ศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐกับมหาจุฬาฯ เขียนโดย พระพรหมบัณฑิต


 ศาสตราจารย์พิเศษจำนง ทองประเสริฐ


         ตลอดเวลา ๙๐ ปีในชีวิตของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต มีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยต่อเนื่องยาวนานถึง ๗๐ ปี  หมายความว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเปิดรับผู้เข้าศึกษาเป็นครั้งแรกในปี ๒๔๙๐ ก็ได้ท่านอาจารย์จำนงค์มาเป็นนิสิตรุ่นแรกคือเรียนในระดับเตรียมอบรม  แล้วผ่านอย่างรวดเร็วขึ้นระดับอุดมศึกษา จนเป็นพุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกในปี ๒๔๙๗ ถือว่าในช่วงที่เป็นนิสิตนั้น ท่านได้มีบทบาทสำคัญต่อมหาวิทยาลัยของเราเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตอนนั้นก็เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์  บทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นนิสิตก็คือเชื่อมประสานกับผู้บริหารได้เป็นอย่างดี  ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ สามารถจัดงานอนุสรณ์ของมหาจุฬาฯที่ลานอโศก ในวันที่ ๑๘  กรกฎาคม ถือว่าเป็นอนุสรณ์การเปิดเรียนเป็นครั้งแรกและก็ใช้เป็นวันบูรพาจารย์มาจนทุกวันนี้ ก็ทำให้เกิดการรวมตัวเกิดกิจการนิสิตที่เข้มแข็ง โดยผู้นำก็คือท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ หรือพระมหาจำนงค์ในยุคนั้น แล้วก็เมื่อท่านได้ศึกษาเล่าเรียนก็เป็นต้นแบบของผู้ใส่ใจในการศึกษาเล่าเรียน คือ ได้ทั้งเปรียญธรรม ๙ ประโยค แล้วก็ศึกษาในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในระยะเริ่มต้น ก็แสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถทำได้ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรสามารถเรียนได้ทั้งสองแผนกไปพร้อมกัน คือทั้งแผนกปริยัติธรรม แผนกบาลีและอุดมศึกษา คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  อาจารย์จำนงค์ได้ทำให้ดูเป็นแบบอย่าง

  สิ่งที่น่าสนใจในช่วงที่ท่านเรียนก็คือมีการเชื่อมความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยเฉพาะนายกสภา หรือสภานายกในสมัยนั้นได้เลือกนิสิตที่เรียนเก่ง ส่งไปเรียนที่ศรีลังกาและที่อินเดีย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่จบปี ๔ เหมือนกับส่งไปเชื่อมความสัมพันธ์และเรียนหนังสือไปพร้อมกัน  ตอนนั้นมีการทาบทามพระมหาจำนงค์ แต่ท่านไม่ไป เมื่อคิดอีกที ถ้าท่านไป ท่านก็ไม่ใช่พุทธศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ ๑ แล้ว ก็จะไม่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมองค์กรของมหาจุฬาฯ อย่างที่ท่านเป็น  มหาจุฬาฯจึงถือว่าโชคดีที่ท่านอาจารย์ตัดสินใจเรียนจนจบ แล้วก็เป็นต้นแบบของพุทธศาสตรบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จในทุก ๆ ด้าน

  เมื่อท่านเรียนจบแล้วก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารให้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัย  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ท่านได้เป็นสั่งการเลขาธิการ คือปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในช่วงนั้น  สิ่งที่ท่านได้วางแบบแผนที่สำคัญในช่วงปี ๒๕๐๐  คือ ๒๕ พุทธศตวรรษก็คือ การทำหลักสูตรของมหาจุฬาฯ ให้เป็นหลักสูตรสมัยใหม่แทนที่จะคิดวัดผลเป็นเปอร์เซ็นต์ก็วัดผลเป็นหน่วยกิต โดยทำหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ได้ทำหลักสูตรเป็นซีเมสเตอร์ (Semester) เป็นภาคการศึกษา วัดผลเป็นหน่วยกิต ถือว่าเป็นหลักสูตรแบบภาคการศึกษาระยะแรก ๆ ในประเทศไทยทีเดียว  อาจารย์ท่านได้วางระบบตรงนี้เอาไว้ แล้วก็เป็นที่มาของมหาวิทยาลัยของเราที่มีความทันสมัยปรับตัวกันต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบัน

          นอกจากนี้ในฐานะที่ท่านเป็นรุ่นพี่เป็นพี่ใหญ่ เมื่อท่านเข้ามาเป็นผู้บริหาร ท่านก็เป็นแมวมองคอยดูว่าใครมีหน่วยก้านดี รุ่นน้อง ๆ ที่น่าจะมาสืบต่องานในมหาวิทยาลัยได้ เรียกว่าส่งไม้ต่อ ๆ กันมา ในฐานะกัลยาณมิตร ท่านนิมนต์ท่านพระมหาเกี่ยว  อุปเสโณ  ซึ่งต่อมาก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว)  อุปเสนมหาเถระ  วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร  ซึ่งเป็นสหายธรรมกัน อยู่วัดเดียวกัน มาสอนที่มหาจุฬา ซึ่งตอนหลังเป็นผู้บริหารมหาจุฬา

          เมื่อท่านอาจารย์จำนงค์ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาจบกลับมา ท่านได้ติดต่อให้ พระมหาประยุทธ์ ปยุตโต หรือเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในปัจจุบัน  เข้ามารับงานสอนและงานบริหารมหาวิทยาลัยสืบต่อมา จึงทำให้มหาจุฬาฯมีตัวตายตัวแทนในยุคที่มีคลื่นลมสถานการณ์บ้านเมืองในช่วง ๒๕๐๓-๒๕๐๕ รุนแรง ก็ได้ท่านอาจารย์จำนงค์เป็นผู้ประสาน เมื่อท่านไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเยล ที่สหรัฐอเมริกา ก็ชื่อว่าเป็นหน้าเป็นตาให้กับคณะสงฆ์ไทย เพราะเกิดคำถามว่า จบมหาจุฬาฯแล้วไปเรียนต่อได้อย่างไร การไปเรียนในครั้งนั้นได้เพราะ ๑.มีมูลนิธิเอเชียสนับสนุน ๒.ท่านมีความรู้ความสามารถโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่จะเรียนต่อในสหรัฐอเมริกาได้ ท่านเรียนจนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเยล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาเป็นชื่อเสียงให้สังคมเห็นว่า ผลผลิตของมหาจุฬาฯจบแล้วสามารถไปเรียนต่อได้ทั่วโลก  แม้ว่าช่วงนั้นยังไม่มีการรับรองปริญญาก็ตาม  แต่คุณภาพของพุทธศาสตรบัณฑิตคับแก้วทีเดียว ถือว่าท่านอาจารย์ชูธงในการทำให้คุณภาพของบัณฑิตเป็นที่เชื่อถือเป็นที่ยอมรับ จนทำให้รุ่นน้อง ๆ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนมหาจุฬาฯให้จบ  แม้ว่าปริญญายังไม่ได้รับการรับรอง แต่มีความรู้สามารถที่จะศึกษาต่อได้ทั่วโลก อันนี้เป็นสิ่งที่ท่านอาจารย์จำนงค์ได้บุกเบิกเอาไว้ เป็นทางที่ท่านถากถางต่อไปถึงอเมริกา

          เมื่อท่านอาจารย์จำนงค์กลับมา ก็ได้บุกเบิกอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของการสอนเด็กและเยาวชน ถือว่าท่านเริ่มมาตั้งแต่ช่วงที่จบจากมหาจุฬาฯ ใหม่ ๆ โดยร่วมกับท่านอาจารย์พร  รัตนสุวรรณ ในช่วงปี ๒๕๐๐ สอนเด็กและเยาวชนจนประสบความสำเร็จ จนสามารถตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นเรียกว่า พ.อ.มจร ซึ่งก็เป็นผลงานมาจาก พระกวีวรญาณ หรือ พระมหาจำนงค์ ชุตินฺธโร ในยุคนั้นนั่นเอง ปัจจุบันได้ขยายสาขาไปทั่วประเทศ สร้างประโยชน์ไพศาลให้กับเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก

          แม้เมื่ออาจารย์จำนงค์ลาสิกขาไป สายงานของท่านก็ยังเกี่ยวข้องกับมหาจุฬาฯอยู่ โดยไปทำงานที่ราชบัณฑิตยสถาน โดยเฉพาะงานด้านวิชาการเกี่ยวกับการแต่งตำราทางด้านตรรกศาสตร์และปรัชญาตะวันตก  ตัวท่านเองก็มาช่วยบรรยายวิชาตรรกศาสตร์และก็ปรัชญาตะวันตกในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  และถือว่าเป็นต้นแบบของการสอนวิชาตรรกศาสตร์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ก็ว่าได้  ตรรกศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เขาก็ไม่กำหนดให้เป็นวิชาศึกษาทั่วไป เพราะว่าเรียนยาก แต่มหาจุฬาฯยุคนั้นด้วยบารมีของท่านอาจารย์ ทำให้การเรียนตรรกศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานหรือวิชาศึกษาทั่วไปได้ และเป็นการปูพื้นวิธีคิดให้กับนิสิตมหาจุฬาฯให้คิดเป็น เพราะตรรกศาสตร์สอนเรื่องคิด เมื่อคิดเป็นก็พูดเป็น ตอบโต้เป็น โต้วาทีไม่มีหลักตรรกศาสตร์ไม่ได้  มันก็เกิดยุคที่มีการอภิปรายมีการโต้วาทีอะไรต่าง ๆ สารพัด  เป็นวัฒนธรรมองค์กรของมหาจุฬาฯขึ้นมา มีนักพูดเกิดขึ้นมากมายในรั้วของมหาจุฬาฯ ก็เพราะการปลูกฝังวิธีคิดวิธีโต้วาทีโดยตรรกศาสตร์นี่เอง  เพราะฉะนั้นเราจึงมองเห็นว่า มหาจุฬาฯตั้งแต่นั้นมาผลิตนักพูดนักเทศน์ นักบรรยายที่มีชื่อเสียงมากมาย ก็เพราะเดินตามวิธีคิดแบบตรรกศาสตร์  นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังสอนในเรื่องของปรัชญาตะวันตก ที่เป็นเหตุให้ท่านเองได้เป็นราชบัณฑิตในด้านปรัชญา ซึ่งท่านเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ทำให้รุ่นน้องในยุคนั้นมองเห็นว่า คณะที่เป็นหลักเข้มแข็งของมหาจุฬาฯ คือ คณะพุทธศาสตร์โดยเฉพาะในเรื่องของพระพุทธศาสนาและปรัชญา  ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นอิทธิพลในด้านวิชาการของท่านอาจารย์จำนงค์นี่เอง และด้วยการที่ท่านปูพื้นฐานตรงนี้ จึงทำให้เกิดการตื่นตัวและไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น ในด้านภาษาไทยท่านอาจารย์ก็เป็นผู้ใฝ่รู้ในเรื่องนี้ ในฐานะเปรียญธรรม ๙ ประโยค  ท่านได้เผยแผ่ให้ความรู้ภาษาไทย  โดยเฉพาะในบัณฑิตยสถาน ในการชำระพจนานุกรมและอื่น ๆ งานด้านภาษาไทย ก็เลยกลายเป็นต้นแบบว่า มหาเปรียญสามารถเป็นผู้นำด้านภาษาไทยเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา  ในด้านวิชาการอื่น ๆ ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้ทิ้ง ทั้งในด้านของตรรกศาสตร์ ปรัชญา พระพุทธศาสนา และภาษาไทย ยังคงเป็นที่พึ่งของสังคมตลอดมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในวัด หรือในมหาจุฬาฯเท่านั้น นอกวัดนอกมหาจุฬาฯก็พึ่งพาท่าน

          สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ท่านอาจารย์จำนงค์ได้ทำในช่วงที่ลาสิกขาไปใหม่ ๆ คือ การรวมศิษย์เก่าเข้าด้วยกันแล้วตั้งเป็น “สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ” ทำให้คฤหัสถ์ทั้งหลายได้เกาะกลุ่มกัน ทำงานร่วมกันด้วยความเป็นกัลยาณมิตร โดยท่านอาจารย์เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯหลายสมัยและด้วยความเชื่อมโยงในฐานะที่เป็นศิษย์เก่าผนวกกับในฐานะที่เป็นอาจารย์ของมหาจุฬาฯ และเป็นบัณฑิตที่จบรุ่นแรก ๆ ทำให้ท่านอาจารย์ได้รับการยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริหาร จนก่อให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า วัฒนธรรมองค์กร ที่เราเรียกกันว่า เลือดสีชมพู

          มหาจุฬาฯไม่ได้เกิดจากคน ๆ เดียว แต่เกิดจากการหล่อหลอม วิถีชีวิต วิธีคิด และการเรียนการสอนจากหลาย ๆ ฝ่ายร่วมกัน ทำให้เกิดความรักสถาบัน ทำให้เป็นสิ่งที่พิเศษคือ การอยู่นิ่งไม่ได้ ขณะที่เรียนอยู่ก็ออกไปทำประโยชน์แก่สังคมเช่นเดียวกับรุ่นพี่ ๆ ตามแบบอย่างครูบาอาจารย์ และตามที่ท่านอาจารย์จำนงค์ทำประโยชน์แก่สังคมตั้งแต่ยังเป็นผู้บริหารตอนที่เป็นพระอยู่ สิ่งเหล่านี้ได้เป็นเรื่องที่ทำสืบ ๆ กันมา มหาจุฬาฯ จึงมีความโดดเด่นของการบริการวิชาการแก่สังคม เป็นที่พึ่งของสังคม ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัย “จัดการศึกษาพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม” ซึ่งท่านอาจารย์จำนงค์ได้ทำเป็นแบบอย่างในเรื่องเหล่านี้ คือ สอนให้รู้ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น ทำให้มหาจุฬาฯมีทิศทาง และจะเป็นทิศทางของมหาจุฬาฯที่เข็มแข็งยิ่งขึ้น อาจารย์ก็มีส่วนร่วมกับศิษย์เก่าและนักการเมืองผู้หวังดีทั้งหลาย ผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา พุทธศักราช ๒๕๒๗  ทำให้รุ่นน้องที่จบ พธ.บ.มีศักดิ์และสิทธิ์เป็นปริญญาตรีเรียกว่าไม่เป็นมหาวิทยาลัยเถื่อนอีกต่อไป  เพราะท่านอาจารย์นี่เองเป็นผู้ประสาน ด้วยความที่ได้รับการยอมรับในวงการทั่วไป แต่กระนั้น ผู้บริหารภายในก็บอกว่ายังไม่พอ  รับรองปริญญายังไม่น่าจะพอ น่าจะรับรองสถาบันด้วย ก็คือ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสถานภาพตามกฎหมายด้วย ก็เกิดการดำเนินการต่อเนื่องกันมา จากปี ๒๕๒๗ ก็มีการดำเนินการให้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ประกาศออกมาเป็นกฎหมายในปี ๒๕๔๐ หรือ พรบ. มหาวิทยาลัยที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีของมหาจุฬาฯอีก ที่ขณะกำลังขับเคลื่อนเพื่อให้มีการผ่านพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น ศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ หลายท่านเป็นสมาชิกวุฒิสภาพอดี ที่ขอกล่าวถึงมี ๒ ท่าน ซึ่งการส่งเข้าสภา การชี้แจงในกระทรวง ชี้แจงแก่นักการเมือง ชี้แจงแก่คณะรัฐมนตรี จนผ่านกฤษฎีกา เหล่านี้ผู้บริหารภายในมหาวิทยาลัยยังช่วยกันดำเนินการได้ แต่พอเข้าถึงสภาเพื่อพิจารณาต้องมีศิษย์เก่าคอยช่วย ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในวุฒิสภา โดยในสภาผู้แทนราษฎรตอนที่ พรบ.มหาวิทยาลัยเข้าสภา  ท่านอาจารย์ ดร.กุเทพ  ใสกระจ่าง ศิษย์เก่า มจร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่พอดี จึงช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้  พอไปถึงวุฒิสภาก็มีท่านอาจารย์จำนงค์  ทองประเสริฐ อยู่ตรงนั้นพอดี  จนทำให้ พรบ.ผ่านไปได้ในปี ๒๕๔๐  ทั้งหมดนี้ทำให้ได้เห็นบทบาทของท่านอาจารย์จำนงค์ที่มีคุณูประการในการผลักดันและขับเคลื่อนให้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สมกับที่ได้ฝันเอาไว้ในปี ๒๕๔๐ ซึ่งใช้เวลานานมาก แต่อาจารย์ก็อยู่กับมหาจุฬาฯ ทั้งในยามขึ้น ยามลง ในยามผิดหวังที่ พรบ.ไม่ผ่าน อะไรต่าง ๆ มาโดยตลอด

          เมื่อ พรบ.มหาวิทยาลัยสำเร็จออกมา ก็ต้องมีการวางระบบใหม่ ซึ่งตอนนั้นผู้เขียนเป็นอธิการบดี ได้ท่านอาจารย์นี้แหล่ะเป็นที่ปรึกษาอธิการบดี ให้คำแนะนำและไปนั่งอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย  คำแนะนำของท่านอาจารย์ทั้งในสภาและนอกสภา คนที่อยู่ใกล้ชิดจะรู้ว่าหลายเรื่องต้องอาศัยการตัดสินใจที่มั่นคงและตรงกับหลักการหรืออุดมการณ์ของมหาจุฬาฯ หลายครั้งทีเดียวที่มีการเปลี่ยนแปลงจนเรียกได้ว่า สมัยใหม่เกินไป จนห่างจากรากเหง้าของตัวเอง  ท่านอาจารย์ก็เป็นคนคอยค้าน คอยตะล่อมให้อยู่ในกรอบ ทำให้มหาจุฬาฯ ยังคงเอกลักษณ์ไว้เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้จนถึงปัจจุบัน คือ ไม่ว่าจะเรียนสาขาอะไรก็ตาม ต้องเรียนวิชาแกนพุทธศาสตร์และก็ต้องเรียนวิชาพระพุทธศาสนา บางช่วงก็ได้ยินท่านอาจารย์บ่นว่า ทำไมบางคณะเอาตรรกศาสตร์ออกไป ท่านบอกว่าอยากให้เรียนตรรกศาสตร์ มหาวิทยาลัยก็สนองท่าน มีอาจารย์หลายท่านกังวลว่าพออาจารย์จำนงค์สอนไม่ไหว หรือตามวิทยาเขตต่าง ๆ ใครจะสอนเพราะว่าตรรกศาสตร์สอนยาก อ่านหนังสือได้ แต่ท่องไปสอนไม่มีใครรู้เรื่อง ต้องมีสติปัญญา ปฏิภาณว่องไว ผู้เรียนเรียนแล้วสนุกก็มีแต่ที่ท่านอาจารย์จำนงค์สอนเท่านั้น  จึงมีการคิดว่า ให้อาจารย์จำนงค์เป็นอาจารย์ต้นแบบแล้วบันทึกเอาไว้ ท่านบรรยายเรื่องตรรกศาสตร์จบคอร์ส ก็บันทึกเอาไว้แล้วก็เผยแพร่ไป เรียกว่า วีดีโอออนดีมานด์ ท่านอาจารย์ได้ทิ้งตำราเป็นมรดกไว้มากมายทั้งปรัชญา พระพุทธศาสนา ตรรกศาสตร์ ภาษาไทยและอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เรายังไม่ได้เอามาศึกษากัน คือ ตำราแปลทั้งหลายที่ท่านแปลเอาไว้เป็นจำนวนมาก  มหาจุฬาฯจะต้องเอามาเผยแพร่กันต่อไป

          ที่กล่าวมานี่ถือว่าท่านอาจารย์จำนงค์เป็นเสาหลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากตั้งแต่เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จนถึงปี ๒๕๔๐ เป็นมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  ท่านอาจารย์เป็นผู้สร้างวัฒนธรรมองค์กร วิธีคิด วิธีทำงาน ที่ได้ยึดหลักที่ดีงาม อย่างเช่นเรื่องความกตัญญู ท่านเน้นมาก ท่านเป็นผู้มุ่งมั่นมากและในที่สุดก็สามารถผลักดันให้เปลี่ยนชื่อวันอนุสรณ์มหาจุฬาฯ ๑๘ กรกฎาคม เป็นวันบูรพาจารย์ ซึ่งต้องรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ในการเปิดเรียน ทั้งหมดที่กล่าวมา  มหาจุฬาฯถือว่าโชคดีที่มีศิษย์รุ่นแรกที่ได้ตัดสินใจและได้ทำในเรื่องสำคัญ ๆ อันนำมาสู่ความเจริญงอกงามของมหาจุฬาฯ ซึ่งถ้าท่านทำอย่างอื่นไม่ได้ทำอย่างที่กล่าวมา มหาจุฬาฯก็ไม่มีวันนี้ ในวัย ๙๐ ปีของท่านอาจารย์ ถ้าเราจะพูดถึงวันเวลาที่ท่านมีความสุข ก็คือสุขที่ท่านอยู่กับมหาจุฬาฯ ดังนั้นมหาจุฬาฯจึงมี “วันจำนงค์  ทองประเสริฐ”

          สรุปรวมความได้ว่า ทั้งชีวิตของท่านอาจารย์ เป็นชีวิตของครู ของกัลยาณมิตร เป็นผู้มีคุณธรรมสำคัญขององค์คุณกัลยาณมิตร ๗ ประการครบทุกข้อ นั่นคือ ปิโย น่ารัก ความน่ารักของท่านอาจารย์เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว  ครุ  น่าเคารพ ก็คือเป็นผู้มั่นคงในหลักการ หนักแน่นในความรู้ตามสายที่ท่านมีความเชี่ยวชาญ ภาวนีโย อบรมตน คือพัฒนาตนตลอดเวลา ทันสมัยตลอดเวลา สามารถให้ความรู้ความคิด สามารถที่จะนำมหาจุฬาฯได้  วตฺตา พูดให้ได้ผล ท่านเป็นนักพูดในวัยหนุ่มและในวัยที่เรียกว่ายังปราดเปรียว ท่านอภิปรายอะไรที่ไหนก็ตาม คนต้องตามฟัง และในการสอนของท่าน ท่านสอนสนุก  วจนกฺขโม  อดทนต่อถ้อยคำ ท่านอาจารย์ฟังลูกศิษย์ แล้วก็แม้กระทั่งคำวิจารณ์ใด ๆ ก็ตาม ท่านจึงเป็นคนที่ไม่ได้มีขันติอย่างเดียว ท่านมีโสรัจจะ คือความสงบเสงี่ยมสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา  มีความเคารพต่อพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระสงฆ์  ซึ่งถือเป็นคุณลักษณะที่น่ารักมาก  คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องที่ลึกล้ำได้ แน่นอนที่สุดไม่มีอะไรยากเท่าตรรกศาสตร์ ปรัชญา แต่ท่านสอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงเห็นว่าท่านอาจารย์ทำให้ผู้เรียนอยากเรียนตรรกศาสตร์อยากเรียนปรัชญา ก็ด้วยอิทธิพลของอาจารย์จำนงค์นี่เอง ที่ทำให้ผู้เขียนสนใจตรรกศาสตร์สนใจปรัชญาแล้วก็เรียนปรัชญาในที่สุด โน จฏฺฐาเน นิโยชเย ไม่แนะนำในทางที่ผิด  เรื่องอะไรที่ไม่ถูกต้อง ท่านไม่ประนีประนอม อะไรที่บูรพาจารย์ได้สานสืนต่อทำไว้ท่านไม่ลบล้าง อันนี้ท่านนึกถึง อปริหานิยธรรม ไม่บัญญัติในสิ่งที่โบราณท่านไม่บัญญัติ ไม่ถอนในสิ่งที่บัญญัติไว้ สมาทานประพฤติในสิ่งที่ท่านวางเอาไว้ ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องนี้และไม่แนะนำให้ออกนอกลู่นอกทาง จนทำให้มหาจุฬาฯยังเป็นมหาจุฬาฯและจะยังคงเป็นต่อไป และมหาจุฬาฯก็ถือว่าโชคดีที่มีปูชนียบุคคลนี้อยู่เป็นรัตตัญญูมาต่อเนื่องยาวนานคู่กับมหาจุฬาฯ ในระดับอุดมศึกษา ๗๒ ปี ก็ได้ท่านอาจารย์เป็นเสาหลักเป็นประทีปดวงหนึ่ง ที่จะต้องถนอมรักษาดูแล

          ในโอกาสที่ท่านอาจารย์เจริญอายุ ๙๐ ปี จึงเป็นวันแห่งความสุข เป็นวันแห่งความชื่นชมโสมนัส มองกลับไปข้างหลังก็เห็นสิ่งที่ดีงามมากมาย ทำให้เกิดความคาดหวัดว่าในอนาคตที่ดีกว่าก็จะรักษาสิ่งที่ดีงามที่มหาวิทยาลัยรับมาจากท่านอาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ  มหาจุฬาฯมีวันนี้ อย่างที่เป็นนี้ก็เพราะท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์  ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต  จึงถือว่าท่านอาจารย์ได้ทำบุญกุศลได้ทำคุณูปการแก่ศิษยานุศิษย์ชาวมหาจุฬาเป็นอย่างยิ่ง ขอตั้งจิตอธิษฐานว่าบุญกุศลที่ท่านอาจารย์ได้บำเพ็ญเองในฐานะครูบาอาจารย์และอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยนั้น จงอำนวยพรให้ท่านอาจารย์มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปในร่มธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของศิษยานุศิษย์และชาวมหาจุฬาฯ ไปอีกนานเท่านาน

พระพรหมบัณฑิต

เจ้าอาวาสวัดประยูรวงศาวาส

เจ้าคณะภาค ๒

กรรมการมหาเถรสมาคม

หมายเลขบันทึก: 661488เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2019 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2019 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท