เทา-งามสัมพันธ์ (ก่อนการเดินทาง : นครวัดนครธม)


ผมไม่รู้หรอกว่า นิสิตส่วนใหญ่จะมีความสุขกับการเรียนรู้ในครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ในฐานะของการดูแลกระบวนการเรียนรู้ของนิสิต ผมว่าผมทำถูกแล้วที่กำหนดให้มีเวทีเช่นนี้ – มิใช่ปล่อยให้นิสิตเดินทางไปสู่การเรียนรู้แบบไม่มีต้นทุนใดๆ ติด “หัวสมอง” ไปด้วย จนก่อเกิดเป็นความว่างเปล่า ล้มเหลว เปล่าเปลืองกับการลงทุนในตัวของนิสิต

วันนี้ (พฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562)  ผมและทีมงานเพียงไม่กี่ชีวิต จัดกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้แก่นิสิตโครงการ “เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 22” ที่กำลังจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 7– 13 กุมภาพันธ์  2562

โครงการเทา-งามสัมพันธ์ฯ  ปีนี้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นเจ้าภาพ  กำหนดพื้นที่เป้าหมายการเรียนรู้คู่บริการ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา  วิทยาเขตสระแก้ว  อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาสารภี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว  ปราสาทนครวัด นครธม เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา

และด้วยเหตุที่ต้องเดินทางไปทัศนศึกษา ณ ประเทศเพื่อนบ้าน  ผมและทีมงานจึงได้เรียนเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาติ มณีโชติ  (คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของประวัติศาสตร์อารยธรรมของกัมพูชา

กรณีการเลือกเฟ้นวิทยากรในครั้งนี้  ทั้งผมและทีมงานไม่ลังเลเลยสักนิดว่าควรจะเรียนเชิญ ผศ.สมชาติ หรือไม่  เพราะในชั่วโมงบินของการบรรยายเรื่องนี้ในมิติ “บันเทิงเริงปัญญา”  ไม่มีใครเกินท่านแน่ๆ  และเชื่อมั่นได้เลยว่า “นิสิตจะไม่ง่วงเหงาหาวนอน”  -

การบรรยายให้ความรู้ในวันนี้  ผมเรียกเองว่ากระบวนการ “ติดอาวุธทางความคิด”  ให้กับนิสิต  เพื่อให้นิสิตได้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสถานที่ที่ต้องไปศึกษาเรียนรู้  รวมไปถึงการซ่อนนัยสำคัญหลายอย่าง อาทิ  สร้างแรงบันดาลใจให้นิสิตตื่นตัวต่อการเรียนรู้  กระตุ้นให้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแหล่งข้อมูลต่างๆ  เพื่อเป็นข้อมูลในการนำไปปะติปะต่อกับสถานการณ์จริงในพื้นที่  หรือกระทั่งเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนิสิตต่างสถาบันทั้ง 4 สถาบัน

ใช่ครับ- ผมไม่ได้ถามนิสิต หรือเจ้าหน้าที่ก่อนว่า “ควรมีเวทีนี้หรือไม่”  ผมคิดเองเออเองว่า “จำเป็น-สำคัญที่จะต้องมี”  พร้อมๆ กับการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังวิทยากร และสื่อสารให้นิสิตมาร่วมฟัง  เช่นเดียวกับการฝากให้เจ้าหน้าที่ชวนนิสิตอื่นๆ  มาร่วมฟังด้วย 

ผมอยากให้ชวนนิสิตอื่นๆ มาฟัง  เพราะผมมองว่านี่คือโอกาสอันดีของการเปิดโลกทัศน์ใหม่ของผู้นำนิสิต  แม้นิสิตส่วนหนึ่งจะไม่ได้ร่วมเดินทางไปด้วยก็ควรเรียนรู้ไว้บ้าง  อย่างน้อยก็จะได้รู้เรื่องราวของประเทศเพื่อนบ้าน  หรือไม่ก็จะได้รู้ว่าเมื่อต้องไปจัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ  นิสิตควรต้องคำนึงถึงเรื่องราวของพื้นที่นั้นๆ ในมิติใดบ้าง

ซึ่งอย่างน้อยครั้งนี้ก็มีผู้แทนนิสิตจากเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม และเครือข่าย ๙ต่อBefore After

วันนี้ – ผศ.สมชาติ  บรรยายให้ความรู้อย่างมีชีวิต  แม้จะไม่ออกรสออกชาติมาก  แต่ยืนยันได้ว่าการบรรยายของท่าน “มีชีวิต” อย่างมาก  ได้ความรู้ในแบบที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย  ได้ความรู้ในเชิงเนื้อหา  วาทกรรม และอื่นๆ อย่างน่าชื่นใจ

การบรรยายครั้งนี้  มิใช่เจาะจงแต่เฉพาะประวัติศาสตร์อารยธรรมของกัมพูชาเท่านั้น  ทว่าเชื่อมโยงถึง “อินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – เอเชีย –ยุโรป”  หรือกระทั่งการพาเรากลับไปแตะเรื่องราวบางเรื่องแบบเนียนในสมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี  การล่าอาณานิคม  หรือกระทั่งรัตนโกสินทร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมชื่นชอบการสื่อสารองค์ความรู้ในวันนี้เป็นอย่างมาก   เห็นเรื่องราวของคนลุ่มน้ำโขง  เห็นการคงอยู่และเปลี่ยนผ่านของประชาชน กษัตริย์ที่สัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับความเป็น พุทธ พราหมณ์ ฮินดู  ผี ที่ซึ่งหลอมรวมจารึกไว้ในรูปลักษณ์ของปราสาท  ฯลฯ 

หรือกระทั่งการได้ชวนคิดถึงวรรณคดี และคติชนที่กลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับประวัติศาสตร์อารยธรรม  เช่น รามเกียรติ์  ที่กล่าวถึงตำนานและตัวละครหลายตัว  อาทิ

  • ยักษ์นนทก - พระนารายณ์ - พระอิศวร
  • หนุมาน - สุครีพ -พาลี

    หรือแม้แกระทั่งการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เคยมีตัวตนในวิถีกิจกรรมนิสิต /กิจกรรมนักศึกษาของไทยอย่างจิตร ภูมิศักดิ์  นักคิดนักเขียน นักปฏิวัติ  ผู้ซึ่งเคยถูกจับโยนบกในรั้วมหาวิทยาลัย และรอบรู้หลากศาสตร์ ทั้งโบราณคดี  ภาษาศาสตร์  การเมือง  วรรณคดี

แน่นอนครับ – การบรรยายอาจไม่ได้เจาะลึกในทุกเรื่อง  แต่ผมยืนยันว่าเป็นการบรรยายที่ “ง่ายงาม แจ่มชัด”  รวมถึงกระตุกกระตุ้นเชิงความคิดนิสิตได้มากมิใช่ย่อย  แม้นิสิตจะไม่มีพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้  แต่ผมก็เชื่อว่านิสิตจะรับรู้ได้ถึงสิ่งที่วิทยากรได้สื่อสาร  และคงมีไม่น้อยที่จะตื่นตัวที่ลุกขึ้นมา “เตรียมตัว” ไปสู่การเรียนรู้ในครั้งนี้มากกว่าที่ผ่านมา

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอยืนยันว่า  นี่คือกระบวนการเรียนรู้ในแบบ “ติดอาวุธทางความคิด” ก่อนการไปค่ายฯ 

เวทีวันนี้  ไม่ได้สะท้อนแค่มิติของประวัติศาสตร์อารยธรรม หรือโบราณคดีเท่านั้น   หากแต่ทะลุถึงเรื่องราวอื่นๆ  หลากเรื่อง ทั้งที่เป็นภาษาศาสตร์  ศาสนา  คติชน  เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

หรือเจาะประเด็นทะลุสู่เรื่องราวที่ว่าด้วยสงครามเทพสงครามมาร  การกำเนิดนางอัปสรา  ตำนานเกษียรสมุทร  


ผมไม่รู้หรอกว่า นิสิตส่วนใหญ่จะมีความสุขกับการเรียนรู้ในครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน  แต่ในฐานะของการดูแลกระบวนการเรียนรู้ของนิสิต  ผมว่าผมทำถูกแล้วที่กำหนดให้มีเวทีเช่นนี้ – มิใช่ปล่อยให้นิสิตเดินทางไปสู่การเรียนรู้แบบไม่มีต้นทุนใดๆ  "ติดหัวสมอง” ไปด้วย  จนก่อเกิดเป็นความว่างเปล่า ล้มเหลว เปล่าเปลืองกับการลงทุนในตัวของนิสิต

ผมว่าผมคิดและทำถูกแล้ว – (หรือไม่จริง)

หมายเลขบันทึก: 659607เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2019 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2019 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับอาจารย์-ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้ก่อเกิดแนวคิดและเสริมพลังใจให้กับเด็กๆ แล้วถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีมากๆ ครับ-ความสุข ก่อเกิดขึ้นได้ในทุกที่นะครับ-ด้วยความระลึกถึงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท