งานวิจัยความยั่งยืนกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา (จบ)


ถ้าชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม เรื่องความไม่พอเพียงไม่ใช่ปัญหา ชุมชนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกันเอง

ผลการศึกษาของดร.วรเวศม์ที่ออกมา สอดคล้องกับการสังเคราะห์งานวิจัย 5 พื้นที่ของผมในโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน โดยการสนับสนุนของสกว.และศตจ.
โดยที่แนวทางการศึกษาของผมดำเนินการคนละแบบ
ในกรณีกองทุนสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลา
ผมศึกษาปรากฏการณ์ตามแนวคิดของดร.ครูชบ ยอดแก้วทุกประการ
เพื่อทำความเข้าใจว่า ท่านคิดและทำอย่างไร? ผมเห็นตรงกันกับดร.วรเวศม์ว่ากองทุนสวัสดิการสงขลามีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การพัฒนาคนและสร้างทุนทางสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องระยะยาว
แต่พอมาถึงการวิเคราะห์ทางการเงิน ผมใช้คณิตศาสตร์ลดรูปโดยการอนุมานช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของกองทุนซึ่งผมเห็นว่าช่วงที่เริ่มจ่ายบำนาญจะเริ่มมีปัญหา ซึ่งได้ผลตรงกัน แต่ผมไม่รู้ว่ามันจะมีปัญหารุนแรงระดับใด เพียงแต่เดาว่าต้องมากขึ้นเรื่อยๆเท่านั้น
การคำนวณของอาจารย์วรเวศม์ช่วยให้เห็นรายละเอียดเป็นสัดส่วนของความได้เปรียบของสมาชิกในแต่ละช่วงได้ชัดเจนมาก ซึ่งเป็นเหตุผลของความไม่ยั่งยืนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆของกลุ่ม

เนื่องจากผมวิเคราะห์แบบจำลองของครูชบทั้งระบบ โดยครูชบเสนอให้รัฐสมทบเท่ากันใน 3 ระดับคือ อบต./เทศบาล อบจ. และรัฐบาลกลาง ผมคำนวณโดยใช้ฐานข้อมูลคนไทยทั้งประเทศจำนวน 65 ล้านคนเพื่อดูว่ารัฐต้องมีภาระในการสมทบเท่าไร

ซึ่งเท่ากับ67,200 ล้านบาทต่อปี

ข้อเสนอแนะจากการศึกษาของผมพิจารณาจากฐานคิด 3 ด้านคือ
1)ความคุ้มค่า ผมอนุมานว่า การพัฒนาคนและสร้างทุนทางสังคมเป็นไปได้จริง ข้อมูลจากความเห็นตอบอย่างนั้น (ต้องวิจัยเพิ่มเติม)
2)ความซ้ำซ้อน มีความเห็นว่า บางคนที่ทำงานราชการหรือเป็นลูกจ้างเอกชน รัฐบาลสมทบเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว ผมเห็นว่า ไม่ซ้ำซ้อน โดยใช้ฐานคิดว่า ที่รัฐอุดหนุนอยู่นั้น อุดหนุนในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง แต่การอุดหนุนตามแนวทางนี้ ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน หากอายุครบ60ปี ได้เข้าร่วมกระบวนการกลุ่มอย่างต่อเนื่องตามระเบียบที่กำหนดไว้ก็จะได้รับสวัสดิการต่างๆโดยเฉพาะเงินบำนาญจากการอุดหนุนของรัฐเหมือนกัน จึงเป็นสวัสดิการในฐานะ คนไทย เหมือนกับสวัสดิการ ด้านการศึกษา
ผมเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายเรื่องนี้ตามข้อเสนอของครูชบ โดยดำเนินการตามความพร้อม ในลักษณะขเป็นแรงจูงใจ คือ
ประกาศให้การสนับสนุนตามเงื่อนไข ต้องให้อบต.สมทบก่อน และให้อบจ.สมทบด้วย รัฐบาลกลางจึงจะสมทบ โดยสมทบผ่านกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมตามพรบ.2546 ดำเนินการโดยรัฐบาลกลางตั้งงบสมทบเป็นรายคนๆละ1บาทต่อวันลงไปตามจังหวัด ให้หน่วยจังหวัดที่มีคณะกรรมการอยู่แล้วเป็นผู้ดำเนินการ
3) ความพอเพียง คณิตศาสตร์อนุมานของผมเห็นว่าสูตรของครูชบไม่พอเพียงแน่นอน แม้ว่าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐตามข้อเสนอครบถ้วนแล้วก็ตาม ซึ่งงานศึกษาของอาจารย์วรเวศม์ได้ช่วยตอกย้ำให้เกิดความชัดเจนขึ้น

แต่ข้อวิเคราะห์นี้เป็นที่มาของข้อเสนอแนะที่แตกต่างกันระหว่างผมกับดร.วรเวศม์คือ

ผมเห็นว่า ความไม่พอเพียงสามารถแก้ไขได้ โดยชุมชนเอง เพราะชุมชนเป็นผู้กำหนดระเบียบขึ้นมา ย่อมสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำความเข้าใจกันเอง ซึ่งหน่วยจัดการระดับตำบล/เทศบาลเป็นหน่วยจัดการที่เหมาะสมที่สุดที่จะจัดการเรื่องของตนเองให้สอดคล้องเหมาะสมให้เกิดความพอเพียงกับคนของตนเอง โดยการเชื่อมต่อกับอบต.และเทศบาล ซึ่งดร.วรเวศม์เสนอว่า น่าจะเป็นหน่วยจัดการที่ใหญ่กว่านั้น

อีกข้อหนึ่งคือ การแยกกองทุนสวัสดิการออกจากกองทุนบำนาญ
ข้อเสนอของดร.วรเวศม์ตั้งเป็นคำถามไว้ ด้วยฐานคิดที่มองกองทุนในมุมของการจัดสวัสดิการโดยภาคชุมชน

แต่ผมใช้ฐานคิดเรื่องการพัฒนาคนซึ่งเป็นฐานคิดหลักของครูชบ
โดยมีกองทุนสวัสดิการเป็นเครื่องมือ

ผมเห็นว่าไม่ต้องแยกกองทุน(ตามกรอบคิดเรื่องสวัสดิการของราชการ) ทำตามสูตรของครูชบ(ชุมชน)จะเหมาะกว่า เป็นแนวคิดที่ครอบคลุม ลึกซึ้ง มีพลังมากกว่า ผมเห็นว่า
ถ้าชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม เรื่องความไม่พอเพียงไม่ใช่ปัญหา ชุมชนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมกันเอง

ท่านใดที่สนใจรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งสังเคราะห์ความรู้จาก 5พื้นที่ศึกษาคือ ลำปาง ตราด สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และสงขลา สามารถเข้าไปดาว์โหลดได้ในwebsite ของหน่วยจัดการความรู้องค์กรการเงินชุมชน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ km4fc.wu.ac.th ได้ครับ

สำหรับรายงานวิจัยของผศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา สามารถติดต่ออาจารย์โดยตรงได้ที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติครับ

หมายเลขบันทึก: 67608เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2006 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ผมได้งานของ อ.ภีม แล้วขอบพระคุณมากครับ ส่วนของ อ.วรเวศม์ ก็น่าสนใจมากทีเดียวครับ ความเห็นหนึ่ง กองทุนสวัสดิการของครูชบ น่าจะช่วยกันแพร่ไปทั่วภาคใต้นะครับ

หากไม่เพียงพอจริงจะทำอย่างไรดี...แนวคิดแพร่หลายไปทั่ว...มีหลายพื้นที่นำไปเป็นต้นแบบ

  • รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการ การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งสังเคราะห์ความรู้จาก 5พื้นที่ศึกษาคือ ลำปาง ตราด สมุทรปราการ นครศรีธรรมราช และสงขลา ที่เป็นเล่มๆ ขอสักเล่มจะได้ไหมครับ แบบว่าพูดกันเป็นการส่วนตัวไว้นานแล้วนะครับ ใส่ไว้ในมุม KM ที่ทำงานครับ
  • อยากให้อาจารย์อ่านบันทึกของ ผศ.วิบูลย์ วัฒนาธร โครงการสำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนา เฉพาะพื้นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  ลิ้งค์
  • มีรายละเอียด คืบหน้าประการใด สำหรับภาคใต้หรือจังหวัดนครศรีธรรมราชเรา ลปรร.มาบ้างนะครับ
แนวทางABC research ของสกว. ในภาตใต้เท่าที่ทราบมี2คนรับผิดชอบคือรศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรค์ และศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลงโดยที่อาจารย์ปิยะวัติดูแลใต้ล่าง สำหรับใต้กลาง อาจารย์สุธีระมอบให้รศ.ดร.สมยศ ทุ่งหว้าของมอ.รับผิดชอบคล้ายกับกรณีของผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร ของเหนือล่างครับ
ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ประเด็นที่น่าสนใจในงานของ ดร.วรเวศน์ คือ  อาจารย์ชี้ว่า (1) "ความไม่เพียงพอ"  ของเงินกองทุนสวัสดิการ  เกิดขึ้นเนื่องจาก "โครงสร้างอายุประชากร"  ที่เป็นอยู่  แม้ว่าการบริหารจัดการอื่นๆจะไม่ใช่ปัญหา  (2) ปัญหามีความรุนแรงหรือไม่เพียงใด  ระยะเวลาที่จะประสบปัญหามาถึงเร็วช้าเพียงใด  

นัยจากงานของอาจารย์ตรงนี้ ให้ข้อคิดว่า  (1) โครงสร้างอายุสมาชิก  เป็นปัจจัยหนึ่งที่ชุมชนต่างๆที่จัดกองทุนสวัสดิการบำนาญ  ควรคำนึงถึงในการกำหนดระบบผลตอบแทนต่างๆ (2)  ได้ข้อมูลที่จะนำมาขบคิดต่อว่า  ความไม่พอ มีมากน้อยเพียงใด และจะต้องหาเงินมาเพิ่มเติมอีกเท่าใด ภายในเวลาเมื่อไร  ซึ่งแน่นอนว่า   ชุมชนสามารถจะนำผลตรงนี้ ไปเป็น "ข้อมูล" เพื่อใช้ปรับตัวได้อย่างเหมาะสมและทันกับปัญหา

 ตัวเองเชื่อมั่นและเคารพในศักยภาพชุมชนเช่นกัน  เห็นด้วยกับคุณภีมว่า  ชุมชนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมและจัดการได้    เพียงแต่ข้อเสนอเรื่องเงินสมทบนั้น  จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เริ่มอยู่นอกเหนือการตัดสินใจของชุมชนแล้ว  ขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะเอาด้วยหรือไม่   และแม้รัฐจะตกลงเอาด้วย กระบวนการก็ไม่ได้รวดเร็ว (เข้าใจว่ามีขั้นตอนต่างๆกว่าจะร่างออกมาเป็น กม.รองรับการให้เงินสมทบ)   ในระหว่างนี้ ชุมชนควรมีการเตรียมการอย่างไรหรือไม่  ทางเลือกอื่นๆ นอกจากเรื่องเงินสมทบจากรัฐจะเป็นอย่างไร (อาจเป็นระบบสำรองที่ไม่ต้องรอการตัดสินใจจากรัฐ)

ทีมวิชาการจะหนุนเสริมอย่างไร

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

ขอเพิ่มเติมว่าในงานเขียนของคุณภีม  มีประเด็นน่าสนใจอีก 2 ประเด็น คือ  การแยกกองทุน  กับการมีส่วนร่วมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

คำถามคือ เราควรมีหลักคิดในแต่ละเรื่องอย่างไร

การแยกกองทุน  คุณภีมเห็นว่า สูตรของครูชบเหมาะสมกว่าการแยกกองทุนตามแนวคิดราชการและ ดร.วรเวศน์   น่าสนใจว่า ครูชบมีแนวทางและหลักคิดอย่างไร และราชการมีแนวคิดอย่างไร  

หากคิดเร็วๆ  ดูเหมือนว่า กองทุนบำนาญจะเป็นส่วนที่คาดการณ์ความต้องการเงินกองทุนได้ล่วงหน้าค่อนข้างแน่นอน และจะเห็นได้ชัดเจนว่า ต้องการเงินทุนหนุนเสริมเท่าไร    ส่วนเงินสวัสดิการอื่นๆ มีความไม่แน่นอนมากกว่า  (เว้นแต่เก็บสถิติไว้นานพอที่จะนำมาใช้ประมาณการความน่าจะเป็นของการเกิด การเจ็บ และอื่นๆได้)  ด้วยเหตุนี้ อาจจะทำให้ ดร.วรเวศน์เห็นว่า  ควรแยกออกมาจัดการ  ส่วนเงินสวัสดิการอื่นๆ  อาจมีความยืดหยุ่นมากกว่า และอาจใช้เงิน "ส่วนที่เหลือ"   ส่วนแนวคิดราชการ อาจจะมาจากกว่า การแยกกองทุน ทำให้ง่ายที่จะคิดเงินสมทบและติดตามผล

การมีส่วนร่วมขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในเรื่องเงินสมทบนั้น  มีความสำคัญอยู่ 2 ประการคือ ประการแรก  เป็นการสะท้อนความเข้มแข็งของชุมชนในแง่ที่มีพลังการต่อรอง  (มิติทางการเมือง)  ประการที่สอง  ขึ้นอยู่กับศักยภาพทางการเงินของ อปท.  ข้อแรกดูจะสำคัญมากกว่า เพราะ แม้บาง อปท.จะเงินน้อย (เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องการทำ) แต่หากชุมชนมีพลัง ก็ย่อมมีอำนาจต่อรองให้ อปท.จัดลำดับความสำคัญของการสมทบเงินไว้ในอันดับต้นๆ  ที่น่าสนใจคือ  แนวทางเงินสมทบจาก อปท. จึงอาจไม่สามารถทำได้ในทุกพื้นที่ (เว้นแต่ ออก กม.บังคับ ซึ่งหมายถึง ต้องยืมมือรัฐลงมา แล้วก็จะมีความล่าช้าในกระบวนการออก กม.)

แนวทางและหลักคิดของครูชบ เป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้เพราะครูคิดค้นและสังเกตทดลองในพื้นที่มานาน จนเกิดเป็นความคิดที่ตกผลึกและลึกซึ้ง 

คุณภีมเข้าใจครูดีกว่าคนอื่นๆ  การขยายความแนวคิดทีลึกซึ้งของครูสู่สาธารณะเป็นคุณูปการค่ะ  โดยเฉพาะวิธีคิดของครู ที่ชุมชนอื่นๆน่าจะเรียนรู้ไปปรับใช้กับพื้นที่ตนเอง

จริงๆแล้ว ตัวเองกลับเห็นว่า เรื่อง "ความคุ้มค่า" ไม่จำเป็นต้องวิจัย  เพราะการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้ทุกคนเป็นสิ่งที่มี "คุณค่า" และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำอยู่แล้ว   เพียงแต่ที่ผ่านมา รัฐทำไม่ทั่วถึง และชุมชนก็เริ่มมีบทบาทนำ    ทีมวิจัยน่าจะพุ่งโจทย์มาที่การบรรลุเป้าหมาย "ความเพียงพอ" และการใช้องค์กรการเงินเพื่อไปสู่เป้าหมาย "การพัฒนาคน"  (ในความหมายที่ต้องตีความเช่นกัน)

 

 

 

ผมอยากให้มีการสังสรรค์ทางความคิดอย่างนี้แหละครับ ขอบคุณอาจารย์ปัทมาวดีมากครับ

เห็นด้วยกับอาจารย์ว่างานของดร.วรเวศม์มีประโยชน์ต่อการเคลื่อนงานของครูชบมาก เป็นความรู้ที่ต้องจัดการ ทำให้แกนนำเกิดการเรียนรู้ว่าข้อเท็จจริงที่คาดการณ์ได้ในอนาคตซึ่งค่อนข้างแม่นยำเป็นอย่างไร?จากพลังจินตนาการของครูชบ ตามคำกล่าวของไอสไตน์ที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" ซึ่งก็บอกแล้วว่า ความรู้มีความสำคัญ

ถ้าได้เสริมแรงกัน ก็เป็นเรื่องดี

ทราบข่าวที่ยังไม่ยืนยันว่า พม.จะร่วมสมทบกับ    เครือข่ายของครูชบตามข้อเสนอคือ1ต่อ1

ความรู้ นโยบาย(การเมือง) และการขับเคลื่อนของสังคม/ชุมชน(จากจินตนาการ) ใน3เหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของอาจารย์ประเวศ เหลี่ยมที่เป็นความรู้มีความสำคัญแน่นอนครับ และเรากำลังทำหน้าที่นี้ผ่านBlog

ขอบคุณอาจารย์อีกครั้งครับ

เรื่องความเพียงพอของเงินบาท  ครูชบคิดเรื่องพันธบัตร  แต่ขออนุญาตคิดเรื่องเงินตราชุมชน  หรือคูปองชุมชน  เพราะเดาว่า  เงินบำนาญที่ได้ ก็เอามาใช้กินอยู่ในชุมชน   ถ้ากลุ่มสมบทด้วยเงินชุมชน ก็น่าจะพอทำได้นะคะ  เช่น  ถ้าต้องจ่าย 300 บาท  ก็ปรับเป็น  200  บาท อีก 100 (หรือแม้แต่แถมให้อีกเป็น 200) ให้เป็นคูปองชุมชน อาจไว้ซื้ออาหาร หรือซื้อบริการอื่นๆในชุมชน   เช่น  ไว้ตอบแทนคนในชุมชนที่มาช่วยดูแลคนชรา  หรือมาช่วยเลี้ยงหลาน  (อันที่จริงในชุมชนภาคอีสานมีปัญหาคนชราและเด็กอยู่กันตามลำพังรุนแรงกว่าในภาคใต้)    คูปองที่สร้างขึ้นนี้ นอกจากจะบรรเทาปัญหาทางการเงินของกลุ่มแล้ว  จะช่วยสร้างงาน  สร้างความสัมพันธ์ในชุมชนอีกรูปแบบหนึ่งด้วย    เพียงแต่ว่า จะทำเรื่องนี้ ต้องคุยกับสมาชิกอยู่พอสมควร   สร้างคูปองไม่ยากเท่ากับทำให้คูปองใช้หมุนเวียนได้ค่ะ

 

ที่ญี่ปุ่นมีระบบ บัตรเอื้ออาทร  (Fureai Kippu)    ให้กับอาสาสมัครที่มาช่วยดูแลคนชรา (รู้สึกว่าจะเป็นความคิดริเริ่มของรัฐมนตรีท่านหนึ่ง)    ที่ญี่ปุ่นคิดเป็นระบบใหญ่  และมีศูนย์หักบัญชีในระดับประเทศ      เช่น  คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในภาคใต้  ช่วยงานกลุ่ม ก็ได้บัตรสะสม แล้วโอนมูลค่าที่สะสมได้  ไปให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัดใช้ในชุมชนของตนได้  

คูปองชุมชนจะเป็นนวัตกรรมที่ชุมชนสร้างเองและบริหารจัดการเอง  กำหนดทิศทางเองได้ค่ะ  แม้ว่ามันไม่ง่ายที่จะเริ่มต้น 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท