ย้อนอดีตมหากาพย์พัฒนาการของ อปท. ยังดีอยู่หรือไม่


ย้อนอดีตมหากาพย์พัฒนาการของ อปท. ยังดีอยู่หรือไม่

27 มิถุนายน 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1]

“องค์การบริหารส่วนตำบล” (อบต.) เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รุ่นบุกเบิกยุคแรกมีบุคลากรเรียกว่า “สามทหารเสือ” ที่แปลงมาจาก “ครูคลังช่างหมอ” (สี่งานหลักของท้องถิ่น) หมายถึง ข้าราชการพนักงานส่วนตำบลรุ่นแรกที่ได้รับการบรรจุลง อบต.ทั่วประเทศในสามตำแหน่งแรก คือ (1) ปลัด อบต. วุฒิสายปริญญา (2) หัวหน้าส่วนการคลัง วุฒิสายอนุปริญญา และ (3) หัวหน้าส่วนโยธา วุฒิสายอนุปริญญา ตามโครงสร้างของ อบต. ในยุคนั้น หาไม่ใช่สามทหารเสือ 3 ป. ปัจจุบันหรือสามทหารเสือตามนวนิยายของดูว์มา (1844) แต่อย่างใด คำนี้เป็นสัญลักษณ์เรียกขานกันมานานแล้ว เมื่อปลายปี 2560 สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทยซึ่งถือเป็นองค์หนึ่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งมีเครือข่ายทั่วประเทศ ได้จัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการกระจายอำนาจฯ พร้อมงานรำลึก 2 ทศวรรษ 3 ทหารเสือ อบต. [2] ถึงปัจจุบันมหากาพย์พัฒนาการของ อปท.จาก อบต. นับได้ 23 ปีไม่ขาด ในที่นี้ถือเป็นจุดเริ่มของ อปท.ว่าจะก้าวหน้าหรือถดถอย

สามทหารเสือยุคบุกเบิก อปท.ปี 2540

  (1) อบต. เป็นองค์กรใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นตาม พรบ.สภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 เป็นต้นมา แยกรุ่นการตั้ง อบต.กันชัด ๆ ดังนี้ (1) อบต.รุ่นแรก [3] ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย (มท.) ลงวันที่ 2 มีนาคม 2538 จำนวน 617 แห่ง มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 (2) อบต. รุ่นที่ 2 [4] ตามประกาศ มท. ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 มกราคม 2539 จำนวน 2,143 แห่ง มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (3) อบต.รุ่นที่ 3 [5] ตามประกาศ มท. ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 25 ธันวาคม 2539 จำนวน 3,637 แห่ง มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป รวมเป็น อบต. จำนวน 6,397 แห่ง ที่ถือเป็นยอดจำนวน อปท. ที่มากมาย ฉะนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2538-2540 จึงมีการเรียกบรรจุข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่น “สามทหารเสือ” เป็นจำนวนมากมายเป็นหลักหมื่นอัตรา ในทางวิชาการมีผู้กล่าวว่า การยกยกฐานะ “สภาตำบล” เป็น “อบต.” ถือเป็น “การแท้งลูก” คลอดบุตรก่อนกำหนด แบบกฎหมายบังคับให้คลอด ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่น กล่าวคือ ยกฐานะสภาตำบล “ขึ้นเป็น อบต.หมดยกแผง” [6] ที่ยอดรายได้ที่จัดเก็บได้เองเป็นหลักเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้มีเงื่อนไขความพร้อมอื่นประกอบเลย เช่นความยินยอมของประชาชน

          (2) อย่างไรก็ตามเส้นทางชีวิตข้าราชการของเหล่าสามทหารเสือได้เติบโตมาตลอด จนถึงคราวที่จะต้องมีการเปลี่ยน “ระบบซี” เริ่มจากเมื่อ 4 มกราคม 2553 [7] มีสรุปผลโหวตโพลยกเลิกซีปรับเป็นโครงสร้างระดับชั้นงานแบบแท่ง (Broadband) หรือ “ระบบแท่ง” ของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอผลให้ ก.ถ ผู้ว่าจ้าง สปร.เรื่องการยกเลิกซีของข้าราชการ อปท. (ระยะที่ 2) ใน 5 รูปแบบ [8] ด้วยการเสนอรูปแบบใหม่รูปแบบที่ 4 (47.50%) ที่ชนะรูปแบบที่ 3 (รูปแบบอิง ก.พ.มากที่สุด 45.69%) แบบเฉียดฉิว เหล่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสามทหารเสือ อบต. ก็เริ่มสื่อแววทะเลาะกันใน “เส้นทางก้าวหน้าในสายอาชีพ” (Career Path) [9] จนได้

(3) แม้ว่าทั้งสามเสือจะโตมาในสายบริหารด้วยกัน แต่แตกต่างในคุณวุฒิ เพราะ มีการขยายซี ขยายโครงสร้าง ค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง เมื่อปรับเป็นระบบแท่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 [10] และชะลอการบังคับใช้ไปอีก 1 ปี ในปี 2559  [11] จนถึง 1 เมษายน 2559 ผู้ชนะคือปลัด เพราะมีความสามารถ (ว่ากันอย่างนั้น) เพราะตามระเบียบกฎหมายของ อบต. นั้นให้เทียบกับกฎหมายบุคคลของเทศบาล ด้วยมาตรฐานทั่วไปของ ก.กลาง 3 ก. (ก.จ.,ก.ท. และ ก.อบต.) ตามเส้นทางการเติบโตที่อุดมด้วยระบบอุปถัมภ์ของท้องถิ่น การโอนย้ายข้ามไปมาจาก อบต. ไปเทศบาลหรือ อบจ. จึงเป็นเรื่องปกติ

(4) ด้วยข้อจำกัดในขนาดของ อบต.ที่ล็อกกันด้วยรายได้ หรือ อยู่ที่ความลงตัวของท้องถิ่น จึงทำให้ อบต. ยกฐานะเป็นเทศบาลไม่หมด แม้โดยหลักกฎหมายแล้วไม่มีอุปสรรคขวางกั้นเลย เพียงมีแต่จำนวนประชากรเป็นตัวตั้งเท่านั้น เหล่านี้มีผลกระทบต่อโครงสร้างใหม่ของ อบต. เป็นอย่างมาก เป็นความพยายามของ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” หรือเหตุใดไม่ปรากฏชัดเจน เพราะว่า “ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” [12] หรือที่เรียกย่อว่า “ประมวล อปท.” และ กฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น [13] ที่เป็นกฎหมายหลัก ถูกฝ่ายมีอำนาจ “ดองเค็ม” ไว้อย่างยาวนาน ตั้งแต่หลังปี 2550 นับได้ 12 ปี หากจะนับจากรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้ 3 ปี นี่ยังไม่นับรวมกฎหมายสำคัญว่าด้วยการกระจายอำนาจ คือ “กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนในการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.” ซึ่งที่จริงการนับเวลาต้องนับรวมในช่วงของรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย เพราะข้าราชการฝ่ายอื่น ๆ เช่น ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และข้าราชอื่น ได้อนุวัตรแก้ไขกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ไปนานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะ “องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม” (ก.พ.ค.) แม้แต่องค์กรการรวมกลุ่มโดยชอบด้วยกฎหมายของ อปท. ก็ยังไม่โต [14] เพราะ ไม่มีกฎหมายมาส่งเสริมและรับรอง เช่น สมาคม สหพันธ์ ชมรม ทั่วไป ของคน อปท. ทั้งหมด

กว่า 6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

(1) ที่จริงไม่ใช่ 6 ปี เพราะ อปท. บางแห่งอาจไม่ได้เลือกตั้งมานานมากถึง 8-9 ปี เพราะ สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น (สถ.และผถ.) คนเดิมถูก คสช.กำหนดให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่มีการสรรหากรณีตำแหน่งนายก อปท.ว่าง แต่ให้ปลัด อปท. ปฏิบัติหน้าที่นายก แต่กรณีของ ผู้ว่าราชการ กทม. [15] เป็นการแต่งตั้ง (ปี 2559) หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียก “ลากตั้ง” เหมือนการ “ลากตั้ง ส.ท. ในกรณียกฐานะ อบต.เป็นเทศบาลตำบลใหม่”

(2) การเมืองท้องถิ่นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด [16] ในเชิงสัญลักษณ์ถือเป็น “รากฐานของประชาธิปไตย” อย่างหนึ่งที่เข้มแข็ง เพราะเป็นองค์กรของคนรากหญ้าในพื้นที่ ฉะนั้นรัฐบาลจึงไม่มีคำอธิบายใด ๆ ได้เลยว่าเหตุใดจึงไม่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นระยะเวลาที่นานเกินควร โดยอ้างโน่นนี่นั่น เช่น อ้างว่า ไม่มีงบประมาณ หรือ การแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่เสร็จ ว่าประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ติดสถานการณ์โควิด ฯลฯ สารพัดคำแก้ตัว และ เลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่นออกไปเรื่อยๆ เป็นที่โจมตีของฝ่ายคนหัวใหม่รุ่นใหม่ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ หวงอำนาจ อำนาจนิยม ฯลฯ

(3) เป็นห่วงใน “การกระจายอำนาจ มิใช่การกระจายการบริหารงบประมาณ” ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจแบบเทียมๆ การช่วงชิงอำนาจฐานล่างให้ได้แบบเบ็ดเสร็จ ด้วยการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้คะแนนนิยมของฝ่ายการเมือง นี่ก็สำคัญมาก เพราะ 1 เสียงของคนรากหญ้าอาจไม่เป็นดั่งที่นักการเมืองหวังได้ เพราะนักการเมืองมีหลายฝ่าย แต่แน่ ๆ ก็คือมีฝ่าย “คนรุ่นใหม่หัวใหม่หัวก้าวหน้า” อยู่ในพื้นที่ อปท.ด้วย นักการเมืองต้องเลิกเอาหัว (คะแนน) ประชาชนมาอ้าง และเลิกทำมาหากินในส่วนต่างเงินทอนโครงการที่ผิดรัฐธรรมนูญ “ขบวนการสมคบคิด” (Conspiracy Theory) ต้องเลิก กี่ครั้งกี่หนที่สอบถามท้องถิ่นเรื่องงบเลือกตั้ง ถามท้องถิ่นย้ำทำไม ตั้งแต่ ปี 2538 ถึง 2557 ท้องถิ่นเลือกตั้งมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว

(4) ที่แปลกก็คือระบบข้อมูลออนไลน์ อปท. ELAAS [17] ก็มีข้อมูลงบประมาณฯ อปท.อยู่ในนั้น หากออกแบบดีก็สามารถดึงข้อมูลรายงานออกมาได้เลยทุก อปท. ทำไมไม่บูรณาการกัน จะได้ไม่ต้องมาถาม อปท.ถามแล้วถามอีก แม้ อปท.ถึงไม่ตั้งงบแต่ยังมีเงินสะสม ไม่มีเงินสะสม ก็จ่ายเงินสำรอง หรือโอนเงินงบประมาณ แค่ผู้มีอำนาจประกาศให้เลือกตั้ง อปท.ก็พร้อมแล้ว

ฟื้นฟูโควิดสะดุดไปหมดเพราะเจอดองเค็มเลือกตั้ง

          (1) วกมาเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดแท้หรือเทียมกันแน่ โอกาสที่เงินกู้สี่แสนล้านจะกระจายถึงรากหญ้ามีได้แค่ไหน เพียงใด หลายโครงการไม่ได้ช่วยรากหญ้า คน อปท. แต่เอื้อมากกว่าแก่นายทุนผู้ประกอบการรายทุนใหญ่ หลายโครงการเป็นโครงการสำเร็จรูปแคปซูลที่ส่วนกลางเตรียมไว้แล้ว ไม่ได้มาจากข้อเสนอของรากหญ้าเอง คือชาวบ้านไม่ได้คิด เป็นวัฒนธรรมหยิบยื่นโครงการแบบเดิมๆกำลังหวนกลับมาอีก เป็นวัฏจักรอุบาทว์เวียนวนแบบเดิมๆ เพราะคนคิดเสนอโครงการคือคนมีอำนาจ (รัฐราชการ) ที่ไม่เห็นหัวคนรากหญ้า ปากบอกเพื่อประชาชน แต่ปิดโอกาสชาวบ้าน เอาง่ายๆ แค่การเลือกตั้งท้องถิ่นดังกล่าวที่จะมี ก็ไม่ให้มี ลากยาว ดองเค็มอย่างมีนัยสำคัญ

(2) ดูเป้าประสงค์โครงการจั่วหัวว่า “ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด” [18]  (กระตุ้น ศก.โดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรม) คำว่าฟื้นฟูก็คือ ต้องได้รับผลกระทบ เสียหายทางเศรษฐกิจมามากแล้ว ตามที่ มท.1 แถลงว่า “ต้องช่วยกันทำเพื่อชาติ เศรษฐกิจต้องเดิน คนต้องมีรายได้” การบริหารโครงการต้องเกิดความโปร่งใส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะใช้เงินงบประมาณนี้ทำให้ประชาชนมีหนทางใช้ชีวิตที่ดีขึ้นในการทำมาหากิน ประกอบอาชีพ สร้างสรรค์สิ่งที่ดี สร้างโอกาสที่ดีต่อไป แต่หลายโครงการไม่ได้ฟื้นฟูถึงรากหญ้าโดยตรง โครงการมันอ้อมค้อม แอบแฝง ไม่ถึงรากหญ้าโดยตรง เช่นโครงการส่งเสริมอาชีพ สร้างงานอย่างยั่งยืนแก่รากหญ้า โครงการประเภทนี้หาทำยายาก เพราะหน่วยปฏิบัติทำยาก ไม่ได้ผลประโยชน์หัวคิว ไม่ได้หน้า จึงขาดหน่วยอาสาทำโครงการแบบนี้ ที่ต้องทำแบบระยะยาวมีแผนมีขั้นตอน มาทำแบบด่วนทำสั้นลัดขั้นตอนไม่ได้ จึงทำยาก ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์โควิด มีโครงการปลูกผักหน้าแล้งของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ฝนกำลังมาลองดูในพื้นที่สิ ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว การแจกเมล็ดพันธุ์ผัก การส่งเสริมฯ เตรียมแปลง เตรียมเกษตรกรเพียงใด เพราะ อปท.ต้องเป็นตัวหลักในฐานะเจ้าของพื้นที่ปลูกผักที่ต้องรู้ทุกอย่าง ที่เป็นห่วงวิตก แน่นอนว่า ในหลายโครงการอาจเป็นโครงการซ้ำซ้อนซ้ำซากทำแล้วทำอีก แต่ไม่เป็นผล ทำเพื่อให้ได้ยอดเงินงบประมาณ ทำให้แล้วๆไป ไม่หวังผลสัมฤทธิ์ยั่งยืน เรียกว่าหน่วยงานใดได้โครงการมาลงทำก็ได้หน้าได้ตา มีผลงาน

(3) เป็นที่มาว่าสภาพัฒน์ฯ มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 [19] แจ้งให้ ผวจ.ทบทวนโครงการใหม่ ให้จบในจังหวัด เพราะโครงการที่เสนอมามีมากล้นถึงกว่าแปดแสนล้าน(เกินกว่าเท่าตัว) [20] แล้ว ผวจ. จะตัดโครงการออกได้อย่างไร ถือเป็นความผิดความพลาดในการไม่คิดให้รอบครอบให้จบกระบวนการตั้งแต่แรก แต่กลับใช้วิธีการเร่งรัดให้เสนอโครงภายใน 10 วัน ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ที่การเสนอโครงการแบบด่วนเวลาจำกัดเช่นนี้จะสมบูรณ์ การทบทวนจะเป็นช่องทางของระบบอุปถัมภ์ในการวิ่งเต้นโครงการของหน่วยงานผู้เสนอโครงการฯ เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการที่ตนเสนอไปจะได้รับการอนุมัติเม็ดเงิน เป็นปัญหาว่า อปท.หรือหน่วยงานเจ้าของโครงการฯได้เอาโครงการประเภทใดไปเสนอสภาพัฒน์ฯ เป็นโครงการเพื่อคนรากหญ้าใช่หรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องปากท้องชาวบ้านรากหญ้าอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจในครั้งนี้

เห็นใจคน อปท.บ้างนะ ทุกวันนี้คน อปท.ลุกลี้ลุกลนไปหมดแล้ว

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่ 41 วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน  - วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 27 มิถุนายน 2563, https://siamrath.co.th/n/16550...

[2]สมาคมขรก.ท้องถิ่นฯถกใหญ่กระจายอำนาจฯ ระดมนักวิชาการเปิดอภิปราย อธิบดีสถ.ร่วมแจงนโยบาย, สยามรัฐออนไลน์, 8 พฤศจิกายน 2560, https://siamrath.co.th/n/26050

[3]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 2 มีนาคม 2538 ตามมาตรา 40 และมาตรา 95, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนพิเศษ 6 ง ลงวันที่ 3 มีนาคม 2538 หน้า 1-63, (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/E/006/1.PDF 

[4]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 19 มกราคม 2539 ตามมาตรา 40 และมาตรา 41, ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล เล่ม 113 ตอนที่ 9ง ลงวันที่ 30 มกราคม 2539 หน้า 5-219, (มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER19/DRAWER023/GENERAL/DATA0000/00000069.PDF  

[5]ประกาศ มท. เรื่อง จัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ตามมาตรา 40 และมาตรา 41, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนพิเศษ 52 ง ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 หน้า 1-365, (มีผลเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2539/E/052/1.PDF  

[6]ยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์คือ มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 150,000 บาท ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล

ดู โกวิทย์ พวงงาม, ประวัติและความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบล, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ประวัติและความเป็นมาขององค์การบริหารส่วนตำบล 

[7]ผลโพล ณ วันที่ 4 มกราคม 2553 มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวน 57,366 คน มีดังนี้ 

รูปแบบที่ 1 มีผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 1,012 คน คิดเป็นร้อยละ 1.7

รูปแบบที่ 2 มีผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 1,112 คน คิดเป็นร้อยละ 2.9

รูปแบบที่ 3 มีผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 26,214คน คิดเป็นร้อยละ 45.69

รูปแบบที่ 4 มีผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 27,252 คน คิดเป็นร้อยละ 47.50

รูปแบบที่ 5 มีผู้แสดงความคิดเห็น เห็นด้วย 1,776 คน คิดเป็นร้อยละ 3

https://songkhlapao.go.th/networknews/detail/21727  

[8]ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน ก.ถ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ได้ร่วมมือกับสถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.) ดำเนินการศึกษาวิจัย เรื่อง การปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ระยะที่ 2) เพื่อศึกษาและวางระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนที่พึงปรารถนาและเหมาะสม กับข้าราชการส่วนท้องถิ่น ระยะเวลาดำเนินการ 365 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 และแล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น

จากผลการศึกษาวิจัยในงวดงานที่ 2 ที่ปรึกษาได้นำเสนอข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำโครงสร้างระดับชั้นงานใหม่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จำนวน 5 รูปแบบ ดังนี้

1. ข้อเสนอที่ 1 : คงโครงสร้างระดับชั้นงานเดิมในปัจจุบัน (ระบบซี) แต่เปลี่ยนกลไกในการประเมินตำแหน่ง

ใช้โครงสร้างอิงตามระดับซี 1-10 เดิม แต่จะมีการกำหนดตำแหน่งและปรับปรุงแบบบรรยายลักษณะงานใหม่ ให้มีความแตกต่างกันในแต่ละระดับ รวมทั้งปรับเปลี่ยนกลไกในการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น แนวทางในการประเมินค่างาน และปรับกลไกในการเลื่อนขั้นระดับชั้นงาน เป็นต้น

2. ข้อเสนอที่ 2 : ปรับเป็นโครงสร้างระดับชั้นงานแบบแท่ง (Broadband) เหมือนข้าราชการพลเรือน และข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ (ที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลง)

ใช้โครงสร้างตามลักษณะของภาคราชการพลเรือนและข้าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งอ้างอิงกระบวนการและปรับเข้าสู่ตำแหน่งตามระเบียบและแนวทางของ ก.พ.

3. ข้อเสนอที่ 3 : ปรับเป็นโครงสร้างระดับชั้นงานแบบแท่ง (Broadband) เหมือนข้าราชการพลเรือน แต่ปรับปรุงหรือเพิ่มระดับเฉพาะของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ใช้โครงสร้างโดยอิงตามลักษณะของภาคราชการพลเรือน แต่ปรับระดับชั้นงานให้เป็นไปตามลักษณะงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยปรับระดับตำแหน่งของนักบริหารงาน อบต. (ซึ่งอาจมีระดับชั่วคราว) นักบริหารงานเทศบาล และนักบริหารงาน อบจ. เข้าสู่แท่งประเภทบริหารจัดการท้องถิ่น ในขณะที่ปรับระดับตำแหน่งของผู้อำนวยการฝ่าย / กอง / สำนัก เข้าสู่แท่งประเภทอำนวยการ

4. ข้อเสนอที่ 4 : ปรับเป็นโครงสร้างระดับชั้นงานแบบแท่ง (Broadband) แต่ปรับปรุงหรือเพิ่มแท่งเฉพาะของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

ใช้โครงสร้างปรับตามลักษณะงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังอิงตามการจัดโครงสร้างแบบแท่งตามลักษณะของภาคราชการพลเรือน

5. ข้อเสนอที่ 5 : สร้างระดับมาตรฐานกลาง แล้วให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ละแห่ง ไปพิจารณากำหนดโครงสร้างระดับชั้นงานเอง ภายใต้มาตรฐานกลางที่กำหนด

ใช้โครงสร้างตำแหน่งเป็นอิสระตามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีระดับมาตรฐานกลางกำหนดไว้ ซึ่งคล้ายกับในระบบการกำหนดโครงสร้างระดับชั้นงานของหลายๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องนี้มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อข้าราชการส่วนท้องถิ่นกว่า 200,000 คน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ประกอบกับข้อเสนอในแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) และกระทรวงมหาดไทย จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.ถ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำโครงสร้างระดับชั้นงานใหม่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ถ. ในครั้งนี้

รายละเอียดเพิ่มเติมของข้อเสนอในแต่ละรูปแบบ และข้อดีข้อเสีย

เปรียบเทียบข้อเสนอในแต่ละรูปแบบ

จึงขอเชิญข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจทั่วไป ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเลือกข้อเสนอเกี่ยวกับโครงสร้างระดับชั้นงานใหม่ ที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพียง 1 รูปแบบ รวมทั้งแสดงเหตุผลประกอบ หรือความคิดเห็นเพิ่มเติม หรือข้อเสนอแนะอื่นได้ ทางช่องทางที่จัดไว้ให้ด้านล่างนี้

www.local.moi.go.th/system/questionnaire/index.php 

สำนักงานก.ถ เชิญแสดงความคิดเห็นระบบแท่งข้าราชการท้องถิ่นมี 5 แบบ ให้ อปท.เลือกตามโครงการวิจัยระยะที่ 2 ลองอ่านดู ในเวบ สำนักงาน ก.ถ ที่จ้าง สปร.ศึกษา.ใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท

ในส่วนตัวเห็นด้วย รูปแบบที่ 3 คือปรับโครงสร้างระดับชั้นงานแบบแท่งเหมือนข้าราชการพลเรือนแต่ปรับปรุงหรือเพิ่มระดับเฉพาะของข้าราชการส่วนท้องถิ่น

http://www.sk-local.go.th/connect/khaomeekeat/modules/news/indexall.php?mode=detail&id=21454  

[9]การวางแผน ทางก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path), พฤศจิกายน 2556 สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ., https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/career-path-planning-rev25561209.pdf  

ทางก้าวหน้าในสายอาชีพ (Career Path) หมายถึง “เส้นทางความก้าวหน้าในการปฏิบัติราชการที่จะไปสู่ตำแหน่งสำคัญของส่วนราชการ โดยมีการกำหนดและแสดงให้เห็นถึงเส้นทางการสั่งสมประสบการณ์และผลงานในแต่ละตำแหน่งที่ครองมาก่อนการเลื่อนไปดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งอาจจะเลื่อนจากตำแหน่งระดับล่างสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือการย้ายตำแหน่งในระนาบเดียวกัน” ซึ่งในคู่มือฉบับนี้จะยึด “หลักการ” ในการจัดทำทางก้าวหน้าในสายอาชีพ

[10]ตามประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ที่ให้ระบบแท่ง มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

ดู คู่มือและแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นจากระบบซีเป็นระบบแท่ง, โครงการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นระบบจำแนกตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จากระบบซีเป็นระบบแท่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558, โดย สถาบันที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในราชการ (สปร.), มีนาคม 2559, http://www.local.moi.go.th/2009/home/cpt_59.pdf  

& คู่มือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ, เทศบาลตำบลกรอกสมบูรณ์ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี, http://www.ksb.go.th/fileupload/5131KM%203.pdf  

คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 เห็นชอบในหลักการให้มีการปรับปรุงระบบจำแนกของข้าราชการส่วนท้องถิ่นจากระบบซีเป็นระบบแท่ง (Broadband) และมติที่ประชุมครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เห็นชอบในหลักการการสร้างความสมบูรณ์ของระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นตามแผนปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น โดยให้มีการปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นใหม่ทั้งระบบ และได้มีประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดมาตรฐานกกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558 แก้ไข “ตำแหน่งประเภทบริหาร” และ “ตำแหน่งประเภทอำนวยการ” เป็น “ตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น” และ “ตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น” และตามแนบท้ายประกาศเรื่อง กำหนดมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 บัญชีความรู้ ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น

[11]ให้แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการประเภท และระดับตำแหน่งให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559

ดู หนังสือที่ มท 0809.5/ว 58 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2558 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกคำสั่งจัดข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ประเภทตำแหน่ง (ระบบแท่ง) ตามบัญชีจัดตำแหน่งข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ประเภทตำแหน่ง สายงานและระดับตำแหน่ง ที่ ก.จ.จ., ก.ท.จ.,ก.อบต. จังหวัด และ ก.เมืองพัทยา เห็นชอบ โดยให้คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 

& หนังสือ สำนักงาน ก.จ.,ก.ท. และ ก.อบต. ด่วนที่สุด ที่ มท 0809.5/ว 52 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 เรื่อง การจัดตำแหน่งข้าราชการส่วนท้องถิ่นเข้าสู่ประเภทตำแหน่ง (ระบบแท่ง)

& รายงานสรุปการเข้าร่วมโครงการ หลักสูตร “การจัดทำและปรับปรุงแผนอัตรากำลัง 3 ปีให้สอดคล้องกับระบบแท่งในปี 2559 การปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการและระดับตำแหน่ง ความก้าวหน้าของตำแหน่งเกณฑ์การเลื่อนขั้นเงินเดือน การประเมิน (ตัวชี้วัด + สมรรถนะ) ปัญหาและแนวทางแก้ไขกรณีได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ระบบแท่ง สิทธิ ประโยชน์และสวัสดิการในระบบแท่ง” (พอสังเขป), เทศบาลตำบลพระอินทราชา, http://pra-intaracha.go.th/UserFiles/File/6.14.112559.pdf

& ประกาศ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับการจัดทำมาตรฐานตำแหน่งพนักงานส่วนตำบล พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 กำหนดสายงาน 99 สายงาน เข้าสู่ระบบแท่ง ตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นมา จึงทำให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานส่วนตำบล ฉบับลงวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ถูกยกเลิก ตามประกาศ ก.อบต. เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานส่วนตำบล พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2558

[12]ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, 2560, http://www.dla.go.th/pub/256005_1.pdf

& แบบสอบถามความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/pub/survey256005.jsp 

[13]ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 22 : ปัญหาระบบแท่ง ตอน 1, 3 พฤษภาคม 2561, https://www.gotoknow.org/posts/646917

[14]จิรภาส ศรีสุข, บทวิเคราะห์ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... จุดเริ่มของ “สันนิบาตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จุดจบของ “สมาคมที่จัดตั้งโดยองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น”, นิติกรชำนาญการพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี, อ้างจากเฟซบุ๊กสารพันปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ, 16 มิถุนายน 2563, https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3403405809693034&id=2002510796449216   

[15]กทม.เลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2556 (7 ปีที่แล้ว) แต่ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. ถูกปลดปี 2559 แต่งตั้ง พล ต. อ. อัศวิน ขวัญเมือง แทนปี 2559

[16]ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, กว่า 6 ปีที่ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น: ประชาชนไม่พร้อมหรือพลเอกประยุทธ์ไม่พร้อม? อ้างจากเฟซบุ๊ก, 17 มิถุนายน 2563  

[17]ระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-LAAS = Electronic Local Administrative Accounting System),  http://km.laas.go.th/laaskm2020/     

[18]พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 30 ก วันที่ 19 เมษายน 2563, หน้า 1-5, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/030/T_0001.PDF

ดู สภาฯเห็นชอบ พ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท, 31 พฤษภาคม 2563, https://news.thaipbs.or.th/content/293145

& ไขข้อข้องใจ พ.ร.ก. เยียวยาโควิด 1.9 ล้านล้าน, 1 มิถุนายน 2563, https://workpointnews.com/2020/06/01/saving-guru-15/

[19]บทความนี้เขียนต้นฉบับไว้ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2563 ถ้อยคำข้อความที่กล่าวอาจไม่ทันสมัยไม่อัพเดตในตัวเลขงบประมาณ เพราะเขียนไว้นานหลายวัน

สภาพัฒน์ รายงานโครงการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจ รอบแรก มีข้อเสนอกว่า 4.3 หมื่นโครงการ วงเงินรวม 1.36 ล้านล้านบาท คาดเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองได้ภายใน 1 ก.ค.นี้ ก่อนเสนอครม.อนุมัติ 8 ก.ค.ต่อไป

สรุป ยอดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจโควิด4แสนล้านที่เสนอสภาพัฒน์ฯ ปิดยอดเมื่อ 23 มิถุนายน 2563 คือ 46,411 โครงการ 1,448,474 ล้านบาท เกินยอดงบ 4 แสนล้านมามากมาย กว่าสามเท่าตัว

ดู หนังสือสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ นร 1125/ว 3348 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เรื่อง การทบทวนและจัดส่งข้อเสนอโครงการเบื้องต้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้แผนงาน 3.2 (ทบทวนโครงการสี่แสนล้าน)

[20]ขอกันเพลิน! ทีมกลั่นกรองเงินกู้ 4 แสน ล.สู้โควิด แจ้งผู้ว่าฯ รวบสารพัดโครงการ อปท.เป็นชุดเดียว อ้างเสนอมาก เฉพาะแผนฟื้นฟูฯ ทะลุแล้ว! 4.6 แสน ล., 13 มิถุนายน 2563, https://mgronline.com/politics/detail/9630000061292

& ปรอทแตก! ยื่นขอใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจพุ่ง 1.36 ล้านล้าน, thansettakij, 24 มิถุนายน 2563, https://www.thansettakij.com/content/439439  

& ยอดขอใช้เงินกู้แก้พิษโควิดพุ่ง 1.44 ล้านล้าน สารพัดหน่วยแห่ขอกว่า 4.6 หมื่นโครงการ “ทำถนน” เยอะสุด, mgronline, 24 มิถุนายน 2563, https://mgronline.com/politics/detail/9630000065074  

หมายเลขบันทึก: 678118เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2020 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2020 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท