ชีวิตที่พอเพียง 3192. ฝึกเด็กให้มั่นใจตัวเอง



นิตยสาร Scientific AmericanMind  ฉบับเดือนพฤษภาคม๒๕๖๑  ลงเรื่อง The Case for the“Self-Driven Child” : In a new book, an argument for giving children more of asense of control over their lives  ในคอลัมน์ Behavior & Society (1)  สัมภาษณ์ผู้เขียนหนังสือ TheSelf-Driven Child : The Science and Sense of Giving Your Kids More Control OverTheir Lives (2)

เป็นเรื่องวิธีเลี้ยงเด็กที่ผมกำลังสนใจพอดี    โดยผู้เขียนหนังสือ The Self-Driven Child  บอกว่าเด็กยุคนี้โชคไม่ดี    โดนกำกับมากเกินไปทำให้ไม่ได้ฝึกเป็นตัวของตัวเอง    ไม่ได้ฝึกทำสิ่งที่ตนเห็นว่ามีความหมาย  ไม่ได้ฝึกประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวด้วยตนเอง   โดยมีสาเหตุสำคัญ๓ ประการคือ ทีวี  พ่อแม่  และโรงเรียน  

เขาสัมภาษณ์ผู้เขียนหนังสือด้วย๕ คำถาม

คำถามแรกทำไมจึงคิดว่าเด็กมีโอกาสเป็นตัวของตัวเองไม่เพียงพอ

คำตอบ   การมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง(ความมั่นใจตัวเอง) ต่ำ เป็นบ่อเกิดของอาการกังวล ซึมเศร้า และสุขภาพจิตไม่ดี   ผลการวิจัยบอกว่าสภาพไม่มั่นใจตนเองเป็นความเครียดที่สูงยิ่ง   ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมาปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นที่เชื่อมโยงกับความเครียดเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย     และช่วง ๖ - ๗ ปีที่ผ่านมา  อุบัติการณ์ของโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นมากในกลุ่มคนอายุน้อย   

จากมุมของประสาทวิทยา ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเองสมองส่วนหน้า (ที่ควบคุม EF) จะควบคุมสมองส่วนamygdala (ที่ทำหน้าที่รับรู้ภยันตรายและส่งสัญญาณว่าให้สู้หรือหนี)    คนที่มีความวิตกกังวล สมองส่วนamygdala เป็นเจ้าเรือน  

งานวิจัยเกี่ยวกับแรงจูงใจ(motivation)บอกว่า ความรู้สึกเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง  เป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีแรงจูงใจด้วยตนเอง   ที่จะทำให้เด็กและวัยรุ่นดำเนินการตามเป้าหมายของตนอย่างมีพลังและมีความสุขจากการบรรลุเป้าหมายนั้น  

มีเด็กอเมริกันจำนวนหนึ่งอยู่ในสองขั้วตรงกันข้าม    ขั้วหนึ่งมีแรงขับดันรุนแรงต่อการบรรลุความสำเร็จ   อีกขั้วหนึ่งเป็นคนเลื่อนลอยไร้เป้าหมาย   ทั้งสองกลุ่มรู้สึกว่าตนเองมีเรื่องวุ่นอยู่ตลอดเวลาทำให้รู้สึกเหน็ดเหนื่อย  ไม่มีโอกาสพักผ่อน

ถาม  เป็นปัญหาใหม่หรือไม่  

ตอบ  เป็นเรื่องที่ขยายตัวมาเรื่อยๆในเวลาหลายสิบปี    มีนักวิจัยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยในช่วงทศวรรษที่1960s  กับ 2002  พบว่านักศึกษารู้สึกว่าความเป็นตัวของตัวเองลดลงมาก    ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง คือ เด็กมีเวลาเล่นน้อยลงมาก   โดนเวลาเรียน เวลาทำกิจกรรมและเวลาดูทีวีแย่งไป    เวลาเล่น (อิสระ)เป็นเวลาที่เด็กได้เป็นตัวของตัวเอง

นอกจากนั้นเด็กและวัยรุ่นยังนอนน้อยลง    ทำให้รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา    เมื่อนอนไม่พอ การเชื่อมโยงใยสมองระหว่างสมองส่วนหน้ากับ amygdalaจะอ่อนแอลง   ทำให้สมองส่วนหน้าควบคุม amygdala ได้น้อยลง    เมื่อรู้สึกอ่อนเพลีย จะควบคุมตนเองได้น้อยลง  รู้สึกเครียดง่าย  ทักษะเผชิญปัญหาลดลง    นำไปสู่ความรู้สึกกังวล และไม่มั่นใจ    

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีไอที    ทำให้เด็กติดสมาร์ทโฟน ติดโซเชี่ยลมีเดียติดวิดีโอเกม    เหล่านี้บั่นทอนความสามารถในการกำกับตัวเองทั้งสิ้น  

วัฒนธรรมสังคมในภาพรวมเปลี่ยนไปในทางให้คุณค่าเพิ่มขึ้นต่อสิ่งนอกตัวได้แก่เงิน ฐานะในสังคม รูปร่างหน้าตา   และลดความสำคัญของคุณค่าภายใน ได้แก่ความเป็นชุมชน  การเป็นส่วนหนึ่งของสังคม  และความหมายในชีวิต    เหล่านี้มีส่วนลดทอนความสามารถในการกำกับตัวเองและความมั่นใจในตัวเอง ทั้งสิ้น

ถาม  ความพยายามควบคุมเด็ก มีผลลบอย่างไรบ้าง

ตอบ  มีผลเพิ่มความเครียด ความกังวลภาวะซึมเศร้า  และลดแรงจูงใจ   หรือแรงจูงใจกลายเป็นแบบอยู่บนฐานความกลัว (ฉันจะสามารถทำสิ่งนี้ได้ไหม)   

ตามทฤษฎี self-determination  มนุษย์มีความต้องการพื้นฐาน ๓ ประการ คือ  (๑) ความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง (senseof autonomy)  (๒)ความรู้สึกว่ามีความสามารถ (sense of competence)  (๓) ความรู้สึกว่าตนมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นสิ่งอื่น (sense of relatedness)    คนเราจะไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง(self-driven) ได้ หากขาดพื้นฐานสำคัญสามอย่างนี้  

การควบคุมเด็กมากเกินมีผลลดพื้นฐานสามประการที่เด็กต้องการนำไปสู่การเติบโตไปเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเอง

ถาม  ขอให้อธิบายแนวคิดว่า “บ้านเป็นฐานของความปลอดภัย”

ตอบ  บ้านควรเป็นพื้นที่สำหรับผ่อนพัก และฟื้นกำลัง สำหรับเด็ก    แต่ละวันเด็กต้องเผชิญความเครียดจากห้องเรียน และจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคม    เด็กต้องการบ้านเป็นที่ที่ตนได้รับความรักความเห็นใจอย่างไม่มีเงื่อนไขจากพ่อแม่ (หรือคนในครอบครัว)    แต่หากที่บ้านให้สิ่งนี้ไม่ได้เด็กจะไปหาจากที่อื่น และจากคนอื่น  

ถาม  ผู้ใหญ่สามารถทำอะไรอีกบ้างเพื่อช่วยให้เด็กได้พัฒนาความสามารถในการควบคุมตนเอง

ตอบ  ควรให้โอกาสเด็กได้ฝึกรับผิดชอบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้    เด็กพัฒนาภายใต้ความท้าทายแต่ไม่ใช่ภายใต้การขู่เข็ญ   หากความท้าทายนั้นเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมจะเป็นคุณต่อเด็กอย่างยิ่ง   

ควรให้โอกาสเด็กได้เผชิญความท้าทายเมื่อมีโอกาสเหมาะสมในด้านดนตรี กีฬา ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว การทำงานหลังโรงเรียนเลิก การเดินป่าและอื่นๆ ที่เด็กใฝ่ฝัน   เพื่อให้เขาปลูกฝังความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและความรู้สึกว่าตนมีความสามารถ (sense of mastery)  

จงพยายามสร้างนิสัยและลีลาชีวิตที่ช่วยสร้างสุขภาวะทางจิตใจ    ส่งเสริมการพักผ่อน  การนอน เวลาว่าง  และการทำสมาธิ    ส่งเสริมให้มีช่วงเวลาปลอดเทคโนโลยีดิจิทัล   ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ  ไม่ดูทีวี   ช่วงเวลาดังกล่าวช่วยให้สมองส่วนหน้ากำกับamygdalaได้ดีขึ้น   ช่วยให้อยู่ในสภาพจิตที่ถูกต้อง   

 ที่สำคัญที่สุด จงมีความสนุกสนานกับลูก   ให้ความสนใจและตอบสนองต่อลูก  

 วิจารณ์พานิช

๓๐ เม.ย. ๖๑

ห้อง ๑๓๐๙  แซนด์ดูนส์ เจ้าหลาว บีชรีสอร์ท


 

หมายเลขบันทึก: 647985เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ ขออนุญาตแบ่งปัน @ ๑๕ มิ.ย.๒๕๖๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท