ตลาดนัดนวัตกรรมสังคม ณ เชียงใหม่ (๒)



ต่อจากบันทึก  ตลาดนัดนวัตกรรมสังคม ณ เชียงใหม่ (๑)  นะคะ


พอได้เพื่อนใหม่จากกิจกรรม "ดอกไม้  ผึ้ง  แมลง"  แล้วรวมกลุ่ม 

วางแผนไปเยี่ยมชมร้านต่าง ๆ (บูธ) ที่มาเสนอสินค้าทางปัญญา

ดูฝั่งพ่อค้าแม่ขายก่อนนะคะ  มีอะไรมาเสนอบ้าง

๑. นวัตกรรมสังคมที่สระใคร  บันได ๕ ขั้น  เพื่อเด็กไทยฟันดี

เปิดตลาดรอบแรก  เจ้าของร้าน คือ คุณหมอฟันประจำอำเภอสระใครและคุณพ่อสำราญ  ปัญญาดี  ประธาน อสม.บ้านพลายงาม  ชุมชนต้นแบบฟันดี  อำเภอสระใคร  ชนะการประกวดมาหลายปี  มีคณะมาศึกษาดูงานทั้งจากสำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย  ทันตแพทย์ภาคเหนือ  กลาง  ใต้  อีสาน  ที่ดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากวัยทำงาน  กลุ่มนอกสถานประกอบการ (เกษตรกร) ปี ๒๕๕๙ - ๒๕๖๑

อีกคณะมาจากจังหวัดต่าง ๆ ในเขตสุขภาพที่ ๘ อีสานตอนบน  ที่มาในโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย  ด้วยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ปี ๒๕๖๐ (Self care เขต ๘)

เปิดตลาดรอบสอง  สลับเจ้าของร้านเป็นน้องอ็อบ  กมลมาลย์  บุญเปีย  ทันตาภิบาลประจำ รพ.สต.คอกช้าง  และคุณพ่อสำราญ

เรื่องเล่าตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ จากข้อมูลเด็ก ๓ ปี ฟันผุร้อยละ ๖๘  ประมาณว่าเดินมา  ๑๐ คน  ผุไปแล้ว  ๗  คน

ระยะแรกเป็นการพัฒนาศักยภาพทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก  ที่ร่วมทำงานระหว่างโรงพยาบาลสระใครและบุคลากรสถานีอนามัย  ให้ปรับวิธีการทำงาน  หาความรู้  หาข้อมูลเชิงคุณภาพ  วิธีการเลี้ยงดูเด็กของชุมชนก่อน

แล้วค่อยจัดเวทีคืนข้อมูล  ให้ผู้ปกครองและแกนนำชุมชนร่วมคิดกิจกรรมเอง  เริ่มทำใน ๙ ชุมชน  ที่สถานีอนามัย (สมัยนั้น) เป็นผู้เลือกพื้นที่ที่มีความพร้อม  ผู้นำสนใจจะทำโครงการ  และเลือกเข้าชุมชนตามเวลาที่ชาวบ้านสะดวก  ราวสี่โมงเย็น  เดือนธันวาคมหลังฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว

ทั้ง ๙ หมู่บ้าน  ส่วนใหญ่เลือกทำกิจกรรมแปรงฟันให้ลูกหลาน  ต่อเนื่องจากเช็ดทำความสะอาดในปากตั้งแต่ฟันยังไม่ขึ้น  ให้ทีมหมอสาธิตก่อน  แล้วผู้ปกครองค่อยฝึกแปรงฟันให้เด็ก  ยังไม่เลือกกิจกรรมระดับชุมชนที่เกี่ยวกับการลด  ละ  เลิกขนมหวาน  และเข้าใจสาเหตุฟันหน้าบนของเด็กผุจากนอนหลับคาขวดนม  เริ่มหัดเด็กให้กินนมจากแก้วสองหูหรือหลอดดูดนมกล่องรสจืด

จากนั้นช่วงเยี่ยมติดตามว่าแกนนำชุมชน  กลุ่มผู้ปกครองฝึกแปรงฟันให้ลูกหลานได้ไหม  ทำได้สม่ำเสมอหรือไม่  มีบ้านไชยาที่ รองนายก อบต.เขียนโครงการของบประมาณ อบต.สระใครได้  นำมาใช้กระตุ้นกิจกรรมเพื่อเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน  เชิญทีมหมอฟันไปเป็นกรรมการประกวดผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกหลาน 

แล้วเสนอว่าเพื่อนอีก ๘ หมู่บ้านอยากแข่งแปรงฟันด้วยไหม  ทีมหมอจึงต้องคุยกัน  แบ่งกันไปถามทุกหมู่บ้านที่เริ่มโครงการเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดีมาด้วยกัน  ทุกบ้านตอบว่าอยากแข่ง

จึงต้องจัดงาน "ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร"  ต่อเนื่องปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๗  แต่ละปีผู้เข้าร่วมราว  ๓๐๐  คน

แต่ละหมู่บ้านจัดนิทรรศการ  นำภาพกิจกรรมที่แกนนำชุมชน  ผู้ปกครอง  ทำกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กมีปากและฟันดีมาเสนอให้ผู้ร่วมงานได้ชม  ใช้เป็นสื่อประกอบการเล่าเรื่องชุมชนฟันดี  คะแนนเต็ม  ๑๐๐ คะแนน

อีก ๕๐ คะแนน  มาจากผู้ใหญ่  อสม.หรือผู้ปกครองแปรงฟันตัวเองสะอาด

อีก ๕๐ คะแนน มาจากผู้ปกครองแปรงฟันให้เด็กจนสะอาด

รวมคะแนนประกวด "ชุมชนต้นแบบฟันดี"  ทั้งหมด  ๒๐๐  คะแนน  ประกาศผล  เชิญนายอำเภอมอบรางวัล

ปีต่อ ๆ มา ทีมสร้างเสริมสุขภาพช่องปากก็ยังออกเยี่ยมติดตามความก้าวหน้าของหมู่บ้านที่สมัครเข้าร่วมโครงการ  ลดจำนวนสมาชิกทีมลง  เริ่มมีประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมกลุ่ม  จัดเวทีคืนข้อมูล   ให้ชาวบ้าน  แกนนำ  ผู้ปกครอง  คิดเอง  ทำเอง

ผ่านไป  ๓ ปี  ปี ๒๕๕๓  จัดประชุมประเมินผลแบบมีส่วนร่วมครั้งที่หนึ่ง  ให้วาดฝันอีก ๓ ปี  อยากได้ลูกหลานแบบไหน  แล้วค่อยใช้บัตรคำระดมความคิด  ต้องลงมือทำอย่างไร  จัดกลุ่มว่าอะไรต้องทำก่อน  เรียงบัตรคำในกลุ่มเดียวกัน

สรุปเป็นตาราง  บันได ๕ ขั้น เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร  ปี ๒๕๕๔ - ๒๕๕๖

ระหว่างนั้น ทีม รพ.สต.ทำหน้าที่เชิญชวนหมู่บ้านใหม่เข้าร่วมโครงการ  ออกเยี่ยมติดตามหมู่บ้านเก่า  พร้อมฝึกผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกหลาน  ครบแต่ละปียังมี "ตลาดนัดเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  อำเภอสระใคร"  นายอำเภอมาพบปะสมาชิกเครือข่าย  มอบรางวัลทุกปี

ปี ๒๕๕๗ จัดประชุมประเมินผลแบบมีส่วนร่วมครั้งที่ ๒  มีแกนนำมาจาก  ๓๘  หมู่บ้าน  จากทั้งหมด ๔๑ หมู่บ้าน  สังเกตว่าเป้าหมายเพื่อสุขภาพเด็กแคบลง  เขียนข้อความกระชับ  เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น 

ลำดับกิจกรรมที่ใช้ในการจัดประชุมประเมินผลแบบมีส่วนร่วมสนุกสนานมาก  เขียนสรุปผลประชุมแล้วส่งกลับทุกหมู่บ้าน  บันไดขั้นที่ ๕ คือ เป้าหมายสุดท้าย  ส่วนบันไดขั้น ๑ - ๔  กว่าจะได้มาสวย ๆ แยกสีตามบทบาทของภาคีสำคัญที่เกี่ยวข้องสุขภาพเด็กนั้น  ใช้บัตรคำที่ผู้เข้าประชุมเขียนเอง  แยกขั้นเอง  ช่วยกันย้ายบัตรคำไป-มา  จนทุกคนพอใจ  เข้าใจ  ยอมรับ ... กลายเป็น Poster สีสวย ๆ  ด้านล่างนี้นะคะ  (Click  ที่ภาพ  จะอ่านตัวหนังสือได้ชัดขึ้นนะคะ)

สีไม่ใช่แค่สวย   แต่ละสี คือ ภาคี  ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสุขภาพเด็ก

เช่น สีม่วง ผู้ปกครอง  บันไดขั้นที่หนึ่งจะง่ายหน่อย  ค่อย ๆ ทำ  ค่อย ๆ ปลูกฝังลูกหลาน

ขั้นที่สองต้องเตรียมแปรงสีฟัน  แปรงฟันให้ลูกหลานทุกมื้อ  ก่อนนอน  ให้เป็นนิสัย  ให้กินนมจืด เลือกอาหารมีประโยชน์  หลีกเลียงทอฟฟี่ .... เป็นต้น

ขั้นที่สาม  ขั้นที่สี่จะยากขึ้น  เข้าร่วมประกวดฟันให้ดี

ขั้นที่ ๕ คือ ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ

อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  ก็มีบันไดของตนเอง (สีเขียว)

กลุ่มผู้นำชุมชน  ก็มีทางขึ้นบันไดแต่ละขั้น ๔  ขั้น  จนถึงขั้นที่ ๕  (สีชมพู)

สมาชิก อบต. (สีฟ้า)  ขั้นแรกยังไม่มีบทบาท  เริ่มมีส่วนร่วมขั้นที่ ๓  มอบรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้เด็ก  ขั้นท่ ๔  มอบรางวัล  มีโครงการรักษ์ฟัน (โครงการของชุมชน  โดยชุมชน)

ทีมทันตแพทย์  ทันตาภิบาล  หมอครอบครัว  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข (สีส้ม)  บทบาทเชิงวิชาการ  ให้ความรู้  สอน  กระตุ้น  สร้างแรงจูงใจ  จนถึงร่วมจัดประกวดแปรงฟัน

สรุป ถึงตอนนี้ไม่ใช่แค่ ๕ ขั้นแล้วนะคะ  ขั้น ๑ - ๔ มีบทบาทของแต่ละภาคีเป็นขั้นย่อยอีก

กล่าวได้ว่า 

๑. นวัตกรรมการสร้างเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  

๒. บันได ๕ ขั้น  ในการประเมินผลแบบมีส่วนร่วม  และเป้าหมายของเครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี

เป็นนวัตกรรมกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานและการประเมินผลลัพธ์   ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมของแกนนำชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องสุขภาพเด็ก

^_,^

เหนื่อยอ่านหรือยังคะ  สลับซับซ้อนเกินไปไหม

ปี ๒๕๕๘  พักไป ๑ ปี  ทบทวนทางเดินยุทธศาสตร์ว่าจะเดินทางไหน  คปสอ.สระใครทบทวนสถานการณ์  วิเคราะห์  ให้ต่อยอดไปบูรณาการประเด็นการทำงานกับกลุ่มวัยทำงาน

กลายเป็นบูรณาการวัยเด็ก  วัยทำงาน  และอาจจะเลยต่อบางส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ

และถอดบทเรียนได้ว่า  การสร้างเครือข่ายการทำงานกับแกนนำชุมชน  เป็นปัจจัยสำคัญที่ประชาชนด้วยกันจะแสดงพลังในการพึ่งตนเองด้านสุขภาพ  หัวใจสำคัญอยู่ที่ทีมสาธารณสุขปรับวิธีการสร้างกระบวนการเรียนรู้  เพื่อให้แกนนำชุมชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)  เมื่อความเข้าใจเกิดจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว  เมื่อนั้นพลังของการสื่อสาร  แลกเปลี่ยน  ถ่ายทอดกันเองระหว่างคนในชุมชนจะเกิดได้จริง  และยั่งยืนยาวนาน  ค่อย ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชนได้ ...เหมือนที่เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดีทำได้  วัดที่อัตราโรคฟันผุเด็ก ๓ ปี ลดลงเหลือร้อยละ ๔๐

^_,^

(เชิญชวน Click ที่ภาพ  ค่อย ๆ ไล่อ่านนะคะ)


แม้ประเด็นการทำงานจะรวมกันมากขึ้น  แต่บูรณาการเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน  ได้ผลลัพธ์มากขึ้น คือ เป้าหมาย

มีประสบการณ์สร้างเครือข่ายมาแล้ว  นำมาใช้สร้างเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี  และใช้เทคนิค  วิธีการเหนี่ยวนำตนเองให้เปลี่ยนแนวคิดและพฤติกรรมอย่างมีความสุขก่อน  จึงจะไปเหนี่ยวนำผู้อื่น  คนที่เราจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นหุ้นส่วนกันให้มีความสุขในการเปลี่ยนแปลงด้วย

สร้างและเหนี่ยวนำทีมหมอครอบครัวให้เป็นต้นแบบสุขภาพ  ติดอาวุธการเป็น Coach และนักเรียนรู้ที่ดี  โดย Training on the job  ทั้งการจัดประชุมขยายแกนนำเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดีระดับอำเภอและตำบล (๑๗ มกราคม ๒๕๖๐)  และการออกเยี่ยมเสริมพลัง  เป็นทีม Coach ให้กับแกนนำองค์กรหมู่บ้านที่ดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในหมู่บ้านของตัวเอง

ผ่านมาแล้ว ๒ ปี  ท้าย ๆ ปีจัดงานมหกรรมเครือข่ายคนอำเภอสระใครสุขภาพดี  แกนนำองค์กรหมู่บ้านขนอุปกรณ์  ข้าวของมานำเสนอบูธความภาคภูมิใจ  กระบวนการทำงานและผลลัพธ์หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ  ชุมชนฟันดี

การประกวดเป็นเพียงกุศโลบายและมอบแรงจูงใจภายนอกให้หมู่บ้านที่ชนะเท่านั้น  แต่ความสุขภายในเกิดจากผลงานของทีมแกนนำองค์กรหมู่บ้านปรากฏ  คนในหมู่บ้านลดน้ำหนักได้  ออกกำลังกายเยอะขึ้น  มีบุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่  สุรา  ปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง  แปรงฟันสะอาดขึ้น  ร่วมไม้ร่วมมือบอกต่อข่าวสารดี ๆ  ข้อมูลความรู้ฯ 

ความสุขที่ยั่งยืนกำลังจะเป็นจริงได้  ที่นี่ที่อำเภอสระใคร

^_,^


 จากที่แบ่งคนไปเรียนรู้ทั้ง ๑๐ บูธ ที่เปิดตลาดสองรอบ ๆ ละ ๓๐ นาที  กลับมาเข้ากลุ่มเดิม 

บรรยากาศการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม  ค่อย ๆ พูด  ค่อย ๆ ตั้งใจฟัง

แต่ละคนคงได้มุมมองใหม่  ความรู้ใหม่ต่อยอดจากประสบการณ์เดิมของตัวเองแล้ว

ให้เวลาสรุปเล่าให้เพื่อน ๆ ทั้งห้องประชุมฟัง  ไม่เกินกลุ่ม  ๕  นาทีต่อ  ๑ บูธ

คุณอำนวย  จากอำเภอโพนพิสัย  หนองคาย  สรุปการเรียนรู้ของกลุ่ม  สุขสดใส

—นวัตกรรม บันได ๕ ขั้นที่เกิดจากใช้กระบวนการประเมินผลแบบการมีส่วนร่วมของชุมชน
—ทันตแพทย์ พาคิดพาทำ
—ผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน  ผู้นำ  แกนนำผู้ปกครอง  เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  อสม.  อบต.
—ทำตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน จากที่เด็ก ๐-๕ ปี มีฟันผุ จึงคืนข้อมูลให้ชุมชน ให้ชุมชนถกกัน
—บันได เริ่มขั้นที่ ๑ ที่ ผปค.ทำได้  ขั้น๒ เริ่มทำใหต่อเนื่อง จนท.ให้ความรู้ ขั้น ๓ เรื่องการกิน ขั้น ๔ ประเมินผล ให้รางวัล สร้างแรงจูงใจ ขั้น ๕ เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการ

^_,^

ยาวมาก ๆ  เพราะรู้ลึกในสิ่งที่ทำ อิ อิ

เดี๋ยวอีก ๙ บูธ  สรุปประเด็นการเรียนรู้ผ่านใจผู้เยี่ยมชม  ประทับใจจนอดไม่ได้ที่จะเล่าต่อแบบที่เจ้าของบูธบอกว่า  ดีกว่าตัวเองนำเสนออีก  ทุกกลุ่มมีความสุขในการเล่ามาก  แสดงถึงคนต้นเรื่อง  คงเล่าอย่างมีความสุขมากเช่นกัน  พลังบวก  พลังใจจึงส่งตรงถึงใจเราได้มากเช่นนี้

พักแป๊บ  โปรดติดตามต่อด้วยนะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่สนใจอ่าน

^_,^

(ปรมาจารย์  อ.อุทัยวรรณ  กาญจนกามล  มาให้กำลังใจการจัดตลาดนัดแต่เช้า)




ความเห็น (4)

ซื้อ-ขายของที่ทำเองมากับมือ  ประเด็นคล้ายกันเลยนะคะคุณมะเดื่อ

-สวัสดีครับพี่หมอ

-ไม่เหนื่อยอ่าน..

-เพราะคนเขียนยังเหนื่อยเขียน

-เรื่องเก็บรายละเอียดนี่ต้องยกให้พี่หมอนะครับ55

-ข้าน้อยขอคารวะ..

กำลังหัดสรุปเฉพาะประเด็นหลัก  แต่ก็นะ ... ชอบลงรายละเอียดทุกที  ค่อยฝึกไปค่ะ  ฝึกความอดทนการอ่านไปพลางนะคะ

อ ย า ก กิ น P I Z Z A  หน้าผักเยอะ ๆ  มีไหมคะ ... นวัตกร  ปลูกเอง  ทำเมนูชูสุขภาพกินเอง  อิ อิ

อยากได้เตาด้วย  คุณเพชรฯ เขียนวิธีทำเป็นวิทยาทานด้วยคร้า  ^_,^

เอ !!! หรือต้องหาเวลาไปถึงพรานกระต่ายให้ได้จริง ๆ 

ฮือ ๆๆๆ ยังต้องลาพักผ่อนเขียนสรุปโครงการฯ ๒ ปี ก่อนไปนำเสนอที่ กทม.ปลายเดือนนี้เลยค่ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท