ชีวิตที่พอเพียง 3980b. อย่าปล่อยให้โอกาสจากการระบาดของโควิด ๑๙ ลอยนวล


วิจัยสร้างความเข้าใจสังคม และเข้าใจคนไทย ในยุควิกฤติโควิด ๑๙

ชีวิตที่พอเพียง 3980b. อย่าปล่อยให้โอกาสจากการระบาดของโควิด ๑๙ ลอยนวล 

                ยิ่งนับวันผมก็ยิ่งเห็นว่า โควิด ๑๙ ไม่ได้มีเฉพาะด้านโทษ หรือก่อความเดือดร้อนเท่านั้น    ยังมีด้านคุณ หรือก่อประโยชน์แก่สังคมได้ด้วย    แต่ที่เห็นชัดและออกฤทธิ์อยู่ในปัจจุบัน คือด้านแรก   ส่วนด้านหลังต้องขุดลงไปลึกหน่อยจึงจะเห็น    และผมมองว่า เป็นหน้าที่ของวงการวิจัยของประเทศ ที่จะทำหน้าที่ขุด 

หน้าที่ของระบบ ววน. (วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม) คือ ทำความจริงให้ปรากฏ   

ในยุคโควิดระบาด    ความจริง ปลอมหรือเทียมโผล่ตัวออกมาเป็นรายวัน  วันละหลายๆ ข่าว   แต่ความจริงที่มาจากงานวิจัยมีน้อยมาก หรือแทบไม่มี    อาจเป็นเพราะกลไกตั้งโจทย์วิจัยและสนับสนุนทุนยังไม่เห็นโจทย์วิจัยที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมอย่างมหาศาล   

ผมได้ไอเดียนี้จากการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ IHPP เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔    ที่ ศ. ดร. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์,  นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, ดร. นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร,  และ ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์   เขาคุยกัน    ทำให้ผมตระหนักว่า โควิด ๑๙ ไม่ได้ก่อ health emergency  และ economic emergency เท่านั้น   ยังก่อ social emergency / crisis ด้วย อย่างชัดเจนแจ๋วแหวว    แต่ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นแต่วิกฤติด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจ เท่านั้น    เห็นวิกฤติด้านสังคมก็เหมือนไม่เห็น   แม้แต่วงการวิจัยก็มองไม่เห็นโอกาสที่จะแสดงแสนยานุภาพของการวิจัยให้สังคมเห็น

ที่จะเน้นในบันทึกนี้คือ โอกาสด้านการวิจัย    โดยเฉพาะการวิจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม  รวมทั้งด้านมานุษยวิทยา   เพราะสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ได้ช่วยเผยธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นคนไทยในหลากหลายด้าน  จากคนหลากหลายกลุ่ม (ทั้งนักการเมือง  นักธุรกิจ นักวิชาการ  และชาวบ้านทั่วไป)    เป็นโอกาสตั้งโจทย์วิจัยด้านมานุษยวิทยาสังคม 

โจทย์วิจัยด้านสังคมที่เด่นที่สุดอยู่ในกลุ่ม equity (ความเท่าเทียม)    สถานการณ์โควิดมีผลต่อความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมทางสังคมอย่างไร    มาตรการที่รัฐ และภาคธุรกิจ ดำเนินการ ส่งผลต่อความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมในสังคมอย่างไรบ้าง    ทำให้ดีขึ้น หรือเลวลง    ดีต่อคนกลุ่มไหน ก่อผลลบต่อคนกลุ่มไหน    ดีในมิติไหน ก่อผลลบในมิติไหน   

ผมทราบมาว่า ในปัจจุบัน เรื่องโควิด ๑๙   ประเทศไทยไม่มีกลไกร่วมกันตั้งโจทย์วิจัยที่มีลำดับความสำคัญสูง  และหาคนมาดำเนินการเชิงรุก    โดยมีทุนวิจัยอยู่ที่ สวช. และ สวรส.   เท่ากับเรามีทุนวิจัย แต่กลไกตั้งโจทย์เชิงรุกไม่ชัดเจน     

โจทย์วิจัยสำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการภาครัฐ   ผลงานวิจัยที่เป็นวิชาการ และเป็นกลางทางการเมือง จะช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่นโยบายและมาตรการภาครัฐ    ช่วยให้สังคมมีความเชื่อถือระหว่างกัน (mutual trust) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อถือต่อภาครัฐ   สภาพที่ขาดกลไกทางวิชาการที่เป็นอิสระและแม่นยำทางวิชาการ ทำให้เราขาดโอกาสสร้างการเรียนรู้เชิงสังคมไปอย่างน่าเสียดาย 

ประเด็นน่าเสียดายน่าจะมีมากกว่านี้มาก    แต่สติปัญญาของผมมีจำกัด    หากจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาสร้างกลไกคิดโจทย์วิจัย ผมขอเสนอให้ปรึกษา ๔ ท่านที่ผมเอ่ยชื่อข้างต้น   และอีกสองท่านที่ผมคิดว่าจะให้ความเห็นที่ลุ่มลึกและกว้างขวาง คือ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  และ ศ. ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด                         

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มิ.ย. ๖๔        

หมายเลขบันทึก: 691155เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2021 07:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2021 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท