หน้าที่ ๔ ประการ ของงาน "ผู้ช่วยผู้จัดการชั้นเรียน" หรือ CMA (Course Manager Assistant)


ผ่านไปประมาณ ๑ ปี ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ วันนี้น้อง ๆ ฝ่ายงานเครือข่ายอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (มมส.) น่าจะพอเข้าใจมากขึ้นแล้วกับหน้าที่ CMA หรือ Course Manager Assitant หรือ "ผู้ช่วยผู้จัดการรายวิชา" หรือจริง ๆ ต้องเรียกว่า "ผู้ช่วยผู้ประสานงานรายวิชา"

ปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยมหาสารคามคือ "อาจารย์ผู้ประสานงาน"  เพราะผู้ประสานงานรายวิชาเป็นทั้ง "ผู้จัดการรายวิชา" "ผู้บริหารรายวิชา" และ "ผู้นำในการพัฒนารายวิชา" ผู้ประสานงานรายวิชาที่เห็นความสำคัญและเข้าใจจุดมุ่งหมายของรายวิชาอย่างแท้จริง จะพัฒนาการจัดการเรียนการสอนและหนุนให้เกิดการพัฒนาตนเองด้านการจัดการเรียนรู้ของอาจารย์ผู้สอนได้อย่างต่อเนื่อง

สำนักศึกษาทั่วไป ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเรียนรู้รายวิชาศึกษาทั่วไป จำเป็นต้องหนุนเสริม "ผู้ประสานงานรายวิชา" ให้สามารถทำงานการขับเคลื่อนรายวิชาไปสู่เป้าหมายของหมวดรายวิชาศึกษาทั่วไป จึงเห็นสมควรว่า ควรจะมีผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ผู้ประสานงานในการจัดการงานอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้

๑) งานประชุม

ทุก ๆ ภาคการศึกษา ทุกวิชาจะมีการประชุมอาจารย์ผู้สอนประจำภาคการศึกษา เพื่อพิจารณาผลการศึกษา ปรับแก้ไขรายวิชา เพื่อเป็นแนวทางดำเนินการต่อไปในการศึกษาถัดไป  ร่วมกันจัดทำ มคอ. ๕ พิจารณา มคอ.๓ ภาคเรียนถัดไป

งานการประชุมรายวิชานี้ เป็นภาระมากหากจะให้อาจารย์ผู้ประสานงานหรืออาจารย์ผู้สอนทำ หน้าที่นี้จึงควรมี CMA เข้ามารับผิดชอบ  เพื่อทำเอกสารและรายงานการประชุม จัดการดูและบริการให้อาจารย์ผู้ประสานงานและอาจารย์ผู้สอนได้ทำงานกันอย่างสะดวกขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการประชุม CMA จะสรุปส่งสื่อสารไปยังอาจารย์ทั้งทางตรงและทางการ ... นี่คืองานประการที่ ๑

นอกจากการประชุมประจำภาคการศึกษาแล้ว การประชุมอื่น ๆ ตามความต้องการของอาจารย์ผู้ประสานงาน  ก็ถือเป็นหน้าที่ของ CMA ด้วยครับ

๒) งานธุรการ

สำนักศึกษาทั่วไป (GE) เป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับคณะ มีภาระงานมอบหมายชัดเจน เช่นเดียวกับงานแต่ละส่วนของบุคลากร หน้าที่ CMA จัดอยู่ในส่วน "งานพัฒนาการเรียนการสอน" และ "งานเครือข่ายอาจารย์ผู้สอน"

"อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา" ถ้าเปรียบกับงานวิชาการของคณะ ท่านจะทำหน้าที่คล้าย ๆ ส่วนหนึ่งของหัวหน้าภาควิชา เมื่อจะส่งผลการศึกษา จะต้องลงลายมือชื่ออนุมัติในช่องเดียวกับหัวหน้าภาควิชาฯ  ในกรณีของวิชาเอก

ดังนั้น ในระบบปกติของการทำงานทั่วไป เมื่อผู้ประสานงานรายวิชา จะติดต่อธุรการกับสำนักศึกษาทั่วไป ท่านต้องทำเอกสารราชการ (บันทึกข้อความ) ผ่านไปยังภาควิชา ไปยังคณะ แล้วค่อยส่งมาหาสำนักฯ โดยระบุหน้าเรียนถึงผู้อำนวยการศึกษาทั่วไป ทำให้หนังสือต้องวิ่งอ้อมและเพิ่มภาระกับหัวหน้าภาควิชาและคณบดีโดยไม่มีความจำเป็นในกรณีที่เป็นเรื่องรูทีน 

CMA จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสานงานในการนี้  ช่วยทำบันทึกข้อความ เป็นส่วนราชการของสำนักศึกษาทั่วไปเอง ไม่ต้องวิ่งไปผ่านภาควิชาและคณะ เรียนถึงผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป ให้อาจารย์ผู้ประสานงานเป็นผู้ลงมือชื่อส่ง ผ่านรองผู้อำนวยการที่รับผิดชอบฝ่ายที่ดูแลงานของ CMA ไปยังผู้อำนวยได้เกษียนส่งต่อไปยังฝ่ายดำเนินการต่อไป

บันทึกข้อความที่ต้องช่วยทำบ่อย ๆ ได้แก่  บันทึกข้อความขอส่งรายชื่ออาจารย์ผู้สอน ขอแก้ไขรายชื่อ เปลี่ยนแปลงภาระการสอน เป็นต้น

๓) งานผู้ช่วยพัฒนารายวิชา

แต่ละวิชาควรจะมีการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาอาจารย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นงานเชิงรุก โดยมากจะดำเนินการในลักษณะเป็นโครงการ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดยสำนักศึกษาทั่วไป ให้อาจารย์พัฒนาวิชาร่วมกัน เช่น  โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาตำราเรียน....  โครงการพัฒนาอาจารย์รายวิชา ... ฯลฯ

นอกจากการอำนวยให้เกิดโครงการดีที่ว่าแล้ว  อีกงานหนึ่งซึ่งถือเป็น ภาระของ CMA คือ การพัฒนาเว็บไซต์ของรายวิชา  CMA ต้องทำหน้าที่อัพเดทข้อมูล กิจกรรม และจัดการความรู้ที่เกี่ยวข้องมาไว้ในเว็บไซต์รายวิชา ให้เว็บไซต์รายวิชาเป็นหน้าต่างประตูสำหรับทั้ง "ครู" และ "นักเรียน" "อาจารย์" และ "นิสิต" สามารถเข้ามาอ่านและดาวน์โหลดข้อมูล (อัพเดท) ได้ทุกเมื่อ .... (CMA ทุกคนต้องให้ความสำคัญกับงานนี้  เมื่อเสร็จจากหน้างานใด ๆ ต้องมาใส่ใจกับเว็บไซต์เสมอ)

๔) งานประสานงานอาจารย์

ทำงานที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาตามที่อาจารย์ผู้ประสานงานต้องการ อำนวยความสะดวกทุกอย่างให้ท่านสามารถจัดการและขับเคลื่อนรายวิชาไปได้อย่างต่อเนื่อง

CMA จะเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ของรายวิชา และคอยติดตาม ประสานงานกับอาจารย์แต่ละท่าน คอยส่งข่าวสารที่เห็นว่าจำเป็นที่อาจารย์ในรายวิชาจำเป็นต้องทราบ ส่งข้อมูลที่สำคัญให้ คอยอธิบายถึงระบบและกลไกของการทำงานของสำนักศึกษาทั่วไป 

CMA จะเข้าใจในระบบและกลไก จนสามารถอธิบายถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้อาจารย์ฟังได้เสมอ

สรุปหน้าที่ของ CMA มี ๔ ประการได้แก่ ๑) งานประชุม ๒) งานธุรการ ๓) งานผู้ช่วยพัฒนารายวิชา และ ๔) งานประสานงานอาจารย์ผู้สอน 

สุดท้ายนี้ขอฝากน้อง ๆ CMA ทุกคน และแจ้งท่านอาจารย์ผู้ประสานงานทุกท่านโปรดทราบครับ

หมายเลขบันทึก: 661667เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หน้าที่ชัดเจนมากครับ ;)…

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท