เวรของครู...กรรมของเด็ก : อุทาหรณ์ของการบริหารงานที่ล้มเหลว ..!


การเป็นผู้ " นำทาง"...ควรสร้างหลัก ด้วยตระหนักถึงแนวทางสร้างวิถี ฟังเหตุผลส่วนรวมร่วมภาคี สิ่งใดดีควรทำ...แม้...จำใจ

ปีการศึกษา ๒๕๖๑  คุณมะเดื่อรับหน้าที่เป็นครูประจำชั้น ป.๔  มีนักเรียน

ในชั้น จำนวน  ๒๔  คน  ดูแล้วจำนวนนักเรียนไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป

แต่...จาก ๑ ภาคเรียนที่ผ่านมา  คุณมะเดื่อและครูที่สอนชั้น ป.๔ ทุกคน

พบว่า  นักเรียนทั้งชั้น มีปัญหาในการเรียนรู้ทุกวิชา  โดยเฉพาะ ภาษาไทย

นักเรียน ๒๒ คน สามารถอ่านออก เขียนได้  แต่เป็นการ  "อ่านไม่คล่อง"

และ " เขียนสื่อความไม่ได้"  ส่วนอีก ๑  คน  อ่านได้แต่คำที่ประสมสระเดี่ยว

อีก ๑ คน (เป็นนักเรียนที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่)  อ่านไม่ออกเลย



หากย้อนหลังไปเมื่อ ๔ ปีก่อน ขณะที่นักเรียนชั้นนี้ เรียนอยู่ชั้น ป.๑

ปีนั้น โรงเรียนได้รับงบประมาณสร้างอาคารใหม่  แต่เนื่องจากโรงเรียน

ไม่มีพื้นที่พอที่จะสร้างได้ (โรงเรียนมีเนื้อที่ ทั้งสิ้น ๓ ไร่เศษ) จึงจำเป็น

ต้องสร้างตรงที่เป็นอาคารเก่าที่เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว   ซึ่งอาคารหลังนี้

สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๑   และได้ทำการจำหน่ายไปแล้ว  

แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่มีอาคารเรียนพอ   จึงใช้เป็นห้องเรียน

ของชั้น  ป.๑ - ป.๓   เมื่อจำเป็นต้องรื้ออาคารทั้งหลัง  นักเรียนชั้น ป.๑ - ป.๓

จึงไม่มีห้องเรียน  ผู้บริหาร (ยุคนั้น) จึงให้นักเรียน ป.๑ - ป.๒  ป.๓ ไปเรียนใน

อาคารอเนกประสงค์ (ที่ใช้เป็นห้องสมุด  ห้องสหกรณ์ และห้องพยาบาล

ในปัจจุบัน )  ซึ่งในปีนั้น ครึ่งหนึ่งของอาคารอเนกประสงค์ ใช้เป็นที่สำหรับ

เก็บโต๊ะ เก้าอี้ และสิ่งของที่ไม่ใช้หรือหักพังแล้ว  ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง ให้ใช้ตู้เก่า ๆ 

กั้นแบ่งครึ่งให้ เป็นห้องเรียนของ ป.๑ และ ป.๒  และอีกครึ่งหนึ่งเป็นชั้น ป.๓



ต้องขอพูดถึงสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของอาคารอเนกประสงค์

ให้ทราบกันก่อนว่า...บรรยากาศในห้องนี้  ทั้งมืด  ทั้งร้อน แม้จะมีไฟฟ้า

มีพัดลม ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย  ....  ครั้งหนึ่ง คุณมะเดื่อเคยเป็นครู

ประจำชั้น ป.๖  และ  ป.๖  ต้องเรียนที่อาคารอเนกประสงค์นี้ทุกปี เพราะ

ไม่มีห้องเรียนพอสำหรับชั้นเรียน  ตอนบ่ายเด็ก ๆ ต้องออกไปเรียนใต้ร่มไม้

เพราะร้อนจนสุดจะทน  จนห้องเรียนนี้ได้ชื่อเรียกจากครูและเด็ก ๆ ว่า

" ห้องดับจิต"  ในสมัยนั้น  เด็ก ๆ จะพูดว่า " ใครจะจบป.๖ ต้องผ่านห้องดับจิต

ไปก่อนทุกคน"   อาคารอเนกประสงค์ จึงไม่สมควรที่จะเป็นห้องเรียน

แต่อย่างใด  แต่เป็นเพราะความจำเป็นจึงต้องใช้เป็นห้องเรียน



สภาพการเรียนของนักเรียนชั้น ป.๑ - ป.๓  เมื่อต้องเข้าไปเรียนในอาคารอเนกประสงค์

มีเพียงตู้เก่า ๆ กั้นแบ่งห้องไว้  และเสียงจากการก่อนสร้างอาคารเรียนที่อยู่ติด ๆ กัน

ก็ดังอยู่ตลอดเวลา  ทั้งเสียงเครื่องจักรเครื่องมือ ทั้งเสียงตอกตะปูสารพัด

อากาศก็ร้อนอบอ้าว  ห้องที่กั้นแบ่งก็คับแคบ  เกะกะไปด้วย โต๊ะ  เก้าอี้ แถมด้วย

ข้าวของที่หัก ๆ พัง ๆ  เสียงนักเรียน เสียงครูที่สอนต้องเรียกว่า " ตะโกนแข่งกัน" ฯลฯ

เด็ก ๆ ต้องอยู่อย่างนี้.....เป็นปี...

      ในขณะที่...ป.๔ -  ป.๖  เรียนอยู่ในห้องเรียนปกติของอาคารเรียนอีกหลังหนึ่ง ...!!



เด็กเล็ก ๆ ระดับ ป.๑  ป.๒  ป.๓  กับบรรยากาศสภาพแวดล้อมเช่นนั้น...จะเกิดมี

สมาธิต่อการเรียน และเกิดการเรียนรู้ได้อย่างไร...?  ท่านผู้อ่านลองนึกสภาพดูละกัน

ณ เวลานั้น...คุณมะเดื่อ...ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะพูด  จะบอก  หรือเสนอแนะ

อะไรได้เลย...เพราะตัองอยู่ในสภาพของ...ครูพิการ...ตาบอด  หูหนวก และเป็นใบ้..!!

เพราะระบบและนโยบายการบริหารงานโรงเรียนในยุคนั้น...ต้องการอย่างนั้น...!!!

ไม่สามารถพูด หรือแสดงความคิดเห็นอะไรได้เลย



คุณมะเดื่อทำได้แต่เพียง " ตะโกน" อยู่ในใจว่า ...." ทำไม..ไม่ให้เด็ก ป.๔ - ป.๖

ออกไปเรียนข้างนอก  ไปเรียนที่ใต้ถุนวัดก็ได้  แล้วให้ ป.๑- ป.๓ เข้าไปอยู่ห้องเรียน

แทน ป.๔- ป.๖  แค่นี้ ผู้บริหารคิดไม่ได้รึไง (วะ)"  เด็ก ป.๔ - ป.๖ เป็นเด็กโตแล้ว

ครูสามารถสอนให้เด็กได้ศึกษาค้นคว้า  หรือทำงานด้วยตนเอง  รับผิดชอบตนเอง

ได้แล้ว  แต่ เด็กเด็ก ป.๑ ป.๒ ป.๓  เปรียบเสมือน  " เสาเข็ม"  จะต้องเรียนต้องสอน

กันอย่างเต็มที่  ไม่ใช่  " เต็มที"  อย่างที่เป็นนั้น   ....  ภาพที่เห็นตอนนั้นคือ...

มันตรงกันข้ามจริง ๆ  เด็ก ๆ ต้องทนอุดอู้อยู่ในห้องรก ๆ แคบ ๆ มืด ๆ และต้องทน

กับเสียงดังหนวกหูตลอดทั้งวัน...


นับเป็นความผิดพลาด...ล้มเหลวของการบริหารงานของผู้ที่ได้ชื่อว่า...ผู้บริหาร

อย่างชั้ดเจน...ณ วันนี้  ผลของการ  " คิดไม่เป็น"  ปรากฏเด่นชัดที่เด็ก  ป.๔

๑ ภาคเรียนที่ผ่านมา นักเรียน ป.๔ ทั้งชั้น  มีผลการเรียนที่ไม่เป็นที่น่าพอใจ

อีกทั้งขาดระเบียบวินัย  นักเรียนเกือบครึ่งชั้น (โดยเฉพาะนักเรียนชาย)

ขาดสมาธิในการเรียน และลายมือเหมือนเด็ก ป.๑  อ่าน เขียนคำได้ในระดับ

ป.๒  ....  เป็นที่น่าหนักใจยิ่ง


จนมาถึงภาคเรียนนี้  คุณมะเดื่อจึงตัดสินใจว่า  ต้องสอนซ่อมพื้นฐานการอ่านการเขียน

ให้กับนักเรียน ป.๔ ทั้งชั้น  โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนสอนจนถึง ๕ โมงเย็น

ตั้งแต่วันจันทร์ -  วันพฤหัสบดี  ดังนั้นคุณมะเดื่อจึงแจ้งผู้ปกครองนักเรียน ป.๔

ทุกคน  ทำหนังสือขออนุญาตเพื่อทำการสอนซ่อมนักเรียนทั้งชั้น ตั้งแต่เปิดเทอม

เป็นต้นมา



คุณมะเดื่อใช้หนังสือสมัยที่คุณมะเดื่อยังเรียน ป.๑  ป.๒  นี้มาใช้ทำการสอน

โดยให้เด็กอ่าน และสะกดคำทุกคำ  ทั้งอ่านพร้อมกัน  อ่านทีละคน  และ

เขียนตามคำบอก  โดยให้เด็กสะกดคำที่ครูบอกพร้อมกันก่อนที่จะเขียนทุกคำ

ขนาดนี้ บางคำ นักเรียนยังเขียนไม่ถูกเลย....เฮ้อ !



สำหรับนักเรียนอีก ๒  คน ที่อ่านไม่ออก  คุณมะเดื่อแยกสอนต่างหาก

โดยใช้หนังสือ มานะ  มานี (ดังภาพบนนี้)  ทบทวนไปเรื่อย ๆ สอนอ่าน

และให้นักเรียนคัด  และเขียนตามคำบอกเช่นกัน

ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยียุคดิจิตัลที่มีแบบเรียนเหล่านี้ให้คุณมะเดื่อ

ได้โหลด และปริ้นส์ให้เด็ก ๆ  ได้เรียนรู้ ...มิฉะนั้น...ลำบากแน่ ๆ 



มาถึงวันนี้  ... ร่วม ๑  เดือน...เด็ก ๆ มีพัฒนาการการอ่านและการเขียน

ได้ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ  ...  และคุณมะเดื่อเข้าใจว่า...อีกเหตุผลหนึ่ง

ที่ทำให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการดีขึ้นก็น่าจะสืบเนื่องมาจาก เด็ก ๆ ได้ฝึกอ่าน

ฝึกเขียนอย่างต่อเนื่องทุกวัน  และส่งผ่านไปถึงที่บ้าน  ที่เด็ก ๆ ต้องนำ

แบบฝึกอ่านนั้นไปอ่านให้ผู้ปกครองฟังด้วย ดังที่คุณมะเดื่อได้บอกกับผู้ปกครอง

ในวันที่ประชุมผู้ปกครองตอนเปิดเทอมนั้น ประกอบกันนั่นเอง



ในการสอนขั้นต่อไป  คุณมะเดื่อจะใช้บทเรียนระดับ ป.๒ ป.๓ มาทบทวนพื้นฐาน

การอ่านของนักเรียน  และเพิ่มเติมในเรื่องของการเขียนสื่อความ  ก็คงต้องใช้

เวลาอีกพอสมควร  แต่คุณมะเดื่อไม่สนใจหรอกว่า จะช้า หรือเร็วแค่ไหน

ขอเพียงเด็ก ๆ สามารถอ่าน เขียน ได้คล่องแม้สักเพียงเท่าเทียม ป.๓ 

ก็พอใจแล้ว  เด็ก ๆ ก็จะสามารถไปเรียนในชั้นต่อไปได้แล้ว



อุทาหรณ์สอนใจให้ควรคิด                      บริหารพลาดผิด...คือ..ปัญหา

เวร...ของครู...สับสน (เกือบ)จนปัญญา         กรรม....ของเด็กถูกนำพา...สู่วังวน

ไม่โทษเด็กที่เขาเป็นดังเช่นนี้                       ก็เพราะมีปัจจัยให้สับสน

ความถือดี...ของ...คนบางคน                      จึงเกิดผลบั้นปลาย...ในวันนี้

การเป็นผู้ " นำทาง"...ควรสร้างหลัก               ด้วยตระหนักถึงแนวทางสร้างวิถี

ฟังเหตุผลส่วนรวมร่วมภาคี                           สิ่งใดดีควรทำ...แม้...จำใจ

แม้สิ่งใด  พอใจ...แต่ไร้หลัก                        คนทายทัก..ก็ควรฟัง...อย่าสงสัย

หากฝืนคิดฝืนทำอยู่ร่ำไป                             ก็คงได้  " ผลลบ"  จบสิ้นกัน

จึงขอฝากบรรดา...ผู้บริหาร                          จงทำงาน...อย่างร่วมแรง..ที่แข็งขัน

ร่วมคิด..ร่วมทำ..ร่วมจำนรรจ์                        สารพันปัญหา สร่างซาไป

งานสำเร็จเสร็จสิ้นยินดีพร้อม                         ทุกคนยอมรับผลที่สดใส

นี่คือประสิทธิผลของงานสราญใจ                   สู่เส้นชัย....ด้วยความสวัสดี


                  คุณมะเดื่อ

            ๒๙  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑

  



หมายเลขบันทึก: 658402เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2018 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2018 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

Thank you for this “very candid” post.It is time that children are looked after while they are at school.Schools are supposed to be “safe place for children to learn”, are your school safe, Mister/Madam Principal?

March on คุณมะเดื่อ. The children will thank you.

หัวใจของคนเป็นครู อยู่ที่ครูจริง ๆ ครับ ;)…

สู้ครับครูเพื่อศิษย์….

ขอบคุณ อาจารย์ sr อาจารย์วัส
อาจารย์ต๋อย และ คุณแม่มดคนสวยขอบคุณมากมายสำหรับกำลังใจจ้ะครูมะเดื่อสู้มาตลอดจนเกือบจะถึงฝั่งแล้ววิ่งบ้าง เดินบ้าง นั่งเฉย ๆ บ้างก็…ว่าไปตามบริบทแหละจ้ะ ขอบคุณอีกครั้ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท