เส้นทางเด็กสายอาชีวะสู่อนาคตที่สดใส


เส้นทางเด็กสายอาชีวะสู่อนาคตที่สดใส

           เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองและเด็กรุ่นใหม่เปิดใจยอมรับหลักสูตรอาชีวศึกษา มากขึ้นว่าเด็กอาชีวะไม่ได้มีแค่เรื่องชกต่อยตีกันอย่างที่เป็นข่าวเสมอไปแต่ถ้าได้รู้จักอย่างแท้จริงว่าเด็กอาชีวะเขาเรียนกันแบบไหน จบไปแล้วทำงานอะไร ตกงานหรือว่าทำงานกัน ผมในฐานะครูพิเศษสอน วิทยาลัยชื่อดังแห่งเมืองคุณหญิงกล้า ก็ขอนำเอาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กอาชีวะมาฝากนะครับแล้วทุกๆท่าน ก็จะเห็นประโยชน์และข้อดีของหลักสูตรนี้จนอยากเปลี่ยนใจมาเรียน แน่นอน เพราะอาชีวศึกษาเป็นหลักสูตรสำคัญที่สร้างกำลังคนซึ่งเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้นเด็กอาชีวะทุกคน จะได้เรียนรู้จากอาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านวิชาชีพโดยตรง ได้ฝึกงาน ฝึกปฏิบัติจนชำนาญคล่องแคล่วเป็นฝีมือชน การันตีว่าจบมาแล้วไม่ต้องเดิน เตะฝุ่นเดินหางานทำแน่นอน

        หากพูดถึงทางเลือกด้านการศึกษาของประเทศไทย ก็สามารถแบ่งเป็น ประเภทสายสามัญกับสายอาชีพ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ก็เทใจหนุนให้ลูกๆ เลือกไปเรียนทางสายสามัญ ด้วยค่านิยมว่า สามารถเลือกเรียนต่อได้มากกว่าและมีปริญญาเป็นใบเบิกทาง ในขณะที่สายอาชีพหรืออาชีวะมีข่าวไม่ค่อยสู้ดีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ความจริงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเด็กนักเรียนส่วนน้อยเท่านั้น เพราะเบื้องหลังคนเรียนอาชีวะมีอีกหลายแง่มุมที่สังคมไม่เคยนำมาหยิบยกเป็นตัวอย่างที่ดี ให้ได้เห็นกันสักเท่าไร โดยเฉพาะทางด้านจิตอาสาทำประโยชน์เพื่อสังคม เช่น ช่วยเหลือชาวบ้านซ่อมแซมบ้านเรือน, เครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อครั้งน้ำท่วม ไปจนถึงส่งนักเรียนอาชีวะไปช่วยน้ำท่วมที่ประเทศมาเลเซีย เหตุผลหนึ่งที่เด็กอาชีวะมักเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม เพราะพวกเขามีความรู้ ประสบการณ์ ทักษะและสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง พูดง่ายๆ ว่าเป็น “ฝีมือชน” นั่นเอง

นี่อาจจะเป็นจุดเด่นของนักเรียนสายอาชีพ ในเรื่องประสบการณ์และ ทักษะความสามารถที่เพียบพร้อมในสายอาชีพ และถ้ามองให้ดีเราก็จะพบ ข้อดีของการเรียน “สายอาชีวะ” อีกหลายข้อเลยทีเดียวที่คนในสังคมมองข้าม จะมีดีอะไรบ้างตามมาดูกันเลย

ไม่ต้องรอเรียนถึงมหาวิทยาลัยก็ได้ฝึกงานก่อนใคร เพราะสายอาชีพเป็นหลักสูตรที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง ทุกหลักสูตรจึงมีการฝึกงานเพื่อสร้าง ประสบการณ์ทักษะวิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ รวมแล้วกว่า 300 ชั่วโมง การฝึกงานของสายอาชีพถือว่าเป็นการฝึกงานจริงๆ ได้หยิบจับอุปกรณ์ สร้างผลงาน เรียนรู้กระบวนการในแวดวงวิชาชีพนั้นๆ ไม่ใช่เพียงการอ่านตำรา นักเรียนอาชีวะจึงได้เรียนไปด้วย ได้ฝึกงานไปด้วย แถมยังได้ใช้ทักษะความรู้หารายได้ด้วยตัวเอง แบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้อีกด้วย

กว่า 300 ชั่วโมงที่ได้ฝึกงานในสายวิชาชีพของตัวเอง ก็ถือเป็นการเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะ ประสบการณ์ จนมีความเชี่ยวชาญตั้งแต่ตอนเรียน ทำให้มี วิชาชีพติดตัว จบมาสามารถทำงานได้ทันที เพราะสามารถใช้วุฒิ ปวช.3 ในการสมัครงานได้เลย แถมยังมีงานรองรับอยู่เพียบ เรียกว่าบางทีไม่ต้องเดินหางานก็มีคนจองตัวทำงานทันที

ฝึกฝนฝีมือไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ สบโอกาสก็สามารถเป็นเจ้าของกิจการก็ยังได้ ที่ผ่านมามีรุ่นพี่อาชีวะหลายคนสร้างเนื้อสร้างตัวจากความรู้สายอาชีวะจนเป็นนักธุรกิจ 100 ล้านมาแล้ว

พูดได้เต็มปากว่าตำแหน่งงานตอนนี้ ขาดแคลนช่างฝีมือจำนวนมากเพราะคนที่จบสายสามัญหรือปริญญาตรีมา แม้จะมีความรู้เฉพาะทางแต่ยังขาดทักษะ ในการทำงานจริง เมื่อเข้ามาทำงานต้องใช้เวลาในการเรียนงานหลายเดือนจึงจะเริ่มมีประสบการณ์ ต่างจากสายอาชีวะที่มีความเชี่ยวชาญในสายวิชาชีพนั้นมาแล้วจึงเริ่มงานได้ทันที สังเกตได้จากการรับสมัครงานในตำแหน่งสายเทคนิคเกือบทุกบริษัท มักจะรับผู้มีประสบการณ์ หรือ วุฒิ ปวช. / ปวส. อยู่ในประกาศ รับสมัครงานทุกครั้งด้วยเสมอ

นอกจากนี้ช่างฝีมือไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่างประเทศ เพราะเป็นช่างที่มีฝีมือชำนาญ และละเอียดรอบคอบ ยิ่งเป็นผลดีต่อเมื่อประเทศ ไทยที่ก้าวเข้าสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะสามารถโกอินเตอร์ไปทำงานที่ต่างประเทศได้ ที่สำคัญแทบไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องรายได้เลย ยิ่งมี ประสบการณ์รายได้ก็สูงตาม

 

เมื่อจบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. แล้ว สามารถเลือกเรียนต่อได้ตามความสนใจ หากต้องการพัฒนาฝีมือให้เก่งขึ้นก็เลือกเรียนหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. หรือ ถ้าอยากเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาก็สามารถสอบเข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยได้เหมือนกัน เพราะปัจจุบันหลาย สถาบันเปิดรับวุฒิ ปวช. เข้าเรียนต่อปริญญาตรีได้ เช่น ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น เข้าเรียนได้ทั้งหลักสูตรปกติ 4 ปี หรือ เรียน ปวส. 2 ปี + หลักสูตรต่อเนื่องอีก 2 ปีก็ได้ ซึ่งนักเรียนอาชีวะจะได้เปรียบในด้านการปฏิบัติ เรียกว่าได้ฝึกทักษะกันมาจนชำนาญ การเรียนต่อเฉพาะทางในมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เรื่องยาก

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เด็กอาชีวะ
หมายเลขบันทึก: 646493เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2018 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2018 09:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์

-อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้ได้รับพลังใจในการส่งต่อระบบการศึกษาของอาชีวะ

-ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาสด้านการศึกษาวิชาชีพจากอาชีวะ

-ปวช.ปวส.เป็นก้าวแรกที่ได้รับการบ่มเพาะวิชาชีพ

-หากมองในเรื่องของประสบการณ์ด้านฝีมือรับรองได้ว่าอาชีวะไม่เป็นรองใคร หรืออาจจะเป็นระดับต้น ๆซะด้วยล่ะครับ

-อีกแง่ของการทำงาน หากเป็นส่วนราชการก็ยังมีการบรรจุตำแหน่งด้านนี้น้อยไปหน่อย

-แต่เชื่อหรือไม่ครับว่าพอเข้ามาทำงานในระบบราชการแล้ว อาชีวะ มีวิธีการจัดการงานได้เป็นอย่างดีทีเดียว

-มีญาติคนหนึ่งไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ เธอจบปริญญาตรี ต่อยอดจากสายสามัญ

-เล่าให้ฟังว่าพอไปอยู่ทางโน้น เทียบกับอีกคนที่จบด้านวิชาชีพมา ความสามารถในการยังชีพและหน้าที่การงานจะไปได้ดีกว่าน่ะครับ

-เธอบอกว่าน่าเสียดายที่ไม่ได้เรียนสายวิชาชีพ

-ฟังไปก็อดปลื้มใจไปกับวิชาชีพของอาชีวะครับ

-ตอนนี้หากมีโอกาสไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ก็มักจะบอกกับผู้ปกครองและเด็กๆ ว่าอาชีวะคืออีกทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจเรียนต่อ

-ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะเขียนบันทึกเรื่อง"คหกรรมศาสตร์ ศาสตร์แห่งชีวิต"...

-ขอขอบคุณ ครูบาอาจารย์ ผู้สอนสั่ง จาก"วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร" ที่ช่วยให้ลูกศิษย์คนนี้มีวิชาชีพที่น่าภาคภูมิใจมากๆ ครับ

ผมในฐานะได้เป็นครูพิเศษสอนอาชีวะ และได้รับมอบหมายงาน นอกเหนือจากการสอนคือ เจ้าหน้าที่งานทวิภาคีของแผนก ผมได้ลงมาดูแลนักเรียน นักศึกษาแบบใกล้ชิดยิ่งทำให้เห็นการพัฒนาของเด็กจากแรกเข้าจนถึงจบ การเปลี่ยนแปลกของเด็กขณะเรียนในห้องเรียนและขณะออกฝึกงาน มีความแตกต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ การทำงาน การตรงต่อเวลา ความมีระเบียบรอบครอบ การเป็นผู้ใหญ่ที่มากขึ้น และที่เห็นได้อย่างชัดเจนเลยคือเรื่องเงิน การใช้เงินที่ไม่รบกวนผู้ปกครองในการลงทะเบียนเรียน การกินอยู่ การใช้จ่ายในระยะเวลาฝึกงานและมีสิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะรู้ว่าขณะเด็กนักเรียนนักศึกษาออกฝึกงานนั้น มีบางคนได้ส่งเงินให้กับทางบ้าง ถึงบางครั้งอาจไม่เยอะมาก แต่เขาก็ส่ง และเคยมีผู้ปกครองมาเล่าให้ฟังว่า "ขณะหลานไปฝึกงาน หลานจะส่งเงินให้ป้าเดือนละ 3,000 บาท และ ส่งให้แม่อีก 1,000 บาท และป้าเขาก็เล่าว่า ตอนเรียนเขาอยู่กับป้า ป้าเป็นคนส่งเสียเงินให้เรียน และเหตุการณ์ที่ป้าไม่คิดก่อนเดือนเมษา หลานไม่ส่งเงินมาให้เหมือนเคย ป้าก็แค่ งง แต่ก็ไม่ได้ทักถามแต่อย่างไร จนกระทั้ง วันหยุดสงกรานต์มาถึง เขาโทรบอกว่าจะกลับบ้าน และพอมาถึงบ้าน เขายื่นสร้อยคอทองคำให้ป้า 1 สลึง และให้แม่เขาอีก ครึ่ง สลึง ป้าพูดไม่ออกเลย ว่าหลานจะทำเรื่องแบบนี้ และหลังจากนั้นผู้ปกครองก็ บอกว่าการเรียนสายอาชีวะ ถึงจะยังไม่ค่อยมีคนยอมรับและมาเรียนเยอะ แต่ป้ารู้แล้วว่า การเรียนสายอาชีวะมันมีข้อดีอะไรบ้าง "   และนี้เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ที่ผมได้เจอมากับตัวเอง ผมอยากเป็นกระบอกเสียงจากครูอาชีวะให้คนส่วนใหญ่รองหันมาเรียนรู้สายอาชีวะกันบ้างนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท