รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๕) บรรยายสรุป บทที่ ๒ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"


จากการเรียนการสอนบทที่ ๑ ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาทั้ง ๔ กิจกรรม พบแนวโน้มที่่ชัดเจนว่า นิสิตกว่าร้อยละ ๘๐ เข้าใจแล้วว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" (ปศพพ.) ไม่ใช่นำมาใช้เฉพาะเรื่องการเกษตร (เกษตรทฤษฎีใหม่) แต่สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แต่เกือบทั้งหมดของนิสิตที่จะนำมาใช้กับการดำเนินชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับมิติ "วัตถุ" หรือ "เศรษฐกิจ" เช่น ประหยัด อดออม การใช้จ่าย เป็นต้น เท่านั้น จัดว่าอยู่เพียงในระดับ ๑ คือ "ระดับมูลค่า" หากแบ่งระดับความเข้าใจในการน้อมนำเอาหลัก ปศพพ. ไปใช้ออกเป็น ๕ ระดับ (ซึ่งผู้เขียนเคยเสนอไว้ที่นี่)  ตามนิยาม ดังต่อไปนี้

๑) ระดับมูลค่า

มีความเข้าใจว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  (ปศพพ.) มีความหมายเดียวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" (ศพพ.) คือ เข้าใจว่า ปศพพ. คือ หลักการหรือแนวทางการใช้ทรัพยากรให้ "คุ้มค่า" และเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ประหยัด อดออม ใช้ของที่มีอยู่หรือหาได้ในท้องถิ่น พึ่งตนเองด้านวัตถุ พออยู่พอกิน เป็นต้น กล่าวโดยสรุป ผู้ที่นำเอา ปศพพ. ไปใช้ในระดัมูลค่า จัดว่านำไปใช้เฉพาะในมิติวัตถุหรือเศรษฐกิจเท่านั้น

๒) ระดับความรู้

ระดับ "ความรู้" ในที่นี้หมายถึงการเข้าใจ ปศพพ. ได้อย่างถูกต้องในทางทฤษฎีที่ได้อ่านหรือฟังมา สามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับกรอบคิด หลักการ และเงื่อนไขพื้นฐานของ ปศพพ. (บรรยายสรุปตามสไลด์) แต่ยังไม่เคยน้อมนำไปใช้กับตนเอง จึงไม่สามารถจะยกตัวอย่างการปฏิบัติได้โดยพิสดาร ไม่สามารถถอดบทเรียนการเชื่อมโยง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติได้

๓) ระดับหลักคิด

"ระดับหลักคิด" เข้าใจว่า ปศพพ. เป็น "หลักคิด" ในการดำเนินชีวิต เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง "ปศพพ." กับ "ศพพ." เข้าใจว่า ปศพพ. เป็นหลักปรัชญา ดังนั้นในการคิดหรือตัดสินใจใดๆ ล้วนแต่สามารถนำเอาหลัก ปศพพ. ไปใช้ได้ทุกเมื่อ ผู้ที่มีความเข้าใจในระดับนี้ จะสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไขกับการวางแผนการงานหรืการกระทำต่างๆ ได้ดี และสามารถอภิปรายความเชื่อมโยงหลักของความพอเพียง ทางสายกลาง ๓ห่วง๒เงื่อนไข และ ๔ มิติได้ดี (แสดงดังภาพ)

(จากหนังสือ“วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เขียนโดย ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา)

๔) ระดับบูรณาการกับการดำเนินชีวิต

ความเข้าใจระดับ "บูรณาการกับการดำเนินชีวิต" เป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เข้าใจว่า ปศพพ. เป็นทั้งหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต นำเอาหลัก ปศพพ. ไปใช้กับการตัดสินใจ และการจัดการแบบมีเป้าหมายไปสู่ความสมดุลและยั่งยืน 



๕) ระดับเปลี่ยนแปลงจากภายใน

เป็นการ "ระเบิดจากภายใน" เนื่องจากการตระหนักถึง "คุณค่า" ของ ปศพพ. หลังจากที่ได้เห็นแจ้งจากประสบการณ์ในการน้อมนำไปใช้จนเห็นผลประจักษ์กับตนเอง เกิดศรัทธา จิตอาสา และความปรารถนาที่จะแบ่งปันทรัพยากรหรือประสบการณ์ความสำเร็จของตนเองสู่ผู้อื่น เข้าใจแก่นแท้ของความยั่งยืนที่แท้จริง เข้าถึงความสันโดษ ยินดีในสิ่งที่ตนมีอยู่ รู้จักพอประมาณในการกิน การนอน การใช้ การผลิต การค้า การพัฒนา และการงาน เป็นต้น 



ในทางโลก ความสมดุลและยั่งยืนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความ "พอเพียง" ครอบคลุมทั้ง ๔ มิติ  ดังนี้ 
  • มิติวัตถุ จะต้องใช้อย่าง "คุ้มค่า" ประหยัด ปลอดภัย
  • มิติสังคม จะต้องเกิดความ "สามัคคี" มีการเอื้อเฟื้อแบ่งปันกัน  เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์
  • มิติสิ่งแวดล้อม จะต้องเกิด "การอนุรักษ์" เห็นคุณค่าของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 
  • มิติวัฒนธรรม จะต้องเกิด "การสืบสาน" เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง 

ขณะนี้ความพอเพียงคือความหวังของคนทั้งโลก เพราะความ "พอเพียง" จะนำมาสู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาที่ยังยืนของประชาคมโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ถือเป็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ของไทยโดยแท้จริง

หลังจากการเรียนรู้บทเรียนที่ ๒ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" นิสิตควรจะมีความรู้ความเข้าใจอยู่ในระดับที่ ๓  คือระดับหลักคิด  และเมื่อจบบทเรียนที่ ๕ "การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต" นิสิตควรจะมีความเข้าใจในระดับ ๔ คือ ระดับบูรณาการกับการดำเนินชีวิต เป็นอย่างน้อย  
หมายเลขบันทึก: 647981เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2018 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2018 06:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท