วันครอบครัว วันระลึกถึงบ้าน วันระลึกถึงพ่อ


“แป๊ะะะะะ”

ผมเขียนยาวแบบนี้ เพื่อจะให้ทราบว่า คนที่ตะโกนเรียกผมนั้น เขาเรียกแบบทอดเสียงออกมาอย่างยาว



“เอ้อออออ”



และแน่นอนว่า ผมก็ตะโกนทอดเสียงตอบออกไปอย่างยาวเช่นเดียวกัน



พวกเรากำลังทำพิธี “สึกหม้อ” กันอยู่ครับ



สึกหม้อ!

.....................



ผมต้องกลับบ้านเกิดเมืองนอนที่บ้านดอนทุกปี



อันว่าบ้านดอนนั้นมันคงเป็นชื่อเล่นของบริเวณตลาดเมืองสุราษฎร์ธานีเสียกระมัง

ผมยังคงงงอยู่ครับ เพราะจะว่าไป แถบตลาดบ้านดอนนั้น มันน่าจะเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ที่เกิดจากการทับถมของตะกอนที่ไหลพัดพากันมาตั้งแต่ยอดเขาหลวงในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านเรื่อยมาจนออกทะเลที่ปากแม่น้ำตาปีบริเวณอำเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

มันก็น่าจะเป็นที่ราบหรือลุ่มเสียมากกว่าที่ดอน

แต่เอาเถอะ เขาเรียกว่า “บ้านดอน” ก็บ้านดอนกันต่อไป และที่จริงแท้ก็คือ บ้านดอนน้ำไม่ท่วม จะท่วมบ้างก็เพียงรอการระบาย ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นบ้านดอนน้ำท่วมจนโรงเรียนหยุดในปีที่พายุเกย์พัดเข้ามาถล่มชุมพร และแถมมาจังหวัดบ้านผมจนน้ำพัดเอาซุงมาเกยในอำเภอนาสารเสียจนย่อยยับครานั้นเอง



ทุกปี ผมมาบ้านดอนก็เพื่อกลับบ้านมาทำบุญให้พ่อ

พ่อที่ดันมาตายเอาก่อนช่วงสงกรานต์ (๗ เมษายน ๒๕๔๓) พ่อถูกเผาในวันที่ ๑๒ และเราได้ลอยอังคารของพ่อในวันสงกรานต์

ดังนั้น ทุกช่วงสงกรานต์ เราจึงมารวมกันเพื่อระลึกถึงพ่อไงครับ



ปีนี้ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น



แป้งและจ้า ก็จำความได้พร้อมๆกับการมาเข้าวัดกันจริงๆจังๆปีละครั้งด้วยเหตุนี้



๑๔ เมย ๖๑

ผมตื่นขึ้นมาช่วงเช้ามืดเพราะมีนัดกับแม่ว่าจะไปออกกำลังกายกันที่ “เกาะลำพู” ที่นี่ก็คงเป็นหนึ่งในดินดอนสามเหลี่ยมปากเม่น้ำกระมัง



เกาะลำพู เคยเป็นเกาะในฝันของผมเมื่อครั้งเด็กๆ

สมัยก่อนเมื่อครั้งที่ยังไม่มีสะพานข้ามไปฝั่งในบาง เราจะข้ามไปเกาะลำพูได้ก็ด้วยเรือของห้องอาหารในเกาะลำพูแห่งนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่าผมจะเคยได้ไปหรือไม่ เพราะครอบครัวเราคงไม่น่าจะมีเงินมากพอที่จะไปกินอาหารในภัตตาคารแบบนั้นจริงๆ เกาะลำพูจึงเป็นเพียงเกาะในฝันของผม

แต่หลังจากที่เขาสร้างสะพานข้ามไปยังฝั่งในบาง เกาะลำพูจึงเป็นสวนสาธารณะของบ้านดอนไปโดยปริยาย

แต่ผมก็ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมมันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งคราวนี้



ผมพาแม่ไปเกาะลำพู แม่มีก๊วนไทเก็กอยู่ที่นั่น ส่วนผมก็กะจะวิ่งรอบเกาะ (ฟังดูอลังการมากๆ) รอบหนึ่งมีความยาวราว ๑.๓ กิโลเมตร ซึ่งเท่ากับรอบหมู่บ้านของผมเลย



มันเป็นการวิ่งที่มีความสุข เกาะลำพูในฝันที่ผมอยากมาเหยียบมันตั้งแต่เด็ก ทิวทัศน์รอบเกาะที่ไม่เคยเห็น ห้องอาหารที่เคยรุ่งเรืองไม่มีกระทั่งซากให้เห็น มันกลายเป็นสวนสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ

ผมได้เจอเพื่อนรุ่นน้อง เพื่อนมัธยม และพี่ของรุ่นพี่ ได้ทักทายและออกวิ่งร่วมกัน



มันอะเมซิ่งมากๆ



“แม่ ไปตลาดกอบกาญจน์กัน” ผมบอกแม่ออกมา เพราะเกิดอยากกินข้าวเหนียวกลอย อยากกินปลาแนม อยากเดินในตลาด

ผมเลือกที่จะขับรถเลียบริมแม่น้ำตาปีอย่างช้าๆ มองร้านรวงและท่าเรือ มองตลาด มองผู้คน

ความทรงจำในอดีตพร่างพรู ที่แห่งนี้คือบ้านของผมนี่นา



บริเวณตลาดกอบกาญจน์ หรือ “ตลาดล่าง” ที่เขาเรียกกัน ที่จอดรถหายาก ผมจึงวนออกไปอีกด้านหนึ่งของตลาดและต้องผ่านโรงเรียนเก่า “อนุบาลสุราษฎร์ธานี”



ผมจอดรถอยู่อึดใจหนึ่ง ผมมองเห็นตัวเองที่เป็นเด็กประถมวิ่งเล่นอยู่ในนั้น



มันคืออดีตที่สวยงามอีกชิ้นหนึ่งของความทรงจำ ตอนนี้ผมมาอยู่ตรงนี้ อาคารที่ผมเคยเดิน เคยนอนกลิ้ง เคยวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ เคยเป็นสมาชิกในวงดุริยางค์ เคยวิ่งไปแอบครูเวลามีคนมาฉีดยา เคยมีแปลงปลูกผักบุ้ง เคยไปยืนขาสั่นหน้าเสาธงคราวที่ถูกครูใช้ให้ไปเป็นผุ้นำกิจกรรมหน้าเสาธง ผมเคยเรียนที่นี่จนจบป.๖ และตอนนี้มันเป็นธรณีสงฆ์ไปเสียแล้ว (อันที่จริงมันก็เป็นของสงฆ์มาตั้งแต่ต้น) โรงเรียนถูกย้ายไปอยู่อีกที่หลังจากที่ผมเรียนจบไปนานหลายปี



แล้วผมก็พาแม่มาถึงตลาดจริงๆ และที่จริงกว่านั้น คือมันไม่มีทั้งข้าวเหนียวกลอยและไม่มีปลาแนม



แต่ไม่เป็นไร อย่างน้อยๆ เช้านี้ผมก็อิ่มใจ



กลับบ้านมา ผมมีสำรับเตรียมไว้ให้เรียบร้อย

และที่ตื่นใจมากที่สุดก็คือ “ปลาแนม” ของกินที่พลาดหวังมาจากตลาดกอบกาญจน์ มันมาตั้งอยู่ห่อหนึ่งบนโต๊ะอาหาร

“เฮ้ย บุญหนักเหลือเกินเชียวนะ” ผมอุทานออกมาอย่างดัง

“ที่วัดมีขาย เลยซื้อมา ไม่รู้ว่าใครจะกินบ้างไหม เอามาห่อเดียว” น้าสะใภ้ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่กล่าวออกมา



ทราบแล้วใช่ไหม ว่าใครได้กิน



หลังจากนั้นเครื่องทรงต่างๆของโล่งโต้งก็ถูกนำมาตั้งมาเป็นชุดๆ



“โล่งโต้ง”

มันคือหมี่ฮุ้นน้ำธรรมดาๆ นี่แหละครับ 

ผมไม่รู้ว่าทำไมก๋วยเตี๋ยวน้ำชามนี้จึงถูกเรียกว่าโล่งโต้ง เส้นหมี่สีขาวที่ถูกลวกถูกราดด้วยน้ำซุปกระดูกหมู ขาดไม่ได้ด้วยเครื่องประกอบคือเต้าหู้ทอด ราดด้วยน้ำส้มกลมกล่อม ซดได้คล่องคอ มันอร่อยเสียจนผมลืม “ยกเข่ง” ร้านที่เป็นต้นตำรับของตลาดบ้านดอนไปนานแล้ว



ผมก่อไฟในอั้งโล่



หึหึ มาถึงตอนนี้ก็กระหยิ่มยิ้มย่องในใจ ผมมีงานเลี้ยงที่บ้านมานานหลายปี เฝ้าดูลูกศิษย์ก่อไฟในอั้งโล่มาก็หลายรุ่น ไม่อยากจะโม้ ว่าผมก่อไฟโคตรเก่งเลย ทีเดียวก็ติด ฮ่าๆๆ



ไฟติด ก็ยกน้ำซุปที่น้าสะใภ้จัดการตื่นขึ้นมาปรุงตั้งแต่เช้ามาอุ่นบนอั้งโล่

ควันไฟกลิ่นถ่านคละคลุ้ง ผมหยิบเส้นหมี่ฮุ้นลวกใส่ลงในถ้วย หยิบเต้าหู้ทอด ปลาแผ่น ใส่ตามลงไป ราดน้ำมันกระเทียมเจียว คลุกๆ แล้วราดด้วยน้ำซุปพอขลุกขลิก ปรุงด้วยน้ำส้มเปรี้ยวอ่อนๆ



“พรูดดดดดด”

นั่นคือเสียงสูดเส้น

“ซู้ดดดดด”

นั่นคือเสียงซดน้ำซุป



ลองนึกภาพชายใกล้ชรากำลังสุขใจกับชามก๋วยเตี๋ยวข้างหน้านั้นสิ



นั่นคือมื้อเที่ยง ซึ่งเป็นเพียงมื้อย่อยๆเพียงมื้อหนึ่งเมื่อถึงบ้าน



มาถึงมื้อเย็น



“ยำสาหร่ายข้อ”

สาหร่ายข้ออยู่ในกลุ่มของสาหร่ายวุ้น อันที่จริงมันไม่ได้นิ่มเหมือนวุ้นหรอกนะ มันออกจะกรอบกรุ๊ปๆ

ผมกินสาหร่ายข้อมาตั้งแต่เด็กๆ

เมื่อถูกพาไปปล่อยให้อยู่กับทวดที่เกาะสมุยช่วงปิดเทอมในชั้นประถม ทุกๆเช้าผมจะลงทะเลกับพี่ๆเพื่อไปเก็บสาหร่ายข้อ เก็บหอย และจับปูเพื่อนำมาให้ทวดปรุงให้กินเป็นอาหารเช้า

“ยำสาหร่ายข้อ” จึงเป็นหนึ่งในนั้น

ทวดจะนำสาหร่ายมาล้างและลวก สับลูกมุงมัง (ตะลิงปลิง) ใส่ลงไป หอมแดงซอย กะปิ เกลือ พริกสด หอยตลับลวก แล้วขยำกับมือจนทุกอย่างคลุกเคล้าเข้ากัน แล้วกินกับข้าวสวยร้อนๆ ซดแกงจืดรสเย็นสูตรเฉพาะของทวดอย่างคล่องคอ



น้ำลายไหลใช่ไหม



มื้อเย็นวันนี้ผมก็ได้กินแบบนั้น ต่างกันตรงที่ทวดไม่ได้เป็นคนมายำให้กิน เพราะแกตายไปตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เห็นจะได้

พี่สะใภ้คู่บุญเธอมาทำให้กินสิครับ ไม่มีหอยก็ใส่กุ้งแทน



“อร่อยมากเลยพ่อ แต่เผ็ด” จ้ากินไปบ่นไป

ผมแนมมื้อนี้กับสะตอดองน้ำใสจนซดได้และผักเสี้ยนดอง

มันช่างเข้ากันเหลือเกิน

............................

ผมตื่นขึ้นมาขี้แตกตอนเที่ยงคืน ท้องเสียไป ๓ รอบ

คาดว่าปลาแนมคงออกฤทธิ์เพราะผมเป็นอยู่คนเดียว

แน่สิ ก็กินคนอยู่คนเดียวนี่นา



ตื่นขึ้นมาสะโหลสะเหล แต่ก็ตื่นสนิทเมื่อได้กินโจ๊กคู่กับปาท่องโก๋ ซดกาแฟ และนั่งผึ่งพุง



ที่บ้านเริ่มเตรียมสำรับสำหรับงานเลี้ยงพระในช่วงเพล

อั้งโล่เริ่มส่งควันโขมง ปลาสีเสียดตากแห้งที่ถูกผึ่งแดดอีกรอบตั้งแต่เมื่อวานถูกสับเป็นชิ้นๆ หม้อใส่กะทิและเครื่องแกงถูกนำขึ้นไปวาง



“แกงคั่วปลา”

ตำรับของชาวสมุยครับ มันคือแกงกะทิปลาแบบด้วนๆ

ที่ว่าแบบด้วนๆก็เพราะมันคือแกงที่มีแต่ปลาแห้ง ไม่มีผักหรือเครื่องเคียงใดๆเลย

สมุยร่ำรวยมะพร้าว แกงนี้จึงจัดเต็มด้วยกะทิสดๆแตกมันลอยย่อง

สมุยร่ำรวยปลาทะเล แกงนี้จึงถูกใส่เพียงปลาทะเลตากแห้งเท่านั้น มันไม่ต้องการผักใดๆ

ครานี้ “ปลาสีเสียด” คือปลาผู้โชคร้าย



“แป๊ะ เดียวพี่สาจะสึกหม้อนะ เวลาพี่เรียกแป๊ะ ให้แป๊ะช่วยขานดังๆนะ” พี่สาคนที่กล่าวถึง คือพี่สะใภ้คู่บุญของครอบครัวเรา

“ว่าไงนะ สึกหม้อ” ผมก็งงสิครับ



“หม้อใหม่ เพิ่งซื้อมา คนโบราณเขาจะต้องสึกหม้อก่อน เหมือนสึกพระ หม้อจะได้ร้อนเร็ว ของในหม้อจะสุกเร็ว ของจะอร่อย” เธออธิบายประหนึ่งว่าหม้อคือพระเสียกระนั้น

“จะบ้าเหรอ เรื่องหม้อๆทำไมมาใช้เราวะ” ผมสงสัย

“ก็แป๊ะปากเบา พูดมาก เค้าบอกว่า ได้คนแบบนี้มาสึกหมัอ หม้อจะร้อนเร็ว หากไปเรียกคนเฉื่อยๆ หม้อมันจะร้อนช้า” เธอยังคงพูดฉอดๆ

“จะบ้าเหรอ เรื่องหม้อ หากจะให้เรามาจับสึก ต้องหวังให้ร้อนช้าๆสิ จะได้สนุกนาน กว่าจะสุกทีนึงก็ต้องคนกันนานๆ ว่าไหม” เอา..เอาเข้าไป



“อย่ามาบ้า หม้อแบบนั้น เอ็งจัดการของเอ็งไป เห็นมาเยอะแล้วนี่นา แต่หม้อทำกับข้าว ต้องร้อนเร็ว ของต้องอร่อย แป๊ะะะะะ” เธอเรียกผมเสียงดัง



“เอ้อออออ” ผมตอบลากยาว และเพียงไม่นาน แกงคั่วปลาก็เดือดปุดๆ



ธนพันธ์ ชูบุญสึกหม้อใหม่

๑๕ เมษายน ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 646649เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2018 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2018 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ช๊อบ.....ชอบ..  อ่านไปน้ำลายไหลไป ฮาๆๆๆๆ

-สวัสดีครับ

-อ่านเพลินกับการสึกหม้อ ครับ

-มีฮา...

-ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าเสมือนจริงนะคร้าบ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท