การระบาดของโควิด ๑๙  เปิดโอกาสทองแก่นักสังคมศาสตร์


 

ผมเขียนเรื่อง อย่าปล่อยให้โอกาสจากโควิด ๑๙ ลอยนวลไว้ที่ (๑)    บัดนี้ได้อ่านเรื่อง How Covid is Changing the Study of Human Behavior  ในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔    พบว่าฝรั่งใช้โอกาสที่ผมเสนอแก่สังคมไทยไปแล้วอย่างน่าทึ่ง     

เป็นบทความที่ทบทวนงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ที่ทำได้ยากในสภาพปกติ    แต่เมื่อมีสภาพรุมเร้าจากวิกฤติโควิด นักวิจัยจากทั่วโลกก็ร่วมมือกันทำวิจัยกันได้กว้างขวางและรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ    ดังกรณีของ Jay Val Bavel  นักจิตวิทยาเสือปืนไว แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่เขียนรายงานวิจัย Using social and behavioural science to support COVID-19 pandemic response    ลงวารสาร Nature Human Behavior ในเดือนเมษายน ๒๕๖๓   เสนอประเด็นวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์เพื่อช่วยหนุนการต่อสู้ โควิด ๑๙   ได้แก่ การหาแนวทางจัดการความท้าทาย   ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อพฤติกรรม   การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์   การตัดสินใจเชิงคุณธรรม   ภาวะผู้นำ  ความเครียดและการรับมือ    มีรายละเอียดของความรู้แต่ละประเด็นที่มีการศึกษาไว้   รวมทั้งความรู้จาก Spanish Flu เมื่อกว่าร้อยปีก่อน    ท่านที่ชอบฟังมากกว่าชอบอ่าน ฟังการบรรยายเรื่องนี้ได้ที่ (๒) 

บทความ How Covid is Changing the Study of Human Behavior เล่าว่า Jay Val Bavel คิดโจทย์วิจัย ว่ามีปัจจัยทางสังคมใดบ้างที่ช่วยทำนายพฤติกรรมทำตามมาตรการด้านสาธารณสุข (เช่นการรักษาระยะห่างทางสังคม  การปิดภัตตาคาร) โดยที่เขามีผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งแล้ว   แต่ก็เกิดความคิดว่าน่าจะลองประกาศหาผู้ร่วมมือทาง Twitter ในเดือนเมษายน ๒๕๖๓  ผลคือมีนักวิจัยเข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน จาก ๖๗ ประเทศ   เก็บข้อมูลจากตัวอย่างกว่า ๔๖,๐๐๐ คน   ความร่วมมือขนาดใหญ่แบบนี้ทำยากมากหากไม่มีปัจจัยภาวะฉุกเฉินแบบการระบาดของโควิด        

อ่านรายงานผลการวิจัยชิ้นนี้ ที่มีผู้ร่วมรายงาน ๑๓๐ คน ได้ที่ (๓) 

นักวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ในต่างประเทศเขารวมตัวกัน หาทางทำวิจัยเพื่อให้ข้อมูลแก่ฝ่ายนโยบาย ว่าทำอย่างไรจะช่วยให้ผู้คนร่วมกันดำเนินการตามมาตรการของทางการในสถานการณ์ตื่นตระหนก  ไม่มั่นใจ และมีข่าวสารท่วมท้น    และได้ประเด็นวิจัยตามที่ระบุในย่อหน้าที่สอง   

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งต้องการทำความเข้าใจการตอบสนองของประชาชนต่อมาตรการ เช่น การจำกัดตนเองอยู่แต่ในบ้าน การสวมหน้ากากอนามัย    และได้ข้อสรุปจากการวิจัยว่า ประเทศที่ผู้คนร่วมใจกันทำตามมาตรการของรัฐ เป็นประเทศที่ผู้คนมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  มีความรู้สึกว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน    และพบว่ากลุ่มคนขวาจัดมีแนวโน้มจะไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐ   

เขาถึงกับเสนอว่า เมื่อดำเนินการตามนโยบายด้านสาธารณสุข น่าจะพ่วงเป้าหมายพัฒนาเอกลักษณ์ของชาติเข้าไปด้วย   

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า ในการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนปรับพฤติกรรมนั้น    ตัวผู้สื่อสารมีความสำคัญ  เขาเปรียบเทียบระหว่างดาราหนังที่เป็นที่ชื่นชอบในประเทศนั้นๆ กับ Anthony Fauci นักวิทยาศาสตร์สาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา    พบว่า Anthony Fauci กินขาด   

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบว่า การใช้ข้อความที่สอดคล้องกับคุณค่าที่กลุ่มประชาชนยึดถือ จะช่วยให้อัตราพฤติกรรมที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น    ดังตัวอย่างการส่งเสริมการสวมหน้ากากอนามัยในกลุ่มอนุรักษ์นิยม กับกลุ่มเสรีนิยม ในสหรัฐ    เขาทดลองถ้อยคำชี้ชวน (nudges) ๘ อย่าง    และพบว่า ถ้อยคำที่บอกว่าการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น   จะได้ผลดีในกลุ่มอนุรักษ์นิยม    เพราะคนกลุ่มนี้มองโควิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ มากกว่าเป็นวิกฤติสุขภาพ     แต่ในกลุ่มชนเสรีนิยมต้องใช้คำชี้ชวนว่า การสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยให้คุณปลอดภัย 

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่ง ทดลองมาตรการที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้ารับการฉีดวัคซีน   

ช่องทางศึกษาพฤติกรรมคน ผ่านทางเทคโนโลยีไอที ทำให้ในยุคนี้การวิจัยทางสังคมศาสตร์สะดวกขึ้นอย่างมากมาย    ทั้งการใช้ internet-based survey    ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากต่างมุมโลก    และการติดตาม location ของตัวคนผู้ใช้โทรศัพท์ส่วนบุคคล    

จะเห็นว่า ในสถานการณ์คับขัน ที่ต้องการความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คน   นักวิชาการสายสังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ สามารถมีส่วนร่วมกันตั้งโจทย์ และดำเนินการวิจัยปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จได้    วงการนโยบายและวงการวิชาการไทยยังมองคุณค่านี้ต่ำกว่าความเป็นจริง           

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ค. ๖๔

 

 

หมายเลขบันทึก: 691786เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2021 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2021 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท