การใช้ประโยชน์จาก ข้อสอบโอเน็ต ม. 6 พร้อมเฉลย



น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สทศ.เผยแพร่ข้อสอบโอเน็ต ม.6 พร้อมเฉลย ทำให้มีข้อมูล ที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

ผมเคยเสนอเรื่องทางการศึกษาที่เกี่ยวโยงไปถึงโอเน็ตไว้หลายเรื่อง ที่สมควรกล่าวถึงมีดังนี้

1) สอบโอเน็ตปี 2559 ใช้ข้อสอบแบบ PISA  (8 กย 2557) นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาก เนื่องจากหลักการออกข้อสอบของ PISA เป็นการทดสอบ การใช้ความรู้ (แก้ปัญหา) ไม่ใช่ทดสอบแค่ความจำหรือความเข้าใจ จึงเป็นการปฏิรูปการออกข้อสอบคือ ยกระดับการออกข้อสอบขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อโอเน็ตปฏิรูปตามจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี

2) จ้างทำการบ้าน : แก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบกลับตาลปัตร  (8 กย 2558) เสนอไว้ว่า ให้เอาส่วนที่เป็นการบ้านมาทำในห้องเรียน และเอาส่วนที่เคยสอนในห้องเรียนไปอ่านเป็นการบ้าน (จ้างคนอื่นอ่านแทนคงไม่ได้) ตัวอย่างจริงของการเรียนการสอนแบบนี้คือ การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-based learning - TBL) ซึ่งเคยเสนอไว้ ก่อนหน้านี้

3) การเรียนการสอนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สาม การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน  (28 มค 56) มีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ (1) ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (2) เน้นความรู้ระดับการใช้ความรู้ (แก้ปัญหา) ในห้องเรียนจึงมีการใช้ความรู้บ่อยๆ ด้วยการทำแบบทดสอบ (3) เน้นความรู้ที่เป็นแนวคิดหลัก (Key concepts) หรือเรื่องที่สมควรรู้

4) การเรียนรู้ที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สอง: เคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา (26 มค 56) คืออาจารย์กวดวิชาท่านสอนเฉพาะเรื่องที่สมควรรู้ คือสอนแนวคิดหลัก (Key concepts) พูดง่ายๆว่าท่านรู้ว่าเรื่องอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ และเรื่องที่สมควรรู้ก็คือ เรื่องที่สมควรออกเป็นข้อสอบ ซึ่งตรงกับเรื่องที่นักเรียนอยากรู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร

ที่เรียกว่าแนวคิดหลัก (Key concepts) คือแนวคิดที่มีโอกาสได้นำไปใช้ การนำไปใช้ที่สำคัญคือการนำไปใช้ในชีวิตจริง รองลงมาคือการนำไปใช้เชื่อมโยงกับวิชาอื่นๆ และรองลงมาอีกคือการนำไปใช้เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆในวิชาเดียวกัน

5) จุดคานงัดการปฏิรูปการศึกษา : ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย  (7 ตค 60) คือให้ใช้รูปแบบข้อสอบแบบเดียวกับ PISA และโอเน็ต (การใช้ความรู้) ซึ่งจะมีผลทำให้การศึกษาในระดับมัธยมศึกษา มีการปรับรูปแบบการออกข้อสอบและการเรียนการสอนตามมาในไม่ช้า และการเปลี่ยนแปลงในระดับประถมศึกษาก็จะตามมาเช่นกัน

6) จุดคานงัดการปฏิรูปการศึกษา (ตอนที่ 4) : อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ  (1 พย 60) นำเสนอเพื่อให้เห็นว่า การรู้ว่าอะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง ครูรู้ดีกว่านักเรียนว่าในวิชาที่สอน อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ คืออะไรบ้างที่เป็นแนวคิดหลัก (Key concepts) จึงสามารถช่วยให้นักเรียนรู้จักแนวคิดหลักของวิชาได้ เช่นเดียวกับการที่อาจารย์กวดวิชารู้ (เคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา) ดังนั้นสอนจบวิชาแล้ว โปรดสรุปว่า อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ (บอกด้วยว่าเพราะอะไรยิ่งดี)

การที่สทศ.ยอมเผยแพร่ข้อสอบ ย่อมหมายความว่า สทศ.มั่นใจพอสมควรว่าข้อสอบของท่านดีพอ ไม่ห่วงว่านักเรียนจะจำไปตอบ เพราะแค่จำได้เข้าใจไม่เพียงพอที่จะใช้ตอบ ต้องสามารถใช้ความรู้ด้วย (ซึ่งเกิดได้จากการทดลองใช้ และตามด้วยการตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่) และน่าจะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์หลายอย่าง เช่น

1. ครูสามารถนำข้อสอบที่เฉลยนี้มาเป็นสื่อการสอนของท่านได้เป็นอย่างดี ซึ่งนักเรียนจะสนใจเป็นอย่างยิ่ง (นักศึกษาแพทย์ที่ไม่รู้จักผม ยังมาขอร้องให้ช่วยติวข้อสอบให้ และข้อสอบในปีต่อๆมาก็คล้ายๆของเดิม เนื่องจาก "อะไรที่สำคัญ" ของแต่ละวิชามีไม่มากนัก)

2. ครูสามารถบอกนักเรียนได้ว่า ข้อสอบแต่ละข้อเป็นแนวคิดหลักอย่างไรบ้าง (อะไรสำคัญอะไรไม่สำคัญ) นี่คือความสำคัญของครูซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากการทดลองทำข้อสอบได้ตามลำพังแต่น้อยคนที่จะเข้าใจได้เอง (ยกเว้นนักเรียนช่างคิดซึ่งมีเป็นส่วนน้อย) อย่างไรก็ตามนักเรียนที่ทดลองทำล่วงหน้ามาก่อนจะเรียนรู้มากกว่า เพราะได้เรียนรู้มากกว่าหนึ่งรอบ

3. ครูสามารถนำข้อสรุปเหล่านี้มาทำเป็นส่วนหนึ่งของรายการแนวคิดหลัก (Key concepts) ของวิชาที่สอน เพื่อถ่ายทอดให้กับนักเรียนได้ด้วย (นักเรียนจะรักท่านมากยิ่งขึ้น)

4. ต่อไปครูก็จะคุ้นเคยกับข้อสอบแบบใช้ความรู้ (แก้ปัญหา) มากขึ้น และออกข้อสอบแบบนี้ได้ไม่ยากนัก จากระดับการใช้ความรู้อย่างง่าย (ใช้แนวคิดเดียว) จนถึงระดับการใช้ความรู้แบบซับซ้อน (ใช้มากกว่าหนึ่งแนวคิด)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

29 มีนาคม 2563

หมายเลขบันทึก: 676398เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2020 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท