Hotline : ไขปัญหาชีวิตนิสิตนักศึกษา


  1. ชื่อบทความ :   Hotline : ไขปัญหาชีวิตนิสิตนักศึกษา
    สังเคราะห์และถอดบทเรียนจากงานวิจัยเรื่อง
       การพัฒนาระบบการให้คำปรึกษานิสิตสำหรับงานกิจการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ
    ชื่อทุนอุดหนุน   การวิจัยเพื่อพัฒนานิสิตระดับบัณฑิตศึกษา(ปริญญาเอก)งบประมาณเงินรายได้
                 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562  
    ผู้เรียบเรียง 1.ดร.อนงค์ภาณุช  ปะนะทังถิรวิทย์
                       นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพชำนาญการ กองกิจการนิสิต
                      2.รองศาสตราจารย์ ดร. ธรินธร  นามวรรณ  (ผู้ร่วมเรียบเรียง)
                       ภาควิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม



                              Hotline : ไขปัญหาชีวิตนิสิตนักศึกษา

               การศึกษาทางจิตวิทยาแนวใหม่ที่กําลังได้รับความนิยม
โดยเฉพาะด้านความคิด ความเชื่อต่อสติปัญญาของตนมีผลต่อทัศนะ
และเป็นตัวกําหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ของตัวบุคคลนั้นโดย Dweck (2015)
ได้นําเสนอทฤษฎีแห่งตน (Self-Theory) ที่อธิบายถึงระบบความคิด
ความเชื่อที่มีต่อศักยภาพทางปัญญาของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจภายในของบุคคล
ที่เรียกว่า มายด์เซต (Mindset) โดยบุคคลที่มีมายด์เซตแตกต่างกันจะมีแนวความคิด ความเชื่อ และเป้าหมายในการดําเนินชีวิตแตกต่างกันอย่างชัดเจนซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นใจในตัวเอง และมุมมองของบุคคลที่มีต่อการพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ
               ปัจจุบันนี้การให้คําปรึกษาเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากเพราะเป็นวิธีการที่สามารถใช้ช่วยเหลือบุคคลในการแก้ปัญหาและในขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญงอกงาม ให้กับผู้รับคําปรึกษาได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้การให้คำปรึกษายังช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี สําหรับเทคนิคเชิงสร้างสรรค์เป็นแนวคิดและวิธีการใหม่ในวงการให้คําปรึกษาที่แตกต่างจากวิธีการให้คําปรึกษาแบบดั้งเดิม (Traditional approaches) เป็นเทคนิควิธีที่มีความเหมาะสมกับผู้รับคําปรึกษาที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะวัยรุ่น นอกจากนี้เทคนิคเชิงสร้างสรรค์สามารถช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพเชิงบวกในการให้คําปรึกษามได้เป็นอย่างดี


               การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่เต็มไปด้วยความเครียดของการแข่งขัน เนื้อหาที่ซับซ้อน

และหลากหลาย งานที่มีความยาก เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดความท้อแท้ และแรงจูงใจในการเรียนต่ำ

นักศึกษาจึงไม่ใส่ใจการเรียน ขาดเรียนบ่อย ไม่สนใจทบทวนบทเรียนแต่ต้องการประสบความสําเร็จ

ในการเรียน จึงพยายามหาหนทางที่จะได้ผลการเรียนที่ดีด้วยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ในยุคแห่งสังคมที่ซับซ้อนและสับสนนิสิตมีความเปราะบางทางอารมณ์ค่อนข้างมาก การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตการศึกษา เนื่องจากการเรียนในสถาบันอุดมศึกษามีความต่างจากระดับมัธยมศึกษา จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองทั้งการเรียน การใช้ชีวิต การทำกิจกรรม และการบริหารความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เป็นช่วงของวัยรุ่นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลง เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ ปัญหาที่พบของนิสิต เป็นเรื่องบุคลิกภาพ การปรับตัว การเรียน  การคบเพื่อน เมื่อปรับตัวไม่ได้นำไปสู่ความเครียด เมื่อเกิดความเครียดสะสมหรืออาการซึมเศร้า เป็นปัญหาต่อจิตใจ  ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเปลี่ยนไป
เมื่อนิสิตเผชิญกับปัญหาจะมีใครที่ช่วยชี้แนะได้ นิสิตเหล่านี้มาจากพื้นฐานของครอบครัวที่หลากหลาย ห่างไกลครอบครัว เมื่อมาอยู่ร่วมกัน มักพบปัญหาต่าง ๆ เป็นปัญหาค่อนข้างซับซ้อน ฉะนั้น ผู้ให้คำปรึกษาในสถาบันอุดมศึกษามีความสำคัญ และจำเป็นในการรับฟังคำชี้แนะให้คำปรึกษาเพราะปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายเป็นของคู่กัน  สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ควรให้ความสำคัญในการให้คำปรึกษา ทางด้านการให้คำปรึกษาทางการศึกษา การให้คำปรึกษาทางอาชีพ และการให้คำปรึกษาทางส่วนตัวและสังคม

            กระบวนการให้คำปรึกษา เริ่มจากการสร้างสัมพันธภาพของผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือ ยอมรับตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจสิ่งแวดล้อมการให้คำปรึกษาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต้องมีคุณสมบัติและจรรยาบรรณของผู้ให้คำปรึกษาเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มารับคำปรึกษามากที่สุด เพราะในกระบวนการให้คำปรึกษานั้นผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความรู้ ความสามารถมีเทคนิคทักษะมีประสบการณ์เพียงพอ ในการติดต่อสื่อสาร
          


                     การให้คำปรึกษาปัญหาของนิสิตนักศึกษา มีวิธีการดังนี้

               1. ประเมินผลก่อนการให้คำปรึกษา โดยใช้แบบทดสอบประเมินก่อนให้บริการเพื่อที่จะทราบว่าผู้รับคำปรึกษามีปัญหาอะไรที่เร่งด่วนในการรับคำปรึกษา

               2. เข้าใจปัญหาและสาเหตุ ความต้องการ  โดยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษา เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ กล้าเปิดเผยเรื่องราวของตนเอง กล้าแสดงความคิดความรู้สึก และไม่กลัวที่จะพูดข้อเท็จจริง
               3. วิเคราะห์ปัญหา/วางแผนแก้ไขปัญหา เริ่มที่จะเข้าใจปัญหาของผู้รับคำปรึกษาการ ระบุปัญหาที่แท้จริง จากนั้นวิเคราะห์ปัญหาที่แท้จริง อีกทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหาความต้องการ
               4. ดำเนินการแก้ไขปัญหา ในขณะที่ดำเนินการถ้าไม่สำเร็จในการแก้ไขอาจจะต้องให้ผู้ที่มีมารับคำปรึกษา กลับไปสำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอีกทั้ง และดำเนินไปทีละขั้นตอน จนถึงขั้นสำเร็จ ก็ดำเนินแก้ปัญหาทุกประการ
               5. การสะท้อนผล เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เมื่อผู้รับบริการยอมรับและเข้าใจ พร้อมที่จะสะท้อนผลการให้คำปรึกษา สามารถนำไปปรับปรุงและนำไปปฏิบัติต่อไป
               6. การติดตามผล หลังจากที่ให้คำปรึกษาไปแล้วสัก 1-2 สัปดาห์ โดยการติดตามทางโทรศัพท์ จากเพื่อน  หรือสอบถามจากอาจารย์ที่ปรึกษานิสิตนักศึกศึกษา




   

เอกสารอ้างอิง

          Dweck, C.S. (2015). How Self Beliefs Affect Motivation and Thus Achievement.
                   [Online]. Available from: <http://www.learning-knowledge.com/self-
                   theories.html> [accessed April 2017].

ชื่อผู้เรียบเรียง    ดร. อนงค์ภาณุช  ปะนะทังถิรวิทย์
ที่อยู่               กองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตำบลขามเรียง
                    อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

เบอร์โทรศัพท์    097- 965 7864    Email :[email protected]

หมายเลขบันทึก: 677016เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2020 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2020 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท