หัวอกปราชญ์ชาวบ้าน


มีสมาชิกอาวุโสท่านหนึ่งคุยว่ามีวิชาเรียกหนูได้ เอาละสิ..พระสังข์กลับชาติมาเกิดแล้วรึนี่!!โธ่..บทเรียนดีๆอย่างนี้ใครจนอดใจได้

  
   นั่งนึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกว่าผมไปติดร่างแหเข้าสังกัดกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ มันเป็นไปโดยอัตโนมัติไม่รู้เนื้อรู้ตัว คงเป็นเพราะว่าผมมีพฤติกรรมเหมือนกับมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่สนใจเรื่องการเกษตร เรื่องธรรมะกับธรรมชาติ เรื่องดินน้ำลมไฟ เรื่องจารีตวัฒนธรรมประเพณี พอมีเชื้อลักษณะนี้เขาก็นับเข้าพวก ซึ่งเข้าไปแล้วก็เจอแต่คนดีๆ เป็นผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมีประสบการณ์เป็นกะตั๊ก คุยกันน้ำไหลไฟดับ ที่เขาเรียกว่าพวกคอเดียวกัน เมื่อถูกจริตกันรู้จักกันเสวนากันบ่อย ได้พึ่งพากันทางความรู้ความคิดเกาะติดกันเรื่อยมา
 

   เมื่อ10ปีที่แล้ว ศ.เสน่ห์ จามริก ได้ลงหาพวกคนแก่หนังเหนียวที่เรียกว่าผู้นำชุมชนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อมาวางรากฐานการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้นำอย่างเป็นรูปธรรม ได้ชวนกันจัดตั้งโรงเรียนชุมชนอีสาน ถ้าถามว่าสังกัดหน่วยไหน ไม่มีสังกัดครับ เพราะเป็นโรงเรียนที่อยู่นอกระบบของทางราชการ เรื่องหัวโขนไม่สำคัญนัก เราออกแบบการเรียนรู้และพัฒนาของเราเอง คัดผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้านมาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน ที่สำคัญเป็นการทบทวนว่าเรามีต้นทุนเรื่องความรู้เกี่ยวกับวิถีไทยอะไรบ้าง และถ้าจะเดินไปข้างหน้าจะต้องเติมวิชาการอะไรลงไปอีก
 

  ห้องเรียนเราอยู่ในทุ่งนา เปิดแอร์รับอากาศธรรมชาติ มีสายลมแสงแดดเป็นตัวปรับอุณหภูมิ มีร่มไม้ใบบังเป็นฉากกั้น มีข้าวโพดต้มกับน้ำตะไคร้เป็นอาหารว่าง ส่วนอาหารหลักในแต่ละมือนั้นเหลือเฟือ มีไก่มีปลามีผักสดนานาชนิดเต็มสำหรับกับข้าว เราเรียนวิชาชีวิตแบบนอนกลางดินกินกลางดอนนั่นแหละ ในบางพื้นที่ยังมีวิชาเสริมทักษะชีวิตเข้ามาอีก ยกตัวอย่าง เช่น
 

  มีสมาชิกอาวุโสท่านหนึ่งคุยว่ามีวิชาเรียกหนูได้  เอาละสิ..พระสังข์กลับชาติมาเกิดแล้วรึนี่!!โธ่..บทเรียนดีๆอย่างนี้ใครจนอดใจได้ คืนนั้นเราเดินตามแกเข้าป่าอ้อยต่อหางแถวกันยาวหลายสิบวา  ไปถึงแกทำยังรู้ไหมครับ

  แกเอาไม้ตีต้นอ้อย ตีไปที่พื้น เอะอะโครมคราม หลังจากนั้นแกทำเสียงร้องเหมือนหนูบาดเจ็บ

  โอโห้! มันเหลือเชื่ออะไรขนาดนั้น หนูพุกตัวใหญ่ขนาดน้องแมววิ่งพร่านออกมาจากทุกทิศทุกทาง มาจนแทบจะวิ่งขึ้นไปบนตัวแก พอตัวไหนมาใกล้มากๆแกก็จะเอาชมวกแทง แล้วก็หยิบขึ้นมาถอดหนูออกจากเหล็กแหลม ยื่นมาให้คนที่อยู่ข้างหลัง ..แกส่งเสียงไป เดินไป แทงไป  เพียงหนึ่งชั่วโมงให้หลังพวกเรามีหนูพวงยาวพาดบ่าเดินกลับมาที่ตั้งเต็นท์

   ฝ่ายพ่อครัวเปลี่ยนวิกฤติเป็นกับแกล้มทันที สมาชิกช่วยกันถอนขนหนูจ้าละหวั่น ชำแหละผ่าเครื่องในออก ทำความสะอาด ทาเกลือ ก่อไฟย่างเหลืองอ๋อย  บางส่วนเก็บไว้ผัดเผ็ดในช่วงเช้า

   ที่รับประทานหนูนี่ไม่ใช่อดอยากอะไรหรอกนะ เป็นความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง หนูช่วงปลายหนาวกินข้าวหล่นในท้องนา แทะกินต้นอ้อย กินแมลง ตัวอ้วนกลมตกมันกันทั้งโขยง อยู่ในช่วงเดียวกันกับปลาเผาสะเดาลวกนั่นแหละ

   วิชาชีวิตเหล่านี้นอกจากอิ่มอร่อยแล้วยังเป็นการควบคุมปริมาณหนูไม่ให้ระบาดอีกต่างหาก   ผมยังแปลกใจว่าทำไมยุคโน้นถึงไม่มีเรื่องโรคฉี่หนู  ต่อมามีคนใช้สารเคมีฆ่าแมลงกันมาก โดยเฉพาะพวกที่ปลูกแตงโม เขาจะใช้ยาคลุกเมล็ดพันธุ์ป้องกันหนูมาเขี่ยกิน

  หนูมากินเมล็ดแตงโมหนูตาย
  นกเค้าแมวมากินหนูนกตาย 
  หมามากินนกหมาตาย
  คนมากินแตงโมไม่ยักตาย

  แต่ก็คงสะสมยาไว้ในร่างการพอสมควร

  วิชาที่ปราชญ์ชาวบ้านออกแบบเรียน ล้วนเป็นเนื้อหาเพื่อชีวิตทั้งนั้น ถ้าเอามาปรับใช้ในกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้ากันได้ดียังกะกิ่งทองใบหยก แต่เรื่องมันไม่ใช่จะลงเอยง่ายๆเท่าไหร่นัก มีคนตีความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหลายระดับ ดังนั้นแนวทางปฏิบัติจะต้องเปิดกว้าง


• ยึดเอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการ 
• วิธีการก็แล้วแต่สภาพและศักยภาพของท้องถิ่น


  เมื่อเร็วๆนี้มีการประชุมที่กรุงเทพ ท่านรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีโครงการที่จะให้ศูนย์เรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้านทั่วประเทศ40แห่ง เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำเศรษฐกิจพอเพียง บังเอิญว่าผมหนีเรียนรายการนี้ แต่ก็ติดตามข่าวล่ามาเร็วมาฝาก ดังนี้..

   ท่านโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ แนะยึดวิธีของปราชญ์ชาวบ้านแก้จน โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาในหลักการ5ข้อที่ปราชญ์ชาวบ้านเสนอ

1 เชื่อในการพึ่งพาตนเอง

2 เข้าใจคำว่าบูรณาการหรือไม่ติดยึดเรื่องหนึ่งเรื่องใด

3 เคารพภูมิปัญญาที่เกิดจากกระบวนการคิดร่วมกัน

4 เคารพระบบนิเวศน์ เข้าใจ ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม

5 เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าสังคมมีสุข

  เลิกเสียกับการแจกโค แจกโน่นแจกนี่ แก้ไขความยากจนต้องแก้ที่วิธีคิด โดยภาครัฐหรือกระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่แค่สนับสนุนเท่านั้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมแล้ว เพราะมูลค่าทางการเกษตรมีเพียง9%ของจีดีพี และมีผู้ทำอาชีพการเกษตรเพียง30% ของจำนวนประชากร อาชีพทางการเกษตรจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ไม่ใช่อาชีพที่หน่วยงานของรัฐไปยัดเยียดให้ใครต้องมาทำอาชีพนี้ นายโฆษิตกล่าว


  วันนี้ท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านสมณะเสียงศีล ชาตวโร ผู้ก่อตั้งชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน แห่งอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้มาเยี่ยมพร้อมกับพ่อคำเดื่อง ภาษี ท่านมีของฝากมากมาย ยาสมุนไพร เมล็ดพันธุ์ผัก หนังสือ แผ่นซีดี.เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ตัวอย่างดีๆของนักคิดนักทำระดับจอมยุทธรากหญ้าทั้งหลาย

  เราคุยกันหลายเรื่อง เช่น แผนงาน/หลักสูตรที่จะฝึกอบรมกลุ่มแกนนำร่อง แต่ก็ได้รายละเอียดไปเสนอรัฐบาลในระดับหนึ่ง  ว่าเราคิดและมองเรื่องนี้อย่างไร สิ่งไหนช่วยรัฐบาลได้เราจะทำเต็มที่  เพื่อเป็นของขวัญถวายในหลวงในห้วงสมัยที่พระองค์ท่านทรงมีพระชนมายุครบ80 พรรษา
 

  ท่านสมาชิกบล็อกKM.สนใจอยากจะร่วมด้วยช่วยกันก็ได้นะครับ  ใครอยู่จังหวัดไหนที่มีสถานีเรียนรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน  หรือที่ตั้งของครูภูมิปัญญาไทย ของสถาบันแห่งชาติว่าด้วยครูภูมิปัญญาไทย ชวนกันไปหน่อย ไปเยี่ยมๆมองๆนกขุนทองร้องกรู๊..

หมายเลขบันทึก: 69298เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • อ่านหลายบันทึกของท่านครูบา แล้วยังไม่ได้แสดงตนไปให้ข้อคิดเห็นครับ
  • เผอิญผมได้ตำแหน่ง "ครูภูมิปัญญาไทย" ครับ สังกัดจังหวัดพิษณุโลก...
  • พยายามไปเสนอตัวจะให้ความรู้กับหน่วยงานการศึกษาหลายแห่งแล้ว...แต่ยังไม่มีที่ไหนสนใจ...
  • เลยเข้ามาเยี่ยมบันทึกนี้ของท่านครูบาไปพลางๆ ก่อนครับ
อยากได้หนูพุกตัวใหญ่ ใช้ไม้ตีต้นอ้อย ตีไปที่พื้น ส่งเสียง เอะอะ โครมคราม ทำเสียงร้องเหมือนหนูบาดเจ็บ สักครู่ หนูก็วื่งพล่าน                                        อยากได้ครูตัวใหญ่ ครูใจใหญ่ ครูหัวใจเสริมใยเหล็กมากู้ชีพการศึกษาไทยที่หลายคนบอกว่า ตายแล้ว จะเอาอะไรตี ครับคุณพ่อ

         ครูภูมิปัญญาไทยเป็นผู้ปฏิบัติจริง เกิดผลจริง แต่รัฐหรือราชการนำไปใช้ได้น้อย เพราะไปหยิบ ไปฉวยเอาแค่บางส่วน หรือไปเด็ดเอาแต่ยอด ไม่ลงมือทำอย่างที่ควรทำ

         

ภูมิปัญญาไทยเป็นศาสตรืที่หน้าสนใจมากครับ ผมก็มีความสนใจมากพอสมควร และพึ่งรู้เหมือนกันว่า อาจารย์ บีแมน ก็เป็นครูภูมิปัญญาไทย เอาไว้มีโอกาสผมจะไปขอความรู้นะครับ

 

  เรื่องการอธิบาย กรณีภูมิปัญญาไทย อาจจะหยิบมาเขียนแบบง่ายๆสัก 1 ตอน โปรดติดตามในเร็วๆนี้

อย่าเผลอละ เดี๋ยวไม่ได้เจอกึ๋นแบบไทยแท้

 

  ท่าน beeman ครับ

 ผึ้งมันขยัน สามัคคีเป็นยอด ความสามรถเป็นเยี่ยม

ทำเรื่องนี้ให้ชัดๆระเบิดเทิดเทิง เดี๋ยวสานุศิษย์มาหาเอง  ถ้าให้พระอาจารย์ออกไปเที่ยวตระเวณกวักมือเรียกให้คนมาหามาเรียน มันเป็นภาระที่หนักเกินไป ผมเชื่อว่าในเร็วๆนี้ ความที่ความรู้ไม่พอใช้จะไปหาท่านเอง

  ผมมีลูกหลานชาวพิษณุโลก  เรียนโทที่จุฬาฯ มาทำตั้งหลักทำวิทยานิพนธ์ 2 ปีแล้ว เป็นคนดีมาก ขยันเรียนเพื่อให้ได้ความรู้จริง ถ้าจะเอาแต่จบ เขาจบไปนานแล้ว แต่พอมาเจอความรู้ที่มันยืดออกไปเรื่อย ก็ทำใจยากที่จะสรุปเนื้อหาในวิทยานิพนธ์ เด็กรุ่นใหม่คิดได้อย่างนี้หายาก ขณะนี้เราต้องบังคับให้จบๆเสียที ส่วนจะศึกษาอะไรต่อ จะเรียนเอกต่อ ค่อยว่ากัน เธอเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่า..นิสิตของประเทศไทยที่ดีจริงยังมีชีวิตอยู่  

 

 

   เม็กดำ

 ทำเม็กกะโปรเจ็คทางภูมิปัญญาให้ได้ ไม่ได้พูดเล่นๆนะ อยากชวนให้ทำกันอย่างจริงจัง!

  การทำทำวิจัยเรื่องภูมิปัญญาไทย ที่จริงมีเรื่องที่รอคอยให้ทำอีกเป็นล้านเรื่อง เพียงแต่ต้องทุ่มเททำอย่างหนัก ไม่ควรวางกรอบไว้แค่ในพื้นที่หรือชุมชนตัวเอง

ควรทำตัวเป็นพวกตาส่อน ตาใส มองเจาะไป หูฟังหาเหตุไป ปากอ้าถามไป ใจใคร่ครวญคิดไป มันถึงจะไปเจอแก่นของภูมิปัญญา  เอาแค่เรื่องขุดกะปูไม่ให้สับโดนตัวนี่ก็คุยกันได้ครึ่งค่อนวัน เหมือนปิ้งปลาไม่ให้ตัวงอของผู้ใหญ่เรื่องนั่นแหละ

   เรื่องปิ้งปลาขี้ราดคอนั้น ถือเป็นเรื่องเด็ดของเม็กดำ พยายามต่อไป อาจจะเจอทีเด็ดเพิ่มในเร็วๆนี้ มันมีอยู่แล้ว มีอย่างแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ ปัญหาอยู่ที่จะเอาเครื่องมืออะไรไปถอดรหัสชีวิตของคนที่อาศัยอยู่กลางทุ่งใหญ่มาตั้งแต่โบราณ

แค่หนังเรื่อง"ลูกอีสาน" หยิบเศษเสี้ยวมาทำยังมีเสน่ห์ให้คนชื่นชอบอีสาน

คนสารคาม ต้องตระหนักว่า ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นตำราเล่มใหญ่ เรียนจนหัวผุก็ไม่มีวันจบ  วันหลังชวนชาวมหาวิทยาลัยสารคามนั่นแหละคุยเรื่องนี้ให้มันทะลุให้ได้ เสริม..การสร้างอาคารศิลปวัฒนธรรมขนาดใหญ่ แล้วเอา แห เอาลอบ เอาเกวียนฯลฯ ไปจัดแสดง นั่นก็เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆที่ชอบจัดกัน จริงๆแล้วยังห่างไกลคำว่าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยมากนัก

เอาแค่คำว่า กุลาร้องไห้ มันมีที่มาอย่างไร ตำนานเกิดจากตรงไหน ทำไมสามารถเปลี่ยนเป็นทุ่งกุลาหัวเราะได้ เพราะการปลูกข้าวหอมมะลิ มันเป็นได้เพราะสาเหตุอะไร ทำไมคนสมัยก่อนปลูกข้าวตรงนี้ไม่ได้ มันเกิดการเชิ่อมโยงวิทยาการตรงไหน

ประเด็นสดๆอย่างนี้ที่ชาวสารคาม นักศึกษา นักวิชาการ แห่งเมือกตักสิลาควรจะเปิดโปง เปิดเผย ไม่ใช่เอาแบบทางใต้ ..ทำไหร..ทำเถิด อย่าเปิ๊ดผ้า..

  • เห็นด้วยครับ "แก้ไขความยากจนต้องแก้ที่วิธีคิด" และวิถีการปฏิบัติ
  • ขอบพระคุณครูบามากครับที่นำสิ่งดีๆ มาบอกเล่า  ผมจะลองไปเยี่ยมเยียนดูครับ เผื่อจะได้ออกแรงช่วยด้วย
  • ผมไปสอนหนังสือชายแดนเลยพลาดบันทึกนี้ครับ
  • ผมจะเอาวิชาเรียกปลาไปให้ดูครั้งหน้าครับ
  • ผมพบครูภูมิปัญญาเรียกนกได้ครับ
  • รอเรียนกับท่านอยู่ครับ
  ที่อีสาน มีวิชาเรียกนกคุ่ม (ภาษาอีสาน) เขาไปนั่งร้องเสียง อึดๆๆๆ เหมือนเสียงนกร้อง..
  • เคยทำครับ
  • ใช้ขวดใส่น้ำ นกมาเหมือนกันครับ
  • ขอบคุณมากครับ

 

  ทางเหนือเข้าให้ไม้ซาง เป่าทำเสียงนกบางชนิด

ที่เลียนเสียงได้เหมือนมาก  นกมาหาเช่นกัน แต่รายละเอียดยังไม่มาก ฟังจากการบอกเล่าอีกที

  • ต้องขอขอบพระคุณ ท่านครูบา ที่ให้คำแนะนำดีๆ แก่ beeman นะครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท