คำสั้นๆ วลีสั้นๆ : ความ "ง่าย-งาม" ในการสะท้อนการเรียนรู้


ผมคงไม่สรุปว่า ถ้อยคำที่นิสิตนำมาจัดแต่งเป็นเพจ หรือบัตรคำของแต่ละคน คือภาพสะท้อนหนึ่งของการเรียนรู้ว่าด้วยทักษะของการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ตามตัวชี้วัดที่ว่าด้วยกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (TQF) หรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์ -จินตนาการอันเป็นทักษะความเป็นผู้นำนิสิตในศตวรรษที่ 21

หลังการจัดกิจกรรมแล้ว  ผมชอบชวนทีมงานและนิสิตบทวนการเรียนรู้ของตนเองและการเรียนรู้องค์รวมของทีมด้วยรูปแบบต่างๆ  เน้นรูปแบบที่แต่ละคน หรือแต่ละองค์กรสนใจ – ถนัด

ผมให้อิสระพอสมควรเลยกับประเด็นที่ว่านี้  จะนั่งล้อมวงพูดคุย “โสเหล่”  หรือเจ๊าะแจ๊ะศาสตร์ก็ได้  

จะเขียนเป็นเรื่องเล่าก็ได้ 

จะเขียนคำประกอบภาพก็ได้ 

จะตัดต่อเป็นคลิปก็ได้

หรือกระทั่งจำกัดความด้วยถ้อยคำ หรือวาทกรรมสั้นๆ ก็ได้

กระบวนการที่ว่านี้  ในหนึ่งรอบปีที่ผ่านมา  ผมเฝ้ามองปรากฏการณ์การเรียนรู้ของนิสิตหลายองค์กร   ดูเหมือนทีมเครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะรับรู้ รับฟัง เข้าใจและเห็นความสำคัญนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองมากกว่าใครอื่น

ดังจะเห็นได้จากการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง   มีการสรุปงานประจำวัน   มีการสะท้อนการเรียนรู้ในรูปแบบของวงโสเหล่และขีดเขียนเป็นผังมโนทัศน์   มีการนำผลการเรียนรู้มานำเสนอร่วมกัน  มีการถกคิดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ขณะที่แกนนำก็นำเรื่องราวดังกล่าวมาถ่ายทอดลงใน G2K

และกิจกรรมที่ว่านั้น  ล่าสุดก็คือโครงการ “แบ่งปันน้ำใจ ต้านภัยแล้ง”  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29-31 มีนาคม 2561  ณ วัดป่าโคกกลาง และอุทยานแห่งชาติภูผายล  ตำบลจันทร์เพ็ญ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้ในวิถีการบ่มเพาะจิตอาสา หรือจิตสาธารณะบนฐานคิดของกิจกรรมนอกหลักสูตรตามครรลองใจนำพาศรัทธานำทาง  และบันเทิงเริงปัญญา

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองว่าการที่นิสิตแต่ละคนสะท้อนผลการเรียนรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกันก็ตาม  ผมถือว่านี่คือกระบวนการทบทวนการเรียนรู้ที่ต้องให้ค่าความสำคัญ  แม้จะเป็นเพียงถ้อยคำความรู้สึกทั่วไปที่อาจเบาหวิวในทางวิชาการก็ตาม  แต่นั่นก็คือการบอกเล่าว่าใครสักคนได้เรียนรู้อะไร  สัมผัสกับอะไร และเปลี่ยนแปลง หรือกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเอง


ใช่ครับ – เป็นการทบทวนตัวเอง  อยู่กับตัวเอง  เพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมนิสิตที่เน้นการลงมือทำจริง และทำอย่างเป็นทีม  โดยมีชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ยึดมั่นต่อการเรียนรู้คู่บริการ

ใช่ครับ – การงานเพียงไม่กี่วัน  หรือการงานที่ไม่ใหญ่โต ก็สมควรได้รับการยกย่องและเชิดชู  หากการงานที่ว่านั้นส่งผลสร้างสรรค์สู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในมิติของผู้ให้และผู้รับ  ส่วนจะเสถียรมั่นคงจีรังได้มากน้อยแค่ไหน  นั่นคือโจทย์ที่ต้องขยับและเรียนรู้ในขั้นถัดไป

ผมคงได้อาจสรุปอย่างบ้าบิ่นว่า  ถ้อยคำสั้นๆ ที่ว่านี้คือส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้  แต่ผมยืนยันว่าผมหลงรักการสะท้อนผลการเรียนรู้เช่นนี้เสมอ – ง่าย และงามอย่างเหลือเชื่อ

ผมคงไม่สรุปว่า  ถ้อยคำที่นิสิตนำมาจัดแต่งเป็นเพจ  หรือบัตรคำของแต่ละคน  คือภาพสะท้อนหนึ่งของการเรียนรู้ว่าด้วยทักษะของการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ตามตัวชี้วัดที่ว่าด้วยกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (TQF)  หรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์ -จินตนาการอันเป็นทักษะความเป็นผู้นำนิสิตในศตวรรษที่ 21 

ใช่ครับ – ผมแค่อยากยืนยันว่า “ง่ายและงามอย่างเหลือเชื่อ”  เท่านั้นเอง

และยังพอใจที่จะให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะสะท้อนผลการเรียนรู้ตามที่เขาชอบ และถนัด

 

หมายเหตุ

เขียน : พฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม2561
ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม

หมายเลขบันทึก: 649432เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2018 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2018 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แสดงคุณค่าภายในออกมาค่ะแค่ออกจาก comfort zone

ชอบความสุขของน้องสกาวเดือนจัง

ครับ อ.วัส Wasawat Deemarn

งานนี้ ยกเครดิตให้นิสิตเต็มๆ ครับ ทั้งกระบวนการคิด วิธีการในการแปลงความคิด หรือผลการเรียนรู้ออกมาเป็นสื่อง่ายๆ ในแบบที่เขาชอบ หรือถนัด

บางที เพจเล็กๆ นี้ก็น่าจะกลายเป็นรางวัลชีวิตของเขาด้วยเหมือนกัน ครับ

ครับ พี่หมอ ธิ

บางทีทำงานแล้ว ตัวชี้วัดของชีวิต หรือความสำเร็จ ผมก็หลงใหลที่จะวัดมันจาก “ความสุข” เพราะนั่นคือการเบ่งบานของภายใน เติบโตในตัวเอง และพร้อมที่จะเบ่งบาน ผลิบานออกมาสู่สังคม

เรื่องเล็กๆ ของแต่ละคน เมื่อเข้าสู่กระบวนการแบ่งปัน บางทีกลายเป็นพลังของคนอื่น พลังของสังคมอย่างเหลือเชื่อ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท