ทฤษฎีเป็นเครื่องมือมากกว่าเป็นเป้าหมายของการเรียนรู้


สมัยผมเรียนหนังสือ เมื่อ ๖๐ ปีก่อน เราเน้นเรียนทฤษฎี    การเรียนทฤษฎีเป็นเป้าหมาย    เรียนเพื่อตอบข้อสอบที่ถามทฤษฎีตรงๆ   หรือให้แก้โจทย์ง่ายๆ ที่ต้องใช้ทฤษฎีนั้น    แต่เป้าหมายของการเรียนรู้ในสมัยนี้เปลี่ยนไปมาก 

ทฤษฎียังคงเป็นเป้าหมายของการเรียนรู้    แต่ไม่ได้เน้นที่รู้และเข้าใจอย่างสมัยก่อน    ต้องเลยไปสู่ “ใช้ทฤษฎีเป็น”    คือเน้นทักษะการประยุกต์ใช้ทฤษฎีในสถานการณ์จริง    ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน และต้องใช้หลายทฤษฎี หรือใช้ความรู้หลายชุดประกอบกัน    โดยที่เป้าหมายแท้จริงคือการพัฒนาความสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Creativity and Critical Thinking)   

จะเห็นว่า เป้าหมายของกิจกรรมการเรียนรู้สมัยใหม่มีหลายชั้น  มีหลายมิติ  มุ่งฝึกฝนเรียนรู้ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ครบทั้งชุด   ดังเสนอในหนังสือ การสร้างการเรียนรู้ สู่ศตวรรษที่ ๒๑    และ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร   

ผมขอขยายความวิธีเรียนรู้ให้สนุกและเกิดการเรียนรู้ในระดับลึกและเชื่อมโยง ที่เรียกว่า higher order learning     คือเรียนแบบใช้การปฏิบัติ และใช้ทฤษฎี เป็นเครื่องมือของการเรียนรู้    จริงๆ แล้วมีเครื่องมือ ๔ ตัวคือ  (๑) การปฏิบัติ  (๒) ทฤษฎี หรือความรู้ที่มีอยู่ในโลก  และ (๓) การคิดไตร่ตรองใคร่ครวญ   (๔) การตั้งคำถาม

ทั้งหมดนั้น ต้องทำอย่างมี เป้าหมายของการเรียนรู้    ที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของเป้าหมาย    ไม่ใช่ครูเป็นเจ้าของ ซึ่งอาจถือเป็นเครื่องมือตัวที่ ๕ ของการเรียนรู้ ก็ได้

นั่นคือ active learning                                                                                    

หัวใจสำคัญคือ เมื่อมีการปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นการทำโครงงานเป็นทีม    นักเรียน (และครู) ตกลงกันล่วงหน้าว่าจะสังเกตและเก็บข้อมูลอะไรบ้าง  เพื่อเอามาคิดตรวจสอบกับทฤษฎี ก, ทฤษฎี ข, ทฤษฎี ค, ฯลฯ    ว่าข้อค้นพบสอดคล้องหรือขัดแย้งกับทฤษฎีอย่างไรบ้าง    ที่สนุกมากคือ ลองเถียงทฤษฎี    (ที่ผมหมั่นฝึกทำอยู่เสมอ)     วิธีเถียงคือ เถียงสาระหลัก และเถียงส่วนปลีกย่อย    เอาบริบทของเราเอง (ตามผลของการทำกิจกรรม) เป็นตัวตั้ง     แล้วตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราพบ อธิบายได้ด้วยทฤษฎีนั้นๆ ได้หรือไม่    หากอธิบายไม่ได้ มีทฤษฎีอื่นอธิบายไหม    หากหาไม่พบ  ลองร่วมกันคิดตั้งทฤษฎีเอง

การเรียนรู้แบบนี้ เป็นการเรียนแบบสร้างความรู้ ต่อยอดความรู้เดิมในทางทฤษฎี    รวมทั้งสร้างความรู้เล็กๆ จำนวนมากมายตอนทำกิจกรรม    จึงเรียกว่า การเรียนรู้ขาออก    แต่การเรียนรู้ขาออกที่ใช้กันโดยทั่วไปในปัจจุบันยังเป็นแค่สร้างเพื่อใช้ทันที    ยังขาดส่วนสร้างเพื่อต่อยอดความรู้เชิงทฤษฎี

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ธ.ค. ๖๒

บนรถยนต์ระหว่างเดินทางไป รพ. ศิริราช เพื่อประชุม

   

  

หมายเลขบันทึก: 674605เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2020 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2020 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดเคล็ดวิชาค่ะ อาจารย์ วันนี้หนูจะไปพาน้องคิดโครงการวิจัยจากงานประจำอยู่พอดีค่ะได้กระบวนการนำไปใช้ตามนี้นะคะ

หัวใจสำคัญคือ เมื่อมีการปฏิบัติ ซึ่งอาจเป็นการทำโครงงานเป็นทีม นักเรียน (และครู) ตกลงกันล่วงหน้าว่าจะสังเกตและเก็บข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อเอามาคิดตรวจสอบกับทฤษฎี ก, ทฤษฎี ข, ทฤษฎี ค, ฯลฯ ว่าข้อค้นพบสอดคล้องหรือขัดแย้งกับทฤษฎีอย่างไรบ้าง ที่สนุกมากคือ ลองเถียงทฤษฎี (ที่ผมหมั่นฝึกทำอยู่เสมอ) วิธีเถียงคือ เถียงสาระหลัก และเถียงส่วนปลีกย่อย เอาบริบทของเราเอง (ตามผลของการทำกิจกรรม) เป็นตัวตั้ง แล้วตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราพบ อธิบายได้ด้วยทฤษฎีนั้นๆ ได้หรือไม่ หากอธิบายไม่ได้ มีทฤษฎีอื่นอธิบายไหม หากหาไม่พบ ลองร่วมกันคิดตั้งทฤษฎีเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท