อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (๑๓)


ลงถอดเทปคำอภิปรายต่อ
อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (๑๓)
        เพิ่งเห็นว่าตอนที่ ๑๒ ลงคำอภิปรายได้ไม่ครบ     จึงเอาส่วนที่ขาดไป มาลงต่อครับ
ดร.พรเพ็ญ ศาสตริยาภรณ์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในฐานะนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์  ดิฉันมีคำถามซึ่งเป็นเรื่องที่อาจสืบเนื่องกัน  คือว่าทำไมโจทย์ทางการวิจัยถึงเน้นหนักไปในเรื่องของ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เราเองต้องยอมรับว่าฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมันจะนำประเทศเราไปสู่การแข่งขัน แต่ดิฉันอยากจะ refer ไปถึง สิ่งที่คุณลุงณรงค์ กับครูบาสุทธินันท์ เล่าให้ฟัง จริงๆ แล้วเรื่องทั้งหมดไม่ได้มีเฉพาะมิติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น  แต่ว่ามีมิติทางสังคมและวัฒนธรรมแฝงอยู่ด้วย  คำถามที่ว่า แล้วความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่การยอมรับของชุมชนจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชุมชนของชาวบ้าน หรือชาวนาได้อย่างไร  ดิฉันคิดว่าอันนี้คือบทบาทหรือเป็นโจทย์ที่สำคัญของนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งจะต้องทำงานไปพร้อมๆ กับนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยในเรื่องของวัฒนธรรม   แล้วก็กระบวนการเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งมันแตกต่างออกไป ขาดองค์ความรู้ในเรื่องนี้ ในฐานะที่เรามองกระบวนการในการเรียนรู้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการที่จะ transfer ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ในการค้นพบ  ดิฉันค่อนข้างจะกังวลใจมากก็คือว่าเป้าหมายของการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ดิฉันจำได้ว่ามีเรื่องของภาษา แล้วก็เป้าหมายจริงๆ ของงานวิจัย ก็คือเพื่อการจัดระเบียบของสังคม ไม่เข้าใจว่าความหมายของจัดระเบียบสังคมมันมีนัยแค่ไหน  เพราะว่าโดยนักสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่เราเชื่อในเรื่องของความหลากหลายมากกว่า  เพราะฉะนั้นประเด็นก็คือว่าทำอย่างไรเราถึงจะขยายความหรือขยายภาพ ในมิติทางสังคมซึ่งอาจจะปรากฏอยู่ในโครงการเพชราภิเษกให้ชัดเจนกว่านี้ได้หรือไม่  ประเด็นสุดท้ายในเรื่องของการตีพิมพ์  เมื่อสักครู่นี้เราเพิ่งคุยกันไปว่าเราน่าจะหันกลับมาดูว่าชุมชนต้องการโจทย์อะไร  แล้วนักวิจัย ของประเทศควรเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่จะช่วยชุมชนตอบโจทย์เหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนโจทย์ที่เราไปทำให้กับชุมชน ไม่ใช่โจทย์ที่วารสารนานาชาติต้องการ ไม่มีพื้นที่ให้กับโจทย์เหล่านี้ เพราะฉะนั้นนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ค่อนข้างลำบากใจกับเกณฑ์ข้อนี้อยู่พอสมควร  แล้วดิฉันอยากจะขอว่าเราเองอาจจะต้องหันกลับมามองว่าอะไรที่เป็นโจทย์การวิจัย  ที่เป็นความต้องการของชุมชนไทย หรือสังคมไทย หรือชนบางกลุ่มในสังคมไทยกันแน่
ดร.สุธี วัฒนศิริเวช
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
การที่เราจะทำโจทย์วิจัย แล้วตั้งเป้าไว้ว่าเป็นเรื่องของการตีพิมพ์ หรือเรื่องของ impact factor  บางครั้งไม่ได้ตอบปัญหาของสังคมจริงๆ ถ้าหากว่าเรามีเครือข่ายซึ่งเป็นปราชญ์จากชาวบ้านจริงๆ มาเป็นผู้ให้ความเห็น ผู้ชี้สะท้อนปัญหาจริงๆ คิดว่านักวิจัยเอง รุ่นใหม่ก็จะเห็นโจทย์ชัดขึ้น เพราะตอนนี้นักวิจัยรุ่นใหม่จะมองนักวิจัยรุ่นพี่ หรือว่ารุ่นพ่อ เป็นแม่พิมพ์ของเรา ถ้าหากนักวิจัยรุ่นใหญ่เน้นเฉพาะ เรื่องของการที่จะทำอย่างไรให้เราไปถึงจุดสุดยอดที่มองแต่ impact factor หรือ publication โดยที่ลืมเรื่องของหัวใจ ถ้าเรามองย้อนไปถึงเอ็นทรานซ์  เด็กๆ เขาอยากจะเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แล้วก็คณะที่ดีที่สุด  เพราะว่าเขาก็มองว่านั้นคือการประสบความสำเร็จ นักวิจัยรุ่นใหม่จะมองว่าการประสบความสำเร็จคือการไปสู่ ศาสตราจารย์ แต่ผมกลัวว่าปัญหาของสังคมของเราจะไม่ได้รับการแก้ไขครับ  ก็อยากจะฝากไว้กับการสร้างเครือข่ายตรงนี้ครับ
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมขอกล่าวชื่นชมท่านผู้ที่ทำงานตรงนี้ ว่าท่านเข้ามาช่วยต่อลมหายใจวงการวิจัยไทยได้ทันเวลา  พอดีครับ สองปีที่แล้วที่เราคุยกันว่า สกว.จะล้มไม่ล้ม  ตอนนี้เรามีเงินเข้ามาช่วยในโครงการที่ดี ๆ อย่าง คปก. ฉะนั้นขอชื่นชมมาก ประเด็นของผมคือขอให้เงินตรงนี้ลงมาถึงรุ่นเด็กๆ ด้วยครับ สมมติว่าผมอยากเป็น อาจารย์ คปก. คงไม่มีทางเป็นไปได้ง่ายๆ   เพราะว่าผมต้องมีรุ่นกลางที่สามารถสร้าง ปริญญาเอกได้ แต่ว่าเนื่องจากเงินตรงนี้เป็นโอกาสที่เราจะสามารถสร้างคนขึ้นมา สร้างพวกเราเอง อาจารย์บอกว่าจะทำให้เนินสูงขึ้น พวกเราในที่สุดเป็นเนินที่จะต้องถมหลุมให้ราชภัฎ  อยากให้เงินตรงนี้กระจายมาไม่ได้อยู่แค่มืออาจารย์ผู้ใหญ่บางคน หรือผู้บริหารบางคน เท่านั้น ขอบคุณครับ
ดร.เกษม เชตะวัน
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตกาฬสินธุ์ 
ผมมีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นที่  1 คือการถมหลุมดำทั้งหลาย โดยการเพิ่มปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาให้มากขึ้นนั้น ผมขอบคุณแทนราชมงคลและราชภัฎ ขอบคุณจริงๆ แต่ผมอยากเสนอว่าผมเห็นด้วยกับอาจารย์ประเสริฐกับอาจารย์สมชาติ  คนไม่อยากเรียนส่งไปเรียน ไปเรียนแล้วก็ไม่จบ  ประเด็นที่ 2 ควรจะเอาเด็กรุ่นใหม่มา refill  คนรุ่นเก่าที่จะจบไป จะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมมองว่าในเรื่องของงานวิจัยหรือพัฒนา  อย่าไปมองที่ impact factor อย่างเดียว  แต่มองว่า อันนั้นก็เป็น line หนึ่งที่ฝ่ายวิชาการของ สกว.ถนัด  แต่อีก lineหนึ่งผมอยากจะมองว่าจะทำอย่างไร  ที่จะปรับปรุงชีวิตของเกษตรกรจากรายได้ต่ำให้เพิ่มสูงขึ้น  โดยมีดัชนีชี้วัดอย่างชัดเจน อันนี้จะเป็นสิ่งที่เป็นทางเลือกให้กับทุกๆ คน ขอบคุณครับ
ดร.พิศิษฐ์ สิงห์ใจ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประเด็นแรกคือเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุตสาหกรรม  ผมอยากจะเสนออาชีพใหม่อันหนึ่งที่เงินนี้น่าจะช่วยได้ คืออาชีพเซลล์แมนขายความรู้ของนักวิชาการ  จากมหาวิทยาลัยสู่ปัญหาที่เกิดในสังคม คือ เขาจะเป็นผู้ใช้เวลาที่จะทำให้ปัญหานั้นแก้ได้หมายความว่าเขาจะเคาะประตูบ้านเลย  ตรงไหนมีปัญหาอะไรบ้าง  แล้วเขาต้องสามารถที่จะเอาความรู้จากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยไปแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านถึงหน้าบ้านเลย  แล้วต้องอาจจะใช้เวลาเป็น ปี สอง สามปี หรือกี่ปี ก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องแก้ให้เสร็จ แล้วใครคือผู้จ้าง ผู้จ้างก็อาจจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยงานของราชการ อันนี้ผมว่าน่าจะแก้ปัญหาของความรู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาช่วยได้  หมายความว่าเขาไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนั้นหรอก  แต่เขาควรจะรู้ว่าใครที่รู้ปัญหาเรื่องนี้  แล้วสามารถที่จะแก้ได้  ผมเชื่อว่ามีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาวิชาในเมืองไทย ถึงแม้ว่าจะไม่มีในเมืองไทย ก็น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เขาจะเป็นผู้เดินไปเดินมาหมายความว่าเชื่อมโยง  จนสามารถแก้ปัญหานั้นได้  ประเด็นที่ 2 เรื่องของ postdoc. จากต่างประเทศมาช่วยงานในบ้านเรา  อันนี้ผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง
ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เงินที่จะลงไปจะมีตั้งแต่ทุนขนาดใหญ่ที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งตั้งไว้ตั้งแต่ 40 ล้านบาทต่อทุน คือขนาดที่สูงสุด รองลงมาก็จะคล้ายๆ กับลักษณะของเมธีวิจัยอาวุโส เป็นเงิน  20 ล้านบาทต่อคนต่อ 4 ปี แล้วก็ลงมาที่ระดับอาจารย์อาจจะเป็นทุนทุกระดับที่ สกว.มี รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก  ลงไปถึง ทุน postdoc.  ซึ่งจะมีทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทุนการสร้างเครือข่ายก็คือการแลกเปลี่ยนทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ลงมาในระดับที่เป็นสร้างปริญญาเอก  เราแบ่งเป็น สามกลุ่ม ปริญญาเอกที่ส่งไปเรียนต่างประเทศ  ซึ่ง อาจารย์ภาวิช เน้นย้ำว่าเฉพาะที่สาขาที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งตัวเลขนี้จะใส่ไว้ในปีแรก แล้วจะค่อยๆ ลดลงใน  4 ปี ส่วนทุนที่เป็นลักษณะสร้างองค์ความรู้ในประเทศ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายๆ กับ คปก.  และให้มีทำปริญญาเอกต่างประเทศ  ตรงนี้สัดส่วนค่อนข้างสูง  แล้วก็ตัวเลขจะสูงขึ้นทุกปี  ปริญญาเอกส่วนหนึ่ง คือ ทุนปริญญาเอกในประเทศ   ดังนั้น ทุนมีค่อนข้างจะครบ มองภาพตรงนี้แล้ว แต่ละเครือข่ายจะเป็นลักษณะของ สกว. ย่อยๆ แต่ว่าจะ grant เฉพาะในภารกิจของตัวเอง  ของแต่ละเครือข่าย  หลังจากนั้นแต่ละเครือข่ายจะพยายามให้มีความเชื่อมโยง ระหว่างเครือข่ายที่อยู่ในกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง  ถ้าเป็นเครือข่ายคงเป็นเครือข่ายยุคใหม่ ไม่ใช่ในลักษณะที่ว่าไปสร้างกลุ่ม เข้ามาเฉพาะกลุ่ม  ในลักษณะนั้น
ศ.ดร.เกตุ กรุดพันธุ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สิ่งที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่เกิดขึ้นจากคณะทำงานเท่านั้น  หลายท่านที่มีประสบการณ์ได้ให้ข้อคิดเห็น ได้ให้คำแนะนำมาตลอด เกี่ยวกับการทำงานที่หลายท่านเป็นห่วงว่า สกอ.จะทำงานอย่างที่เคยผ่านมาหรือเปล่า คำตอบคือแนวคิดไม่ใช่ แนวร่วมจากองค์กรอื่น  แน่นอนจาก สกว. สวทช. หรือจากหน่วยงานอื่นๆ คงต้องมีการเสริมซึ่งกันและกัน สำหรับแนวการจัดการคงไม่ใช่แบบเก่า  และประสบการณ์จาก สกว. ที่หลายท่านได้กล่าวถึง คงได้นำมาใช้  ประเด็นสุดท้ายที่มีความสำคัญคือ โครงการนี้หลายท่านห่วงว่าจะสำเร็จหรือเปล่า  แน่นอนคำตอบอยู่ที่ทุกคนในที่นี้ ทุกท่านจะต้องมีส่วนว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ ขอบคุณครับ
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง
ผู้อำนวยการ สกว.
มีคนพูดถึง สกว.หลายครั้ง ในนามของ ผู้บริหาร สกว. ผมก็ได้เรียน อ.วันชัยและทีมงานไว้แล้วว่า มีอะไรที่ต้องการให้ สกว.เข้าไปช่วย หรือแลกเปลี่ยน หรือถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งที่ผิดที่ถูก ก็ยินดีอย่างยิ่ง คืองานที่ท่านพูดว่า แต่ละเครือข่ายเท่ากับ สกว. ย่อยๆ 1 อัน   แล้วก็ครอบคลุมตั้งแต่รากฐานขึ้นไปจนถึงงานวิจัยระดับอาวุโส รวมถึงงานวิจัยชุมชนซึ่ง สกว. ก็ทำอยู่ งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ก็มี เพียงแต่ว่า scale มันใหญ่มากขึ้นไป 20 เท่า  ประเด็นก็คงเป็นเรื่องของ scale up ว่าทำอย่างไรถึงจะมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันก็มีปริมาณพอที่ฝ่ายการเมืองจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนด้วย ผมพอเข้าใจว่ามันมีช่วง window of opportunity อยู่ ซึ่งเปิดและต้องใหญ่เพียงพอ จึงต้อง balance ให้ดี  ผมเชื่อมือคณะทำงานว่า ท่านเข้าใจเป็นอย่างดี  การ balance ระหว่างสองข้างว่าข้างไหนจะต้องทำอย่างไรถึงจะเหมาะสมกับเงื่อนไขเฉพาะกิจ ตอนนี้ผมคิดว่าทำให้โครงการได้รับอนุมัติก่อน  แล้วก็มีกรอบกว้างๆ แล้วมา work out รายละเอียดว่าทำอย่างไรให้ได้คุณภาพในเวลาที่มีอยู่ ผมคิดว่าพวกเราในห้องนี้คงจะพร้อมที่จะเข้าร่วมมือ แล้วก็ช่วยกันคิดต่อไปเป็นขั้นๆ ตอนนี้อย่าเพิ่งติเรือทั้งโกรน เพราะว่ามันมีแค่โกรนเท่านั้นเอง เรือน่าจะสวยมาก  ขอบคุณครับ
ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์
ประธานอนุกรรมการติดตามประเมินผลกองทุนอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
ผมกำลังห่วงว่า  ในปัญหาวิจัยและพัฒนา ท่านกำลังต้องการคำตอบ one way or the others  ที่ท่าน comment วันนี้ผมว่าทุกคนถูกแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาทั้งหมด  และต้องมาสังเคราะห์ ความจริงผมพูดมากกว่า 1 ครั้ง  ว่า กำลังห่วงว่าจะไม่มองวิจัยพื้นฐานมองแต่วิจัยประยุกต์  หรือมองถึง end use มันไม่ใช่เลย จะไปถึง end use ได้ พื้นฐานต้องแน่น 
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และที่ปรึกษาพิเศษ สกว.
โครงการนี้ในสายตาผมถือเป็นโอกาสที่จะช่วยกันทำให้บ้านเมืองของเราเคลื่อนไปข้างหน้า  งานแบบนี้ไม่ใช่งานง่าย มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และ pressure หลากหลายทาง pressure  หลายๆ ส่วนก็มาจากพวกเรากันเอง  ในโลกยุคสมัยใหม่  ยุคความรู้เป็นฐาน อุดมศึกษาต้องใหญ่  เล็กไม่ได้ ของเราเผอิญมันใหญ่เร็วเกินไป กระโดดเร็วเกินไป  จึงได้จำนวนหรือปริมาณ แต่คุณภาพมันหย่อน จึงต้องหาวิธีกระโดด ที่ อ.วันชัย เรียกว่า fast tract  นี่คือความท้าทาย เรากระโดดในเชิงปริมาณมาแล้วด้วยความจำยอม ต่อไปเราจะหาทางกระโดดในเชิงคุณภาพกัน ถ้ามองว่าการปรับระบบเช่นนี้มองในเชิงโอกาส ก็คือโอกาสของพวกเราที่เป็นรุ่นใหม่ที่จะเติบโตในการทำงาน  ปราชญ์ชาวบ้านสองคนมาช่วยเปิดมุมมองให้เราเห็นว่าโอกาสของเรามีอยู่ในหลายที่ ตัวโจทย์วิจัยมันไม่ได้หายากเหมือนอย่างที่เราเคยคิดกัน แล้วคณะทำงานก็พยายามจะไปหาเงินหาโอกาสมาให้เราทำงาน  เป็นการมองในเชิงบวก  เรื่องแบบนี้ตัว management เป็นตัว key เลย management จะมีปัจจัยต่างๆ มาก ผมจะเขียนให้ความเห็นใน Blog นะครับ http://gotoknow.org/thaikm แต่ถ้าให้ความเห็นตอนนี้ได้เร็วๆ ข้อที่ 1 คือ ให้รีบเจรจากับ โครงการต่างๆ ที่ เป็น success story ในบ้านเมืองของเรา   แล้วก็หาทางที่จะโยงต่อยอดคุยกันโดยเร็ว ข้อที่ 2 ต้องหาทางส่ง message  ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ของฟรี สำหรับใครที่อยากเข้ามาตักตวงแต่เป็นเรื่องของการทำให้บ้านเมืองของเราเจริญ  เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนจะเข้ามาเรียนทำ ปริญญาเอก หรือเข้ามาทำวิจัย ทั้งหลาย นี้ไม่ใช่เงินที่มาถลุงเล่น เป็นเรื่องที่เราจะต้องช่วยกันรับผิดชอบ  ทรัพยากรในบ้านเมืองของเราซึ่งก็ไม่ได้มีมากมาย    เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยกันทำงานด้วยความตระหนักในความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง  ไม่ใช่วิธีการแบบที่เราเคยพูดกัน อย่างที่หมออภิวัฒน์แสดงความกังวลว่า ไปรวมตัวกันมา 5 คน 10 คน  ก็บอก 1 เครือข่าย คือแบบไม่มีคุณภาพ  ต้องหาวิธีทำให้มีคุณภาพ แล้วก็วิธีที่ง่ายที่สุดคือหาสิ่งที่มีคุณภาพมาต่อกัน ขอบคุณครับ
ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์
ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.)
กลุ่มนี้มีความตั้งใจดีมาก ผมชื่นชม แต่ในขณะเดียวกัน อ.วิจารณ์ บอกแล้วว่า management เป็นเรื่องสำคัญที่สุด  เราก็ต้องยอมรับว่าคนที่อยากให้มาดูแลเครือข่าย คนที่เหมาะสมที่สุดเขาก็ไม่ค่อยมา เราก็จะไปเจอพวกแดร็กคิวล่า เยอะแยะเลยที่อยากจะมา ผมขอเตือนเกี่ยวกับเรื่อง KPI กับการสัญญากับสังคม ตอนที่เราตั้งโครงการอัจฉริยภาพ  เราต้องการขอเงินจากหน่วยงานของรัฐบาล เราจะสร้าง อัจฉริยภาพ  ใน 20 ปี เราจะผลิตนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รางวัลโนเบล  แต่เมื่อมาคิดดูว่า 20 ปี เรายังไม่ตาย มันไม่มีโนเบล  เพราะฉะนั้นเราก็รีบเปลี่ยนตัวเลขเป็น 30 ปี    อันนี้ผมขอเตือนไว้อย่างด้วยใจจริงๆ ท่านคำนวณชีวิตตัวท่านด้วยว่าท่านอายุเท่าไร แล้วท่านสัญญาอะไร ขอบคุณครับ
รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล:
ผมขอ response อ.สุมาลี ที่แสดงความเป็นห่วงว่าโครงการไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบูรณาการของ วช.ที่ดำเนินการมาแล้วก็มีปัญหา หรือว่า โครงการ CRN ที่ดำเนินการมาแล้วมีปัญหาเช่นเดียวกัน ผมอยากจะกราบเรียนว่าทั้งสองส่วนนั้น อาจจะไม่ได้ลงมาสู่ฐานรากของผู้ปฏิบัติในลักษณะที่กลุ่มของพวกเราตระหนักว่าโครงการจะประสบความสำเร็จได้ฐานมวลชนในเรื่องของผู้ปฏิบัติจะต้องพัฒนากันไปด้วยกัน แล้วผมก็คิดว่า การตระหนักถึงความสำเร็จของ สกว. ที่ผ่านมาในเชิงบริหารจัดการเป็น key ของความสำเร็จของโครงการนี้ด้วย  วันนี้เป็นโอกาสอันดี  ที่ทั้งเมธีวิจัยอาวุโส และอาจารย์ทุกระดับมาอยู่ร่วมกัน ในนี้ และได้รับรู้ร่วมกัน  ว่าโครงการนี้กำลังจะเกิดขึ้นและกำลังจะดำเนินการอย่างน้อยเข้าใจในเรื่องของกรอบและกลไก ผมคิดว่ารายละเอียดทั้งหลายที่จะมีการดำเนินการต่อไป  ในลักษณะของระดมสมอง ประชาพิจารณ์  หรืออะไรทั้งหลายเพื่อให้ทุกอย่างมันเข้าที่  ในเชิงที่สอดคล้องกับการปฏิบัติจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ครับ
ย้ำอีกที ว่าตอนที่ ๑๒ – ๑๓ เป็นเอกสารถอดเทปการประชุมของ สกว.    ยังเป็นฉบับร่างอยู่
วิจารณ์ พานิช
๘ พย. ๔๘
หมายเลขบันทึก: 6652เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2005 15:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ต่อไปนี้เป็นความเห็นของ ศ. ดร. ยอดหทัย เทพธรานนท์

กลุ่มนี้มีความตั้งใจดีมาก ผมชื่นชม แต่ในขณะเดียวกันผมก็ขอให้ตระหนักไว้ตลอดเวลาถึงเรื่องสำคัญสองเรื่องซึ่งเรื่องแรก อ.วิจารณ์ ก็ย้ำมาเสมอว่า management เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด และหลายๆ คนก็คงเป็นห่วงเหมือนผมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนที่เราอยากให้มาดูแลเครือข่าย เพราะคนที่เหมาะสมมีความสามารถสูงเขาก็มีงานประจำที่ดีอยู่แล้วจึงไม่ค่อยอยากมา แต่ด้วยตัวเลขงบประมาณมากขนาดนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะเป็นสิ่งหมายปองของพวกแดร๊กคิวล่า ซึ่งจะเข้ามาหาผลประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง    อีกเรื่องหนึ่งก็คงเกี่ยวกับการสัญญากับสังคมซึ่งเราจำเป็นจะต้องทำให้ได้ในสิ่งที่เราสัญญาไว้ในข้อเสนอโครงการ ซึ่งในเรื่องนี้มีบางอย่างที่ผมเป็นห่วงมากๆ ว่าจะทำให้สำเร็จตามที่เสนอไว้ยากมาก
สำหรับภาระปัจจุบันที่ทางกลุ่มน่าจะทำทันทีก็คือลองมองย้อนกลับเกี่ยวกับโครงการที่เคยดำเนินมาแล้ว หรือที่กำลังดำเนินการอยู่ เช่น    โครงการ CRN      โครงการเงินกู้ ADB    หรือ          เครือข่ายวิจัยบูรณาการต่างๆ มากมายก่ายกอง ว่าที่ใช้เงินไปมหาศาลนั้นสัมฤทธิ์ผลอะไรบ้าง           มีจุดอ่อน จุดแข็งเกี่ยวกับการบริหารจัดการอย่างไรบ้าง มีอะไรที่โครงการใหม่นี้จะใช้เป็นบทเรียนทั้งด้านบวกและด้านลบได้บ้าง การมองย้อนกลับนี้ไม่ใช่การมองและสรุปโดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  แต่ควรจะต้องได้รับความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมให้มากที่สุด

ต่อไปนี้เป็น อี-เมล์ จาก รศ. ดร. วันชัย ดีเอกนามกูล  
กราบเรียนอาจารย์ทุกท่านครับ
ทีมงานขอรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการ Mega Project ที่ผ่านมาดังนี้ครับ :
1. การพูดคุยกับกลุ่มผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 7 เมื่อวันที่ 4 พย.
ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดีเกินคาดครับ ทุกศูนย์มีความเข้าใจในโครงการใหม่เป็นอย่างดี
และพร้อมที่เข้าร่วมในรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ ดังนั้นแรงต้านจากกลุ่มนี้จึงคาดว่าไม่มีอีกต่อไป
2. การพูดคุยกับกลุ่มวิจัย foresight 2 (รวมเกือบ 20 คน) ได้รับความสนใจในระดับสูง ทีมงาน
เราได้ส่งบทความทั้ง 11 บทของอาจารย์หมอวิจารณ์ให้กลุ่มนักวิจัยได้อ่านก่อนการประชุม
ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจในภาพรวมก่อนการประชุม
กลุ่มวิจัยเหล่านี้จะช่วยเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์โครงการ
โดยการใช้ powerpoint presentation ในชุดเดียวกัน
3. Powerpoint presentation ดังกล่าว ได้ส่งมาให้อาจารย์ทุกท่านได้ดูพร้อม e-mail
ฉบับนี้ด้วย รบกวนอาจารย์ทุกท่านได้โปรดพิจารณาดู และให้ความเห็นด้วยครับ
เนื่องจากจะเป็นฉบับที่ใช้เป็นกรอบของโครงการและกำลังจะใส่ลงไปใน web ของ สกอ. เพื่อการเข้าถึงข้อมูลครับ
4. ในระหว่างการดำเนินการจัดตั้งองค์กรนอกระบบเพื่อการจัดการโครงการตามที่ อ.ภาวิช
และ อ.หมอวิจารณ์ มีความเห็นร่วมกันอยู่นี้ ทาง สกอ.
จะจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อการขับเคลื่อนโครงการไปพลางก่อน ซึ่งคงจะจัดตั้งในไม่กี่วันข้างหน้าครับ
กรรมการชุดนี้จะมีความสำคัญมากครับ และคงจะมีการปรึกษาหารือกับอาจารย์ผู้ใหญ่ในที่นี้ด้วยครับ
5. ในเรื่องงบประมาณ ปี 2549 ได้ตั้งไว้ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบไปด้วยทุน
วิจัยในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการที่จะเป็นการวางรากฐานสำหรับการขับเคลื่อนต่อไป ทางสำนัก
งบกล่าวว่าประสิทธิภาพการใช้เงินในปีแรกให้เกิดผลจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดสรรเงินในปีต่อๆไป
6. ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างๆ คณะต่างๆ และหลายกลุ่มวิจัยกำลังติดต่อเข้ามาเพื่อให้ไปนำเสนอใน
รายละเอียด รวมถึงขอส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาแล้วครับ
การขยับในขั้นต่อไปคงจะได้รับความสนใจมาก
7. เนื่องจากทีมงานบังเอิญอยู่กันพร้อมหน้าในวันจันทร์ที่ 14 พย. นี้
ทีมงานจึงขออนุญาตเรียนถามถึงความเป็นไปได้ที่จะพบอาจารย์ผู้ใหญ่ทุกท่านเพื่อปรึกษาหารือในช่วงบ่าย 16.00 น.
ขออภัยอย่างยิ่งครับสำหรับความฉุกระหุก แต่หากเวลาไม่ลงตัว ทางทีมงานจะขอนัดอีกครั้งหนึ่งครับ
อาจในรูปแบบกลุ่ม หรือพบแต่ละท่านก็ได้ครับ เนื่องจากทราบดีกว่าอาจารย์ผู้ใหญ่ทุกท่านมีภารกิจมากอยู่
จึงเรียนมาเพื่อรายงานความคืบหน้าในปัจจุบันเท่านี้ก่อนนะครับ
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ทีมงาน
หมายเหตุ อ. วันชัย ขอใช้ห้องประชุม สกว. เป็นสถานที่ประชุม
ต่อไปนี้เป็นความเห็นของ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ 
โดยทั่วไปเป็นโครงการที่น่าจะดี และสำคัญ
เป้าหมายที่ตั้งไว้ของ ป เอก สูงเกินไป ควรลดลงตามความเป็นจริง เมื่อคราว
กาญจนาภิเษก อ กำจัดตั้งประมาณ 1000 คนต่อปี แล้วก็ทำได้เพียงประมาณ 2-300
คราวนี้ตั้งประมาณ 2000 คนต่อปี คงได้จริงที่มีคุณภาพไม่น่าเกิน 500 แต่ที่น่า
เป็นห่วงคือจะมีดอกเตอร์แบบไม่มีคุณภาพเกลื่อนเมือง แล้วจะกั้นคนที่มีคุณภาพ
จริงที่มาทีหลัง เพราะฉะนั้นต้องระวังจุดนี้ให้มาก

ดร.พรพรรณ วีระปรียากูร

ขอแสดงความคิดเห็นร่วมกับศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์

ดิฉันเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้กำลังพลของชาติไทยมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แต่ปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่จะเห็นได้ว่า หลายสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศต่างพยายามนำจุดนี้มาเป็นธุรกิจ ต่างฝ่ายต่างเร่งผลิตดอกเตอร์ออกมาจำนวนมาก หรือแม้แต่ระดับมหาบัณฑิตออกมามาก และหลายครั้งที่ได้ยินจากผู้บริหารสถาบันการศึกษาในต่างจังหวัดหลายท่านกล่าวว่า "เรียนเพื่อปรับวุฒิ " ให้สามารถคุมลูกน้องได้  "เรียนโท-เอกไม่เห็นยากเลย พอจะทำปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ก้จ้าง..."  ซึ่งได้ยินบ่อยมาก และที่หนักไปกว่านั้น หลายคนที่กลับมาจากต่างประเทศจบดอกเตอร์มา แต่ประนามระบบการศึกษาในประเทศว่าด้อยพัฒนา ทำให้รู้สึกสะท้อนว่า แล้วเมื่อเค้ายังเล็กกันอยู่เรียนประถม มัธยม หรือระดับปริญญาตรี ปริญญาโทกันในประเทศไทย จากฐานที่มั่นคงตรงนี้ไม่ใช่หรือที่ทำให้เค้าเหล่านี้มีโอกาสได้ไปศึกษายังต่างประเทศ ดิฉันรู้สึกว่า ก่อนที่จะส่งคนไทยไปเรียนยังต่างประเทศเพื่อกลับมาสู่สังคมไทย บางครั้งอาจจำเป็นที่จะต้องพัฒนาจิตสำนึกในความเป็นไทย ในความเคารพต่อบูรพคณาจารย์ที่ประสิทธิ์ความรู้ในวัยเยาว์ให้เค้าเหล่านี้ด้วย ที่สำคัญที่เกือบจะรับไม่ได้คือ พอกลับมาได้สอนที่เดียวกับอาจารย์ที่เคยประสิทธิ์ความรู้ให้ในวัยเยาว์กลับดูถูกเหยียดหยามท่านเหล่านี้ว่า "โบราณ" "เต่า" "ไดโนเสาร์" "ไม่มีความเป็นสากล" ฟังแล้วรู้สึกหดหู่มากกับคำเหล่านี้ และยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การศึกษาระดับที่สูงขึ้นไม่ได้สอนให้คนบางกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันกำลังจะมาปฏิบัติหน้าที่พัฒนาประเทศ หลงเหลือความเป็น "คน" "คนไทย" ที่สมบูรณ์ทั้งกาย จิต สติปัญญา
ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ที่ควรลดปริมาณการสนับสนุนทุนให้เหมาะสมกับความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งมีมาตรการในการกำหนดให้ผู้ที่จะไปเรียนนั้นสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินไทยผืนนี้ด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท