ชีวิตที่พอเพียง 4015. เพราะอยู่ในกระบวนทัศน์ของความซับซ้อน จึงเห็นการผุดบังเกิด


 

              ชีวิตของผมตอนนี้ หมกมุ่นอยู่กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา     เข้าไปพัวพันกับงานของ กสศ. ในหลายมุม     เห็นได้ชัดว่า ความไม่เสมอภาคหรือความเหลื่อมล้ำ มีความซับซ้อน (complexity) สูงมาก   ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำด้านใด   การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงเป็นการทำงานในสภาพที่มีความซับซ้อนสูงมาก   

เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการชี้ทิศทางของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง จึงได้โอกาสเรียนรู้มิติต่างๆ ของความซับซ้อน   ที่เป็นการเรียนรู้จากการสัมผัสจริง    แล้วสรุปเอาจากการใคร่ครวญสะท้อนคิด   

กสศ. ลงทุนดำเนินโครงการนำร่อง (pilot project) เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับใช้ขยายผลไปยังระบบใหญ่   เป็นโครงการขนาดใหญ่ ดำเนินการหลายปี   โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองเป็นหนึ่งในโครงการเหล่านั้น ใช้เงินทั้งโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เวลา  ๓ ๑/๒ ปี หลายร้อยล้านบาท   เพื่อทดลองแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลากหลายมิติ           

ผมค่อยๆ เรียนรู้ว่า ความเป็น “โครงการ” อาจอยู่ในสภาพ “เส้นผมบังภูเขา”    คือ  “โครงการ” บังเป้าหมายใหญ่ คือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ     เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องต่างก็มุ่งมั่นทำให้โครงการสำเร็จ    หาวิธีเอาชนะอุปสรรคความยากลำบากต่างๆ ที่เรียงหน้าเข้ามา     เพื่อทำให้โครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ   

ผมมองต่างจากผู้เกี่ยวข้องในโครงการโดยทั่วไป    คือผมมองว่าโครงการเป็น “เครื่องมือ” (means) ให้เราเข้าไปเผชิญความซับซ้อนของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา    เพื่อค้นหาช่องทางสู่ “เป้าหมาย” (end) คือการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา    ในระหว่างที่ดำเนินโครงการกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น    หากจิตใจของเรามุ่งอยู่ที่ผลสำเร็จของโครงการเท่านั้น    เราก็จะมองเลยความสำเร็จเล็กๆ ที่ “ผุดบังเกิด” (emerge) ขึ้นระหว่างทาง ที่หากจับตัวได้  ทำความเข้าใจความหมายของมันต่อเป้าหมายใหญ่ (ความเสมอภาคทางการศึกษา) ได้ชัดเจน   และดำเนินการขยายผลจาก “สะเก็ดหรือหน่ออ่อนของความสำเร็จ” ที่ผุดบังเกิดนั้น    ก็จะเป็นลู่ทางสร้างชิ้นส่วนของความสำเร็จตามเป้าหมายใหญ่   

ในกรณีโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    เราไปหนุนให้โรงเรียนขนาดกลางในชนบท ที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกคนจน คนด้อยโอกาส (จำนวน ๗๒๗ โรงเรียน)    ให้มีความสามารถจัดการเรียนรู้ยกระดับ CLO – Core Learning Outcome ให้ได้ตามมาตรฐาน    ทำมา ๒ ปี พบว่ามีโรงเรียนจำนวนหนึ่งยกระดับคุณภาพขึ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์    ซึ่งผมเดาว่ามีไม่มากนัก    ผมมองว่า โรงเรียนเหล่านั้นเป็นกรณีตัวอย่างของ emergence   ที่เอามาใช้เป็นคานงัดเปลี่ยนแปลงระบบใหญ่ได้   

นี่คือตัวอย่างความซับซ้อนของวิธีคิด    และความซับซ้อนของการดำเนินการในเรื่องที่มี complexity สูง     ที่จะต้องอาศัย “ความเข้มแข็ง” ที่มีอยู่ในท่ามกลางความอ่อนแอ    ที่เป็นไปตามธรรมชาติของสรรพสิ่ง    และใช้ emergence ของความเข้มแข็งนั้น เป็นสะพานเชื่อมไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายใหญ่   

หากไม่เข้าใจความซับซ้อนของเรื่องนั้น   ไม่มองงานหรือโครงการที่ทำด้วยมุมมองที่ซับซ้อน เราจะไม่เห็นสิ่งที่ผุดบังเกิด    และไปไม่ถึงเป้าหมายใหญ่ หยุดอยู่แค่เป้าหมายของโครงการ      

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิ.ย. ๖๔        

 

หมายเลขบันทึก: 691785เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2021 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2021 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Are we focusing on solving problems arising from implementation of various “programs” instead of improving outcome for students?

I am reminded of icons on computer screens, they represent programs and projects but never the real people with the problems to be solved.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท