สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๓. เชื่อมโยงศิษย์ทุกคนสู่ความสำเร็จ


บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๓ นี้เป็นบันทึกที่สองใน ๓ บันทึกภายใต้ชุดความคิดว่าด้วยความสัมพันธ์กับศิษย์ (relational mindset)    และตีความจาก Chapter 2  Connect Everyone for Success   

ความเป็นจริงที่สำคัญยิ่งคือการมีกัลยาณมิตรทำให้คนมีความสุขยิ่งกว่ามีเงิน

กฎ ห้าสิบ-ห้าสิบ

ปัจจัยทางสังคม ๒ ประการ มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน ได้แก่  (๑) ความรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชั้นเรียน  (๒) การเรียนแบบร่วมมือกัน 

ดังนั้น จึงมีผู้เสนอว่า เพื่อความสำเร็จในการเรียน ควรแบ่งเวลาในชั้นเรียนออกเป็น ๒ ส่วนเท่าๆ กัน   เป็นเวลาสำหรับสังคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนครึ่งหนึ่ง  และอยู่กับตนเองครึ่งหนึ่ง    นี่คือกฎห้าสิบ-ห้าสิบ

ในบางวันการแบ่งเวลาอาจเป็น ๙๐ – ๑๐   หรือ ๘๐ – ๒๐   แต่ในภาพรวมของแต่ละสัปดาห์ควรเป็น ๕๐ – ๕๐  

มีผลงานวิจัยยืนยันคุณค่าของการมีเพื่อนคอยช่วยเหลือกันในการเรียน    นักเรียนที่มีผลการเรียนดี เป็นคนที่มีและให้คุณค่าของการมีเครือข่ายของเพื่อนคอยช่วยเหลือกัน    ในขณะที่นักเรียนที่เรียนอ่อนมักไม่มีเครือข่ายเพื่อน    ผลงานวิจัยวัด effect size เทียบระหว่างผลการเรียนของนักเรียนที่ถนัดเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อน กับนักเรียนที่เรียนคนเดียว เท่ากับ ๐.๕๙ (ตัวเลขที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือคือ ๐.๔๐ ขึ้นไป)  

ตัวอย่างกิจกรรมในช่วงเรียนร่วมกับเพื่อน กับเรียนคนเดียว อยู่ในตารางข้างล่าง

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์มีอิทธิพลทั้งจากพันธุกรรมและสภาพสังคมแวดล้อม ปฏิสัมพันธ์พัฒนาขึ้นตามอายุ ตั้งแต่แรกเกิด ดังนี้

  • อายุ ๐ - ๓ ปี   ความสัมพันธ์อยู่ที่คนรอบตัว (แม่  พ่อ  พี่เลี้ยง)
  • อายุ ๔ - ๙ ขวบ   ตอนอายุ ๔ ขวบ ความสนใจของเด็กอยู่ที่พ่อแม่ ไม่สนใจเพื่อน    แต่เมื่อโตขึ้น พันธุกรรมกำหนดให้มีความต้องการเพื่อน  ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงเพื่อนๆ
  • อายุ ๑๐ - ๑๗ ปี   ตอนเรียนชั้น ม. ต้น เด็กไม่เพียงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม   แต่ยังต้องการแสดงเอกลักษณ์หรือตัวตนของตนด้วย    ถึงตอนนี้นักเรียนควรได้เรียนรู้ความสำคัญของการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependency) จากเวลาเรียนแบบร่วมมือกันกับเพื่อน    ครูต้องรู้วิธีให้ทำกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนสร้างทักษะการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันขึ้นในตน  รวมทั้งเห็นคุณค่าของการพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน    ผลงานวิจัยบอกว่า effect size ของการเรียนแบบทีม ๔ คน มีค่าเท่ากับ ๐.๖๙  

วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณลักษณะช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน (interdependency) มีดังต่อไปนี้

    กลุ่มและทีมร่วมงาน

               การจัดกลุ่มและทีมร่วมกันทำงาน ที่จะเกิดผลพัฒนาสปิริตของการทำงานเป็นทีม  เกิดการเสริมแรงซึ่งกันและกัน (synergy)   และเกิดมิตรภาพ  ต้องมีหลักการและวิธีการ ดังต่อไปนี้

  • มีการตั้งชื่อทีม คำขวัญประจำทีม  โลโก้  กองเชียร์  และการเฉลิมฉลองความสำเร็จ    เพื่อสร้างสถานะทางสังคม และความเป็นทีม
  • มอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนของทีมมีบทบาทเฉพาะและมีความหมาย     ซึ่งจะช่วยให้เกิดสภาพช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน   ตัวอย่างของบทบาท เช่น ผู้สรุป  ผู้นำ  ผู้ฝึก  ผู้นำการเคลื่อนไหวร่างกาย  ผู้เติมพลัง  ผู้เล่าเรื่องขบขัน  ผู้เดินสาร
  • กำหนดกติกาสำหรับพฤติกรรมในกลุ่ม    เพื่อให้นักเรียนมีพฤติกรรมกลุ่มที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบ    โดยกำหนดกติกาสำคัญ ๓ ประการ ที่ทุกทีมต้องปฏิบัติ เช่น (๑) ให้ความร่วมมือต่อชั้นเรียน  (๒) ตรงต่อเวลา  (๓) ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 
  • ให้ทีมทำงานร่วมกันทุกวัน    มีกำหนดการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกวัน   ให้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน    หมุนเวียนหน้าที่กัน

เพื่อให้กลุ่มและทีมร่วมงานมีประสิทธิผลสูง ครูควรโค้ชผู้นำทีม แล้วให้ผู้นำทีมไปโค้ชเพื่อนอีกต่อหนึ่ง    ผลงานวิจัยบอกว่า การที่นักเรียนไปสอนเพื่อน มี effect size 0.74   

    เกลอร่วมเรียน(study buddy)

               ในตอนต้นปีการศึกษา หรือต้นเทอม จับคู่ให้นักเรียนเป็นเกลอร่วมเรียน ช่วยเหลือกัน    มีการแลกเบอร์โทรศัพท์และอีเมล์กัน   โดยครูบอกว่า ทั้งคู่ต้องช่วยเหลือกัน ให้ทั้งตนเองและเพื่อนประสบความสำเร็จในการเรียนด้วยกัน   

              วิธีการจับคู่ ต้องให้ได้คู่ที่เป็นคน “คอเดียวกัน”    มีความสนใจหรือเป้าหมายชีวิตคล้ายๆ กัน    โดยครูให้เขียนเรียงความสั้นๆ บอกความสนใจ ความคลั่งใคล้    แล้วครูนำมาแยกกลุ่ม    เพื่อจัดให้นักเรียนได้เกลอที่มีจริตคล้ายกัน ไปกันได้

              ในกรณีที่คู่เกลอมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ เขาไม่แนะนำให้เปลี่ยนคู่    แต่ให้ใช้วิธีการเยียวยา หรือแก้ความขัดแย้ง  ๕ ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

  1. 1. “ฉันรู้สึก”   บอกความรู้สึกของแต่ละฝ่าย เช่น “ฉันรู้สึกท้อและขาดเพื่อน เมื่อเธอไม่พูดในช่วงเวลาสำหรับเกลอร่วมเรียนปรึกษากัน”
  2. 2. “เมื่อเกิดสิ่งนั้นขึ้น”  บอกเหตุการณ์ที่สะท้อนปัญหา เช่น “เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ เราไม่ได้แก้ปัญหาหรือเรียนสิ่งที่ต้องเรียน    เมื่อวานนี้ ฉันต้องการความช่วยเหลือในชั้นเรียน”  
  3. 3. “ฉันต้องการ”   บอกความต้องการ เช่น “ฉันอยากรู้ว่า เราสามารถทำงานร่วมกันได้  ใช่ไหม”
  4. 4. “ฟัง”   ถึงตอนนี้ ฝ่ายพูดก่อน (ตาม ๓ ข้อข้างบน) ฟังอีกฝ่ายหนึ่งพูดบ้าง  ตาม ๓ ข้อข้างบน 
  5. 5. “ทบทวนและแก้ไข”   ร่วมกันเสนอแนวทางทำงานร่วมกัน ต่างจากเดิม เช่น  “เพื่อให้เราทำงานร่วมกันได้   เราเปลี่ยนวิธีทำงานเรื่อง ... ให้ต่างไปจากเดิม    ในแต่ละครั้งที่ทำงานร่วมกัน   แล้วดูว่าได้ผลอย่างไร”  

เขาแนะนำให้เกลอร่วมเรียนนั่งติดกันในห้องเรียน    แชร์สาระเรียนรู้ซึ่งกันและกัน    และทำหน้าที่เชียร์หรือให้กำลังใจซึ่งกันและกัน   และคอยเอาใจใส่ความก้าวหน้าในการเรียนของอีกฝ่ายหนึ่ง    โดยอาจนำไปหารือกับครูหรือพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย    หลังจากมีผลการทดสอบออกมา ควรให้เวลาเกลอร่วมเรียนได้ปรึกษากัน              

   นักเรียนพี่เลี้ยง(student mentor)

             เป็นการให้คำแนะแนว  กำลังใจ  และภาวะผู้นำแก่นักเรียน โดยนักเรียนชั้นโตกว่า หรือโดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัย    ได้ประโยชน์ทั้งตัว mentor (ผู้ให้คำปรึกษา)  และ mentee (ผู้รับคำปรึกษา)    

              การให้คำปรึกษามักเน้นเรื่องวิธีการเรียน  เรื่องทางสังคมกับเพื่อนๆ ในโรงเรียน   เรื่องปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว  และในชุมชน    อาจรวมไปถึงติวเต้อร์ในเรื่องวิชาความรู้   

              มีงานวิจัยบอกว่าการมีกิจกรรมพี่เลี้ยงโดยนักเรียนด้วยกันเอง  ช่วยให้พัฒนาการของนักเรียนดีขึ้น ทั้งด้านการเห็นความสำคัญของตนเอง (self-esteem)  ความตั้งใจเรียน  ความประพฤติ  และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (กับพ่อแม่  พี่เลี้ยง  และเพื่อนๆ)   

     หุ้นส่วนชั่วคราว

               อาจเรียกว่า หุ้นส่วน ๖๐ วินาที     ทำโดยบอกให้นักเรียนยืนขึ้น    บอกให้เริ่มเดินเมื่อเพลงดังขึ้น    เดินไปแตะเก้าอี้อย่างน้อย ๔ ตัว    เมื่อเพลงหยุดก็หยุดเดิน และชี้ไปที่คนที่อยู่ใกล้ที่สุด ว่านี่คือหุ้นส่วนชั่วคราว    และเริ่มคุยกันเรื่องที่กำลังเรียน   กำลังทำกิจกรรมกลุ่ม หรือกำลังอภิปรายกัน    คู่ไหนคุยกันเสร็จก็ให้ยกมือขึ้น    เมื่อเสร็จทั้งชั้นให้กล่าวขอบคุณหุ้นส่วนโดยเรียกชื่อ    แล้วจึงกลับไปนั่งที่เดิม 

              เป็นกิจกรรมที่ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ    ลดความเครียดหรือความขัดแย้งในกลุ่ม หรือทีมร่วมงาน     

วิจารณ์ พานิช

๑๔ เม.ย. ๖๒

   

หมายเลขบันทึก: 661562เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2019 19:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2019 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท