บ้านหลังเรียน : วาดภาพ (สัตว์ในคน -คนในสัตว์)


แทนที่จะใบ้คำที่เกี่ยวกับคำคมอย่างเดียว แต่เด็กๆ กลับเพิ่มการบอกใบ้ว่าด้วยสัตว์ชนิดต่างๆ เข้ามาสมทบ กรณีดังกล่าว ทั้งผมและทีมงานก็ไม่ได้ติดขัดอะไร  เรียกได้ว่า “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”  ก็ว่าได้ เพราะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้กำหนดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ซึ่งก็ช่วยให้ผมและทีมงานมองเห็นว่า “เด็กๆ มีต้นทุนอะไรบ้าง” หรือแม้แต่เป็นการฝึกทักษะ “ความคิดสร้างสรรค์” ให้กับเด็กๆ ไปในตัว

บ้านหลังเรียนในวันนี้ (วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2565 ณ สวนลุงวิทย์ บ้านหนองบัว ตำบลดอนกอก อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์) ปรับเปลี่ยนเวลาจากเช้ามาบ่าย เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านมาเร็วกว่าเวลานัดหมายเล็กน้อย 

ก่อนเข้ากระบวนการเรียนรู้  ทีมงานนำ “หนังสือใหม่” มาแนะนำ  เพื่อปลุกเร้าให้เด็กๆ นำกลับไปอ่านที่บ้าน พร้อมๆ กับการชวนให้แต่ละคนเปิดหนังสือดู บ้างก็เปิดดู บ้างก็เปิดอ่าน –

ผมและทีมงาน  ยังไม่เน้นเชิงลึกในเรื่อง “การอ่าน-การเขียน” มากมายนัก  เพราะระยะแรกๆ อยากให้เด็กๆ เพลิดเพลินกับกิจกรรมละลายพฤติกรรมและกล้าที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์เสียมากกว่า

 

 

ภาพวาด : สัตว์ในคน คนในสัตว์


กิจกรรมแรกที่นำมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน คือการวาดภาพ “สัตว์ที่ตัวเองชอบ” โดยอาจเป็นสัตว์ที่มีในครัวเรือน-เลี้ยงในครัวเรือน 

หรือแม้แต่สัตว์ที่อยากจะนำมาเลี้ยงไว้ในครอบครัว  โดยให้สามารถเขียนอธิบายถึงเหตุผลว่า “ชอบเพราะอะไร” 

ใช่ครับ – ให้เขียน เพื่อทดสอบทักษะการเขียนของแต่ละคนไปในตัวอย่างเงียบๆ

เหตุผลที่อยากให้เด็กๆ วาดภาพเหล่านี้  เพราะต้องการฝึกให้เด็กๆ มีทักษะการวิเคราะห์ในเรื่องคุณลักษณะอันเป็นพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิดแล้วเชื่อมโยงกลับเข้าสู่ตัวเอง  เพื่อเทียบเคียงว่าตัวเองมีนิสัย หรือมีพฤติกรรมอย่างไร –สอดคล้องกับสัตว์ที่ชื่นชอบหรือไม่




พอเด็กๆ วาดเสร็จก็นำเข้าสู่กระบวนการให้แต่ละคนออกมา “นำเสนอ –บอกเล่า”  ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับฟังว่า “ชอบสัตว์อะไร-ทำไมถึงชอบ” 

พบว่าสัตว์ที่เด็กๆ ชื่นชอบส่วนใหญ่ก็ชอบไม่เหมือนกัน เป็นต้นว่า ควาย  วัว  กระต่าย ไก่  ช้าง  สิงโต

ส่วนใหญล้วนเป็นสัตว์ที่เคยเลี้ยง  ทั้งเลี้ยงเพราะขื่นชอบ และเลี้ยงเพราะพ่อแม่มอบหมายให้ทำหน้าที่  

 

 

 

ขณะที่เด็กๆ บอกเล่านั้น ผมจะสังเกตและเก็บข้อมูลพฤติกรรม หรือทักษะการสื่อสารของเด็กแต่ละคนควบคู่กันไปอย่างเงียบๆ 

ถัดจากนั้นทีมวิทยากรก็ค่อยๆ ชวนคิดชวนคุยว่า สัตว์แต่ละตัวมีลักษณะเด่นอย่างไร  ตรงกับนิสัยของแต่ละคนหรือไม่ 

รวมถึงการเทียบเคียงความเป็นสัตว์แต่ละชนิดเข้าสู่ “สำนวน-สุภาษิต-คำพังเพย” หรือ 
“นิทาน” ในแบบไทยๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและคติธรรมในแบบไทยๆ ไปในตัว

 

 

เกมบอกใบ้ : ใบ้คำ : ฝึกการคิดและสื่อสารสร้างสรรค์ในแบบไทยๆ

 

พอเสร็จสิ้นกิจกรรมวาดภาพข้างต้นแล้วก็คั่นเวลาด้วยกิจกรรมนันทนาการที่เน้นความสนุกสนาน เพื่อฝึกทักษะต่างๆ เช่น  การฟัง  สมาธิ  การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า   หรือแม้แต่การผ่อนคลายความตึงเครียด เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการถัดไป

อันที่จริงวันนี้ กิจกรรมหลักที่ถูกออกแบบไว้ก็คือ “เพาะต้นไม้ : เพาะชีวิต” แต่พอเห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่สนุกสนานอยู่กับเรื่องการสื่อสารผ่านภาพวาดโดยเริ่มจะสนุกและติดลมกับการคิดตามในเรื่องคำคม-สำนวนในแบบไทยๆ  ทีมงานจึงไม่ลังเลที่จะเลือกกระบวนการ “บอกใบ้-ใบ้คำ” มาเป็นโจทย์การเรียนรู้




กระบวนการนี้  เด็กแต่ละคนจะได้รับข้อความอันเป็น “สำนวน-สุภาษิต-คำพังเพย” เป็นรายบุคคล โดยแต่ละคนต้องตีความและออกแบบท่าทางเพื่อสื่อสาร (บอกใบ้ : ใบ้คำ) ให้เพื่อนได้รับรู้  โดยเพื่อนๆ จะช่วยกันทำนายว่าท่าทางที่ว่านั้นหมายถึงอะไร –



 

ระยะแรกๆ ทีมงานเป็นคนกำหนดโจทย์เอง แต่ผ่านไปสักระยะ เด็กๆ ก็อาสาที่จะคิดวาทกรรมด้วยตนเอง ด้วยการผสมผสานรูปแบบใหม่เข้ามา  กล่าวคือ แทนที่จะใบ้คำที่เกี่ยวกับคำคมอย่างเดียว แต่เด็กๆ กลับเพิ่มการบอกใบ้ว่าด้วยสัตว์ชนิดต่างๆ เข้ามาสมทบ 

กรณีดังกล่าว ทั้งผมและทีมงานก็ไม่ได้ติดขัดอะไร  เรียกได้ว่า “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง”  ก็ว่าได้ เพราะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้กำหนดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ซึ่งก็ช่วยให้ผมและทีมงานมองเห็นว่า “เด็กๆ มีต้นทุนอะไรบ้าง” หรือแม้แต่เป็นการฝึกทักษะ “ความคิดสร้างสรรค์” ให้กับเด็กๆ ไปในตัว




ปิดเวที : ถามทักเรื่องราวรอบตัว
 

เดิมกิจกรรมสุดท้ายของวันนี้คือการ “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน” แต่พอเวลาล่วงเลยมานาน เราจึงมีมติร่วมกันว่าให้ยกกิจกรรมดังกล่าวไปสัปดาห์หน้า

กระบวนการช่วงท้ายของวันนี้  ผมให้เด็กๆ นั่งเป็นกลุ่มอีกครั้ง  เพื่อเข้าสู่การสรุปการเรียนรู้ร่วมกัน  ผมชวนคิดชวนคุยในประเด็นต่างๆ เช่น

  • สนุกไหม ชอบไหม
  • ไม่ชอบกิจกรรมอะไรบ้าง หรือไม่ชอบอะไรบ้าง
  • ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
  • ฯลฯ



เช่นเดียวกับการชวนให้เด็กๆ ได้บอกเล่าเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมตามความสมัครใจ อาทิเช่น

  • บุคคลสำคัญในหมู่บ้าน
  • สถานที่สำคัญในจังหวัด
  • คำขวัญประจำอำเภอ
  • การทำความดีในรอบสัปดาห์
  • สถานที่ในหมู่บ้านที่ชอบไปพักผ่อนหย่อนใจ/ไปเติมพลังชีวิต
  • ฯลฯ

     



 

จากนั้น  ผมชวนเด็กๆ ผูกโยงเรื่องทั้งหมดของกระบวนการในวันนี้เข้ากับแง่คิดสำคัญๆ เผื่อเด็กๆ จะได้นำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง  รวมถึงการเล่านิทาน “สุนัขเก้าหางปลูกข้าวให้คนกิน" ให้เด็กๆ ฟัง

และตอนท้าย จึงสรุปแบบกว้างๆ ให้เด็กๆ ได้รับรู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของวันนี้ (เวลา13.00-16.20 น.)  มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้าง  และต้องการฝึกการเรียนรู้อะไรบ้าง

พร้อมๆ กับการชวนให้เด็กๆ กลับไปเขียนสมุดบันทึกของตนเองว่า “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  หรือแม้แต่ “อยากเขียนอะไรก็เขียน”

เช่นเดียวกับฝากให้แต่ละคนไปศึกษาข้อมูลสถานที่ที่จะไปท่องเล่นในหมู่บ้านมาล่วงหน้า  ตามกระบวนการที่จะมีขึ้น  คือ  “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน”  โดยเน้นว่า  เน้นการสืบค้นจากปากคำของคนในครัวเรือน หรือผู้รู้ในหมู่บ้านเป็นหลักฯ

และนี่คือ กระบวนการเล็กๆ ของบ้านหลังเรียนในแบบบันเทิงเริงปัญญา

 

 



เขียน : พุธที่ 15 มิถุนายน 2565

หมายเลขบันทึก: 703062เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2022 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2022 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีผู้ช่วยวิทยากร สบายใจเลยนะคะ

พี่แก้วแซวได้ถูกต้องนะคร้าบบบบบบ 555

สวัสดีครับ พี่แก้ว อุบล จ๋วงพานิช

555 บางจังหวะ ผู้ช่วยก็ทำให้เราปวดหัวครับ 555 แต่ท้าทายดีครับ การฝึกคนใกล้ตัว จริงๆ ท้าทายกว่าการฝึกฝนคนไกลตัวครับ

สรุป คือ ฝึกตัวเองนี่แหล่ะครับ 555

สวัสดี ครับ อ.Wasawat Deemarn

ไว้วันหลัง ผมหยิกแซวคืนบ้างละกันนะครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท