หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ๖. พัฒนาการเรียนรู้ฐานสมรรถนะทำได้ไม่ยาก


ตอนที่ ๑   ตอนที่ ๒    ตอนที่ ๓   ตอนที่ ๔   ตอนที่ ๕

การประชุมคณะกรรมการกำกับทิศในคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓  เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๓  ทำให้ชื่อบันทึกนี้โผล่ออกมา     บันทึกนี้คือ reflection จากการประชุมดังกล่าว   

เมื่อ ดร. รัตนา เสนอแนวทางดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๖๓  และ ๒๕๖๔   และเชิญคุณเปาพูดเสริม อธิบายการใช้เครื่องมือ ๓ ตัว คือ DE, Quick Research, และ online PLC    ที่ประชุมให้ข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์มากมาย    และเป็นข้อคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย  เข้าหลัก complexity และ DE เต็มเหนี่ยว    จนคุณเปาโทรศัพท์มาโอดครวญกับผมว่า ทำไมที่ประชุมให้ความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้   

กลุ่มหนึ่งบอกว่า งานนี้ยาก และมีความเสี่ยงสูง     อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่ยาก ครูอยากเปลี่ยน โดย สพฐ. ต้องส่งสัญญาณ    และต้องเสี่ยง    

ในเอกสารฉบับร่างของ สพฐ. เรื่อง สมรรถนะหลัก ๕ ประการ    ให้นิยามสมรรถนะว่า หมายถึง “พฤติกรรมที่แสดงออกถึงความสามารถของบุคคล ในการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ ที่ตนมี  ให้เหมาะสมในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ    การใช้ชีวิต และการแก้ปัญหา สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมในสถานการณ์ที่หลากหลาย”   

เอกสารแจกแจงสมรรถนะหลักออกเป็น ๕ ประการคือ  (๑) สมรรถนะการจัดการตนเอง  (๒) สมรรถนะการสื่อสาร  (๓) สมรรถนะการรวมพลังทำงานเป็นทีม  (๔) สมรรถนะการคิดขั้นสูง  (๕) สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง   

จากนิยาม และสมรรถนะ ๕ ตัวที่ระบุ    ผมยิ่งมั่นใจว่าการจัดการเรียนรู้แบบ active learning ทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาสมรรถนะ   และการจัดการเรียนรู้ที่ครูดำเนินการให้ศิษย์เกิดผลการเรียนในระดับ “รู้เชื่อมโยง” (transfer)    เป็นเส้นทางสู่การพัฒนาสมรรถนะขั้นสูง   

หากครูตีความว่า การสอนให้นักเรียนเกิด literacy ด้านต่างๆ นั้น    ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ที่รู้    แต่ต้องเอาความรู้ด้านต่างๆ นั้นไปใช้ในกิจการที่ซับซ้อนได้    เท่ากับเรียนรู้ระดับลึก   และหากครูมีวิธีให้นักเรียนได้ฝึกใช้ความรู้เหล่านั้นในต่างสถานการณ์    ก็จะได้ผลลัพธ์ระดับ “รู้เชื่อมโยง”    และเกิดสมรรถนะระดับสูง    

ดูจากเอกสารเรื่อง สมรรถนะหลัก ๕ ประการ ฉบับร่างของ สพฐ. แล้ว    ผมเป็นห่วงว่าหากดำเนินการตามนั้น เด็กจะรู้เนื้อหาไม่ลึก    คือการปรับหลักสูตรครั้งนี้จะสวิงจากเน้นสาระไปเน้นสมรรถนะ แบบทิ้งสาระ   ที่จะมีผลให้ลงท้ายผลลัพธ์การเรียนรู้ตื้นและไม่เชื่อมโยง    เพราะการ “รู้เชื่อมโยง” นั้น ส่วนหนึ่งต้องเชื่อมโยงด้วยสาระด้วย    คือสมรรถนะระดับสูงนั้น นอกจากอาศัยการฝึกปฏิบัติแล้ว ต้องมีการ reflect ผลของการปฏิบัตินั้นด้วย    โดยการ reflect ต้องใคร่ครวญสะท้อนคิดหลายแบบ   แบบหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ reflect ย้อนกลับไปทำความเข้าใจทฤษฎีหรือสาระวิชาจากการปฏิบัติ   ซึ่งจะช่วยให้เรียนรู้ทฤษฎีได้ลึก    ครูต้อง facilitate กระบวนการ reflection เป็น   

การเรียนทั้งหมดคือการฝึกคิด    ทฤษฎี หรือสาระวิชา คือระบบหนึ่งของการคิด    หากละเลยไม่เอาใจใส่ผู้เรียนจะคิดไม่เก่ง    และในอีกมุมหนึ่ง การคิดโดยไม่ปฏิบัติ จะพัฒนาการคิดได้ไม่ซับซ้อน    สมองต้องการการปฏิบัติในสถานการณ์จริงมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการ “คิดโดยไม่คิด” หรือ “คิดโดยไม่รู้ตัว”    ซึ่งเป็นพื้นฐานของสมรรถนะ       

ข้อคิดเห็นที่ให้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติมากที่สุดได้จาก รศ. ดร. ทิศนา แขมมณี  ราชบัณฑิต    ที่แนะนำว่า ต้องเตรียมเครื่องมือวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการ    และต้องมีการจัดการในโรงเรียน เพื่อสร้างระบบนิเวศของโรงเรียนที่สนับสนุนให้ครูเปลี่ยนวิธีสอน   

ชื่อของคณะกรรมการชุดนี้ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องมองแคบว่า เป็นการเปลี่ยนหลักสูตร    ศ. ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนง ชี้ว่า ต้องเปลี่ยนทั้งหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน  และการวัดผล    และ รศ. ประภาภัทร ชี้ว่า ต้องเป็น Whole School Development   และผมนึกในใจว่า เป็น Education Reform ของประเทศ    เพราะ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเปลี่ยนด้วย    คือเปลี่ยนจากหน้าที่ควบคุมสั่งการ ไปทำหน้าที่สนับสนุน  

วิจารณ์ พานิช

๘ ก.ย. ๖๓

หมายเลขบันทึก: 684004เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2020 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2020 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท