัวคน พื้นที่ จุดเคลื่อนไหว อยู่ที่ไหนบ้าง

อย่ากังวลกับข้อไหนหน้าหลังพวกนี้  ผมอ่านที่อาจารย์เขียนแล้วคันอยากจะเห็นสิ่งที่ว่านี้เกิดรอบๆสำนักของเรา รอเอาใจช่วย เอาใจทำ สม่ำเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท