บ้านสวนขวัญข้าว ๑๐ "แหล่งเรียนรู้บูรณาการศาสตร์ด้วยตนเอง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาชุมชน"


ผ่านไปปีเศษ พื้นที่บ้านสวนขวัญข้าว ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงดิน การห่มดินได้ผลอย่างยิ่งจริง ๆ  ดินชั้นล่างที่เหนียวเป็นตัง กลายเป็นดินเหนียวร่วน เหมือนมีรากไม้ รากหญ้า และมูลวัวผสมอยู่ ทำให้ร่วน (แต่จะยังไม่ซุย)


ความตั้งใจหลักของบ้านสวนขวัญข้าว คือ ให้สาวน้อย "ขวัญ" และ "ข้าว" มาเรียนชีวิตชาวบ้านเกษตรกร ช่วงปีที่ผ่่านมา ต้องถือว่าล้มไม่เป็นท่า หนูน้อยสองคนนี้ยังไม่อยากมาสวนเลย และนับจำนวนได้ไม่ถึง ๑๐ ครั้ง แต่พิจารณาถึงประโยชน์รองที่ร่างกายได้ออกกำลังและได้เรียนรู้ภาคปฏิบัติในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็ถือว่าคุ้มค่ากับเวลาสัปดาห์ละ ๑๐ ชั่วโมง 

ด้วยเหตุแห่งพระปฐมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐ พระนามว่า " พระปรเมนทรมหารามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิตติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามมินทราธิเบศราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" ที่ว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของอาณาราษฎร ตลอดไป" 

กอปรกับอดุมการณ์แห่งการสืบสานพระราชปณิธานแห่งในหลวงราชการที่ ๙ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เราได้เพียรทำมาอย่างต่อเนื่อง เห็นสมควรว่าควรมีการกำหนด "วิสัยทัศน์" "พันธกิจ" และ "ยุทธศาสตร์" เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบต่อไป ดังนี้ 

วิสัยทัศน์

เห็นสมควรว่า บ้านสวนขวัญข้าว ควรจะตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนจากภายในให้เป็นวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนต่อไป "เป็นแหล่งเรียนรู้บูรณาการศาสตร์ด้วยตนเอง เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญา เพื่อพัฒนาชุมชน"

พันธกิจ

พันธกิจ ๕ ประการที่ควรทำ อันจะนำไปสู่วิสัยทัศน์นั้น ได้แก่ 
๑) เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ภาคปฏิบัติ 
๒) เป็นศูนย์เรียนรู้และวิจัยบูรณาการศาสตร์ เพื่อพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญา และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน 
๓) เป็นแหล่งผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับ "ธุรกิจพอเพียง" 
๔) เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาการหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
๕) เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์

๑) เรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเองให้รู้จริง เข้าใจ และเข้าถึง 
๒) ส่งเสริมให้นิสิตหรือผู้สนใจจากหลากหลายสาขา มาศึกษาและวิจัยอย่างบูรณาการโดยเอาปัญหาจริง ๆ ของชุมชนเป็นฐาน (Community's Problem-based Learning, CPBL) 
๓) ส่งเสริมให้นิสิตมาทดลองผลิตสินค้า แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร สร้างสรรค์นวัตกรรม นำไปทดลองขายในโครงการ "ธุรกิจพอเพียง" 
๔) สร้างศาลาเอนกประสงค์เพื่อเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน  
๕) ส่งเสริมให้มีกิจกรรมฟังธรรมะและปฏิบัติธรรมร่วมกัน โดยเชิญครูบาอาจารย์มาเป็นผู้ให้คำแนะนำ

นี่คือ "ความฝัน" และ "เป้าหมาย" ที่จำเป็นต้องค่อย ๆ ก้าวไป ทำทีละขั้น แบ่งปันเท่าที่มี เพียรทำและธรรมทางต่อไป 

จึงประกาศไว้เป็นแนวทางครับ 

สรุปสั้น ๆ ที่สุด 

บ้านสวนขวัญข้าว จะพัฒนาตนเองไปสู่ "ศูนย์เรียนรู้บูรณาการศาสตร์เพื่อชุมชน" นั่นเอง 

หมายเลขบันทึก: 661673เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2019 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท