โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

มองเห็นภัย


โสภณ เปียสนิท

.....................

        เมืองไทยเมืองพุทธ หลายคนพูดออกมาอย่างไม่เกรงใจใคร เพราะคิดเอาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เชื่ออย่างนั้นจริงๆ ผมเองแรกๆ ก็มีความคิดอย่างนี้เหมือนกัน เพราะความที่ผมเติบโตมาจากสังคมแบบพุทธ มองเห็นพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย มองไปทางไหนก็มีแต่ผู้คนนับถือพระศาสนา มองเห็นวิถีแห่งวัฒนธรรมเก่าแก่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

            มองเห็นพระราชามหากษัตริย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผนึกพุทธศาสนาเข้ากับชีวิตประวัติของพระองค์เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ประชาชนทั่วไป เห็นการนำบุตรหลานแรกเกิดเข้าวัดเพื่อให้พระอาจารย์เจ้าขรัวเจ้าวัดตั้งชื่อลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล เห็นการนำบุตรหลานให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสโกนผมไฟ เห็นการนำบุตรหลานเข้าวัดเป็นศิษย์วัด เข้าวัดบวชเณรเพื่อการศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน เห็นการบวชพระตามประเพณีนิยมเพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนหลักธรรม เพื่อนำไปใช้กับครอบครัว ถือกันว่า “ต้องบวชก่อนเบียด” ถ้าไม่บวชพระถือว่ายังเป็นคนดิบ บวชแล้วจึงถือว่าเป็นคนสุก เหมือนข้าวสุก สามารถนำมารับประทานได้ ถึงขนาดนั้น

            ต่อมาสังคมเราหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา รัฐบาลก่อเกิดกระทรวงธรรมการ แปลแบบคลุมๆ ได้ว่า กระทรวงแห่งการเรียนรู้หลักธรรม โรงเรียนค่อยๆ ทยอยย้ายออกจากวัด เป็นโรงเรียนหลวง โรงเรียนราษฏร์ ชื่อกระทรวงเปลี่ยนมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการ วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป พระไม่ได้ตั้งชื่อเด็ก ไม่ได้โกนผมไฟให้เด็ก เด็กไม่ได้บวชเรียนเพราะต้องศึกษาภาคบังคับให้จบก่อนตามระเบียบแห่งรัฐที่ออกมาโดยผู้ขาดความรู้ทางหลักธรรม โรงเรียนวัดได้รับงบประมาณน้อยลงทีละน้อย โรงเรียนวัดหลายแห่ง ถูกตรวจสอบทั้งๆ ที่มีงบน้อย และถูกจับโยงเข้าสู่คดีความในฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน

            วิถีชีวิตและความผูกพันระหว่างฝ่ายพระศาสนา และชาวบ้านค่อยๆ เสื่อมถอยออกไปด้วย คนรุ่นผมอยู่ระหว่างรอยต่อบนสายพานของการเปลี่ยนแปลงพอมองเห็นความเป็นไปได้อย่างชัดเจน มองเรื่อยยาวไกลไปสู่อนาคต คนรุ่นถัดจากผมไปภาพของความผูกพันนี้จะพร่าเลือนไม่ชัดเจนเท่าไร ถัดไปอีกรุ่นก็น่าจะมองไม่เห็นเลยก็เป็นไปได้

            บันทึกนี้จึงเป็นบันทึกการเดินทางบนสายพานนั้นเพื่อฝากให้พินิจพิจารณาแทนคำถามว่า “เราจะรักษาวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของเราไว้ต่อไปให้ลูกหลานอีกหรือไม่” จะตอบคำถามนี้ได้ ก็ด้วยภูมิปัญญา และความคิดอันลึกซึ้งว่า บ้านเมืองเรามีประวัติความเป็นมาอย่างไร พ่อเจ้าอยู่ที่เราเคารพรักนำพาประเทศมาได้อย่างไร ความสงบสุขที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรามาจากสิ่งใด บ้านเมืองเรามีเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามอย่างไร

            ภาพเก่าวันก่อนมองเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในอดีต รัฐบาล ข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงผ่านการศึกษาระบบวัด ใช้ระบบวัดพัฒนาประเทศสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

            ภาพใหม่วันนี้ลูกหลานของเราสำเร็จการศึกษาจากระบบกระทรวงศึกษา ที่มองการศึกษาคือการเรียนรู้วิชาเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มองการศึกษาว่าเป็นแค่วิชาชีพ จบแล้วเพื่อเอาไปใช้เลี้ยงชีพ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว คำว่าชีพ หรือชีวิตนั้นมีส่วนประกอบอยู่สองส่วน “กาย กับ ใจ” การศึกษาเลี้ยงชีพได้ แต่ไม่ก้าวล่วงลงลึกไปถึงเลี้ยงใจ หน้าที่ของกระทรวงศึกษาต้องส่งเสริมทั้งสองด้าน “กายใจ” ให้สมดุลกัน

            พระศาสนาสอนไว้ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” จิตเป็นผู้ออกคำสั่ง แต่การศึกษาไทยให้ความสำคัญกับบ่าวมากกว่านาย ผลงานจึงก่อให้เกิดความสับสนกันไปทั้งประเทศ การศึกษาขาดเอกภาพ เมื่อผู้ผ่านการศึกษาเหล่านี้ ออกไปรับใช้ประเทศตามความถนัดของแต่ละคน ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่โต การบริหารจึงมีผลในด้านกว้าง ผลทางด้านลึกนั้นตีบตันดำมืดเหมือนหลุมดำในอวกาศ ดุจดังงูที่เอาหางเดินต่างหัว

            ถึงวันนี้ดูเหมือนว่า แผนพญามาร “แยกคนไทยพุทธออกจากวัด” ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นตามลำดับ จิตใจของคนในประเทศน้อมไปสู่ทิศทางผิดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีภาพของพระสงฆ์องค์เณรประพฤติถูกจับได้แล้วไล่สึก หรือไม่ก็ถูกจับขังคุก ให้เห็นตามสื่อต่างๆ ได้บ่อยขึ้น ทำให้คนหลงทางคิดว่า “พระเณรไม่ดี” โดนลงโทษก็เหมาะสมแล้ว จิตใจของตนเองก็ห่างไกลพระศาสนามากยิ่งขึ้น คนอื่นๆ โดยทั่วไปก็เห็นควรตามนั้น รัฐบาลให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดจับกุมคุมขังตามกฏหมายที่เขียนขึ้นมาเพื่อแอบแฝงให้จัดการชาวพุทธมากขึ้น แถมดูเหมือนว่าเอาใจใส่ดูแลพระศาสนาด้วยซ้ำ

            ชาวพุทธมองเห็นนั้นรอบด้านแล้วหรือ มีนัยแอบแฝงอยู่บ้างหรือไม่ ครั้งหนึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าคุณประยุทธ เคยชี้ให้เห็นถึงที่มีของปัญหาว่า เรื่องนี้ “ต้องมองแบบองค์รวม อย่ามองแบบแยกตอน” องค์รวมเป็นอย่างไร แยกตอนเป็นอย่างไร นำมาสนทนากันน่าจะเป็นประโยชน์

            มองแบบองค์รวมคือ สังคมแบบชนบทของประเทศไทย เห็นวัดอยู่ใกล้ชุมชน ชีวิตผูกพันกับวัด เด็กชายเป็นศิษย์วัด เรียนรู้หลักธรรม โตขึ้นอีกหน่อยก็บวชเณรเรียนหนังสือ วิชาวัด กฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ค่อยๆ ซึมซับทีละน้อย สังคมชนบทช่วยกันอุปถัมภ์วัดวาอารามใกล้บ้าน วัดสอนธรรมพัฒนาจิตวิญญาณของชุมชน “บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย” จากเด็ก จากเณรน้อย เมื่อบารมีแก่กล้าก็บวชพระศึกษาพระธรรมคำสอนต่อ จากศีลความสงบกายวา ไปสู่สมาธิสงบใจ ก้าวต่อไปสู่ปัญญาขั้นสูง เข้าใจยอมรับกฎของธรรมชาติ เห็นตามความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเสื่อมไป

            เมื่อมองเห็นองค์รวมของพระศาสนากับสังคมเช่นนี้ จึงยอมอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนาเอาไว้เป็นรากฐานของชีวิตจิตใจ ย้อนกลับไปว่า “การสร้างพระดีๆ หนึ่งองค์ต้องทำอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าใด” มองได้ดั่งนี้แล้วจึงยอมอุปถัมภ์บำรุงวัดวาอารามเอาไว้ใกล้บ้านตน

            วันนี้สังคมค่อยๆ ห่างไกลพระศาสนาออกไป พระศาสนาออกห่างจากจิตวิญญาณของชุมชนออกไป มีพญามารใหม่คืบคลานเข้าสู่สังคม มองเห็นช่องทางที่จะทำลายรากฐานจิตวิญญาณของชาติด้วยการถ่างรอยต่อระหว่างวัดและบ้านออกไปทีละน้อย ด้วยการแยกการศึกษาออกจากวิชาวัด เอาวิชาอื่นๆ เข้าไปแทน พระเณรที่เสียสละตนเองเพื่อสังคมก็มีน้อยลงไปทุกที บ้านกับวัดจึงอยู่กันคนละมุม บ้านอยู่ส่วนบ้าน วัดอยู่ส่วนวัด บ้านมองเห็นวัดเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก วัดมองเห็นบ้านเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก คราวนี้ก็ง่ายต่อการทำลาย

            ขั้นตอนการทำลายแบบใหม่เริ่มด้วยการใช้สื่อโซเชี่ยลจับจุดบอกจุดเสียจุดเสื่อมออกมาตีแผ่ให้เห็น หรือไม่ก็ทำทีเป็นศรัทธาเข้าไปบวชเป็นผ้าขาว เป็นชี เป็นเณร เป็นพระแล้วทำให้เสียหาย เพราะวัดเปิดกว้างไม่มี พรบ ใดๆ คุ้มครองเลยแม้แต่ฉบับเดียว ขณะที่ลัทธิต่างแดนแทรกตัวเข้ามาทีหลัง อาศัยช่องโหว่ คนไทยเดิมไม่ทันระวัง จึงพลาดท่าเสียที ภาพพจน์ของคนวัดเสียหาย วัดเสียหาย ถัดจากนี้ก็ถึงคราวทำลายวัด ทำลายพระ พระถูกจับ พระถูกสึก พระกำลังถูกกฎหมายค่อยๆ บีบให้อยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนไม้ใหญ่ที่รากถูกตัดฟันไปทีละน้อย

            ขณะฝ่ายบ้านถูกแบ่งแยกให้รู้สึกว่าเป็นคนละส่วน จัดการพระไม่ดีไม่เห็นเป็นไร แต่อีกฝ่ายทำตามแผนตามขั้นตอน ย่อมได้เปรียบกว่า นับจากนี้ต่อไป กฎหมายในบ้านเราจะมีออกมาเรื่อยๆ เพื่อบีบคั้นคนในวัดมากขึ้น ทางหนึ่งทำเหมือนเป็นพวกเดียวกัน โดยการแสดงเครื่องสัญลักษณ์ภายนอก และบำรุงวัดเป็นบางวัด ศรัทธาเป็นบางวัด นำงบรัฐไปถวายเป็นบางวัด เหมือนว่าเลือกวัดที่ศรัทธา แต่มองอีกที เหมือนเป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง

            ขั้นตอนปัจจุบันเปิดทุกจุดให้คนในลัทธิของเขาเข้าสู่ระบบราชการมากยิ่งขึ้น ใช้สิทธิพิเศษเล่าเรียนฟรี เงินเดือนฟรี เอาลัทธิแทรกเข้าสู่ราชการมากขึ้นเรื่อย กันวัดออกจากระบบราชการ ประเพณีเก่าออกจากระบบราชการ เอาแบบใหม่ ระบบใหม่เข้าระบบราชการ กิจการฮัจญ์ไปอยู่กรมการปกครอง เป็นราชการ การศึกษาลัทธิอยู่ในตำราเรียนที่เป็นราชการ การศึกษาสงฆ์มอบเงินให้ไปจัดการศึกษากันเอง

            ชาวพุทธต่างนั่งมองกันเงียบๆ ปล่อยให้เหตุการณ์เหล่าเป็นไปเรื่อยเหมือนนั่งมองสายน้ำรินผ่านตา แถมบางรายอ้างถึงหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนามาบอกกันต่อไปว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” “หลักแห่งไตรลักษณ์ อนิจจตา ไม่เที่ยงแท้ ทุกขตาเป็นทุกข์แปรปรวน อนัตตา มิใช่ตัวตน” บ้างบอกว่าเป็นไปตามคำพยากรณ์ของพระศาสดา “พระธรรมคำสั่งสอนของเราจะอยู่สิ้น 5000 ปี” แถมกำชับไว้ด้วยว่า “นี่ก็เลยกึ่งพุทธกาลมาแล้วนี่”

            เขียนมาถึงตรงนี้นึกถึงนิทานธรรมของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านสอนศิษย์ให้รู้จักการปล่อยวาง หากเราปล่อยวางสิ่งทางโลกได้หมด หมายถึงการบรรลุหลักธรรมขั้นสูงสุดในพระศาสนา พระอาจารย์มีปกติเดินตรวจที่อยู่ ซึ่งเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ ของศิษย์ทั้งหมดภายในบริเวณวัดของท่าน วันหนึ่งพบพระชรารูปหนึ่งนำบริขารไปไว้ในมุมกุฏิที่ผิดไปจากรูปอื่นนิยมวางกัน ท่านจึงสอบถามว่า “เหตุใดจึงวางบาตรและบริขารอื่นที่มุมอันไม่เหมาะสมเล่า” พระชราตอบด้วยสีหน้านิ่งๆ “กระผมกำลังฝึกการปล่อยวางครับท่านอาจารย์” “อย่างไรหรือ” “ตรงที่ควรวางนั้นฝนมันรั่วครับ เลยไปวางตรงที่ท่านอาจารย์เห็นนั่น”

            พระอาจารย์ฟังแล้วหยุดคิดครู่หนึ่งแล้วเดินจากไป เย็นวันนั้นหลังจากทำวัตรสวดมนต์ปฏิบัติธรรมเสร็จแล้ว ถึงเวลาแห่งการให้โอวาท ท่านอบรมว่า “การปล่อยวางนั้นต้องใช่สติปัญญาคิดไตร่ตรองให้รอบคอบว่า อะไรที่ควรปล่อยวาง อะไรที่ควรยึดไว้ เช่น การซ่อมบำรุงข้าวของเครื่องใช้ประจำนั้นเป็นเรื่องจำเป็น การปัดกวาดเสนาสนะเป็นเรื่องจำเป็น การสวดมนต์ไหว้พระเป็นเรื่องจำเป็น การปล่อยวางจากกิเลสนั้นเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้น การปล่อยวางจากเรื่องที่จำเป็น เป็นการปล่อยวางของควาย”

หมายเลขบันทึก: 678113เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2020 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2020 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this insightful article. It is clear that the world today is changing and religions are much less the essence of communities (now that money or economy has taken stronger hold). Being a Buddhist is not about strongly holding on to a valuable straw (the Tipitaka, the tradition, the yellow robe,…) but learning about happy life, harmonious living and striving for higher humanity. The Buddha told us in Galamasutta to have confidence in what we have considered worth to practice. He listed the aspects for considering issues (Scientific process uses a subset of this list).

The world is changing and there is always and will be Buddhists even when not in keeping a name but in learning truth and practicing a way of life. Sadhu!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท