ปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา บทที่ 5


บทที่ 5

บทสรุปและเสนอแนะ

บทสรุป

ปัจจุบันกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยน่าจะมีความบกพร่อง  เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์และกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้กำลังจับกุมเอาตัวประชาชนไปทำร้ายบังคับขู่เข็ญให้รับสารภาพ การยัดเยียดข้อหาและของกลางอย่างยาเสพติด หรือพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจแจ้งข้อหาเกินกว่าความผิดที่พนักงานอัยการจะฟ้องดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา จนต้องถูกจำคุกหนักเกินกว่าข้อหาที่กระทำความผิดจริง หรือการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลเหตุหรือพฤติการณ์หรือพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีและภายหลังพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีต่อผู้ต้องหา ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกเสียอิสรภาพและชื่อเสียง ต้องถูกรัฐดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพราะเหตุยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง กล่าวคือ หากจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จริง เท่ากับได้ใช้อำนาจและบุคลากรของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้บริสุทธิ์  แต่หากจำเลยคือผู้กระทำผิดตัวจริง การยกฟ้องย่อมหมายถึงใช้กระบวนการสอบสวนฟ้องร้องที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้

จากการศึกษาปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา ผู้เขียนสามารถสรุปปัญหาได้ดังนี้

5.1.สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

 ปัญหาการตรวจสอบสิทธิการจับกุมผู้ต้องหา เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย แม้การจับไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีผลกระทบต่อพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจและการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัย ไว้แล้วว่า การจับและการสอบสวนเป็นคนละขั้นตอน เพราะการจับเป็นวิธีการที่จะได้ตัวผู้กระทำผิด ส่วนการสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและการดำเนินการทั้งหลายอื่น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ไม่ปรากฏว่าคดีนี้ไม่ได้มีการสอบสวนหรือการสอบสวนไม่ชอบอย่างไร ดังนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง56

การจับกุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมักเกิดจากการจับโดยไม่มีหมายจับของศาลซึ่งจะผูกพันกับความผิดซึ่งหน57ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วหรือเมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะหรือเมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น

จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดไว้อย่างกว้างขวางจนยากที่จะควบคุมการจับกุมให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการจับกุมเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินคดีโดยรัฐเป็นผู้ดำเนินการผ่านองค์กรและกระบวนการยุติธรรม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรใช้มาตรการตรวจสอบการจับกุมเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน

5.2.สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

ปัญหาสิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนจะเกี่ยวข้องกับการบังคับ ข่มขู่ กดดัน การซ้อมทรมานหรือการไม่แจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาชั้นสอบสวนหรือการหลอกล่อให้ผู้ต้องหาเขียนคำรับสารภาพอาจยังมีปรากฏในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยแม้มีกฎหมายบัญญัติให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา58  ทั้งพนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน59ซึ่งหากพบว่าตามข้อเท็จจริงแล้วผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิด ก็เป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา หรือหากผู้ต้องหากระทำ

56คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2544 ,99/2541”

57ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 80 

58ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131

59ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134  วรรคสี่

ความผิดตามข้อเท็จจริง ก็เป็นการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจมุ่งหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดมากกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา เนื่องจากกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหา

 ดังนั้นผู้ต้องหาอาจเป็นหรือไม่เป็นผู้กระทำความผิดก็ได้ จึงควรมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เป็นสิทธิเด็ดขาดและชัดเจนเพื่อให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้โดยปราศจากข้อสงสัยและทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

5.3.สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

ปัญหาสิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา ในทางปฏิบัตินั้น แม้ว่า

ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำตามการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและการสอบสวนของพนักงานสอบสวน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏผู้ต้องหามักไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติ

ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจอาจไม่แจ้งสิทธิ

ให้ทราบก่อนการสอบปากคำจนผู้ต้องหาไม่เข้าใจและไม่ทราบสิทธิในการมีทนายความหรือผู้ซึ่งไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบปากคำ

แม้กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้

ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวนและผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ ทั้งการถามคำให้การผู้ต้องหานั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ แต่ว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามหรือก่อนที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น

ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็หาทำให้การสอบสวนคดีไม่ชอบแต่อย่างใด60

จะเห็นว่า กฎหมายยังไม่ได้บัญญัติให้เป็นสิทธิเด็ดขาดในเรื่องของการมีทนายความในชั้นสอบสวน โดยการจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนมี ประเด็นปัญหาดังนี้

60คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2550

(1) การจัดทนายความให้ผู้ต้องหาในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต เป็นคดีที่มี่อัตราโทษสูง อาจมีผลกระทบกับผู้ต้องหาหากถูกดำเนินคดีที่ไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา กฎหมายจึงบัญญัติให้รัฐจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาที่ไม่มีทนายความในชั้นพนักงานสอบสวน และในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปี  ต้องมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิให้มีทนายความช่วยเหลือ และการสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ต้องสอบสวนโดยมีสหวิชาชีพเข้าร่วมการสอบสวน หากถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว รัฐจะจัดที่ปรึกษากฎหมายซึ่งก็คือทนายความให้

ส่วนคดีที่มีอัตราโทษต่ำกว่าโทษประหารชีวิต ผู้ต้องหาไม่ได้สิทธิได้รับการช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ ซึ่งการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาในคดีอาญาถือเป็นการรอนสิทธิหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ซึ่งตามหลักกฎหมายอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริงตามฟ้อง ดังนั้นการจัดทนายความให้ผู้ต้องหาในคดีอาญาควรจัดหาทนายความให้ครอบคลุมทั่วถึงให้ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิ ไม่จำกัดสิทธิของผู้ต้องหา และให้โอกาสผู้ต้องหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

(2)  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกให้รัฐจัดทนายความให้ผู้ต้องหาในกรณีผู้ต้องหาไม่มีทนายความและต้องการทนายความเท่านั้น ถ้าผู้ต้องหาไม่ต้องการไม่ต้องจัดให้ จะเกิดปัญหากับผู้ต้องหาที่ไม่รู้สิทธิตามกฎหมาย และเป็นคนยากจนไม่มีเงินจ้างทนายความ จะถูกพนักงานสอบสวนละเมิดสิทธิไม่จัดทนายความให้

(3) กรณีพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน และบันทึกใน

สำนวนว่า ได้จัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาแล้ว ทนายไม่มาพบผู้ต้องหา หรือผู้ต้องหาไม่ต้องการทนายความ เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิ ไม่แจ้งสิทธิไม่จัดทนายความให้ผู้ต้องหา เพราะกฎหมายไม่มีบทบัญญัติบังคับให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาไว้อย่างชัดเจน

หากมีการบัญญัติกฎหมายให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเพื่อคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้การจัดหาทนายความของประเทศไทยเป็นสิทธิเด็ดขาดและได้มาตรฐานเฉกเช่นนานาประเทศในโลก

ข้อเสนอแนะ

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไทยมีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับบุคคลทั่วไป พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้วต้องพิจารณาพยานหลักฐานทางคดีทำความเห็นทางคดีพร้อมสำนวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินการต่อไปจึงเห็นได้ว่า หากพยานหลักฐานในการสอบสวนมีไม่เพียงพอฟ้อง พนักงานสอบสวนควรทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง และหากพยานหลักฐานมีเพียงพอฟ้อง พนักงานสอบสวนควรทำความเห็นควรสั่งฟ้อง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ระบุอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนไว้ชัดแจ้ง

ทั้งการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาและการจัดหาทนายความในชั้นสอบสวนถือเป็นสิ่งจำเป็นและควรเป็นสิทธิเด็ดขาดที่ต้องปฏิบัติอย่างยิ่ง

จากการศึกษาค้นคว้าปัญหาการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาในคดีอาญา ผู้เขียนขอนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมดังนี้

1.สิทธิตรวจสอบการจับกุมผู้ต้องหา

จากเดิมตามบทบัญญัติของการจับกุมผู้ต้องหามิได้มีบทบัญญัติในการตรวจสอบการจับกุม เห็นควรเพิ่มเติมข้อกฎหมายในส่วนที่มีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลกล่าวคือ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่ (1)-(4)

โดยเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมใน (5) (6) เพื่อให้ศาลจะตรวจสอบการจับว่าชอบ หรือมิชอบด้วยกฎหมาย โดยตรวจสอบว่าผู้ต้องหาที่อยู่ต่อหน้าศาลเป็นผู้ต้องหาซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับ และการปฏิบัติต่อผู้เสียหายเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่,จับตามหมายจับในบ้าน มีหมายค้นหรือไม่  โดยการเพิ่มข้อความต่อไปนี้

มาตรา 78  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่

        (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80

            (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด

            (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

            (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117

 (5)  ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับ ให้พนักงาน

สอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที  ทั้งนี้ ภายในเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ แต่มิให้นับเวลาเดินทางตามปกติที่นำตัวผู้ต้องหาผู้ถูกจับจากที่ทำการของพนักงานสอบสวนมาศาลเข้าในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนั้นด้วย

(6) เมื่อผู้ต้องหาอยู่ต่อหน้าศาลในขณะที่พนักงานสอบสวนต้องขออำนาจ

ศาลฝากขัง ให้ศาลตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องหา ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ การจับและการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

ซึ่งการเพิ่มเติมข้อกฎหมาย (5) ( 6) ดังกล่าวสามารถกระทำหรือปฏิบัติได้ โดยไม่ยุ่งยาก เนื่องจากการฝากขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 เป็นบทบัญญัติคุ้มครองผู้ต้องหามิให้ต้องถูกควบคุมหรือกักขังนานเกินสมควร แก่เหตุ และความจำเป็น เพียงแต่เพิ่มขั้นตอนให้ศาลตรวจสอบการจับกุมเช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน จะทำให้พนักงานสืบสวนหรือชุดจับกุม ไม่กล้ากระทำผิดต่อกฎหมายหรือละเมิดประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดจริง

2.สิทธิของผู้ต้องหาชั้นสอบสวน

ปัญหาของการรวบรวมพยานหลักฐาน  เกิดจากอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดผู้ต้องหา  แต่ยังไม่มีบทบัญญัติในการพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาที่ชัดเจน เห็นควรแก้ไขข้อกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 131 ให้การพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาเป็นสิทธิเด็ดขาด โดยเห็นสมควรเพิ่มเติมข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 131 วรรคสอง ต่อไปนี้

มาตรา 131  ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

ในการพิสูจน์ให้เห็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานและบันทึกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ตามที่ผู้ต้องหาประสงค์

การเพิ่มเติมบทบัญญัติดังกล่าวจะทำให้การสอบสวนผู้ต้องหาเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มีประสิทธิภาพและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาอย่างมีเอกภาพในการบังคับใช้ เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบสิทธิของตนและกำหนดบทบาทหน้าที่ของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจให้ชัดเจน ทั้งสอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134  วรรคสี่ ซึ่งบัญญัติว่า “พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้”

3.สิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหา

ปัญหาสิทธิการมีทนายความของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ที่จะไม่ให้ถูกลิดรอนสิทธิจากรัฐ สมควรแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา  มาตรา 134/1  จากเดิม

 มาตรา 134/1  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

            ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้

            การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

            เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

 โดยเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนข้อความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 134/1 ดังนี้

มาตรา 134/1  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือในคดีที่มีอัตราโทษปรับขั้นต่ำหนึ่งแสนบาท หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสองแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนและต้องจัดหาทนายความมาลงชื่อยอมรับในการสอบสวนในภายหลังด้วย           

การตรวจสอบการสอบสวนโดยทนายความและต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/3  มาตรา 134/4 (2) มาตรา 176  ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้และ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้และในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ซึ่งต้องมีการสืบพยานประกอบหรือศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงแม้จำเลยจะรับสารภาพก็ตาม จะทำให้การต่อสู้คดีของผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองสิทธิมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 676392เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2020 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2020 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท