​ ชีวิตที่พอเพียง 3235. ทำงานการกุศล



ผมเกี่ยวข้องหรือทำงานให้แก่องค์กรการกุศล(ในนิยามราชการ และนิยามของผมเอง) จำนวนเกือบสิบองค์กร    นิยามของราชการ องค์กรการกุศลสาธารณะประโยชน์ดูที่การเอาเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น ในลักษณะสังคมสงเคราะห์    มีการกำหนดว่าร้อยละเท่าไรของรายได้จะต้องนำไปบริจาคหรือใช้จ่ายช่วยเหลือผู้อื่นหรือกิจการสาธารณะ  ที่ต้องกำหนดก็เพราะองค์กรแบบนี้ได้รับยกเว้นภาษี  

มูลนิธิพูนพลังที่ลูกสาวผมตั้งขึ้นเมื่อราวๆ ๑๕ ปีที่แล้ว    ก็ได้รับจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลสาธารณะประโยชน์ ทันทีที่ทำงานครบ ๓ ปีและมีคุณสมบัติครบถ้วน  แต่ใช้เวลาปีเศษกว่าจะได้รับอนุมัติ   เพราะลูกสาวเขาต้องการให้เรื่องมันเดินตามปกติ ไม่ชอบใช้เส้น

ในโลกที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน  การทำ “งานการกุศล” หลายกรณีมีผลประโยชน์แอบแฝง    ไม่ใช่การกุศลบริสุทธิ์ ที่ไม่หวังผลตอบแทน

ผมคิดใคร่ครวญเรื่องการทำงานการกุศลแท้   ว่าไม่ได้มีแค่การใช้เงินเป็นเครื่องมือทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะโดยเฉพาะเพื่อการช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาพยากลำบาก    งานการกุศลหลายอย่างใช้ปัญญาและจิตใจที่ดีงามโดยแทบไม่ต้องใช้เงินเลย    

หมายความว่า การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะเน้นที่ผลต่อผู้ยากลำบากนั้น   หลายกรณีไม่ใช่เอาเงินหรือสิ่งของไปมอบให้หรือบริจาค    แต่เป็นการสร้างความรู้และวิธีการหรือระบบเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้อยู่ในสภาพยากลำบากช่วยเหลือตนเองได้   สามารถดิ้นรนขวนขวายยกระดับการทำมาหากินของตนเองได้    ผมมีความเชื่อว่า งานการกุศลแบบนี้ให้ผลดียั่งยืนกว่า 

งานการกุศลแบบนี้ เน้นใช้ปัญญาเป็นหลัก คนทำงานการกุศลแบบนี้ไม่ได้ลงเงินแต่ลงปัญญา    และอาจต้องหาเงินจากแหล่งทุนมาใช้ทำงาน   

น่าเสียดายที่รัฐบาล คสช.รังเกียจการทำงานการกุศลแบบใช้ปัญญา 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649427เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2018 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2018 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่นำเรื่องนี้มาเขียน มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ได้รับการจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯจากกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2555 ได้ทำหนังสือขอให้กรมสรรพกร ประกาศให้เป็นมูลนิธิเพื่อ องค์กรการกุศลสาธารณะประโยชน์ แต่ไม่ได้รับการพิจารณา โดยอ้างว่า ทางมูลนิธิฯไม่ได้นำเงิน จำนวน 60% ไปช่วยเหลือผู้อื่น ในลักษณะสังคมสงเคราะห์ ผมได้จัดทำเอกสารอธิบายและแสดงกิจกรรมของมูลนิธิฯที่ทำเพื่อการกุศลและทำประโยชน์ให้กับผู้ด้อยโอกาส เป็นกิจกรรมที่สร้างปัญญาให้กับผู้คนและให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาส มูลนิธิไม่ได้รับบริจาคเงินจากที่ใด เพื่อนำไปบริจาคต่อ มูลนิธิฯเน้นการสร้างปัญญาให้คน สร้างคนดี คนเก่งให้กับประเทศชาติ ใช้เงินของกรรมการ มีรายรับปีละไม่ถึง แสนบาท รายจ่ายเฉพาะค่าจัดการเล็กๆน้อยๆ กิจกรรมที่จัดส่วนมากได้รับการร่วมมือให้ใช้สถานที่ฟรี และได้รับการสนับสนุนด้านอาหาร และเครื่องดื่ม กิจกรรมที่มูลนิธิจัดก็ไม่ได้เก็บเงินกับผู้เข้าร่วม เจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องไม่พิจารณา ไม่ยอมให้ไปชี้แจ้งเพิ่มเติมใช้เวลาพิจารณา หลายเดือนก่อนจะทำหนังสือตอบกับมาว่าไม่รับพิจารณา โดยอ้างเอกสารตาม พรบ ซึ่งก็อ้างตามตัวอักษรที่กำหนดไว้บางส่วน แต่ส่วนที่กำหนดว่าสามารถอนุโลมได้โดยเสนอผ่าน รัฐมนตรีพิจารณา ก็ไม่ยอมส่งให้รัฐมนตรีพิจารณา เดิมคิดว่าจะไปฟ้องศาลปกครอง บังเอิญยุ่งๆไม่อยากไปเสียเวลา กับคนที่ไม่ใช้สมองทำงาน คิดว่าปีหน้าถ้ามีเวลาอาจจะไปยื่นอีก กฎที่กำหนดให้เป็นกฎที่ไม่เป็นธรรม แม้นกระทั่งมูลนิธิฯ ยังมีความเหลื่อมล้ำ กฎข้อบังคับดังกล่าว ตั้งขึ้นมาเพื่อ เอื้ออำนวยให้กับ บริษัทใหญ่ๆใช้เป็นเครื่องมือในการไม่ต้องเสียภาษีบางส่วนโดยการ จัดตั้งมูลนิธิฯขึ้นมาเอง กฎข้อบังคับที่กำหนดนี้ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดเงินทอนวัด ท่านใดสนใจต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ สามารถติดต่อผมได้ ทาง e-mail : [email protected]

หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท

๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท