ตามเก็บวันเวลา : พระราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐


๒  เมษายน ๒๕๖๒

เรียนพบท่าน อ.เกษม วัฒนชัย ที่นำเนียบองคมนตรี เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย

วันนี้มีเรื่องมาเล่าให้ฟัง โรงเรียนวัดรางบัวเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเขตชุมชนแออัด ในกรุงเทพฯ  ครอบครัวมีต้นทุนต่ำมาก เราเข้าไปทำกิจกรรม parental involvement ในการพบกันครั้งแรก มีเก้าอี้วางไว้ ๓ ตัว ให้ แม่ ครู และเด็กนักเรียน นั่ง  แม่บอกว่าเป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องดูแลเด็ก / ครูบอกว่าหน้าที่ของพ่อแม่ก็ต้องดูแลเด็ก ทำไมไม่ดู / เด็กนักเรียนก็บอกว่าทำไมแม่กับครูไม่เข้าใจหนู ต่างฝ่ายต่างโทษกัน

พอเราทำกิจกรรมนี้ไปเรื่อยๆ ทั้ง ๓ ฝ่ายหันมากอดกันแล้วร้องไห้ แต่เป็นการร้องไห้เพราะความเข้าใจ หลังจากนั้นการแก้ปัญหาก็จะเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างขอบคุณกัน

..........................................................................

อีกแห่งหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังคือโรงเรียนบ้านเขาขวาง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

โรงเรียนนี้สอนให้เด็กมีความรู้ ทำงานเป็น และมีอาชีพ ในการทำงานกับเพื่อน ๔-๕ คน ทำให้ได้รู้จักขั้นตอน มีวิริยะ อุตสาหะ รู้จักนิสัยเพื่อน สิ่งเหล่านี้สอนให้เด็กรู้จักได้ด้วยการลงมือทำ

  • ชั้นอนุบาล ๑ - อนุบาล ๒ เด็กเพาะถั่วงอก ได้กิน ได้ขาย ได้เก็บออมเงินเอาไว้เรียนต่อชั้นมัธยม ครูจะนำเงินที่ได้มาไปฝากธนาคารเอาไว้ให้
  • ชั้นประถม ๑ เพาะเมล็ดทานตะวัน จะเพาะแบบถั่วงอก หรือจะเพาะให้เป็นต้นโตเลยก็ได้ เด็กเขาเคยรู้จักวิธีเพาะเมล็ดมาก่อนแล้ว
  • ชั้นประถม ๒ ปลูกผัก
  • ชั้นประถม ๓ เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ย
  • ชั้นประถม ๔  เพาะเห็ด
  • ชั้นประถม ๕  เลี้ยงปลา
  • ชั้นประถม ๖ เลี้ยงไก่

นี่เป็นมาตรฐานอาชีพที่เด็กต้องผ่าน และได้ประสบการณ์สร้างอาชีพ อยู่โรงเรียนนี้ ๘ ปีได้ ๗ อาชีพ ถ้าอยากฝึกอาชีพอื่นให้ไปขอครู บางคนมาบอกว่าอยากทำคุ้กกี้ ครูก็ไปติดต่อหาวิทยากร และไปหาคนมาบริจาคตู้อบขนม

..........................................................................

โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งเป็นโรงเรียนบนดอย มีครูอยู่ ๑๒ คน เป็นครูพื้นราบหมดเลย ไม่มีใครรู้เรื่องของท้องถิ่น จะให้ทำหลักสูตรท้องถิ่นไม่มีใครทำเป็น ผมขอครู ๔-๕ คนที่มีใจอยากศึกษาเรีนยนรู้ แล้วเอานักวิชาการจากเชียงใหม่ขึ้นไปบนดอย ให้ไปดูครู ๔-๕ คนนี้เขียนหลักสูตรท้องถิ่นร่วมกับวิทยากรจากท้องถิ่น สุดท้ายครู ๔-๕ คนนี้ได้เป็นครูดีเด่นเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นระดับชาติ

โรงเรียนต้องทำงานกับอุดมศึกษาเพื่อขยายศักยภาพของตัวเอง ศักยภาพของระบบมีอยู่ แต่ใช้กันไม่เป็น ชนบทบ้านเราร่ำรวยมากทั้งทางด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความร่วมมือ ที่ผู้ปกครองอยากมาช่วยโรงเรียนก็เพราะว่าเขาเห็นว่าโรงเรียนกำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง


หน้าที่ของโรงเรียน คือ สร้างโอกาส สร้างสิ่งแวดล้อม สร้าง platform ไว้ให้เด็ก

มีนักจิตวิทยาเคยทำการศึกษาปัจจัยว่าทำไมเด็กบางคนจึงประสบความสำเร็จได้มากกว่าเพื่อนในชั้นเดียวกัน พบว่ามีปัจจัย ๒ ตัว ที่มีความสำคัญคือ โอกาสที่ผู้ใหญ่ให้ และความพยายามของเด็กคนนั้น

เด็กที่มีโอกาสเข้ามาสู่ platform ที่โรงเรียนสร้างขึ้น เขาก็จะได้รับการปลูกฝังในแนวทางของโรงเรียนแบบนี้ ในความคิด ความเชื่อแบบนี้ อันนี้คือโอกาส

ส่วนเข้ามาแล้วจะประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความพยายามของเด็ก ถ้าเด็กพยายาม มากจริงๆ เขาก็จะได้รับผลดีอย่างเต็มที่จากโอกาสที่ผู้ใหญ่จัดไว้



หน้าที่ของผู้ใหญ่ คือ ทำให้เด็กได้เจริญเติบโตตามศักยภาพจนถึงขีดสุดของชีวิต ให้เขาได้ไปตามความฝันของเขา เด็กไทยมักไม่ค่อยมีฝัน แต่เขาจะไปได้สุดๆ หากได้รับโอกาส


สร้างจุดเปลี่ยนของเด็กไทย


ฝรั่งมีคำอยู่คำหนึ่งคือ easy money คือเงินที่หามาได้ง่ายๆ ไม่ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ ที่คนไทยนิยมมากมีอยู่ ๓ วิธี  ๑ คือ คอร์รัปชั่น  ๒ คือ เล่นหวย ๓ คือ ขายยา หรือขายตัว

เราต้องชวนเด็กสร้างนิสัยใหม่ ให้รู้จักทำงาน ให้รู้จักเก็บออมเงิน ถ้าทำได้สำเร็จ จุดนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเด็กไทย ที่ต่างไปจากรุ่นก่อน ที่วันๆ เอาแต่เล่นหวย เล่นบอล ค้ายา 


พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวง รัชกาลที่ ๑๐

การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน ๔  ด้าน

  • มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีความรู้ความเข้าใจในชาติ บ้านเมือง และภูมิลำเนาของตน โรงเรียนให้นักเรียนทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจ ๑ ชั้นปี ๑ โครงการตามความสนใจ ปีละ ๒ เรื่อง
  • มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม โรงเรียนให้นักเรียนทำ ๑ ชั้นปี ๑ โครงการความดี
  • มีงานทำ มีอาชีพ โรงเรียนให้นักเรียนทำ ๑ ชั้นปี ๑ อาชีพ
  • เป็นพลเมืองดี

ในเรื่องการเป็นพลเมืองดี สมเด็จพระเทพรัตน์ทรงนิยามไว้แบบนี้ว่า “เห็นอะไรจะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ” พระองค์ท่านทรงขยายความว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงยึดมั่นในหน้าที่ คือทำหน้าที่ส่วนพระองค์ และหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย ถ้าอยู่กับพระราชวงศ์ก็ทรงเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระพี่นางฯ  เป็นพระราชบิดา ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี  หน้าที่ที่สอง คือ ทรงเป็นพลเมืองไทย เป็นพลเมืองดี คือเห็นอะไรที่ทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ ถ้าคนไทยทุกคนทำตรงนี้ประเทศไทยเข้มแข็งแน่นอน

ถ้าเราสอนลูกเรา สอนลูกศิษย์เราให้เป็นพลเมืองดี นิยามนี้สั้นมาก แต่ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งเรื่องการกุศล เรื่องจิตอาสา

ถ้าเราสอนให้เด็กรู้จักทำโครงการร่วมกัน เขาจะเข้าใจกัน ความรุนแรงจะเกิดน้อยลง

พระบรมราโชบายทั้ง ๔ ข้อนี้เอาไปทำได้ (doable) จะทำเป็นโครงงานกลุ่มก็ได้ ทำคนเดียวก็ได้ หรือจะให้เด็ก ครู และผู้ปกครองร่วมกันคิดก็ได้ว่าจะทำตามพระราโชบายอย่างไรให้เกิดผล

   



ความเห็น

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยโปรดได้ดลบันดาลให้ดวงวิญญาณของครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ ด้วยเทอญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท