เตาเผาถ่านแบบถังครึ่งขั้นบันได ทดลองเผาครั้งที่ ๑


จากการทดลองเผาถ่านด้วยเตาแบบถังครึ่ง ผมได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะทำให้อุณหภูมิถ่ายเทลงไปด้านล่างได้ดีกว่า จะต้องเรียงไม้แบบตั้ง โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการบวนการ "ติดเตา" (ฟืนในเตาอบปล่อย ก๊าซเผาไหม้ได้ด้วยตนเอง) แต่ปัญหาคือการจัดเรียงฟืนแบบตั้งไม้ในถัง ๒๐๐ ลิตร ที่มีพื้นเตาโค้งนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับการเผาเศษไม้... จึงเป็นที่มาของการทดลองดัดแปลงเตาแบบถังครึ่งเป็น "เตาแบบถังครึ่งขั้นบันได" 

ผมดันแปลง ๔ จุดสำคัญ ด้วยเหตุและผล ดังนี้ 

  • ปรับให้ถังเผาไหม้มาอยู่บันไดขั้นล่างสุด เพื่อให้การรับความร้อนย้ายลงมาอยู่ที่ด้านล่างของถังอบ  และทำตะแกรงเพื่อให้ความร้อนเคลื่อนที่ไปเรียบล่างได้ง่ายขึ้น โดยธรรมชาติความร้อนจะลอยขึ้นด้านบนของถัง ดังนั้นความร้อนที่ผ่านเข้าไปในถังจะต้องผ่านไม้จากล่างขึ้นบน ... จากการทดลองเผาแล้ว ๓ ครั้ง สมมติฐานนี้เป็นจริง อุณหภูมิจุดที่ ๓ สูงกว่า กรณีเรียงฟืนแบบตั้งของเตาแบบถังครึ่ง
  • ปรับช่องควันออกจากถังอบเป็นแบบ เสี้ยวแตงโม เหมือนช่องรับความร้อน แต่มีขนาดพื้นที่หน้าตัดเล็กกว่า โดยมีพื้นที่หน้าตัดเท่ากับปากท่อ ๔ นิ้ว  ด้วยเหตุผลในการลดต้นทุน และให้ง่ายในการสร้างเตา โดยปกติหากใช้ท่องอ ๙๐ องศา ขนาด ๔ นิ้ว ราคาของข้องอจะตกประมาณ ๖๐๐ บาท (แพงกว่าราคาถัง) ... สิ่งที่เป็นกังวลในการดัดแปลงครั้งนี้คือ การไหลเวียนของอากาศร้อนในถังอบจะเปลี่ยนไป ส่งผลต่ออุณหภูมิสูงสุดที่เตาทำได้ 
  • ปรับให้มีที่พักควัน อยู่เป็นระดับบันไดครึ่งขั้น (ความสูงครึ่งถัง) ด้านล่างกลวง ให้น้ำไหลจากถังลงดินได้สะดวก น้ำมันดินที่จับผนังปล่องควันไหลลงดิน ไม่ย้อนกลับเข้าถัง ... การดัดแปลงนี้ จะมีผลต่ออุณหภูมิควันหรือไม่ ต้องศึกษากันต่อไป 
  • ปรับสลับบนล่างระหว่างช่องใส่ฟืนกับช่องหรี่อากาศ เพื่อให้สะดวกต่อการปิดเตา และให้สามารถส่งมองเห็นห้องเผาไหม้ด้วยตาเปล่า เพิ่มช่องรูปเสี้ยวเล็ก ๆ เพื่อช่วยในการเผาไหม้ในห้องเผา

สรุปข้อดีและข้อจำกัดของเตาแบบถังครึ่งขั้นบันใด ได้แก่ 

  • ทำง่ายกว่า ไม่ต้องเชื่อมถังเผาไหม้กับถังอบ ไม่ต้องเจาะท่อปล่องควัน
  • ประหยัดกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายค่าข้องอเหล็ก
  • ติดตั้งยากกว่า เพราะต้องทำฐานดินให้แน่นและเป็นรูปขั้นบันได 
  • สามารถวางฟืนแบบเรียงนอนได้ เรียงไม้ง่ายกว่าสำหรับพื้นถังที่โค้งลง 
  • อบไม้แบบปิดปล่องได้เร็วกว่า (อุณหภูมิกระจายทั่วถึงสำหรับการอบไล่น้ำเร็วกว่า)

การทดลองเผาครั้งที่ ๑ 

เนื่องจากว่า เรายังไม่มีเครื่องมือวัดอุณหภูมิใด การทดลองเผาเตาแบบถังครึ่งขั้นบันใด จึงเป็นการเผาโดยใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมา ใช้ประสาทสัมผัสประกอบกับตรวจสอบอุณหภูมิที่ปล่องควันเป็นครั้งคราว ผมที่ได้ปรากฏดังภาพ 

จากการสังเกต ได้ผลเบื้องต้น ดังนี้ 

  • ฟืนบริเวณใกล้ช่องรับความร้อนเข้า เป็นขี้เถ้าเกือบทั้งหมด ... เนื่องจากทดลองเผาครั้งนี้ ทดลองต่อปล่องยาว ๑.๒ เมตร จากหลังเตา เพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้สูงที่สุด  
  • รูปพรรณของถ่านดีขึ้น
  • ความต้านทานของถ่านต่ำกว่า ๑๐๐ โอห์ม 

ติดตามการทดลองเผาครั้งที่ ๒ และ ๓ ที่เราทดลองเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในบันทึกต่อไปครับ 

หมายเลขบันทึก: 683997เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2020 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท