เผาหัวการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น


เผาหัวการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

25 มกราคม 2563

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

คนท้องถิ่น (อปท.) ต่างจดจ้องอยู่กับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะต้องเกิดในอีกไม่ช้า เป็นความรู้สึกที่ระคนทั้งความหวัง ความตั้งใจ ความหดหู่หมดความอยากการเลือกตั้ง คือ เลือกตั้งช้าหรือเร็วทอดอาลัยแล้วเอาอย่างไรก็ได้ เพราะข่าวการเลือกตั้งท้องถิ่นในสองปีที่ผ่านมา มีมาแล้วก็จางหายไป มีหลายสาเหตุปัจจัยที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องยืดไปในแต่ละคราวที่มีข่าวลือ อันเป็นเอกลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นที่มีฝ่ายดึงและฝ่ายดัน เพราะหากไม่นับฝ่ายชาวบ้านประชาชนแล้ว ท้องถิ่นมีความหลากหลายใน “กลุ่มผลประโยชน์” หรือที่เรียกว่า “กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย” (Stakeholders) [2] ที่หาตัวจับ “ความเห็นพ้องลงตัว” ได้ยากยิ่ง

เริ่มสตาร์ทนับหนึ่งเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น

หนังสือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0014/ว 45 ลงวันที่ 16 มกราคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสรรหาคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [3]ให้ปลัด อปท. ประกาศสรรหา คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกต.ท้องถิ่น) ในวันที่ 27 มกราคม 2563 เพื่อให้ได้รายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็น กกต.ท้องถิ่นภายในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ซึ่งรายชื่อนี้ได้รับการคัดเลือกจาก ผอ.กต.จังหวัด เสนอให้ กกต.พิจารณาภายในกรอบระยะเวลาโดยประมาณ 20 วัน

กรอบระยะเวลาการดำเนินการ (Timeline) ในภารกิจที่สำคัญ ได้แก่ (1) การจัดทำบัญชีรายชื่อเลือกตั้ง (2) การจัดทำบัญชีแบ่งเขตเลือกตั้ง (3) การเตรียมการด้านงบประมาณ (รวมการจัดสรรงบประมาณของส่วนกลาง) (4) การประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง และ (5) การประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือ การเสนอ set zero  อบจ. กทม. พัทยา เทศบาล อบต. โดยการประกาศยุบสภาท้องถิ่น ไล่เรียงตามลำดับก่อนหลังที่วางแผนไว้ เพราะ อปท. แต่ละประเภท ต้องจัดการเลือกตั้งมีระยะเวลาที่เว้นช่วงห่างกันไป ตามมาตรา 142 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 หากรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบว่า จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดเมื่อใด กกต.ก็จะต้องดำเนินการตามนั้น คือ เหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน [4] นับแต่วันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง

รัฐบาลมีความจริงใจต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงใด

นักเลือกตั้งท้องถิ่นจะเตรียมตัว จะวางแผนหาเสียงอย่างไร รัฐบาลมีความจริงใจต่อท้องถิ่นเพียงใด รัฐบาลมีความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง และ ผลการเลือกตั้ง อปท.ที่จะเกิดขึ้นเพียงไร เพราะที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้ว คน อปท. ส่วนใหญ่มีความรู้สึกคล้ายกันว่า ผิดหวัง ไร้อนาคต ขาดความเชื่อถือจากส่วนราชการและรัฐบาล เป็นสัญญาณบอกว่า อปท.เป็นช่วงขาลง หากจะมีการเลือกตั้ง อปท.ครั้งนี้ ก็เป็นการเลือกตั้งฯเพราะถูกกระแสสังคมเรียกร้องกดดัน ไม่ได้มีแผนการหรือมีเป้าใดเอาไว้ล่วงหน้าอะไรเลย เพราะ ณ ปัจจุบันสังคมก็ยังไม่ได้คำตอบแน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้ง อปท.ได้ในวันใด สะท้อนชัดเจนว่า รัฐบาลหันหลังให้การกระจายอำนาจ ใส่ใจต่อประชาชนท้องถิ่นน้อย สังเกตได้ชัดเจนอย่างหนึ่งในประเด็นปัญหาการบริหารงานบุคคล ก็คือ อปท.หลายแห่ง มีแต่บุคลากรผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าส่วนราชการ หรือ ผู้อำนวยการกอง (ผอ.กอง) รวมรักษาราชการแทนปลัด อปท. บางแห่ง ปลัด อปท. หรือผู้รักษาราชการแทนปลัด อปท. เป็นผู้ “ปฏิบัติหน้าที่นายก อปท.” เพราะ ไม่มีนายกฯ ประกอบกับความบกพร่องของ สถ.ในการสรรหาตำแหน่ง “สายผู้บริหารและอำนวยการท้องถิ่น” เช่น ตำแหน่ง ผอ.กองว่างพันกว่าอัตรา แต่จำนวนผู้สมัครมีหลักสิบ [5]ทำให้มีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการว่างเป็นจำนวนมาก และว่างมาหลายปีแล้ว เป็นการปฏิบัติราชการภายใต้ “ความเสี่ยง” ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะผู้รักษาราชการแทนเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบโดยตรงต่องานบริการประชาชน เห็นว่า “อปท.ก็ติดกับดักตนเอง” เพราะ การสรรหาคัดเลือกคนใช้วิธีสอบที่สุ่มเสี่ยงอ่อนไหวต่อมาตรฐานการคัดเลือก ที่ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตาม “หลักคุณธรรม” (Merit System) นอกจากนี้ ตามแผนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผน “การควบรวม อปท.” เพื่อประสิทธิภาพในการจัด “บริการสาธารณะ” และ “กิจกรรมสาธารณะ” แต่ที่ผ่านมา 2 ปีเศษยังไม่มีความชัดเจนคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ (1) ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ (2) ร่างกฎหมายระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นไม่คืบหน้า ทำให้แผนการจัดการปฏิรูปท้องถิ่นขาดความชัดเจนไปมากๆ  อย่างไรก็ไม่ทำอะไร เพราะคนมีอำนาจทำอะไรไม่เป็น รบกับยึดอำนาจเป็นอย่างเดียว

รัฐราชการมีอคติต่อท้องถิ่นหรือไม่

เพราะฝ่ายราชการและรัฐบาลมีความกลัวหรือมีอคติว่าท้องถิ่นเข้มแข็งแล้วจะไม่ดี หรือคิดในมุมกลับว่าท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมในการกระจายอำนาจ หรือท้องถิ่นยังไม่สมควรที่จะได้รับมอบอำนาจ (กระจายอำนาจ) ฯลฯ เหล่านี้ เป็นอุปสรรคสำคัญของพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทยมาก เหตุใดต้องมีกรอบความคิดหรือมีการกระทำเช่นนั้น หรือว่า คสช. และผู้มีอำนาจถูกป้อนชุดข้อมูลที่ไม่ดีเอาไว้ว่า “การเมืองท้องถิ่นเป็นฐานการเมืองระดับชาติ” จึงไม่อยากกระจายอำนาจและให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จึงเกิดปรากฏการณ์การแช่แข็งท้องถิ่น รัฐบาลก็ฉลาดแก้เกี้ยวด้วยการปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่ นายก อปท. และ สมาชิกสภาเดิมให้มา “ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว” ไม่รู้ว่าจะเลิกเมื่อใด แต่กลับไม่ใช่ชั่วคราว เพราะมีระยะเวลานานเกินกว่าวาระตามกฎหมาย (4 ปี) ที่ไม่อาจเรียกว่าชั่วคราวได้ ทำให้ระบบการบริหารของ อปท. เป็นแบบเดิม ๆ ที่ไม่อาจปฏิเสธว่าไม่มีการแสวงประโยชน์ หรือประโยชน์ทับซ้อนในทุกรูปแบบ การมอบอำนาจการบริหารงานจัดการในงบประมาณด้วยวงเงินที่สูง เช่น การตกลงราคาพัสดุ 5 แสนบาท หรือมอบอำนาจดุลพินิจอื่นใดให้เป็นอำนาจของนายก อปท. เป็นต้น หรือ กรณีการแก้ปัญหาการทุจริตโดยการแขวน (หรือหยุดปฏิบัติหน้าที่) ของนายก อปท. (ฝ่ายการเมือง) และฝ่ายประจำ โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 [6] เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเฉพาะหน้า เพราะฝ่ายการเมืองท้องถิ่นได้กลับคืนตำแหน่งเดิม เมื่อผลการสอบสวนไม่พบความผิด แต่ปรากฏว่าในกรณีของฝ่ายประจำ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางรายที่ถูกแขวนก็ยังคงแขวนอยู่ ทำให้คาดหมายว่าหลักการตามกฎหมายกับประโยชน์ในอำนาจอย่างใดควรค่ามากกว่ากัน

ความอึดอัดกดดันของนักเลือกตั้งฝ่ายตรงข้าม ฯ ที่อยากลงสนามเลือกตั้งแต่รอมานาน 5-8 ปี จึงเกิดแรงประทุขึ้นมาในทันที แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามผูกขาผูกใจมวลประชาชน และ “นักเลือกตั้งท้องถิ่นคนเดิม” เพื่อให้ได้ฝ่ายชนะการเลือกตั้งมาเป็นแนวร่วมให้มากที่สุด เพื่อสร้างแรงหนุนต่อยอดรัฐบาลให้เข้มแข็งและอายุครบเทอม ยุทธการเลี้ยงคนเก่าเอาไว้เพื่อแย่งชิงมวลชนและฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งหน้า เพื่อตุนคะแนนเสียงจะได้ผลเพียงใด เป็นสิ่งที่น่าคิดที่ต้องรอพิสูจน์จากผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะ “นักเลือกตั้งคนเก่า” มีดีมีเสียคละกัน หากเป็นคนดีอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาใด แต่หากว่า “เสีย” เมื่อใดแล้ว แน่ใจว่าการพลิกเปลี่ยนขั้วท้องถิ่นมีโอกาสสูง โดยเฉพาะ อปท.ในเขตเมืองใหญ่ เช่น ทม. ทน. หรือแม้แต่ อปท. ใหญ่ เช่น อบจ. เมืองพัทยา หรือ กทม. วิเคราะห์จากจุดนี้ การป้องกันแชมป์ของนักเลือกตั้งคนเก่าต้องเข้มข้นหนักมากขึ้น การต่อสู้หาเสียง การซื้อ การแข่งขันในทางการเมืองยิ่งสูง หากไม่ทุ่มต่อสู้แข่งขันก็จะสอบตกได้ เพราะไม่มีผลงาน หรือไม่ดี ฯลฯ โดยเฉพาะ อปท. ชนบทบ้านนอก หรือ อปท.เล็ก แต่เชื่อว่า อปท. เขตเมืองใหญ่การทุ่มซื้อเสียงจะไม่ได้ผล เพราะ คนรุ่นใหม่หัวใหม่จะซื้อเสียงไม่ได้ ยกเว้น เขต อปท.ชนบท หรือ อปท.เล็กที่ยังมีอิทธิพลบารมีของนักเลือกตั้งคนเก่าอยู่มากในพื้นที่

ปัญหางบประมาณการบริหารงานท้องถิ่นที่จำกัด ทำให้ อปท.เล็กไม่สามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ เพราะมี “งบลงทุน” น้อย นอกจากนี้ท้องถิ่นไม่มีอิสระจริงในการบริหารงบประมาณ อปท.เล็กยังพึ่งเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากส่วนกลาง นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแล คือ กระทรวงมหาดไทย (รวม สถ.) จังหวัด และอำเภอ วางกรอบระเบียบกฎหมายจำกัดควบคุม อปท. เสมือนอยู่ใต้บังคับบัญชามาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นบททดสอบประสิทธิภาพของ “กกต.” และ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง”

กฎหมาย กกต.ใหม่ปี 2562 ใช้ระบบ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) [7]มีวาระการดำรงตำแหน่งวาระเดียว 5 ปี เบื้องต้นก็เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้อิทธิพลของ กกต.ประจำพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับนักการเมืองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ผลงานการเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่ประจักษ์ เพราะใหม่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ที่สำคัญคือ ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องพยายามปรับตัวใหม่ให้เข้ากับสังคมไทยที่อุดมด้วย “อำนาจนิยม” (Authoritarianism) [8] มีประโยชน์แลกเปลี่ยนทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ (COI) มีผลถึงประสิทธิภาพความโปร่งใส เป็นแบบลูบหน้าปะจมูก ทุกคนมุ่งรักษาสถานภาพตนเอง (Status quo) [9] ไม่มีใครกล้าชน มีมือที่มองไม่เห็น มีอำนาจเร้นรัฐ (อำนาจเหนือ) พวกใครพวกมัน ในระบบอุปถัมภ์ ผู้นำผู้ตาม หรือที่เรียก Patron-client system [10]

ฉะนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ทั่วประเทศ 7,852 แห่งจะเป็นบททดสอบขีดความสามารถของ “กกต.” และ “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” (ผตล.) ได้เป็นอย่างดี เพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมานั้น กกต.มีความบกพร่องผิดพลาดหลายประการ [11] และ ยังไม่มีผลงานเชิงประจักษ์ของ ผตล. [12] แต่อย่างใด  

ที่ผ่านมานายก อปท. รักษาการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวมาเรื่อยๆ เป็นระยะเวลาที่เกินกว่าวาระการดำรงตำแหน่งตามกฎหมายมานาน “5-8 ปี” ย่างเข้าปีที่ 9 จึงทำให้การพัฒนาทรงตัวอยู่กับที่ เพราะไม่รู้ว่าตนจะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อใด ตอนไหน เพราะรัฐบาลไม่มีการกระจายอำนาจที่แท้จริงแก่ อปท. โครงการพัฒนาต่าง ๆ ของ อปท. ไม่มีคำตอบให้ชุมชน ทำให้ อปท.เสียโอกาสพัฒนาไป เพราะกระบวนการและองคาพยพของการกระจายอำนาจที่แท้จริงไม่มี รัฐบาลไม่ได้ทำการบ้านในเรื่องการกระจายอำนาจไว้ก็เท่ากับอยู่เฉยๆ เพียงแต่รัฐบาลคงสถานภาพให้เห็นว่า “รัฐบาลมีอำนาจอยู่” เพียงแต่ไม่ยอมใช้อำนาจเท่านั้น

รัฐบาลที่ผ่านมา โดย คสช. ดองเค็มการเลือกตั้ง อปท. มานาน ผลตามมาที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ทำให้ มีปลัด อปท. รุ่นใหม่ในระยะ 5-8 ปี ที่ยังไม่เคยเป็น “ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (ผอ.กกต.ท้องถิ่น) มาก่อน เพราะ ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งปลัก อปท.มาก่อน ตามระเบียบ กกต. ฯ ข้อ 27 วรรคสอง [13] ที่บัญญัติไว้ “ให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” บางคนเป็นปลัดสูงด้วย ยังไม่เคยเป็น ผอ.เลือกตั้ง อปท. มาก่อนที่ต้องหวังทีมงาน เช่น นิติกร หน. สป. รองปลัดฯ ไว้คอยรับมือปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะ ประสบการณ์ที่ผ่านมากมันอาจเป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่ากว่าการมาสร้างทีมงาน ที่เป็นการทำงานเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

กระชับTimeline การเลือกตั้งท้องถิ่น

      มีข่าวลือและความเห็นแกนนำข้าราชการส่วนท้องถิ่นว่า [14]รัฐบาลอาจจัดการเลือกตั้ง “อบต.” ก่อนได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม 2563 เทศบาล มีการเลือกตั้งถัดจากนั้นไปอีก 3 เดือน คือ ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2563 และ สุดท้ายก็จะเป็น อบจ.และ กทม. ประมาณเดือน พฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 เนื่องจาก อบต.ส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์กับ นายก อบจ. และ นักการเมืองระดับชาติ ที่ไม่กระทบกับฝ่ายรัฐบาลนัก เพราะ อบต.ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ ซึ่งเป็นองคาพยพของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้น อบต. ชนบทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ อีกทั้ง อบต. สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทันทีโดยไม่วิตกกังวลเรื่องเขตเลือกตั้ง เพียงเป็นห่วงในการจัดการยุบหมู่บ้านที่มีประชากร 25 คน [15] หรือการยุบ อบต.ประชากร 2000 คน [16] หรือ การควบรวม อปท.เข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ก็ไม่จำเป็นนัก เพราะ ในสองกรณีหลังอาจดำเนินการในภายหลังได้

ฝากนักเลือกตั้งไปศึกษาระเบียบกฎหมายใหม่ให้ชัดเจน เตรียมตัวเรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม เรื่องถือหุ้นสื่อ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น อย่างระมัดระวัง มั่นใจว่าต้องมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนในเร็วๆนี้

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 67 ฉบับที่  19 วันเสาร์ที่ 25  - วันศุกร์ที่ 31 มกราคม 2563, บทความพิเศษ หน้า 9, สยามรัฐออนไลน์, 25 มกราคม 2563, https://siamrath.co.th/n/128488  

[2]ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)หมายถึง ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งทางตรง และทางอ้อม จากการดำเนินการของส่วนราชการของท่าน เช่น ประชาชน ชุมชนในท้องถิ่น บุคลากร ในส่วนราชการ ผู้ส่งมอบงาน รวมทั้งผู้รับบริการด้วย

[3]หนังสือสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง ด่วนที่สุด ที่ ลต 0014/ว 45 ลงวันที่ 16 มกราคม 2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการสรรหาคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, https://drive.google.com/file/d/1ddU3A55sGPz7eukZ1AY8Zvd-AsMBw8M5/view?usp=drivesdk

และ หนังสือกระทรวงมหาดไทยแจ้งเวียนจังหวัด ที่ มท 0818.2/ว 150 ลงวันที่ 10 มกราคม 2563 เรื่อง ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562, http://bit.ly/2NdF5ZF

[4]พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 11 บัญญัติว่า

“ให้ (กกต.) จัดการเลือกตั้งภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ หรือภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ เว้นแต่ในกรณีของสมาชิกสภาท้องถิ่น ถ้าวาระการดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันจะไม่จัดการเลือกตั้งก็ได้”

[5]ดูข่าว สมาคมขรก.ท้องถิ่น ยื่น9ข้อ จี้อธิบดีสถ.เร่งรัดแก้ปัญหาการบริหารงานของท้องถิ่น, 21 ตุลาคม 2562, https://siamrath.co.th/n/110267

[6]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 บัญญัติไว้ว่า

“ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”, https://www.kaohoon.com/content/13695

[7]ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา, ผู้ตรวจการเลือกตั้งคือใคร ทำหน้าที่อะไร ?, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, Hot issue กรกฎาคม 2561, https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-041.pdf & ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วย ผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ.2561, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29 ก วันที่ 26 เมษายน 2561, หน้า 34-48, https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20180430155754.pdf

[8]ลัทธิอำนาจนิยม (Authoritarianism)เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ตามปกติมักตรงข้ามกับปัจเจกนิยมและอิสรนิยม ในทางการเมือง รัฐบาลอำนาจเป็นรัฐบาลซึ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมืองกระจุกตัวอยู่กับนักการเมืองกลุ่มเล็ก : วิกิพีเดีย

[9]status quo หมายถึง สถานะกิจการที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทางการเมืองและสังคม คำนี้มาจากภาษาลาตินที่หมายความว่าสถานะของกิจการหรือกิจกรรมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ในภาษาอังกฤษคำนี้บางครั้งใช้ในความหมายที่จะเอียงไปทางลบโดยที่จะมีความหมายในแนวที่ว่าสถานะกิจการที่เป็นอยู่ที่ไม่มีความก้าวหน้าหรือคืบหน้าไปไหน

[10]เป็นระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (Patron-client relationship)เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของไทย ที่เป็น “อุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างหนึ่ง” คือ ความสัมพันธ์ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็เป็นผู้อุปการะเด็ก เด็กต้องอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ คนในชนบทอยากเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ด้วยสาเหตุหลายประการคือ เป็นความรู้สึกว่า ได้รับเกียรติมากขึ้น แต่งชุดสีน้ำตาลเหมือนข้าราชการ เป็นประธานในงานพิธีการต่างๆ ของท้องถิ่น และมีความภาคภูมิใจที่เป็นลูกพี่ ได้ดูแลลูกบ้าน คนที่จะมาอยู่ในสองตำแหน่งนี้ จึงต้องเป็นคนมีฐานะดี ช่วยเหลือทั้งในเรื่องเงินและบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับลูกบ้านในทุกๆ เรื่อง

[11]พีเน็ตชื่นชมใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 80%-ตั้งข้อสังเกตจุดบกพร่อง 6 ประการ, 18 มีนาคม 2562, https://www.isranews.org/isranews-short-news/74790-isranews_74790.html& นศ.รามฯ จี้กกต.รับผิดชอบจัดเลือกตั้งผิดพลาด, กรุงเทพธุรกิจ, 4 เมษายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/831667

[12]เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ปัญหาระบบ”จัดสรรปันส่วนผสม”, 27 กันยายน 2562, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/848791

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลวิจัย เรื่อง “ปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 และปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และแนวทางแก้ไข” นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ.เป็นตัวแทนในการแถลง เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562 สรุปผลการศึกษา ได้เป็น 5 ประการ ประกอบด้วย

... (7) ปัญหาการซื้อเสียงที่กลับมามีบทบาทมากขึ้น ในอดีตจากการทำวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่าเงินเข้ามามีปัจจัยน้อยลง เพราะพฤติกรรมของประชาชน คือ จะรับเงินจากทุกคนที่ให้ แล้วจะเลือกพรรคหรือคนที่อยากเลือก ส่งผลให้เงินมีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้เนื่องจากคะแนนเหลือเพียงคะแนนเดียว และเป็นคะแนนที่ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้แรงจูงใจกับผู้สมัครและพรรคการเมือในการ “ใช้เงิน” เพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง

ดังที่ปรากฏจากการเก็บข้อมูลผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลีกต่อการตัดสินใจสูงถึง 9.15% เมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเพียง 4% เท่านั้น โดยมีหัวคะแนนทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อไป “ขอเงิน” ซึ่งเท่าที่เก็บข้อมูลได้อยู่ที่หัวละ 700-1,000 บาท โดยในหลายพื้นที่มีกรณีที่หัวคะแนนจะหักเงินไว้ 100-200 บาท คนส่วนใหญ่คือ 55% ตอบว่าเงินไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ประชาชนรับเงินทุกคนที่ให้แล้วเลือกคนที่อยากเลือก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้ตรงกัน ทั้งในการทำสนทนากลุ่มและจากหัวหน้าพรรคการเมือง...

ข้อเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาว่า 1.เมื่อสาเหตุหลัก คือ ตัวระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดปัญหา จึงคิดว่าควรต้องมีการแก้ไข แต่จะแก้ไปสู่ระบบใด ยังเป็นประเด็นที่จะต้องมีการประชุมทางวิชาการ เพื่อหารือกันต่อไป โดยมี 2 ทางเลือก ระหว่างถอยไปหาแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบคู่ขนาน ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งได้ 2 คะแนน ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

ซึ่งระบบนี้พรรคการเมืองใหญ่ที่สุด จะมีความได้เปรียบ หรือจะใช้ระบบแบบเยอรมัน คือ ระบบสัดส่วนผสม ซึ่งไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบ เสียเปรียบ โดยให้ประชาชนมี 2 คะแนนเหมือนกัน แต่เอาคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคการเมือง มาคิดจำนวน ส.ส.รวม ไม่ใช่การเอาคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต มาคิดจำนวน ส.ส.รวม

“ความเป็นไปได้ในการแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ง่ายนัก ไม่ต้องพูดถึงส.ว.เอาแค่ส.ส. เท่าที่ผมทำการสัมภาษณ์เชิงลึกมาพรรครัฐบาลเองเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าต้องมีการแก้ไข แต่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก เรื่องใหญ่ที่สุด คือ ถ้าไม่แก้ระบบก็ต้องแก้ปัญหาตรงที่มีผู้สมัครมากเกินไป”

2.การแก้ไขเรื่องผู้สมัครที่มีจำนวนมากเกินไป ปัญหาผู้สมัครพรรคเดียวกันแต่ต่างหมายเลขกัน โดยแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แม้จะมีบางพรรคการเมืองเห็นว่าที่ใช้อยู่นั้นดีอยู่แล้ว แต่ในการเก็บข้อมูลเห็นตรงกันว่าเป็นการสร้างปัญหามากกว่า จึงคิดว่าควรให้พรรคเดียวกันเป็นหมายเลขเดียวกันแบบเดิมน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

3.การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ควรให้มีการเลือกตั้งนอกจังหวัดเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากน้อยกว่า

4.แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงบัตรเลือกตั้งให้มีบัตรเสียน้อยลง

5.เวลาปิดหน่วยเลือกตั้งควรกลับมาปิดเวลา 15.00น. หรือไม่เกิน 16.00น.

6.เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งไปเป็น กกต.จังหวัด โดยให้มีแค่ช่วงเลือกตั้ง และ 7.ยกเลิกระเบียบยิบย่อยของ กกต.ที่เป็นอุปสรรค

“โดยสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามาก ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากตัวระบบเลือกตั้ง ที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตมาคิด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และซ้ำยังให้มีการจับหมายเลขทุกเขตเลือกตั้ง ที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด”

“ควรมีการแก้ไขปัญหา ในการดำเนินการ ถ้าจะพูดถึงในแง่ของการทำให้สำเร็จก็ต้องเอาเรื่องที่ทำง่ายก่อน คือ การปรับปรุงบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้บัตรเสียน้อยลง และการปิดหีบที่ควรให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นต้น และควรดำเนินการในบางประการ ก่อนจะมีการเลือกตั้งต่อไป เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมีปัญหาเหมือนในคราวนี้” รองอธิการบดี มธ.สรุป

[13]ดูข่าว ปลัดอปท.ขอพ้นหน้าที่ผอ.กต.โอดผลกระทบ-วอนแก้กม., ข่าวมติชน, 14 มกราคม 2558

[14]นายกสมาคม ขรก.ท้องถิ่น คาด กกต.ชัตดาวน์ผู้บริหาร สมาชิก อบต. เคาะเลือกตั้งช่วง พ.ค., 21 มกราคม 2563, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1905964

[15]หนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0818.4/ว 4781 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 เรื่อง การสำรวจข้อมูลจำนวนหมู่บ้านที่มีราษฎรไม่ถึง 25 คนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2019/11/22726_1_1574407363617.pdf

ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562,ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 50 ก วันที่ 16 เมษายน 2562 หน้า 151-163, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/050/T_0151.PDF

“มาตรา 45 ภายใต้บังคับมาตรา 45/1 สภาองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนเขตเลือกตั้งละหนึ่งคน ซึ่งเลือกตั้งขึ้นโดยราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น

ให้ถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึงยี่สิบห้าคน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกันและเมื่อรวมกันแล้วจะมีราษฎรถึงยี่สิบห้าคนเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน การนับจำนวนราษฎรดังกล่าวให้นับ ณ วันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเลือกตั้ง

การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งตามวรรคสองให้นายอำเภอเป็นผู้ดำเนินการและประกาศให้ประชาชนทราบภายในวันที่ 31 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นกรณีที่เป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง หรือมีการเลือกตั้งภายในเดือนมกราคม ให้ถือเขตเลือกตั้งที่ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย

หลักเกณฑ์และวิธีการสมัครรับเลือกตั้งและการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

[16]กฎหมายกำหนดให้สภาตำบลและ อบต. ที่มีประชากรไม่ถึง 2,000 คน ต้องยุบรวมพื้นที่เข้ากับ อบต. อื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีเขตติดต่อกันกันภายในเขตอำเภอเดียวกัน นอกจากสภาตำบลที่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะหรืออยู่ห่างไกลไม่สามารถติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้สะดวก ดังนั้น สภาตำบลที่มีประชากรไม่ถึง 2,000 คน ก็จะไม่ได้รับการพิจารณาจัดตั้งเป็น อบต.กล่าวคือ การจะยุบ อบต. ที่มีประชากรไม่เกิน 2000 คน ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของประชาชน มันต้องมีกระบวนการ referendum หรือกระบวนการรับฟังความเห็นมาก่อน เพราะเมื่อให้ยุบแล้ว อบต.ต้องสำรวจความเห็นว่าจะไปรวมกับ อปท. ข้างเคียงใด

ดู มาตรา 41 จัตวา แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2546

มาตรา 41 จัตวาให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการประกาศยุบสภาตำบลทั้งหมด และองค์การบริหารส่วนตำบลใดที่มีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคน โดยให้รวมพื้นที่เข้ากับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่นหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีเขตติดต่อกันภายในเขตอำเภอเดียวกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีเหตุดังกล่าว

การรวมกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใดตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนในเขตตำบลนั้น

การสำรวจเจตนารมณ์ของประชาชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

องค์การบริหารส่วนตำบลใดมีจำนวนประชากรไม่ถึงสองพันคนแต่มีสภาพพื้นที่เป็นเกาะหรือโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลหรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่จะไปรวมได้โดยสะดวก กระทรวงมหาดไทยจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งกับองค์การบริหารส่วนตำบลนั้นก็ได้

ให้นำมาตรา 41 และมาตรา 42 วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับกับการยุบและรวมตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท