หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ๘. การพัฒนากรอบทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันและอนาคต




ตอนที่ ๑

ตอนที่ ๒

ตอนที่ ๓

ตอนที่ ๔

ตอนที่ ๕

ตอนที่ ๖

ตอนที่ ๗


ผมโชคดีได้รับเชิญไปร่วมประชุม Senior Influencers Consultative Dialogue on the Development of Skills Frameworks for Students in Basic Education จัดโดย สพฐ., คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และ UNICEF Thailand   

ได้รับเชิญในฐานะ senior influencer เชียวนะครับ โก้ไม่เบา

แต่เมื่ออ่านเอกสารที่เขาบอกว่าเป็นฉบับร่าง ห้ามเผยแพร่ เรื่อง (ร่าง) กรอบทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  แล้ว    ผมก็รู้สึกว่าผู้เชิญคิดผิด เพราะผมเป็นเณรน้อยมากกว่าเป็นสมภารในงานวิชาการเช่นนี้   

แต่เณรแก่ก็มีไอเดียอยู่บ้าง    โดยต้องจับที่หัวข้อการประชุมที่เป็นภาษาอังกฤษ  Dialogue on the Development of Skills Frameworks for Students in Basic Education  โดยต้องแปลงเล็กน้อย เป็น Skills in Students   ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทักษะในนักเรียน    หากเป้าหมายคือการพัฒนาทักษะในนักเรียน    ไม่ใช่แค่ในกระดาษ   ผมคิดว่าที่ยกร่างกันมานั้นน่าจะพอใช้ได้แล้ว    ขั้นตอนต่อไป senile influencer อย่างผมช่วยไม่ได้หรอก    คนที่จะช่วยได้คือครู    

ครูที่จะช่วยได้คือครูเพื่อศิษย์ ที่ทำงานปลุกปั้นให้ศิษย์มีทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   และหากจะให้ครูช่วย ต้องไม่ถามคำถาม what โดดๆ   ต้องถาม how ไปพร้อมๆ กัน   

คือต้องหาครู และโรงเรียนที่มุ่งมั่นดำเนินการสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อยู่แล้ว และทำมานานกว่าสอบปีแล้ว    มาเป็นผู้ร่วม “พัฒนากรอบทักษะที่จำเป็นภาคสนาม”    ย้ำคำว่า “ภาคสนาม” นะครับ หากจะให้กรอบทักษะจำเป็นนี้ใช้การได้จริง และก่อประโยชน์ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยได้จริง    การพัฒนากรอบทักษะภาคทฤษฎีจะไม่เพียงพอ    พลังตัวจริงอยู่ที่ภาคสนาม

เพราะภาคทฤษฎีจะไม่มีวันกลายเป็นทักษะในตัวเด็ก    แต่ภาคสนามจะทำได้    

ประเด็นสำคัญคือ ครูต้องตีความ กรอบทักษะ เพื่อนำไปออกแบบชั้นเรียน (lesson plan)    และตีความสู่การประเมินว่านักเรียนแต่ละคนบรรลุทักษะนั้นๆ ในขั้นใด    นักเรียนจึงจะได้รับผลดี คือเกิดการพัฒนาทักษะในนักเรียน   

นักวิชาการและ senile influencer  พัฒนาทักษะในนักเรียนไม่ได้     แต่ครูทำได้    หากนักวิชาการไปตีความ how   และ what ในเรื่องกรอบทักษะ   ก็จะได้กรอบทักษะที่ใช้ได้จริงในห้องเรียน    อธิบายด้วยภาษาของภาคปฏิบัติ แทนที่จะอธิบายด้วยภาษาทางทฤษฎี    

อธิบายใหม่    ผมไม่เชื่อว่ากระบวนการทางปัญญาเชิงทฤษฎีอย่างที่ใช้กันอยู่นี้ จะช่วยให้เราเข้าใจ “กรอบทักษะที่จำเป็นต่อชัวิตในปัจจุบันและอนาคต ได้อย่างแท้จริง”    เพราะตามหลักการเรียนรู้    เข้าใจแท้จริงแปลว่าเอาไปใช้เป็น    และต้องใช้เป็นในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนได้ด้วย    ที่เรียกว่าเรียนลึกในระดับ transfer learning  ซึ่งลึกกว่า deep learning   การจะเข้าใจในระดับ deep และ transfer ต้องผ่านการปฏิบัติแล้วคิดเท่านั้น    การคิดล้วนๆ ม่ทำให้บรรลุได้  

เอาให้ซับซ้อนขึ้นไปอีก ทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของเด็กชาวเขา   ชาวเกาะ  กับของเด็กในกรุงเทพเด็ก  เหมือนกันหรือไม่   สมมติว่าทักษะเหล่านี้เป็น “ทักษะจำเป็น” จึงเหมือนกัน   ถามว่าในภาคปฏิบัติ การพัฒนาทักษะจำเป็น ของเด็ก ๓ กลุ่มนั้น เหมือนกันหรือไม่    จะเห็นว่า ทักษะในกระดาษ กับทักษะในตัวเด็ก แตกต่างกัน    ผมจึงไม่เชื่อว่า กระบวนการทางปัญญาในกลุ่มผู้รู้ในกรุงเทพ จะช่วยให้ทักษะที่จำเป็นของเด็กไทยเกิดขึ้นได้จริง    แนวคิดนี้พิสูจน์แล้วพิสูจน์เล่าโดยคุณภาพการศึกษาไทยในช่วง ๒๐ - ๓๐ ปีที่ผ่านมา   

ที่จริงวงเสวนานี้ เป้าอยู่ที่ C - Content   แต่ผมชวนคิดเรื่อง T - Target  และ P – Process     

ผมเตรียมไปให้ความเห็นว่า Do the right thing  สำคัญกว่า Do the thing right    กรณีนี้เป็นเรื่องการกำหนดเป้า (Target) ที่จะเล็ง ว่าอยู่ที่ P ไหน   P  paper  หรือ P pupil    ผมมองว่าต้องเล็งเป้า pupil หรือนักเรียน    ต้องทำ skills framework ในนักเรียน ไม่ใช่ในกระดาษ  

และหากเห็นด้วยกับผม    ก็ต้องไปทำ skills framework ที่โรงเรียน ทำร่วมกับครู

วิจารณ์ พานิช

๘ ต.ค. ๖๓


หมายเลขบันทึก: 687229เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2020 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2020 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท