เสียงจากคนค่าย : วันที่ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ (รติรัตน์ นพวัตร์)


การไปค่ายอาสาพัฒนาในครั้งนี้ หนูได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ตัวเองไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ ลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่ตัวเองเคยกลัว เหมือนได้ทะลายกำแพงความกลัวออกไปจากตัวเอง รวมถึงการได้เรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้นำ” พร้อมๆ กับการใส่ใจที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่และตำแหน่งที่มากขึ้น

หนูมาชุมชนบ้านหนองครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ครั้งแรกมาทำค่ายทำทางเดินขึ้นภูหนองและพักที่วัดป่าบ้านโนนสว่าง ครั้งที่ 2 คือการมาสำรวจค่ายกับเพื่อนๆ และอาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และครั้งนี้คือครั้งที่ 3

ตอนที่เพื่อนชวนมาสำรวจค่ายในครั้งที่ 2 นั้น  หนูไม่ลังเลใดๆ เลยนะคะ  เพราะอยากมาจริงๆ อยากมาเพราะอยากรู้ว่าค่ายครั้งก่อนมีปัญหาอะไรบ้าง การมาครั้งก่อนหนูไม่ได้มีส่วนรับรู้อะไรมาก เป็น “ลูกค่าย” ที่หลักคิดแค่ว่า “จะมาค่ายๆ” ไม่ได้มีส่วนในการคิด การรับรู้ หรือกระทั่งบริหารจัดการอะไรเลย


การมาสำรวจค่ายครั้งนี้ หนูจึงตั้งใจมาก เพราะอยากรับรู้ถึงสภาพปัญหา หรืองานที่ค้างคา และหนูในฐานะของคนในองค์กรก็รู้สึกตลอดเวลาว่าเป็นความรับผิดชอบของหนูด้วยเหมือนกันในการที่จะทำงานให้แล้วเสร็จ มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง

หลังกลับออกมาจากการสำรวจค่าย  พี่ๆ และเพื่อนๆ ก็เรียกประชุมกันที่ห้องสำนักงาน  

วันนั้นมาประชุมกันค่อนข้างเยอะพอสมควร  หลักๆ คือการยืนยันที่จะกลับไปทำค่ายกันที่โรงเรียนบ้านหนองฯ (ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย) ซึ่งปักหมุดไว้วันที่ 13-15 มีนาคม 2563

ในที่ประชุมของวันนั้นมีการหารือเรื่องรูปแบบกิจกรรม ซึ่งหลักๆ แล้วจะเป็นการไปสร้างลานอเนกประสงค์ตามที่เคยรับปากกับชุมชนไว้ ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่คิดเสริมขึ้นมาก็เช่น ลาน BBL เขียนป้ายคำคมติดตามอาคารเรียนและต้นไม้ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้


หนูตัดสินใจเลือกที่จะทำงานเรื่อง “ป้ายสำนวนสุภาษิต”  เป็นการตัดสินใจบนฐานของความสมัครใจของหนูเอง จากนั้นจึงชวนเพื่อนที่สนิทมาทำงานฝ่ายนี้ด้วยกัน เพราะเชื่อว่าความเป็นเพื่อนกันทำให้เราคุยกันและทำงานได้ง่ายขึ้น

ตอนนั้นหนูเอ่ยปากชวนเพื่อนประมาณว่า “สนใจทำงานนี้ด้วยกันมั้ย” ซึ่งตอนแรกมีหลายคนอาสามาทำงานร่วมกัน แต่พอมาเจอสถานการณ์ “โควิด-19” และเรื่องเรียนที่ใกล้สอบปลายภาค หลายคนจึงถอนตัวออกไป เหลือแค่หนูกับเพื่อนอีกแค่สองคน คือ “ตอง” (สุนิตา ลุนสแกวงค์) “ปอนด์” (เมธี ด้วงนางรอง) เท่านั้น

สารภาพว่าในตอนที่ชวนเพื่อนนั้น เพื่อนบางคนหนูเห็นเขา “ลายมือสวย”  หนูคิดว่าเขาน่าจะเขียนป้ายช่วยเราได้ หนูจึงไปชวนเขา ซึ่งโชคดีมากที่เขาไม่ปฏิเสธและเต็มใจที่จะช่วยงานหนู  

แถมพอคนเริ่มถอนตัวออกไป หนูก็ไม่ลืมถามเขาอีกรอบว่า “ยังจะไปอยู่ไหม”  ซึ่งเพื่อนก็ยืนยันหนักแน่นว่า “ไปสิๆ”  มารู้ทีหลังว่าจริงๆ เพื่อนคนนี้เคยเข้ามาร่วมงานกับศูนย์ประสานงานฯ มาก่อน เข้มาก่อนที่หนูและเพื่อนๆ จะเข้ามาเป็นคณะทำงานเสียด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงได้เงียบหายไป


หนูและเพื่อนเข้าไปขอยืม “บัตรคำ” จากที่ปรึกษา (พี่พนัส ปรีวาสนา) เพื่อมาศึกษาดูว่าจะเลือกคำ หรือสำนวนอะไรมาทำป้ายฯ ดี ซึ่งมีทั้งที่เป็นสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไทย  คำคมสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) โดยตอนนั้นที่ปรึกษาให้ประเด็นกับหนูว่า “เลือกเอง ตัดสินใจเองว่าอะไรเหมาะต่อคนที่นั่น หรือจะไปหาคำจากชุมชนแล้วนำมาเขียนก็ได้ ขอเพียงให้เราตอบตนเองให้ได้ว่าคิดอย่างไรถึงเลือกคำเหล่านั้น และเราได้เรียนรู้จากสิ่งที่เราเลือก”

ถัดจากนั้นหนูก็มาปรึกษากับเพื่อนๆ จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกใช้สุภาษิตคำพังเพยไทย  เพราะมองว่าโรงเรียนเป็นระดับชั้นประถมศึกษา  เด็กควรได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมไทยผ่านสำนวนไทย  จะได้ฝึกคิด ฝึกวิเคราะห์ความหมายของคำไปในตัว –


สำหรับค่ายนี้  หนูรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำมากขึ้นคิดกว่าแต่ก่อนมาก หนูกล้าทำ กล้าตัดสินใจและได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้  และที่สำคัญคือตัวเองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเช่น การมีความรับผิดชอบมากขึ้น  กระตือรือร้นมากขึ้น  ได้ทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน

ค่ายนี้หนูได้ทำงานหลายๆ อย่างมากกว่าทุกๆ ค่าย จากที่ไม่เคยเขียนป้ายก็ได้เขียนป้าย มีเวลาก็ไปช่วยเพื่อนทำ “สอยดาว” เข้าร่วมกิจกรรมการ “เย็บหน้ากากอนามัย” ร่วมกับชุมชน ไปศึกษาดูบริบทชุมชนบนภูหนองและแม่น้ำโขง  ไม่ได้ทำงานก็แต่เฉพาะด้านแม่ครัวเท่านั้นที่เวลาไม่ลงตัว


หนูยืนยันว่าค่ายๆ นี้หนูได้ทำเกือบๆ ทุกกิจกรรม นั่นคือสิ่งที่หนูพูดตั้งแต่ก่อนนี้ว่า “ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ” และพอลงมือทำมันก็ทำให้หนูรู้ว่า “หนูทำได้-หนูมีความสามารถเหมือนคนอื่นๆ นั่นแหละ”  เช่นเดียวกับงานๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดินทางมาค่าย นั่นคือการขอรับงบบริจาคข้าวของเงินทองที่ตลาดสดจังหวัดหนองคาย นี่ก็เป็นอีกงานที่หนูไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิตของหนู

สถานการณ์ในตอนนั้น  ดูเหมือนจะไม่มีคนกล้าที่จะเป็นแกนนำพาเพื่อนเดินขอรับบริจาค ครั้งก่อนก็เคยแวะมาแล้วรอบหนึ่งแต่ก็อย่างว่า “เป็นแค่ผู้ตาม” ใครพาทำอะไรก็ทำ  แต่คราวนี้พอเริ่มเหมือนไม่มีใครกล้า หนูคิดแค่ว่า “ถ้าไม่เริ่มก็จะไม่ได้อะไรเลย-จะยืนอยู่เฉยๆ ให้คนเดินมาบริจาค มันก็ไม่ใช่”

ดังนั้น หนูจึงรวบรวมความกล้าเป็นหนึ่งในแกนนำพาเพื่อนเดินของรับบริจาค  โดยจดจำคำพูดของพี่ๆ และเพื่อนๆ มาใช้ว่าจะเชิญชวนอย่างไร จะอธิบายอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าใจและมีส่วนร่วมกับกิจกรรมในครั้งนี้  และทันทีที่ตัดสินใจลงมือทำ หนูก็เริ่มสัมผัสได้ว่า “หนูกำลังข้ามผ่านความกลัวเกี่ยวกับการขอรับบริจาคขึ้นเรื่อยๆ”


ภายใต้ข้อจำกัดมากมายโดยเฉพาะเรื่อง “โควิด-19” ที่ทำให้เราต้องตัดกิจกรรมหลายๆ อย่างออกไป โดยเฉพาะกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ของนิสิตกับชุมชน  แต่หนูก็ได้เรียนรู้การทำงานในหลายๆ อย่าง ยกตัวอย่างเช่น 

  • การทำงานในแบบที่เราไม่ค่อยมีประสบการณ์ 
  • การทำงานแข่งกับเวลาที่เมื่อพลาดแล้วเรามีเวลาในการแก้ไขค่อนข้างน้อย ทำดีที่สุดก็คือการมีสมาธิกับการทำงานให้มากๆ พยายามศึกษาวิธีการทำให้ดีๆ เพื่อให้พลาดให้น้อยที่สุด

และที่สำคัญที่หนูอยากจะยืนยันอีกครั้งว่า การไปค่ายอาสาพัฒนาในครั้งนี้  หนูได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่ตัวเองไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำ ลองทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่ตัวเองเคยกลัว เหมือนได้ทะลายกำแพงความกลัวออกไปจากตัวเอง รวมถึงการได้เรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้นำ” พร้อมๆ กับการใส่ใจที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่และตำแหน่งที่มากขึ้น


ภาพ : พนัส  ปรีวาสนา
เสียงจากคนค่าย : นางสาวรติรัตน์ นพวัตร์
ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 676405เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2020 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2020 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท