วิทยานิพนธ์ปริญญาโทกับการจัดการความรู้


"วิทยานิพนธ์ไม่ยากเย็น เข็ญใจ อย่างที่คิด"

ผมเดินทางไปเชียงใหม่ เพื่อเข้าร่วมประชุม ประเด็นการพัฒนาเด็ก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เลยถือโอกาสเดินทางไปล่วงหน้า ๑ วัน เพื่อไปร่วมเข้าชั้นเรียนกับ น้องนักศึกษาปริญญาโท "ส่งเสริมสุขภาพ" มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  น้องๆของผมเองครับ

การพูดคุยในครั้งนี้ เป็นการพูดคุยประเด็นการเตรียมทำหัวข้อ โครงร่างวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะ โดยผมไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับน้องๆ และคุยเรื่อง งานวิทยานิพนธ์ของผมที่ผ่านมา

เพราะผ่านการเป็นนักศึกษา ปริญญาโท มาแล้ว ย่อมเข้าใจดีว่า ทุกคนตอนนี้รู้สึกอย่างไร และต้องการอะไร คิดว่าไม่ต่างกันคราเมื่อผมเตรียมนำเสนอโครงร่างวิทยานิพนธ์...ซึ่งสอบถามกับน้องและสังเกตแววตากันแล้ว เป็นสถานการณ์ที่ผมเคยผ่าน

"วิทยานิพนธ์ไม่ยากเย็น เข็ญใจ อย่างที่คิด" ผมบอกกล่าวกับน้องๆในเช้าวันนั้น

เท่าที่คุยกัน ทราบปัญหาของ นศ.ปริญญาโท ดังนี้

  • ยังไม่มีหัวข้อ ประเด็นใดที่สนใจในสมอง และ/หรือ มีประเด็น คำถามที่สนใจเยอะไปหมด เลยไม่รู้จะทำอะไร
  • คิดว่า ประเด็น คำถามที่สนใจ อยู่ไกลจาก สาขาที่เรียนอยู่
  • และมีหลายๆท่าน ยังไม่ได้คิดอะไร และยังไม่รู้จะเริ่มนับ หนึ่ง...สอง ... อย่างไรดี

บรรยากาศในใจของน้องๆจึงอึมครึม เหมือน ท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆฝน คล้ายๆฝนกำลังจะตก

เวทีในชั้นเรียนวันนี้ จึงเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เตรียม ประเด็น คำถาม โครงร่างงานวิทยานิพนธ์ที่อยู่ในใจ นำออกมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน โดยมีท่าน ดร.นิ่มอนงค์ งามประภาสม และ ผมเป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะพร้อมแลกเปลี่ยน + เสริมแรง (เสริมแรง ทำเยอะหน่อย)

บรรยากาศจึงออกไปทางให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ส่วนประเด็นโครงร่าง ของนักศึกษา ผมได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษา ดังนี้

  • เป็นเรื่องใกล้ตัว หากเกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ ผมคิดว่างานวิทยานิพนธ์สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง
  • ประเด็น "สุขภาพ" เป็นประเด็นที่กว้าง จะจับเรื่องใด ประเด็นใด ก็ได้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทั้งนั้น เพียงแต่ต้องสังเคราะห์ และเชื่อมโยงให้ได้
  • งานศึกษา วิจัยที่มีหลาหลายอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเด็น "สุขภาพ" แต่กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ก็อาจมุ่งไปเน้น หัวข้อที่เป็นเชิง การจัดการความรู้ (Knowledge management) ก็น่าสนใจ

และก็น่าสนใจอีกว่า หัวข้อที่นักศึกษาสนใจ ส่วนใหญ่ก็เป็นประเด็น การจัดการความรู้ (Knowledge management) ทางด้านสุขภาพแทบทั้งสิ้น

สำหรับความรู้ ที่นักศึกษา ที่กำลังจะทำวิทยานิพนธ์  ควรครอบคลุมประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

  1. รู้ว่าอย่างไร(Know how) รู้กระบวนการเทคนิคในการทำงาน
  2. รู้ว่าทำไม(Know why)รู้ยุทธศาสตร์ เข้าใจบริบท เงื่อนไข
  3. รู้ว่าอะไร(Know what) รู้กิจกรรม ที่ทำให้งานสำเร็จ
  4. รู้ว่าใคร(Know who) รู้เกี่ยวกับคน ความสำคัญของบุคคล เครือข่าย
  5. รู้ว่าที่ไหน(Know where) รู้สถานที่ ที่แสวงหาข้อมูล
  6. รู้ว่าเมื่อใด(Know when) รู้ว่าเมื่อใดควรตัดสินใจดำเนินการ หรือหยุด

มีรุ่นน้องสองท่าน สนใจจะทำวิทยานิพนธ์ที่เมืองปาย ซึ่งผมเองก็ให้คำแนะนำ ประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นประเด็นเพื่อนำไปสานต่อเพื่องานพัฒนา...ซึ่งอยู่ในความสนใจของน้องทั้งสองท่านด้วย

งานนี้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

หมายเลขบันทึก: 65325เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 18:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ดีใจครับที่คณะศึกษาของเรามีการพูดคุยกัน  เป็นที่ทราบกันดีว่าสาขาส่งเสริมสุขภาพมีความเข้มแข็งในสาขามาก  มีการช่วยเหลือกันในกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สาขาอื่นๆ  เท่าที่ผมอ่านดูแล้วก็เข้าใจว่าประเด็นของปัญหาของนักศึกษามีความคล้ายคลึงกัน  ในสาขาวิจัยที่ผมเรียนไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์เท่าไหร่  แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีวิทยาการวิจัยจะต้องสมภูมิความรู้ที่มี  ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจของนักวิจัยในการหาวิธีวิทยาการวิจัยที่เหมาะสมมาใช้  หากมีโอกาสที่เหมาะสมเราน่าจะบูรณาการความรู้ของแต่ละสาขาวิชาร่วมกันได้  อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กัน  เมื่อไม่กี่วันมานี้สาขาวิชาวิจัยก็ได้จัดสัมมนาย่อยเรื่อง "การเตรียมความพร้อมในการทำวิทยานิพนธ์" สามารถดูรายงานผลการสัมมนาได้ที่ ttp://www.wijai48.com ครับ

ก่อนอื่น...ผมจะบอกว่า ดีใจมากที่น้องปริวัตร กลับมาอีกครั้ง ผมชอบอ่านบันทึกที่น้องเขียนครับ...มีเวลาบ้างก็ขอให้เขียนเพื่อการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ใน Go2Know ต่อไป

การช่วยเหลือกันแบบ เพื่อนชวนเพื่อน ดีครับ เพราะจะทำให้ทุกคนกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น งานวิทยานิพนธ์แบบเชิงคุณภาพ ต้องตีโจทย์ให้แตก ต้องละเอียด ทำได้ดี มีประโยชน์มาก

จริงๆการกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์อาจไม่ใช่ประเด็น แต่คงอยู่ที่ คำถามวิจัย ประเด็นที่คิดว่าจะนำมาเป็นหัวข้อ ส่วนเครื่องมือคงต้องพูดอีกครั้ง ...หลังจากนั้น

เป็นความคิดที่ดีในการบูรณาการ แลกเปลี่ยนกัน น่าสนใจมากครับ มีการจัดสัมมนาแบบนี้เมื่อไหร่แจ้งมาด้วยครับ เผื่อผมจะแจ้งให้ทาง น้องๆส่งเสริมฯ เข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนด้วย

ขอบคุณน้องปริวัตร มากครับ

 

อืม เป็นบรรยากาศที่ดีครับ

บรรยากาศดีครับ อาจารย์นมินทร์ (นม.)

ผมเองรักและผูกพันกับสาขา /มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาก ไปไหนก็ตาม เราก็ยังรักและช่วยเหลือกันตลอดเวลา

นับเป็นเรื่องที่ดี ที่รุ่นพี่มาเป็นไกด์ให้น้องๆ เข้ากับ concept ที่ว่าเรียนรู้ร่วมกันเลย เฮาก็ศิษย์เก่า มช. เหมือนกัน  คิดว่า น่าจะมีการแลกเปลี่ยนกันในหลากหลายสาขา เผื่อบางทีอาจจะได้หัวข้อหรือประเด็นที่น่าสนใจได้หลายหลาก อย่างน้อยก็อยู่ในรั้วเดียวกัน ลูกช้างเหมือนกันเน้อ  ให้กำลังใจน้องๆ ส่งเสริมสุขภาพ มช. หื้อได้หัวข้อโว้ยโว้ยเน้อ  เป๋นกำลังใจ

คุณ missugar 

ตามจริงผมก็ไม่ทราบว่าจะเป็นไกด์ได้ดีขนาดไหน แต่ก็ให้กำลังใจ + เสริมแรง ครับ

ยินดีต้อนรับลูกช้าง มช. missugar ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนเอ่ย??

  • ผมก็ผูกพันกับเชียงใหม่เช่นกันครับ
  • Who What  Where When Why and How ?
  • เป็นสิ่งที่ผมได้รับจากท่าน ศาสตราจารย์ ดร. พาณี เชี่ยววานิช ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์  มช. ตั้งปี 2507-2510 ครับ และยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน

เรียน อาจารย์ Panda

ผมไม่ได้ไปงานมหกรรมฯ ที่กรุงเทพ และได้เห็นภาพอาจารย์ในหลายๆบันทึก ผมเสียดายไม่ได้ไปคารวะด้วยตัวเองครับอาจารย์ครับ

Who What  Where When Why and How ?

เป็นสิ่งที่ผมคุยแลกเปลี่ยนกับน้องๆนักศึกษาครับ พร้อมกับกำลังใจให้แก่กัน

ก้าวเข้า มช. ทุกครั้งก็อบอุ่นทุกครั้ง

ตอนที่ผมเรียน มช. อาจารย์ที่ปรึกษาท่านเอาใจใส่และรักผมมากครับ...เป็นความทรงจำที่ดี ผมไม่เคยลืม

.....มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ของเรา งามพร้อม สมภูมิลำเนา ที่พวกเราแสนภูมิใจ สรางความหวัง และศรัทธา วิทยา พาเรืองไกล พวกเราขอเทิดทูนไว้ ด้วยดวงใจ พร้อมเพรียงบูชา....

 

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ Panda มากครับ

  • โห...ดีใจจังเลยที่ได้เห็นห้องเรียน  อิอิ 
  • ดีใจจังที่สาขาฯ  มีกิจกรรมดีดีแบบนี้  ภูมิใจค่ะและดีใจแทนน้องๆ

สวัสดีครับ ป้าหนิง

ยินดีครับ ..ลูกช้าง "ส่งเสริมสุขภาพ"จากทางมหาสารคาม

ห้องเรียนเรายังเป็นห้องเรียนเดิมๆนะครับ อบอุ่นเหมือนเดิมครับผม

ตามมาดูค่ะ หมอเอก คิดว่าการวิจัยด้านการจัดการความรู้สามารถแตะได้หลายเรื่องมาก และในกระบวนการเองก็สามารถแตกย่อยออกไปได้อีกมากมาย อาจยกมาแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของโมเดลและนำมาศึกษา หรือในที่สุดจะศึกษาทั้งโมเดลอันนี้ก็แล้วแต่ ลองเข้าไปแลกเปลี่ยนในรายละเอียดที่ ได้สนทนาในห้อง KM Thesis ดูนะคะว่า ลักษณะงานวิจัยด้าน KM เขาทำอะไรกัน เผื่อจะได้ไอเดียอะไรอีกค่ะ

     บรรยากาศอบอุ่นครับ   ภูมิใจด้วยคนในฐานะศิษย์เก่าสาขาส่งเสริมสุขภาพ มอชอ อีกคนครับ เป็นลูกช้างมาทุกปริญญา ภูมิใจสุด ๆ โดยเฉพาะบรรยากาศทางวิชาการที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร  ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยม 

     ฝากถึงรุ่นน้องรุ่นใหม่ครับ  ขอให้เรียนรู้อบย่างมีความสุขและสนุกกับงานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ ของเราครับ  ขั้นนี้เป็นช่วงเริ่มต้นตีประเด็นปัญหา  อยู่ในข่ายความสนใจของเรา  เรื่อง KM ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผมว่าเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่  ดังนั้นการหยิบมาใช้อาจจะต้องย้อนกลับไป Review มาด้วยน่ะครับว่า Kuru ในเรื่อง KM นั้นมีใครบ้าง  และจะนำมา Approach อย่างไร  คือผมกำลังชี้ให้เห็นว่า อย่าเพิ่งนำเครื่องมือมาเป็นตัวนำทาง  แต่ให้คิดจากประเด็นปัญหา Problem ว่า เรื่องที่เราสนใจนั้นมีความน่าสนใจอย่างไรปัญหาคืออะไรต้องให้ชัด  คราวนี้ ค่อยไปคิดกันต่อครับว่า จะนำ เครื่องมือ ยุทธวิธีอย่างไรมาใช้  ทั้งนี้  ต้องอ่านเยอะ  อ่านเข้าไป  จับประเด็น  สังเคราะห์ประเด็นเรา  เล่นเรื่องใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่ดีมาก และมองข้ามกรอบบ้างก็ได้  ดร.นิ่มอนงค์ และคณาจารย์ในสาขาเรา ท่านใจกว้างน่ะครับ  ขาย Idea ไปเลยครับ ว่าเรื่องที่เราสนใจนั่นน่ะ Relate กับ Health Promotion อย่างไร? 

คุณน้ำฝน

ผมต้องขออภัยที่มาตอบในบันทึกช้าไป

ผมติดตามอ่านบันทึกของคุณน้ำฝนมาตลอดครับ และได้ความรู้ดีๆมาก คือ ผมไม่มีโอกาสไปร่วมงานดังกล่าว โดยส่วนตัวผมสนใจงานวิจัยด้าน KM ประกอบกับ สาขาวิชาการส่งเสริมสุขภาพของเรา ได้ผลิตมหาบัณฑิตที่มากมาย และมีงานวิทยานิพนธ์ที่มีคุณภาพสูง ผมมองว่า ส่วนหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปคือ งานวิทยานิพนธ์ที่มุ่งงานจัดการความรู้มากขึ้นครับ

ขอบคุณคุณน้ำฝนมาก

หากมีโอกาสมาเยี่ยมที่ปายอีก ขอเชิญครับ

 (เดือนหน้าท่านอาจารย์ปอ จะมาเยี่ยมปายพร้อม นศ.กว่า ๘๐ ชีวิตครับ)

น้องสุภัทร

น้องสุภัทร เป็นความภาคภูมิใจหนึ่งของ ส่งเสริมฯ มช. ครับ ที่เรายังพูดคุยตลอดเวลา  อย่างชื่นชม

ผมเห็นด้วยกับข้อแนะนำของสุภัทรทุกประการครับ น้องๆควรจะเข้ามาอ่านด้วย ประเด็นไหนผมเองก็มองว่าRelate กับ Health Promotion  แทบทั้งสิ้น ครับ เพียงแต่จะศึกษาในแง่มุมใด

ขอบคุณสุภัทรมากครับ

PS.

น้องสุภัทรคงต้องแบ่งปันประสบการณ์ ปริญญาเอก KM ให้น้องที่สาขาฯ บ่อยๆนะครับ

 

 

ก็กำลังทำอยู่ งง ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท