หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : ๑. หลักสูตรในนักเรียน


บ่ายวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ผมเข้าประชุมคณะกรรมการกำกับทิศในคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓   คณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยเลขาธิการ กพฐ.    มี ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน    มีกรรมการรวมทั้งประธานรวม ๑๔ คน    ผมเป็นหนึ่งในนั้น   มี ดร. รัตนา แสงบัวเผื่อน ผอ. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. เป็นกรรมการและเลขานุการ    ผู้ติดต่อผมไปเป็นกรรมการคือ ดร. เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า อดีตรองเลขาธิการ กพฐ.   และทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการด้านพัฒนาสมรรถนะและขอบข่ายการเรียนรู้ ซึ่งเป็นหนึ่งในหกคณะกรรมการ ของคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ผมจึงโชคดี ที่ได้เข้าไปเรียนรู้ bureaucracy ของ สพฐ.   ได้เรียนรู้ว่า คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ นี้มี ๖ ชุด  ได้แก่

  1. 1. คณะที่ปรึกษา
  2. 2. คณะกรรมการกำกับทิศ
  3. 3. คณะกรรมการสร้างความสอดคล้องเชิงนโยบาย
  4. 4. คณะกรรมการด้านพัฒนาสมรรถนะและขอบข่ายการเรียนรู้
  5. 5. คณะกรรมการด้านพัฒนาระบบการวัดและประเมินผล
  6. 6. คณะกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม

ในคณะกรรมการชุดที่ ๔ ยังมีคณะอนุกรรมการอีก ๑๐ ชุด    งานพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานคราวนี้จึงเป็นงานใหญ่มาก   คงจะใช้ทรัพยากรของชาติไม่น้อย   

ผมนั่งฟังการนำเสนอแผนดำเนินการพัฒนาหลักสูตร และข้อคิดเห็นของกรรมการที่ถือเป็น “ผู้รู้” ทางการศึกษา    เพื่อเรียนรู้ “กระบวนทัศน์” ของวงการศึกษาไทย    แล้วสรุปกับตัวเองว่า เป็น “กระบวนทัศน์รวมศูนย์”    โดยที่ท่านเหล่านี้ต่างก็มีความปรารถนาดีต่อระบบการศึกษาไทยอย่างยิ่ง    ต้องการช่วยกันฟื้นคุณภาพการศึกษาไทยให้ได้   

นอกจาก “กระบวนทัศน์รวมศูนย์” ยังมี กระบวนทัศน์ “ทฤษฎีนำ ปฏิบัติตาม” อยู่ในการออกแบบกระบวนการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานนี้    ที่ผมตีความว่า เป็น theory of change (TOC)    ว่า การยกระดับคุณภาพการศึกษาทำได้โดยการยกร่างหลักสูตร ลงรายละเอียดต่างๆ    แล้วสั่งการให้โรงเรียนและครูนำไปใช้   

TOC นี้ นำไปสู่ linear model ของมาตรการปฏิรูปการเรียนรู้ตามที่ทาง สพฐ. เสนอ    ซึ่งในภาษาของการจัดการตามที่ผมเรียนรู้มา เป็น command & control model    ซึ่งผมเชื่อว่า จะไม่ได้ผล    เพราะระบบการศึกษาไม่ได้เป็น simple system แบบระบบการผลิตในอุตสาหกรรม    แต่มันเป็น complex – adaptive systems (CAS) หรือ chaordic (1)    ผมเข้าใจว่า ในอดีตที่ผ่านมา เราเพลี่ยงพล้ำเรื่องคุณภาพการศึกษาก็เพราะตั้งทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงผิด    ใช้ mindset ในการจัดการการเปลี่ยนแปลงที่ผิด  

ผมจึงเสนอต่อที่ประชุมว่า ผมอยากเห็น “หลักสูตรในนักเรียน”  และ “หลักสูตรในโรงเรียน”  “หลักสูตรในห้องเรียน”    ไม่ใช่ “หลักสูตรในกระดาษ”    ซึ่งหมายความว่า ผมต้องการเห็น ผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ยกร่างกันมาในนักเรียน    ไม่ใช่แค่หลักสูตรในกระดาษ กับประกาศใช้ รวมทั้งการฝึกอบรมครู ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี  

แนวคิดแบบ CAS   ช่วยสะกิดผมว่า ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่นักเรียนมีสมรรถนะสำคัญตามที่ยกร่างมา มีอยู่แล้วในโรงเรียนจำนวนหลายร้อยโรงเรียน    เพราะประเทศไทย และวงการศึกษาไทยเราโชคดีที่มี ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จัดโรงเรียนทางเลือก เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ  โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  โรงเรียนเพลินพัฒนา     ดำเนินการมาเกือบยี่สิบปี    และพิสูจน์ว่าได้ผลดี    จนมีโรงเรียนในระบบของ สพฐ. และ อปท. หลายร้อยโรงเรียนดำเนินการตาม    เมื่อมีกระแสหลักสูตรฐานสมรรถนะ ก็พบว่าโรงเรียนกลุ่มนี้ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะอยู่แล้ว  

ดังนั้น หากจะให้เป้าหมายของกรรมการชุดนี้ได้ผล    ควรเปลี่ยน TOC   เปลี่ยนยุทธศาสตร์    ไปเป็นยุทธศาสตร์ใช้โรงเรียนเป็นฐานของการสร้างการเปลี่ยนแปลง    ไม่ใช่ใช้กระดาษ (และอำนาจส่วนกลาง) เป็นฐานสร้างการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการขยายผลจากโรงเรียนที่ดำเนินการอยู่แล้ว

โชคดีที่ท่านประธานคิดแบบเดียวกัน    ท่านจึงสรุปทิศทางการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ    ให้ดำเนินการแนวนี้    แต่ถ้อยคำของท่านนุ่มนวลกว่ามาก  

ผมจ้องเรียนรู้ต่อ ว่าในทางปฏิบัติ ทาง สพฐ. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ค. ๖๓

  

หมายเลขบันทึก: 680367เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2020 19:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2020 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท