๗๖๒. เดินหน้าและพัฒนาการอ่านออก..เขียนได้


เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ตามศักยภาพและความสนใจตามช่วงวัย..จะอ่านเขียนได้หรือไม่? ได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับครูให้เวลา และให้ค่าน้ำหนักกับการ “สอนอ่านเขียน”มากน้อยแค่ไหน?

             ตอนนี้ สพฐ.กำลังหนักใจที่เห็นข้อมูลในภาพรวม ซึ่งพบว่าเด็กชั้น ป.๔ ยังอ่านและเขียนไม่คล่องอยู่เป็นจำนวนมาก เรียกว่าเป็นปัญหาระดับชาติกันเลยทีเดียว

            จากผลการประเมินโรงเรียนทั่วประเทศเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยก็คงต่ำจน สพฐ.วิตกกังวล อันที่จริงก็ต่ำกันในทุกระดับชั้นนั่นแหละ..

            ในแต่ละปีการศึกษา..จะประเมินการอ่านและการเขียนด้วยเครื่องมือของ สพฐ.ปีละ ๔ ครั้ง ครั้งแรกผ่านไปแล้ว..ครูทุกท่านทราบดีว่า..แบบทดสอบไม่ง่ายเลย

            ครูประจำชั้นหรือครูประจำวิชาสอบเอง..ส่งผลออนไลน์ไป สพฐ. ไม่มีใครกล้าทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะการสอบมี ๔ ครั้ง ผลคะแนนต้องมีพัฒนาการ สอบครั้งสุดท้าย (อาจจะ) มีคณะกรรมการกลางมาคุมสอบ ก็มีทางเป็นไปได้

             ดังนั้น..คะแนนต่ำในการสอบครั้งแรกจึงไม่น่าแปลกใจ แต่ทำไม?คะแนนอ่านเขียน (ป.๔) จึงต่ำมากจนเป็นข้อสังเกต..ผมตอบได้เลย..ในแบบทดสอบมีบางคำพื้นฐานที่เด็กยังไม่ได้เรียน ก็อยากบอกไว้ตรงนี้ว่า แบบทดสอบมีมาตรฐานมาก (เกิน)

            สพฐ.จะออกข้อสอบให้ยากลำบากไปไหน?..ก็เพิ่งเปิดเรียน เด็กเพิ่งเลื่อนชั้นมา อยู่ในระหว่างการปรับตัวทั้งเด็กและครู...

            เด็กทุกคนเรียนรู้ได้ตามศักยภาพและความสนใจตามช่วงวัย..จะอ่านเขียนได้หรือไม่? ได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับครูให้เวลา และให้ค่าน้ำหนักกับการ “สอนอ่านเขียน”มากน้อยแค่ไหน?

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..หลักสูตรใหม่ เนื้อหาและกิจกรรมเต็มพิกัด หากครูประจำวิชาหรือครูประจำชั้น(สอนทุกวิชา) ถ้าบูรณาการไม่เป็น ไม่เน้น “ซ่อมเสริม” ทุกอย่างก็จบ..จบในที่นี้หมายถึง..ตามความยากของข้อสอบไม่ทัน ที่สุดแล้วก็ตกต่ำทั้งปี..

            อีกมุมหนึ่ง..นำพาให้เด็กอ่านเขียนไม่ได้ความ ไปสู่คะแนนเฉลี่ยที่ไม่พึงปรารถนาในช่วงแรก..ก็เพราะครูไทยหลายคนยังสติแตกอยู่เลยกับเงินกู้ ชพค.

            หลายหมื่นคน..ตื่นเต้นกับช๊อปปิ้งหลักสูตร “คูปองครู” ยังไม่นับรวมการตื่นกลัวกับ “โครงการอาหารกลางวัน”และการบีบคั้นด้านงบประมาณ ตลอดจนการรายงานฯมากมาย ที่ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องติดตามเร่งรัดให้ครูรายงานเขตฯตามกำหนด..การถูกทวงถามทางไลน์..นั่นหมายถึงเจ้านาย..รับรู้รับทราบ

            “ครู”ที่ลงมาทำรายงานฯ ทำธุรการโรงเรียนฯ ร้อยละ ๘๐ เป็นครูผู้สอนประจำชั้นทั้งสิ้น..แล้วคิดดู..เด็กจะอ่านคิดวิเคราะห์ได้อย่างไร? แค่อ่านได้ก็ยากแล้ว..

            จึงอยากบอกว่า..ภาระงานครู ทุกวันนี้มีมากมาย ไม่ได้สอนหนังสืออย่างเดียว มีงานพิเศษ ที่ต้องทำให้ออกนอกห้องเรียน ทั้งงานชุมชน งานอบต./เทศบาล งานวัดและงานสาธารณสุข...

            จริงอยู่..ผมเห็นด้วยที่สพฐ.มีนโยบายที่มุ่งเน้นการอ่านคล่องเขียนคล่อง แต่ สพฐ.ก็ยังเกาไม่ถูกที่คัน อยากได้ผลสัมฤทธิ์ แต่ก็ยังคิดงานเยอะแยะ ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทโรงเรียน ในสภาพที่เด็กยังไม่รู้ ครูก็ขาดแคลน แต่ สพฐ.ก็อีเว้นท์ไม่เลิก...

            อีกไม่กี่วัน..ก็ถึงมหกรรมประกวดประชันขันแข่ง “เด็กเก่ง” ในงานศิลปหัตถกรรม..เวรกรรมก็ตกอยู่กับเด็กที่อ่านไม่คล่องเหมือนเดิม งานไล่ล่ารางวัลไม่เคยทำให้เด็กมีปัญหาลดลงเลย..ในประเทศนี้

            ครูที่เต็มที่เต็มเวลา..จะเหนื่อยมาก เพราะเด็กมีปัญหาหลากหลาย..ถ้าเด็กไม่ได้รับการปูพื้นฐานที่เข้มแข็งจาก “ครูปฐมวัย” มันจะยิ่งยากในทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่การอ่านการเขียน..

            ยุคนี้..ครูคนไหนบ้าง คาดหวังในตัวผู้ปกครอง ภาพงาน “วันแม่” ในวันนี้เป็นเครื่องชี้วัดชัดเจน..มีเด็กถูกทอดทิ้ง เด็กขาดความอบอุ่น เด็กอยู่กับป้า ย่าและยาย ที่ให้ข้าวน้ำก็เพียงพอแล้ว

            ผมจบเอกภาษาไทย..สอนซ่อมเสริม ป. ๓ – ๔ ทุกวัน ด้วยวรรณกรรมสำหรับเด็ก อ่านและตอบคำถาม แล้วเขียนเรื่อง..ทำทุกวันจนเด็กคุ้นชินและตอบสนอง ผมยังรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ ในมิติการสอน..มันมีความยุ่งยากอยู่ในตัวมันเองเสมอ..

            แล้วครูบางคนที่ถูกเบียดบังเวลาให้ไปทำเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่งานสอนล่ะ..มันจะเหลืออะไร...?

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๙  สิงหาคม  ๒๕๖๑

           

 

             

หมายเลขบันทึก: 649441เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2018 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2018 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จันมีแนวคิดเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อยู่ประเด็นหนึ่งค่ะ ผอ. โดยศัพท์ภาษาไทยที่นำมาสอนให้เด็กปฐมวัยในแต่ละชั้นปีต้องดูตาม word frequency ค่ะ เช่น 500 คำแรกที่ใช้บ่อยที่สุดควรนำมาสอนในประถมต้น เป็นต้นค่ะ

เท่าที่จันดูจากหนังสือเรียนชั้นประถมคาดว่าไม่ได้สอนตาม word frequency นะคะ คำมากมายยากเกินไปค่ะสำหรับเด็กในวัยนี้ค่ะ หนังสือเรียนของเราไปเน้นหลักภาษาเยอะเหมือนกันนะคะ

GotoKnow ช่วยได้ค่ะ เราสามารถวิเคราะห์คำที่ปรากฎขึ้นบ่อยใน GotoKnow แล้วนำมาหา word frequency ค่ะ ได้มาเป็นคลังคำศัพท์ของไทยค่ะ

ถ้าจันเข้าใจอะไรผิดไปในเรื่องหนังสือเรียนภาษาไทยก็ต้องขออภัยด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท