แบบจำลองการสื่อสารของอริสโตเติล (The Aristotelian Model)


แบบจำลองการสื่อสารของอริสโตเติล (The Aristotelian Model)

อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 384-322 ปี ก่อนคริสตกาล นับว่า เป็นบุคคลในยุคต้น ๆ ของการศึกษาเรื่องวาทศิลป์ หรือวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลปะในการพูด  มีความสนใจเกี่ยวกับการสื่อสารและวาทศิลป์ได้วิเคราะห์กระบวนการติดต่อสื่อสารว่ามีองค์ประกอบ สำคัญ ได้แก่ ผู้พูด (Speaker) คำพูด (Speech) และผู้ฟัง (Audience) โดยแบบจำลองการสื่อสารในยุคแรกเป็นแบบจำลองการสื่อสารที่ผู้ส่งสารนั้นส่งสารไปยังผู้ฟังเพียงอย่างเดียวไม่มีการสื่อสาร ย้อนกลับ ดังภาพ

อริสโตเติล อธิบายว่าการสื่อสารเกิดขึ้นเมื่อผู้พูด สร้างสาร หรือเรียบเรียงความคิดที่ต้องการสื่อสารในรูปของ คําพูด และส่งไปยังผู้ฟัง ทั้งนี้โดยผู้พูดมีเจตนาในการโน้มน้าวใจ      

ภาพแบบจำลองการสื่อสารของอริสโตเติล

ที่มา : ปรับปรุงจากกาญจนา มีศิลปวิกภัย. 2553: 30.

    จากภาพ  การสื่อสารจะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้พูด (Speaker)  ซึ่งจะต้องประกอบด้วยบุคลิกลักษณะที่ดี ได้แก่ ความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม ความรู้สึกและทักษะในการ สื่อสาร ฯลฯ ทั้งนี้คำพูด (Speech) จะต้องมีเหตุผลน่าเชื่อถือ(Logic) ซึ่งประกอบด้วย การเรียบเรียง การส่งสารกรอบความคิด ภาษา และการยกตัวอย่าง เป็นต้น และผู้ฟัง (Audience) ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกเร้า หรือโน้มน้าวจากคำพูดของผู้พูด ซึ่งประกอบด้วยวิธีการเข้าถึง ความรู้ ประสบการณ์ ค่านิยม ความรู้สึกและทักษะในการสื่อสารเป็นต้น   ตัวอย่างเช่นการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร ซึ่งพบว่าปัจจัยที่ผู้สมัครจะชนะการเลือกตั้งหรือได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ  นับตั้งแต่บุคลิกลักษณะของผู้สมัครในช่วงการพูดหาเสียง อาทิ รูปร่างหน้าตาลักษณะท่าทางและกิริยาอาการต่างๆ ความมีไหวพริบและสติปัญญาความเชื่อมั่นใจตนเองและความคล่องแคล่วในการพูด การพูดที่ เข้าใจง่ายและน่าสนใจตลอดจนการน าเสนอเนื้อหาด้วยเหตุผล ซึ่งเหตุผลและความน่าเชื่อถือของ คำพูดอาจมาจากการอ้างอิงจากเอกสารหรือพยานบุคคลฯลฯ ทั้งนี้ความชื่นชมในตัวผู้พูดและการเชื่อ คำพูดของผู้พูดจนทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกอยากร่วมมือกันผู้พูดมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับความสามารถและความสำเร็จของผู้พูดในการเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังเป็นสำคัญ

              อริสโตเติลยังได้กล่าวถึงปัจจัยที่ช่วยให้การสื่อสารประสบความสำเร็จอีกคือในการพูดเพื่อการชักจูงใจนั้น ผู้พูด(speaker) ต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพดีน่าเชื่อถือ(good personality) ในภาษาลาตินเรียกว่า Ethos ใช้คำพูดที่มีเหตุผลดีน่าเชื่อถือและจูงใจได้ดี(logic & persuade) เรียกว่า Logos ปลุกเร้าให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดเห็นคล้อยตามได้(emotion) หรือเรียกว่า Pathos ซึ่งหลักการสื่อสารนี้อริสโตเติลได้จากการศึกษาเกี่ยวกับการพูดรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งหรือการพูดบนเวทีในสมัยโบราณ

             นอกจากนี้สภาพเหตุการณ์และสภาพแวดล้อม (Environment)ในขณะที่กำลังสื่อสารก็ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อบรรยากาศของการสื่อสารว่าจะเป็นไปในทิศทางใดซึ่งโรเบิร์ต (Robert) ได้ขยายความคิดของอริสโตเติลออกมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้ (W.Rhys. Robert อ้างใน กิติมา สุรสนธิ,2542)

             โรเบิร์ต (Robert) ได้สรุปคุณลักษณะของผู้พูด คำพูดและผู้ฟังไว้ว่า ในส่วนของผู้พูดนั้นความน่าเชื่อถือของผู้พูดจะมาจากความรู้ประสบการณ์ ค่านิยม ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆรวมทั้งความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารของผู้ส่งสารส่วนสารนั้นจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาของสารและการจัดเรียงลำดับสารตลอดจนวิธีการส่งข่าวสารของผู้ส่งสารอันประกอบไปด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่จะพูดว่ามีความชัดเจนน่าสนใจมากน้อยเพียงใด ภาษาที่ใช้การยกตัวอย่างและอื่นๆ สำหรับผู้รับหรือผู้ฟังนั้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับระดับความรู้เกี่ยวกับข่าวสาร ประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นค่านิยมและความรู้สึก รวมทั้งความสามารถในการฟังการตีความและความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ของผู้รับสารเป็นต้น 

อ้างอิง :

การสื่อสารเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Communication in Rural Development).[Online]. Available :   

         http://elearning.psru.ac.th/courses/153/lesson1finish.pdf.[20 มกราคม 2563]

หลักนิเทศศาสตร์.[Online]. Available :  http://www.elfms.ssru.ac.th/supaporn_wi/file.php/1/FCA1101_

                Intro_to_Communication_Art/3_.pdf.[20 มกราคม2563]

มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.ทฤษฎีการสื่อสารมวลชน.[Online]. Available :   http://www.neu.ac.th

                /site/files_download/ca/2017-02-22_143735.pdf. [21 มกราคม 2563]

 


คำสำคัญ (Tags): #speaker#Audience#knowledge#speech
หมายเลขบันทึก: 674668เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2020 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2020 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท